ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร พ.ศ.๒๕๖๖
……………………………..
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๓ /๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร พ.ศ. ๒๕๖๑
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
(๓) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“ส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของอธิการบดี หรือคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้า
ส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก แล้วแต่กรณี
“ผู้บริหาร” หมายความว่า อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก
ข้อ ๕ ให้สภามหาวิทยาลัยประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารเมื่อดำรงตำแหน่ง ครบหนึ่งปีครึ่ง
ข้อ ๖ ให้ผู้บริหารจัดทำเป้าหมายและแผนการปฏิบัติงานเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ หลังจากสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในส่วนงานนั้นภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ดำรงตำแหน่ง โดยเป้าหมายและแผนการปฏิบัติงานนั้นจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและแผนของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องประกอบด้วยเป้าหมาย ๕ ด้าน ดังต่อไปนี้
(๑) ด้านการสร้างบัณฑิตที่สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
(๒) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน
(๓) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย
(๔) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ
(๕) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน
ข้อ ๗ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของอธิการบดี ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ ๕ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๓) ประธานสภาอาจารย์หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๔) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๕) เลขานุการสภามหาวิทยาลัยหรือผู้แทน เป็นกรรมการและเลขานุการ
(๖) ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
(๗) ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานสภามหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งคน
เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณบดี
ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัยสถาบัน หรือสำนัก ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) อธิการบดี เป็นรองประธานกรรมการ
(๔) ผู้แทนคณบดีจากสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้แทนคณบดีจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๖) ผู้แทนคณบดีจากสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๗) ประธานสภาอาจารย์หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๘) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๙) เลขานุการสภามหาวิทยาลัยหรือผู้แทน เป็นกรรมการและเลขานุการ
(๑๐) ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
(๑๑) ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานสภามหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งคน
เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง (๑) มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะกรรมการ
สภามหาวิทยาลัย
ในกรณีที่กรรมการตาม (๓) ถึง (๕) เป็นผู้ต้องได้รับการประเมิน ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ และให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่เกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
(๒) กำหนดแบบสอบถามหรือแบบประเมินเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูล
(๓) เชิญผู้ถูกประเมินและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
(๔) หน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
ข้อ ๑๐ ให้ผู้บริหารจัดทำรายงานประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว ที่กำลังปฏิบัติอยู่ และที่ยังมิได้ปฏิบัติ พร้อมเอกสารอ้างอิงเสนอต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามข้อ ๕ โดยจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานตามที่ได้เสนอ
ต่อสภามหาวิทยาลัยไว้ในข้อ ๖ รวมทั้งนโยบายและแนวทางการบริหารที่ได้แถลงไว้ต่อประชาคมใน
กระบวนการสรรหา
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารผู้ถูกประเมิน ในประเด็นดังต่อไปนี้
(๑) เป้าหมายและแผนการปฏิบัติงานที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไว้
ในข้อ ๖
(๒) นโยบายและแนวทางการบริหารที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินได้แถลงไว้ต่อประชาคม ในกระบวนการสรรหา
(๓) การปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ดังต่อไปนี้
(๓.๑) ความซื่อสัตย์สุจริต
(๓.๒) การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(๓.๓) การปฏิบัติตามกติกาหรือกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และสิ่งที่ตกลงกันของประชาคม
(๓.๔) โปร่งใส – ไม่ปิดบังข้อมูลสาธารณะ
(๓.๕) รับผิดชอบต่อผลงานและตรวจสอบได้
(๓.๖) ตอบสนองต่อหน้าที่และชี้แจงข้อสงสัย
(๓.๗) สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
(๓.๘) นำข้อคิดเห็นหรือปัญหาของทุกฝ่ายมาคำนึงถึง
(๓.๙) มุ่งไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน เมื่อเกิดความเห็นต่างหรือความขัดแย้ง
ข้อ ๑๒ ในการเสนอผลการประเมินต่อสภามหาวิทยาลัย ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประกอบด้วยผลการประเมิน พร้อมด้วยปัญหา อุปสรรคหรือข้อจำกัดอื่นในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร ผู้ถูกประเมิน รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ในประการที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุง การปฏิบัติงานของผู้บริหารผู้ถูกประเมิน ผู้บริหารอื่น ส่วนงานหรือมหาวิทยาลัยต่อไปด้วย
ให้คณะกรรมการส่งสำเนารายงานผลการประเมินตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้บริหารผู้ถูกประเมิน
(๒) คณะกรรมการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารส่วนงาน ที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินดำรงตำแหน่ง แล้วแต่กรณี เพื่อใช้ประกอบการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารส่วนงานที่ผู้บริหารผู้นั้นดำรงตำแหน่ง แล้วแต่กรณีต่อไป
ข้อ ๑๓ ให้สภามหาวิทยาลัยประเมินรายงานจากคณะกรรมการพร้อมสรุปความเห็นเพื่อเสนอแนะแก่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินเพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนการปรับปรุงการบริหารงานและการปฏิบัติงานต่อไป
ให้ผู้บริหารผู้ถูกประเมินจัดทำแผนการปรับปรุงการบริหารงานเสนอสภามหาวิทยาลัย เพื่อทราบภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยมีมติรับทราบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงาน
ข้อ ๑๔ เมื่อคณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงาน ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ให้จัดทำรายงานการประเมินตนเองเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารที่สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้ง
ไว้แล้ว ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงมีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารตาม
ที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปได้จนแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๖ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย