ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๗
…………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารโรงเรียนสาธิต
แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๗”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
“คณะกรรมการประจำคณะ” หมายความว่า คณะกรรมการประจำคณะวิทยาการเรียนรู้
และศึกษาศาสตร์
“คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน” หมายความว่า คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิต
แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โรงเรียน” หมายความว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ผู้อำนวยการโรงเรียน” หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
ปณิธานและวัตถุประสงค์
ข้อ ๕ โรงเรียนเป็นส่วนงานภายในของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการให้บริการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ทำวิจัยและนวัตกรรม บริการทางวิชาการ ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง
ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยแก่คณะหรือมหาวิทยาลัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่มีมาตรฐาน
- พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
(๓) ทำวิจัยและให้บริการทางวิชาการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ไปสู่อนาคต
และเป็นสถานบ่มเพาะเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ โดยมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งในประเทศและนอกประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และทำวิจัย
หมวด ๒
คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) คณบดีเป็นรองประธานกรรมการ
(๓) รองคณบดีที่คณบดีมอบหมาย จำนวน ๑ คน
(๔) ผู้แทนจากคณาจารย์ประจำของคณะ จำนวน ๑ คน
(๕) กรรมการซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำคณะประเภทผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิยาลัย
จำนวน ๒ คน
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ
การบริหารจัดการสถานศึกษาซึ่งคณะกรรมการประจำคณะเสนอชื่อ จำนวน ๒ คน
(๗) ผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยซึ่งมิได้สังกัดคณะ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการสถานศึกษาซึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะเป็นผู้เสนอชื่อ จำนวน ๒ คน
(๘) ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้จัดการโรงเรียนหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามข้อ ๑๘ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
และผู้อำนวยการโรงเรียนอาจแต่งตั้งบุคลากรในโรงเรียนอีก ๑ คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ข้อ ๘ ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่
มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๙ ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนพ้นจากตำแหน่งก่อน
ครบวาระ เมื่อได้มีการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนแล้ว ให้กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งแทนมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน
ข้อ ๑๐ คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย แผนงาน และบริหารงานของโรงเรียน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงเรียนและสอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยและคณะ
(๒) พิจารณาดำเนินการบริหารงานบุคคลตามหมวด ๔
(๓) พิจารณาดำเนินการบริหารเงินรายได้ของโรงเรียนตามหมวด ๕
(๔) พิจารณาการจัดตั้ง รวม ยุบ เลิก และแบ่งหน่วยงานภายในโรงเรียนเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนออธิการบดีพิจารณาก่อนเสนอสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณาอนุมัติและออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณาประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน
(๖) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและรายงานฐานะการเงินประจำปีของโรงเรียนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อทราบ
(๗) ควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารงานโรงเรียน ตลอดจนดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
(๘) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายบุคคลเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการประจำคณะมอบหมาย
(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะที่เกี่ยวกับการบริหารงานโรงเรียน
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
เงินค่าสมนาคุณ ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน ให้คณะกรรมการประจำคณะกำหนดโดยออกเป็นประกาศคณะ
หมวด ๓
การบริหารโรงเรียน
ข้อ ๑๒ ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน
ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติทั่วไป
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของโรงเรียน หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในโรงเรียนได้เต็มเวลา
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
(๒) เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๓) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักราชการหรือพักงานหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่น
(๔) เป็นผู้เคยถูกสั่งลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หรือจากรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณ
(๕) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
(๖) เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๘) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๙) เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๑๐) เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือบกพร่องในทางศีลธรรม
ข้อ ๑๓ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของโรงเรียนและให้รวมถึง
มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของคณบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของโรงเรียนที่คณะมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียนและให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยหรือคณะ ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของคณบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของโรงเรียนที่ได้รับการพิจารณาให้
ความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะ และคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของโรงเรียนให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณานำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่างๆ ของโรงเรียนเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๘) ออกประกาศโรงเรียนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ หรือเพื่อการบริหารกิจการโรงเรียนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๔ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่
อีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจำเป็นโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
(๗) คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย มีมลทินมัวหมอง หย่อนความสามารถ หรือทุจริตหรือประพฤติ
มิชอบต่อหน้าที่
ข้อ ๑๕ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนมีอำนาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ตามจำนวนที่คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนกำหนดเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมาย
รองผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๒
เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนพ้นจากตำแหน่งด้วย
ข้อ ๑๖ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการติดต่อประสานงานกับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยในนามของโรงเรียน และเป็นผู้ลงนามในบันทึก จดหมาย
หรือเอกสารต่าง ๆ ของโรงเรียน รวมถึงการทำสัญญาหรือความตกลงใด ๆ ที่เป็นการดำเนินงานภายใน
ขอบเขตอำนาจหน้าที่โรงเรียน
สัญญาหรือเอกสารอื่นใดที่จะมีผลเป็นการผูกพันมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวมหรือที่จะมีผลเป็น
การใช้หน้าที่และอำนาจในนามของมหาวิทยาลัย ให้นำเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาลงนามเพื่อการนี้อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้คณบดีพิจารณาลงนามสัญญาแทนมหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ข้อ ๑๗ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจในการสั่งการ อนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับตัวบุคคลของบุคลากรในโรงเรียน ทั้งนี้ เว้นแต่ที่มีข้อบังคับ ระเบียบ
หรือประกาศของมหาวิทยาลัย หรือข้อบังคับนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๘ ในโรงเรียนให้มีสำนักงานโรงเรียนมีหน้าที่ปฏิบัติงานบริหารทั่วไป ธุรการ และงานสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียน
ในสำนักงานโรงเรียนตามวรรคหนึ่งให้มีผู้จัดการโรงเรียนหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่คณบดีแต่งตั้งโดยการเสนอชื่อจากคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ข้อ ๑๙ นอกจากสำนักงานโรงเรียน โรงเรียนอาจมีส่วนงานภายในที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงานโรงเรียนตามข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง
ในส่วนงานตามวรรคหนึ่งให้มีหัวหน้าส่วนงานที่คณบดีแต่งตั้งโดยการเสนอชื่อจาก
คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ข้อ ๒๐ การแบ่งหน่วยงานภายในสำนักงานโรงเรียนตามข้อ ๑๘ และส่วนงานตามข้อ ๑๙
ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการอำนายการโรงเรียนกำหนดและเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ และออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการโรงเรียน
หรือตำแหน่งที่ชื่อเรียกอย่างอื่น และหัวหน้าส่วนงานตามข้อ ๒๐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนกำหนดและออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๔
การบริหารงานบุคคล
ข้อ ๒๒ บุคลากรในโรงเรียน ประกอบด้วย
(๑) พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรรอัตราจากมหาวิทยาลัย
(๒) พนักงานมหาวิทยาลัย (โรงเรียน) ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณ
จากเงินรายได้ของโรงเรียน
ข้อ ๒๓ นอกจากบุคลากรตามข้อ ๒๒ แล้ว โรงเรียนอาจมีพนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการ
ที่สังกัดคณะหรือส่วนงานอื่น ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติงานที่โรงเรียนแบบเต็มเวลา บางส่วนของเวลา และนอกเวลาปฏิบัติงานหรือในวันหยุดราชการก็ได้
ข้อ ๒๔ โรงเรียนอาจมีลูกจ้างโรงเรียนที่เป็นการจ้างแบบรายเดือน รายวัน หรือรายชั่วโมงก็ได้
ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนกำหนดและผู้อำนวยการโรงเรียนออกเป็นประกาศ
โรงเรียน
ข้อ ๒๕ ให้คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
ของโรงเรียนดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลเพื่อเสนอคณะกรรมการประจำคณะพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณของทุกปี
(๒) จัดทำแผนและกำหนดอัตรากำลังของบุคลากรตามข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ หรือลูกจ้างโรงเรียนเพื่อเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๓) พิจารณากำหนดเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม ค่าตอบแทนอื่น และสวัสดิการและสิทธิประโยชน์หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นแก่บุคลากรตามข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ ลูกจ้างโรงเรียน หรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานที่โรงเรียน โดยใช้เงินรายได้ของโรงเรียน เพื่อเสนอคณะกรรมการประจำคณะ
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรตามข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ เพื่อเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ้างลูกจ้างโรงเรียนตามข้อ ๒๔ เพื่อเสนอคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
การบริหารงานบุคคล นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (๓) (๔) และ (๕) เมื่อคณะกรรมการประจำคณะ
พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้คณบดีออกเป็นประกาศคณะ
ข้อ ๒๖ วินัย การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของบุคลากรตามข้อ ๒๑
และลูกจ้างโรงเรียนให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง และข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์
ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง
หมวด ๕
การบริหารเงินรายได้ของโรงเรียน
ข้อ ๒๗ ให้โรงเรียนเป็นส่วนงานทางการเงินที่มีเงินรายได้ของส่วนงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี และให้ดำเนินการรับจ่าย
เก็บรักษา และบริหารเงินรายได้ของโรงเรียน เพื่อการบริหารงานโรงเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
การเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ
การบัญชี และการพัสดุ
นอกจากเงินรายได้ของโรงเรียนที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงเรียน คณะอาจจัดสรรเงิน
รายได้ของคณะมาเป็นของโรงเรียนด้วยก็ได้
ข้อ ๒๘ คณะกรรมการประจำคณะอาจกำหนดให้โรงเรียนส่งเงินรายได้ของโรงเรียนที่สูงกว่ารายจ่ายที่สะสมไว้ในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นเงินรายได้ของคณะตามความเหมาะสมก็ได้
ข้อ ๒๙ อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนให้เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นชอบ และอธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของโรงเรียน
นอกจากค่าธรรมเนียมการศึกษาตามวรรคหนึ่งหรือที่ได้จากสัญญาต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้เป็นไปตาม
ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนกำหนดและออกเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัยและรายงานต่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
ข้อ ๓๐ ให้คณะกรรมอำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ
การบัญชี และการพัสดุของโรงเรียน ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี
และการพัสดุของโรงเรียนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๒) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบการจัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่าย
ประจำปี กลั่นกรอง และให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีของโรงเรียนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนออธิการบดีเพื่อ
พิจารณาก่อนนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๓) จัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของคณะ
และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงินเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) พิจารณาการนำเงินรายได้ของโรงเรียนไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนตามหลักเกณฑ์
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ
การบัญชี และการพัสดุที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน
(๖) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในและการตรวจสอบ
บัญชีของโรงเรียนเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๗) พิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือมีประสบการณ์ด้านวิชาชีพที่มีคุณลักษณะเฉพาะของตำแหน่งหรือคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่
ต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๓๑ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของโรงเรียน ให้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ รายการ และอัตรา
การจ่ายเงินที่ผู้อำนวยการโรงเรียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนกำหนด
โดยออกเป็นประกาศโรงเรียน และรายงานคณะกรรมการประจำคณะ
ข้อ ๓๒ การบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ นอกจากที่กำหนดไว้ใน
ข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี
และการพัสดุ
ในการปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี
และการพัสดุ ให้คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำส่วนงาน
ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าส่วนงาน และผู้จัดการโรงเรียนหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการส่วนงาน
หมวด ๖
การกำกับดูแล
ข้อ ๓๓ ให้คณบดีควบคุมและกำกับดูแลการบริหารงานของโรงเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์
ตามข้อ ๕ และรายงานการดำเนินงานของโรงเรียนประจำปีการศึกษาต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อทราบ
กรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้คณบดีเสนออธิการบดีเพื่อวินิจฉัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๔ ให้คณะดำเนินการโอนทรัพย์สินของคณะที่ใช้ในการดำเนินกิจการของโรงเรียนมาเป็นของโรงเรียนตามข้อบังคับนี้
ให้โอนรายได้ของคณะที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงเรียนมาเป็นเงินรายได้ของโรงเรียน
ตามข้อบังคับนี้
ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของคณะที่ตั้งไว้สำหรับโรงเรียนมาเป็นงบประมาณรายจ่ายของโรงเรียนตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๕ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน
ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน
ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ตามข้อบังคับนี้ และให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน
ข้อ ๓๖ ให้ออกประกาศมหาวิทยาลัย ประกาศคณะ หรือประกาศโรงเรียน เพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้ออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้นำข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย คณะ หรือโรงเรียนมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๗ ให้บรรดาบุคลากรในโรงเรียนที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
เป็นบุคคลากรในโรงเรียนตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๘ ให้ผู้จัดการโรงเรียนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับเป็นผู้จัดการโรงเรียนตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗
(ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย