ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๖๒
………………………………………………….
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเภทสถาบันที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (NIPPON KEIDANREN หรือเดิมชื่อ KEIDANREN) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมาย
ให้เป็นสถาบันที่เป็นเลิศในด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี มีความเป็นนานาชาติ มีระบบการบริหารที่คล่องตัว
และมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เพื่อให้มีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) (๓) (๔) มาตรา ๔๗ วรรคสองและวรรคสี่
มาตรา ๕๐ และมาตรา ๗๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๖๒”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
“คณะกรรมการอำนวยการ” หมายความว่า คณะกรรมการอำนวยการสถาบัน
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบัน
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ ให้สถาบันเป็นส่วนงานที่มีความเป็นนานาชาติและมีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย มีหน้าที่จัดการศึกษา ทำการวิจัย และให้บริการทางวิชาการในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยี
และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาอังกฤษ
หมวด ๒
คณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ ๖ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นรวมกันไม่น้อยกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสี่คน ดังต่อไปนี้
(๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่อธิการบดีเสนอชื่อไม่เกิน
สามคน
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอชื่อไม่เกินสามคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นเสนอชื่อไม่เกินสามคน
(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้อำนวยการเสนอชื่อไม่เกินสามคน
(๖) ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้รองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการอำนวยการอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหรือภายในมหาวิทยาลัย
ที่ผู้อำนวยการเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอำนวยการ จำนวนไม่เกินสามคน ก็ได้
ข้อ ๗ ให้กรรมการตาม ข้อ ๖ (๒) (๓) (๔) และ (๕) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการตาม ข้อ ๖ (๒) (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๘ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการดำเนินการให้ได้มา ซึ่งกรรมการอำนวยการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๙ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทน เว้นแต่ในกรณีที่วาระของกรรมการอำนวยการเหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวันจะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และได้มีการดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๑๑ คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) พิจารณาวางนโยบายและแผนงานของสถาบันให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบัน
(๒) พิจารณาจัดหาเงินทุนและแหล่งเงินทุนเพื่อให้สถาบันดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์
(๓) พิจารณากำหนดแนวทางและควบคุมดูแลการบริหารงานของสถาบัน
(๔) พิจารณาเสนอการจัดตั้ง รวม และยุบเลิกส่วนงานและการแบ่งหน่วยงานภายในสถาบันเพื่อนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบัน
(๖) พิจารณากำหนดคุณสมบัติหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่ง
ทางวิชาการของคณาจารย์ประจำของสถาบัน
(๗) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และพัสดุ
ของสถาบัน
(๘) พิจารณาการจัดทำ ปรับปรุง หรือยกเลิกหลักสูตรของสถาบันเพื่อเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัย
(๙) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำวิจัยและการให้บริการทางวิชาการ (๑๐) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการหารายได้อื่น ๆ ให้กับสถาบัน (๑๑) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการ
(๑๒) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายบุคคล
เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมาย
หมวด ๓
ผู้อำนวยการ
ข้อ ๑๒ ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ ตามพระราชบัญญัติหรือระเบียบข้อบังคับ แต่ไม่รวมถึงศาสตราจารย์พิเศษ
(๒) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำสถาบันหรือสูงกว่า
(๓) คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
ข้อ ๑๓ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสถาบัน และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการอำนวยการ
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของสถาบัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการอำนวยการ หรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาสถาบันเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของสถาบันที่ได้รับการพิจารณาให้
ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอำนวยการ หรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของสถาบันให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการ
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสถาบันเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือ การมอบหมายของสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ ๑๔ ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการมีมติให้ถอดถอนเพราะขาด ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือ
มีการกระทำอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานสถาบันไปในทางที่ขัดกับหลักการบริหารงานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
หมวด ๔
การสรรหาผู้อำนวยการ
ข้อ ๑๕ เมื่อสถาบันไม่มีผู้อำนวยการ หรือผู้อำนวยการในปัจจุบันเหลือเวลาการปฏิบัติหน้าที่ อีกไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
เป็นประธาน
(๒) อธิการบดีเป็นรองประธาน
(๓) กรรมการที่เป็นกรรมการอำนวยการ ตามข้อ ๖ (๓) (๔) และ (๕) ประเภทละหนึ่งคน
(๔) ประธานสภาอาจารย์
(๕) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของคณาจารย์ประจำในสังกัดสถาบันที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณาจารย์ประจำในสังกัดของสถาบัน จำนวน ๑ คน
(๖) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ในสังกัดสถาบันที่ได้รับการเสนอชื่อโดยพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ในสังกัดสถาบัน จำนวน ๑ คน
ให้รองผู้อำนวยการที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการอำนวยการเป็นเลขานุการ
และอาจแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ในกรณีที่มีกรรมการอำนวยการตามข้อ ๖ (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละประเภทเกินกว่าหนึ่งคน ให้กรรมการประเภทเดียวกันนั้นเลือกกันเองเพื่อมาเป็นกรรมการ ตาม (๓)
การเสนอชื่อกรรมการตาม (๕) และ (๖) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ อำนวยการกำหนดโดยออกเป็นประกาศสถาบัน
ข้อ ๑๖ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เพื่อการนี้ให้มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา ผู้อำนวยการ
(๒) จัดให้มีการเปิดรับสมัคร การเสนอชื่อ การคัดสรร หรือการดำเนินการอื่นที่เหมาะสม
เพื่อแสวงหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๓) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการบริหารงานสถาบัน และให้ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาหรือผู้ที่ได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันและแนวทางหรือนโยบายการบริหารงานด้วย
(๔) กลั่นกรอง เฟ้นหา และทาบทาม ผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์ และ
ความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
ข้อ ๑๗ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ไม่มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในคราวการสรรหาครั้งที่ตนเองเป็นกรรมการ
และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการของผู้อำนวยการที่ตนสรรหา
ข้อ ๑๘ การประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ต้องมีกรรมการเข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๑๙ การเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อ ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ เพื่อลงมติเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) การลงมติของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการให้ใช้วิธีลงคะแนนลับและให้กรรมการหนึ่งคนเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อได้เพียงคนเดียว
(๒) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากสองอันดับแรกต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ
(๓) ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเสียงในอันดับหนึ่งเท่ากันสองคน ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเสนอชื่อผู้ได้คะแนนอันดับหนึ่งสองคนนั้นต่อสภามหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเสียง
ในอันดับหนึ่งหลายคน ให้คณะกรรมการจัดให้มีการลงมติโดยใช้วิธีการลงคะแนนลับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้
ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงในสองอันดับแรก
(๔) คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการอาจมีมติด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์เสนอชื่อ
ผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการต่อสภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียวก็ได้
ข้อ ๒๐ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการจัดทำรายงานกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโดยละเอียด และเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการจำนวนสองชื่อหรือหนึ่งชื่อแล้วแต่กรณีต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นเป็นผู้อำนวยการ ในกรณีที่มีการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งชื่อให้เสนอชื่อโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร
สภามหาวิทยาลัยอาจขอให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการดำเนินการจัดให้ผู้ได้รับ
การเสนอชื่อตามวรรคแรกแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันและแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานสถาบันต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ข้อ ๒๑ การลงมติเพื่อเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติอีกครั้ง โดยในการลงมติครั้งนี้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม ในการลงมติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ประธานที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยออกเสียงชี้ขาด
หมวด ๕
รองผู้อำนวยการ
ข้อ ๒๒ ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการจากคำแนะนำของผู้อำนวยการตามจำนวนที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการสถาบันมอบหมาย
รองผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อำนวยการ หรือ
(๒) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำสถาบันและมีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว
ไม่น้อยกว่าห้าปี
หมวด ๖
คณะกรรมการประจำสถาบัน
ข้อ ๒๓ ให้มีคณะกรรมการประจำสถาบัน ประกอบด้วย
(๑) ผู้อำนวยการสถาบัน เป็นประธาน
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองผู้อำนวยการ หัวหน้าภาควิชา ประธานสาขาวิชา ประธานหลักสูตร และหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา
(๓) กรรมการซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของสถาบันที่ผู้อำนวยการแต่งตั้ง
ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ข้อ ๒๔ คณะกรรมการประจำสถาบันมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กลั่นกรองนโยบายและแผนงานของสถาบันให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการ
(๒) กลั่นกรองงบประมาณของสถาบันเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อเสนอ
สภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสถาบัน
ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศมหาวิทยาลัย ในการนี้อาจเสนอแนะให้ผู้อำนวยการพิจารณาวางระเบียบและออกประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานของสถาบันเท่าที่ไม่ขัดต่อระเบียบหรือข้อบังคับมหาวิทยาลัย
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสถาบัน
(๕) ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณะกรรมการอำนวยการมอบหมาย
หมวด ๗
คณะกรรมการวิชาการของสถาบัน
ข้อ ๒๕ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการของสถาบัน ประกอบด้วย
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาที่สถาบัน
ทำวิจัยหรือจัดการศึกษาที่ผู้อำนวยการเสนอชื่อโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาที่สถาบันทำวิจัยหรือจัดการศึกษาที่ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการเสนอชื่อเป็นกรรมการจำนวนห้าคนหรือหกคน
(๔) รองผู้อำนวยการสถาบันที่ดูแลงานด้านวิชาการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ข้อ ๒๖ ให้กรรมการวิชาการของสถาบันข้อ ๒๕ (๑) และ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่ง
คราวละสองปี
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการตามข้อ ๒๕ (๑) และ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ข้อ ๒๗ ให้คณะกรรมการวิชาการของสถาบันมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวิชาการหรือการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการคณาจารย์ประจำของสถาบัน
(๒) กลั่นกรองให้ความเห็นชอบการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณาจารย์ประจำของสถาบัน
(๓) ให้ความเห็นชอบการต่อสัญญาปฏิบัติงานคณาจารย์ประจำของสถาบัน
(๔) ตรวจสอบคุณสมบัติของคณาจารย์ประจำของสถาบันเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ (๕) พิจารณาการจัดทำ ปรับปรุง หรือยกเลิกหลักสูตรของสถาบันเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการ
(๖) ภาระงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการอำนวยการ
หมวด ๘
หัวหน้าภาควิชา
ข้อ ๒๘ หัวหน้าภาควิชาต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำของสถาบัน และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
ข้อ ๒๙ ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชาจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๒๘ ที่ได้รับ การสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
ข้อ ๓๐ หัวหน้าภาควิชามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
หมวด ๙
การบริหารบุคคล
ข้อ ๓๑ ให้คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสถาบัน ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลเพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ ตามรอบระยะเวลาการจัดทำนโยบายและแผนงานบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
(๒) กำหนดประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติทั่วไป และ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบัน
(๓) กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือเงินเพิ่มพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบัน
(๔) กำหนดอัตรากำลังของสถาบัน
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การสรรหา การบรรจุ แต่งตั้ง และการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบัน
(๖) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การทดลองปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบัน
(๗) พิจารณากำหนดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ตลอดจนประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ให้แก่ พนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบัน
(๘) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการลา การพัฒนาบุคลากร วันเวลาปฏิบัติงาน และวันหยุดของสถาบัน
(๙) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลที่เป็นลักษณะเฉพาะของสถาบัน
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงและมาตรฐาน การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๒ อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการมีอำนาจเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้งและ
การทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนดก็ได้
การมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรักษาการแทน และการมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทน
ข้อ ๓๓ การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถาบันนอกจากที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล วินัยและการดำเนินการ
ทางวินัย และการอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๐
หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำของสถาบัน
ข้อ ๓๔ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์
และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอาจมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการที่เป็นการเฉพาะของคณาจารย์ประจำของสถาบันให้แก่คณะกรรมการ วิชาการของสถาบันก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงมาตรฐานและคุณภาพในการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ของมหาวิทยาลัย และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
หมวด ๑๑
การบริหารเงินรายได้ส่วนงานของสถาบัน
ข้อ ๓๕ ให้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสถาบันเป็นเงินรายได้ของสถาบัน
ให้สถาบันดำเนินการรับ จ่าย เก็บรักษา และบริหารเงินรายได้ของสถาบัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสถาบัน
ข้อ ๓๖ อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันให้เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยให้
ความเห็นชอบโดยข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการ และอธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ ค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบันนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการ และรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
ข้อ ๓๗ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของสถาบัน จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว และมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือกฎอื่นใด กำหนดให้จ่ายได้เท่านั้น
ข้อ ๓๘ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของสถาบัน ให้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ รายการ และอัตราการจ่ายเงินที่ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการกำหนด โดยออกเป็นประกาศสถาบันและรายงานอธิการบดี
ข้อ ๓๙ การก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินรายได้ของสถาบัน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และวงเงินที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
ข้อ ๔๐ ให้คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุของสถาบันเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๒) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหาร การเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุของสถาบัน
(๓) พิจารณากำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบการจัดทำงบประมาณประจำปี กลั่นกรอง และให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีของสถาบัน เพื่อเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) กำกับดูแลการจัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของมหาวิทยาลัย และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงินเพื่อเสนอความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๔๑ การบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ นอกจากที่กำหนดไว้
ในข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี และ
การพัสดุ
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๒ ให้ออกประกาศมหาวิทยาลัยหรือประกาศสถาบัน เพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้ออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้นำข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๔๓ ให้การดำเนินงานของสถาบันที่ได้ดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและดำเนินงานสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจัดตั้งและดำเนินงานสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ก่อนวันที่ข้อบังคับฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เป็นการดำเนินงานที่มีผลผูกพันต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับนี้