ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๔
———————————————-
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้มีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) (๓) (๔) และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โรงพยาบาล” หมายความว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
เฉลิมพระเกียรติ
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พนักงานโรงพยาบาล” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยเงินรายได้ของโรงพยาบาล
“ผู้ปฏิบัติงาน” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานโรงพยาบาลประเภทประจำ และพนักงานโรงพยาบาล
ที่จ้างจากเงินรายได้ของโรงพยาบาล
“องค์กรแพทย์” หมายความว่า องค์กรแพทย์ตามธรรมนูญองค์กรแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๖๒
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
วัตถุประสงค์และหน้าที่
ข้อ ๕ โรงพยาบาลเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่มีวัตถุประสงค์และหน้าที่ให้บริการและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยด้านการแพทย์แก่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และการให้บริบาลด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแก่ประชาชน
หมวด ๒
โครงสร้างการบริหารงานโรงพยาบาล
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการบริหาร
ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นรวมกันไม่น้อยกว่าสิบสามคน แต่ไม่เกินสิบเจ็ดคน ดังต่อไปนี้
(๑) อธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) คณบดีของคณะที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๔) ประธานองค์กรแพทย์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน
(๖) ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
ให้รองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๗ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๖ (๕) มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๖ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) ถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน เพราะทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ ๘ ในกรณีที่กรรมการบริหารว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการดำเนินการให้ได้มา ซึ่งกรรมการบริหารแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการบริหารประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๙ ในกรณีที่กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทน เว้นแต่ในกรณีที่วาระของกรรมการบริหารเหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวันจะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และได้มีการดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๑๑ คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาวางนโยบาย แผนงาน และบริหารงานของโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย
(๒) สนับสนุนและร่วมมือด้านการเรียนการสอน และการวิจัย ร่วมกับคณะในสายวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย
(๓) พิจารณาและจัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่ายประจำปีของโรงพยาบาลเพื่อเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๔) พิจารณาการนำเงินรายได้ของโรงพยาบาลไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของโรงพยาบาลตามหลักเกณฑ์ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
(๕) จัดทำแผนงาน โครงการในการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลเพื่อเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๖) พิจารณาแผนการดำเนินงานเพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลเพื่อเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) พิจารณาการจัดตั้ง รวม ยุบเลิก และแบ่งหน่วยงานภายในโรงพยาบาลเพื่อเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๘) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาล และพนักงานโรงพยาบาล
(๙) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี การพัสดุ และทรัพย์สิน
ของโรงพยาบาล
(๑๐) พิจารณากำหนดแนวทางและควบคุมดูแลการบริหารงาน ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
(๑๑) พิจารณาการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทำหน้าที่บริหารหน่วยงานของโรงพยาบาล
(๑๒) พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการต่าง ๆ ของโรงพยาบาล
โดยทำเป็นประกาศของโรงพยาบาล แล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
(๑๓) พิจารณากำหนดอัตราค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลโดยเสนออธิการบดีเพื่ออนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย แล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
(๑๔) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและรายงานฐานะการเงินประจำปีของโรงพยาบาลเพื่อเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
(๑๕) แต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา หรือมอบหมายบุคคลเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย
(๑๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
(๑๗) ดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาล
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการบริหารประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มี จึงจะเป็น
องค์ประชุม
การกำหนดเงินค่าสมนาคุณ ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่คณะกรรมการบริหาร ให้อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ส่วนที่ ๒
ผู้อำนวยการ
ข้อ ๑๓[๑] ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงาน
ของโรงพยาบาล
ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาลได้เต็มเวลา
ข้อ ๑๔ ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของโรงพยาบาลให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการบริหาร
(๒) บริหารงานบุคคล การคลัง การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของ
สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการบริหาร
(๓) จัดทำแผนพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาและนำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของโรงพยาบาลที่ได้รับการพิจารณาให้
ความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร หรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของโรงพยาบาลให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือ
การมอบหมายของสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการบริหาร
ข้อ ๑๕ ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ทั้งนี้
ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖)[๒] สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ ๑๖[๓] ในกรณีที่ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งหรือจะครบวาระการดำรงตำแหน่งให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑.๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๑.๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่งเป็นกรรมการ
(๑.๓) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
(๑.๔) กรรมการบริหารซึ่งเป็นคณบดีของคณะที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่ง เป็นกรรมการ
(๑.๕) กรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่ง
เป็นกรรมการ
(๑.๖) ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการฝ่ายในโรงพยาบาลที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายคนหนึ่งเป็นเลขานุการและอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการซึ่งแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานอีกหนึ่งคนก็ได้
(๒) เมื่อโรงพยาบาลไม่มีผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการในปัจจุบันเหลือเวลาการปฏิบัติหน้าที่
อีกไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ปฏิบัติงานเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ
ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และต้องได้รับการเลือกตั้งจากผู้ปฏิบัติงานด้วยคะแนน
สูงที่สุด
ในกรณีที่การเลือกตั้งมีผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเท่ากันสองคนขึ้นไป ให้ใช้วิธีการตัดสินโดยการจับสลากในระหว่างผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และให้ผู้จับสลากได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ
(๓) โรงพยาบาลต้องดำเนินการตามข้อ (๒) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่มีผู้อำนวยการหรือวันที่ผู้อำนวยการมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
(๔) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๔.๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการ
(๔.๒) จัดให้มีการเปิดรับสมัคร การเสนอชื่อ การคัดสรร หรือการดำเนินการอื่นที่เหมาะสมเพื่อแสวงหาผู้ที่คุณสมบัติเหมาะสมกับการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๔.๓) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานถึงแนวทางการบริหารงานโรงพยาบาลและให้ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหา หรือผู้ที่ได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาล และแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานต่อผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลด้วย
(๔.๔) กลั่นกรอง เฟ้นหา และทาบทาม ผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์
และความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๔.๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
(๕) ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการต้องถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
(๕.๑) ไม่มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในคราวการสรรหาครั้งที่ตนเองเป็นกรรมการ
(๕.๒) ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการของโรงพยาบาล
(๖) การประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ต้องมีกรรมการเข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
(๗) ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเพื่อลงมติเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ ให้ดำเนินการดังนี้
(๗.๑) การลงมติของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการให้ใช้วิธีลงคะแนนลับและให้กรรมการหนึ่งคนเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อได้เพียงคนเดียว
(๗.๒) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๘) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการจัดทำรายงานกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับ
การแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ และผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ (๔) (๔.๓) ถ้ามี โดยละเอียด และเสนอชื่อ
ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นเป็นผู้อำนวยการ
ในกรณีที่มีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมากกว่าหนึ่งชื่อ
ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร
สภามหาวิทยาลัยอาจขอให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการจัดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคแรกแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาลและแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานโรงพยาบาลต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ข้อ ๑๗ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารแต่งตั้งรองผู้อำนวยการ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการ และที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารกำหนดเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ ๑๘ ให้ผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการติดต่อประสานงาน
กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในนามของโรงพยาบาล และเป็นผู้ลงนามในบันทึก จดหมาย หรือเอกสารต่าง ๆ ของโรงพยาบาล หรือทำความตกลงใด ๆ ที่เป็นการดำเนินงานภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของโรงพยาบาล
สัญญาหรือเอกสารอื่นใดที่จะมีผลเป็นการผูกพันมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม หรือที่จะมีผลเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะของมหาวิทยาลัย ให้นำเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาลงนาม
ข้อ ๑๙ ให้ผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย มีอำนาจในการสั่งการ อนุญาต อนุมัติ
หรือให้ความเห็นชอบต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาล ทั้งนี้ เว้นแต่ที่มีข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย หรือข้อบังคับนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
หมวด ๓
การบริหารงานบุคคล
ข้อ ๒๐ ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของโรงพยาบาลดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลเพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติตาม
รอบระยะเวลาการจัดทำนโยบายและแผนงานบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
(๒) กำหนดประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของพนักงานโรงพยาบาล
(๓) กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือเงินเพิ่มของพนักงานโรงพยาบาล และกำหนดเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือเงินเพิ่มสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาล
(๔) กำหนดอัตรากำลังของโรงพยาบาล
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การสรรหา การบรรจุ แต่งตั้ง และการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาล และพนักงานโรงพยาบาล
(๖) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การทดลองปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาล และพนักงานโรงพยาบาล
(๗) พิจารณากำหนดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ตลอดจนประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ให้แก่พนักงานโรงพยาบาล และกำหนดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ตลอดจนประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาล
(๘) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการลา การพัฒนาบุคลากร วันเวลาปฏิบัติงาน และวันหยุดของโรงพยาบาล
(๙) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรงพยาบาล
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ ให้อธิการบดีมีอำนาจเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้งและการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสังกัดของโรงพยาบาล และพนักงานโรงพยาบาล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของโรงพยาบาล อธิการบดีอาจมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งให้ผู้อำนวยการก็ได้
ข้อ ๒๒ ให้โรงพยาบาลจัดให้พนักงานโรงพยาบาลเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วย
การประกันสังคม
คณะกรรมการบริหารโดยความเห็นชอบของอธิการบดี อาจให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานโรงพยาบาล หรือจัดให้มีการประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิต หรือจัดให้มีสวัสดิการอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้
ข้อ ๒๓ การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาลและพนักงานโรงพยาบาลนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล
วินัยและการดำเนินการทางวินัย และการอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๔
การบริหารเงินรายได้ของโรงพยาบาล
ข้อ ๒๔ ให้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงพยาบาลเป็นเงินรายได้ของโรงพยาบาล
เงินรายได้ของโรงพยาบาลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึง
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งมีผู้มอบให้แก่โรงพยาบาลภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขหรือวัตถุประสงค์ของผู้มอบให้
(๔) รายได้หรือผลประโยชน์อันเกิดจากการลงทุน
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
ข้อ ๒๕ ให้โรงพยาบาลดำเนินการรับ จ่าย เก็บรักษา และบริหารเงินรายได้ของโรงพยาบาลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ การดำเนินงานของโรงพยาบาล
ข้อ ๒๖ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของโรงพยาบาล จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว และมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือกฎอื่นใด กำหนดให้จ่ายได้เท่านั้น
ข้อ ๒๗ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของโรงพยาบาล ให้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ รายการ และอัตราการจ่ายเงินที่ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกำหนด โดยออกเป็นประกาศโรงพยาบาลและรายงานอธิการบดี
ข้อ ๒๘ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน และอนุมัติการจ่ายเงินของโรงพยาบาลภายในวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารอาจมอบหมายให้รองผู้อำนวยการหรือบุคคลที่คณะกรรมการบริหารกำหนดเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน และอนุมัติการจ่ายเงินของโรงพยาบาล ภายใต้เงื่อนไขและวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ข้อ ๒๙ ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุของโรงพยาบาลดังต่อไปนี้
(๑) การจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุของโรงพยาบาล เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๒) การพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุของโรงพยาบาล เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๓) การพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบการจัดทำงบประมาณประจำปี กลั่นกรอง และให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีของโรงพยาบาล เสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๔) การจัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของมหาวิทยาลัย และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงิน เพื่อเสนอความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย
(๕) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ
การบัญชีและการพัสดุที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
ข้อ ๓๐ การบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๑ ให้คณะกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย
การบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ
ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๒ ให้ผู้อำนวยการที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เป็นผู้อำนวยการ ตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๓๓ ให้ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้ ให้นำข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๔ ให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ได้ดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เป็นการดำเนินงานที่มีผลผูกพันต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๒] ข้อ ๑๕ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๓] ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
เฉลิมพระเกียรติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗