ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
เฉลิมพระเกียรติเพื่อให้มีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) (๓) (๔) และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๑๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย
การบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๓ ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของโรงพยาบาล”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (๖) ของข้อ ๑๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย
การบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๖) สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือทุจริตต่อหน้าที่”
ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๖ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งหรือจะครบวาระการดำรงตำแหน่งให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑.๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๑.๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่งเป็นกรรมการ
(๑.๓) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
(๑.๔) กรรมการบริหารซึ่งเป็นคณบดีของคณะที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่ง เป็นกรรมการ
(๑.๕) กรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่ง
เป็นกรรมการ
(๑.๖) ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการฝ่ายในโรงพยาบาลที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
และอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการซึ่งแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานอีกหนึ่งคนก็ได้
(๒) เมื่อโรงพยาบาลไม่มีผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการในปัจจุบันเหลือเวลาการปฏิบัติหน้าที่
อีกไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ปฏิบัติงานเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ
ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และต้องได้รับการเลือกตั้งจากผู้ปฏิบัติงานด้วยคะแนน
สูงที่สุด
ในกรณีที่การเลือกตั้งมีผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเท่ากันสองคนขึ้นไป ให้ใช้วิธีการตัดสินโดยการจับสลากในระหว่างผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และให้ผู้จับสลากได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ
(๓) โรงพยาบาลต้องดำเนินการตามข้อ (๒) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่มีผู้อำนวยการหรือวันที่ผู้อำนวยการมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
(๔) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๔.๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการ
(๔.๒) จัดให้มีการเปิดรับสมัคร การเสนอชื่อ การคัดสรร หรือการดำเนินการอื่นที่เหมาะสมเพื่อแสวงหาผู้ที่คุณสมบัติเหมาะสมกับการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๔.๓) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานถึงแนวทางการบริหารงานโรงพยาบาลและให้ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหา หรือผู้ที่ได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาล และแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานต่อผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลด้วย
(๔.๔) กลั่นกรอง เฟ้นหา และทาบทาม ผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์
และความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๔.๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
(๕) ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการต้องถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
(๕.๑) ไม่มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในคราวการสรรหาครั้งที่ตนเองเป็นกรรมการ
(๕.๒) ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการของโรงพยาบาล
(๖) การประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ต้องมีกรรมการเข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
(๗) ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเพื่อลงมติเลือกผู้ที่สมควรได้รับ
การเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ ให้ดำเนินการดังนี้
(๗.๑) การลงมติของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการให้ใช้วิธีลงคะแนนลับและให้กรรมการหนึ่งคนเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อได้เพียงคนเดียว
(๗.๒) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๘) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการจัดทำรายงานกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับ
การแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ และผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ (๔) (๔.๓) ถ้ามี โดยละเอียด และเสนอชื่อ
ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นเป็นผู้อำนวยการ
ในกรณีที่มีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมากกว่าหนึ่งชื่อ
ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร
สภามหาวิทยาลัยอาจขอให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการจัดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคแรกแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาลและแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานโรงพยาบาลต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗
(ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย