ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง แนวทางการลงทุน
ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๙
พ.ศ.๒๕๕๓
(ฉบับสมบูรณ์ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๓)
แก้ไขตามมติสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓/๒๕๕๓
…………………………………………………
ตามที่ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๓๙ ต่อไปจะเรียก (ระเบียบฯ) ข้อ ๕ กำหนดให้ส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถนำเงินรายได้ไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ได้ภายในขอบเขตที่ระเบียบฯ กำหนด และสภามหาวิทยาลัยได้มีมติเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรอบคอบหลายครั้งและหลายเรื่องด้วยกัน
เพื่อให้การลงทุนของทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดความมั่นคงและได้รับประโยชน์สูงสุดโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถลงทุนให้ถูกต้องตามระเบียบฯ ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเห็นสมควรรวบรวมหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามระเบียบฯ และมติสภามหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องและประกาศเป็นแนวทางการลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทราบ และถือปฏิบัติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑.หน่วนงานที่ต้องถือปฏิบัติ
“หน่วยงาน” ตาม (ระเบียบฯ) หมายความว่า ส่วนราชการของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๑ และให้หมายความรวมถึง หน่วยงานหรือโครงการที่มิใช่ส่วนราชการแต่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ และได้หมายความรวมถึง หน่วยงานหรือโครงการที่มิใช่ส่วนราชการแต่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ และได้รับอนุมติจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำเนินการรับจ่าย และ/หรือเก็บรักษาเงิน เพื่อกิจการของหน่วยงานหรือโครงการนั้นได้
๒.ประเภทของการลงทุนและข้อจำกัด
ระเบียบฯ อนุญาตให้นำเงินรายได้ของหน่วยงานไปลงทุนในประเภทต่างๆ ดังนี้
๒.๐ กรณีมีเงินลงทุนไม่เกิน ๒๕ ล้านบาท
ให้หน่วยงานที่มีวงเงินลงทุนทั้งหมดไม่เกิน ๒๕ ล้านบาท ใช้หลักเกณฑ์การลงทุนเช่นเดียวกับกรณีที่หน่วยงานมีเงินลงทุนเกินกว่า ๒๕ ล้านบาท ตามข้อ ๒.๒ แต่ให้สามารถนำเงินลงทุนฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือธนาคาพาณิชย์ได้โดยให้ปรับสัดส่วนการลงทุนในสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินร้อยละ ๓๐ (๓๐%) ชองวงเงินลงทุนทั้งหมด (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘)
๒.๒ กรณีมีเงินลงทุนเกินกว่า ๒๕ ล้านบาท
หน่วยงานที่มีเงินลงทุนเกินกว่า ๒๕ ล้านบาท สามารถลงทุนประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
๑) เงินฝากประจำ หรือ ออมทรัพย์
สภาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถลงทุนในเงินฝากประจำได้ดังนี้
ก. ณ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ระเบียบฯ ข้อ ๕(๗))
โดยมีข้อจำกัดให้ฝากในประเภทประจำได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบ (๒๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และครั้งที่ ๕/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคมม ๒๕๔๗)
ฃ. ณ ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือ ธนาคารพาณิชย์ (ระเบียบฯ ข้อ ๕ (๖))
ตามเงื่อนไข ดังนี้
(๑) กรณีปกติ
โดยมีข้อจำกัดให้ฝากในประเภทประจำได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่จะลงทุนในแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบ (๑๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (ในกรณีที่รัฐบาลยังค้ำประกันเงินฝาก แต่หากรัฐบาลยกเลิกการค้ำประกันเงินฝากแล้ว ให้นำเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการลงทุนประเภทฝากประจำกับธนาคารพาณิชย์ (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘)
(๒) กรณีพิเศษ
ให้ขยายเพดานการลงทุนในธนาคารแต่ละแห่งเพิ่มขึ้น เป็นลงทุนได้ไม่เกินร้อยละสิบสองจุดห้าศูนย์ (๑๒.๕๐%) (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓) แต่ต้องไม่เกินไปกว่าระยะเวลาคุ้มครองฝากเงิน และจำนวนเงินที่ได้รับการคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีการคุ้มครองเงินฝากโดยไม่จำกัดวงเงินจนถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ และตั้งแต่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ คุ้มครอง ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท และไม่เกิน ๑ ล้านบาท ตั้งแต่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)
อนึ่ง คณะอนุกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้านการคลังและทรัพย์สิน มีมติให้หน่วยงานได้จัดสรรเงินลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่นำเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ สำหรับการจัดการบัญชีกระแสรายวันให้ใช้ระบบอัตโนมัติระหว่างบัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน
๒) ตราสารหนี้
ก. ตราสารหนี้ภาครัฐ
หน่วยงานสามารถนำเงินรายได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
(๑) พันธบัตรรัฐบาล (ระเบียบฯ ข้อ ๕(๑))
สภามหาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้ลงทุนได้ในพันธบัตรที่รัฐบาลค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่จำกัดวงเงิน (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และ ครั้งที่ ๕/๒๕๔๗ และครั้งที่ ๕/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
(๒) พันธบัตรหรือหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ (ระเบียบฯ ข้อ ๕(๒))
ให้ซื้อพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดอันดับ (Rating) ตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไป โดยมีข้อจำกัดให้ลงทุนในแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบ (๑๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบ (๒๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และครั้งที่ ๕/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
(๓) ตั๋วเงินคลัง (ระเบียบฯ ข้อ ๕(๓))
หน่วยงานสามารถลงทุนในตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill/T-Bill) โดยไม่มีข้อจำกัดการลงทุน (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
ข.ตราสารหนี้ภาคเอกชน
หน่วยงานสามารถนำเงินรายได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
(๑) หุ้นกู้
สภามหาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้ลงทุนในหุ้นกู้ (Debenture/Corporate bond) โดยมีข้อจำกัดให้ลงทุนในแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบ (๑๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ร้อยละสามสิบ (๓๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และครั้งที่ ๕/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
แต่อย่างไรก็ตามสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติไม่อนุญาตให้ลงทุนในหุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธิ (Sub-ordinate debenture) (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒)
อนึ่ง ในกรณีที่การจัดอันดับ (Rating) ดังกล่าวข้างต้นได้เปลี่ยนไปในทางที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ๒ ปี คณะอนุกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ให้ข้องสังเกตว่า ให้ปรับการลงทุนใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ภายใน ๓ เดือน และให้ผู้รับผิดชอบติดตามเอาใจใส่ผลการดำเนินงาน และผลกำไรของกิจการนั้น หากเห็นว่าแนวโน้มการดำเนินงานมีทิศทางปรับลดลง ก็สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนใหม่โดยไม่ต้องรอให้ครบ ๒ ปี
(๒) ตั๋วแลกเงิน
สภามหาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้ลงทุนในตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange / B.E.) ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ โดยให้ซื้อกับธนาคารพาณิชย์ ๔ แห่งที่กำหนดไว้ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
การลงทุนในตั๋วแลกเงินนี้ให้ถือหลักการกระจายการลงทุนโดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้รวมอยู่ในประเภทเงินฝากประจำของธนาคาพาณิชย์ กล่าวคือ มีข้อจำกัดให้ลงทุนในแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยลละสิบ (๑๐%) ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐)
(๓) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ระเบียบฯ ข้อ ๕ (๔) และ (๕))
สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติไม่อนุญาตให้ลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note/PN) แม้มีธนาคารอาวัล (สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒)
๓.การลงทุนประเภทอื่น ๆ
ในกรณีที่หน่วยงานประสงค์จะนำเงินรายได้ของหน่วยงานไปฝาก หรือลงทุน แตกต่างจากที่กำหนด หน่วยงานจะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยก่อนดำเนินการ (ระเบียบฯ ข้อ ๕ วรรค ๒)
๔.การรายงานการลงทุน
ในหน่วยงานรายงานฐานะการลงทุนต่อมหาวิทยาลัยตามรายละเอียด ดังนี้
๔.๑ รายงานที่ต้องรายงาน
ให้หน่วยงานรายงานฐานะการลงทุนโดยมีรายการต่าง ๆ ได้แก่
(๑) เงินฝากกระแสรายวัน
(๒) เงินฝากออมทรัพย์
(๓) เงินฝากประจำ
(๔) การลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ และอื่น ๆ
๔.๒ ระยะเวลาการรายงาน
ให้หน่วยงานรายงานฐานะการลงทุนทุกรอบระยะเวลา ๓ เดือน ดังนี้
(๑) ไตรมาสที่ ๑ เดือน ตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี
(๒) ไตรมาส ๒ เดือน มกราคม-มีนาคม ของทุกปี
(๓) ไตรมาสที่ ๓ เดือน เมษายน – มิถุนายน ของทุกปี
(๔) ไตรมาสที่ ๔ เดือน กรกฎาคม – กันยายน ของทุกปี
โดยให้หน่วยงานรายงานฐานะการลงทุน ณ วันสิ้นเดือน ธันวาคม มีนาคม มิถุนายน และกันยายน ของทุกปีโดยเปรียบเทียบไตรมาสปัจจุบันกับไตรมาสก่อนต่อมหาวิทยาลัยภายในวันที่ ๑๐ ของเดือนถัดไปจากที่ครบรอบระยะเวลา และให้ฝ่ายการคลังสรุปนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัย และนำเสนอรายงานสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อทราบต่อไป
จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน และให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์)
อธิการบดี