ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยกองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕
…………………………..
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเสริมสร้าง
ความเป็นนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ
“กองทุน (ชื่อคณะ)” หมายความว่า กองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ (ชื่อคณะ)
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย หรือสถาบันที่มีหน้าที่จัดการศึกษา
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกอย่างอื่นที่มีหน้าที่จัดการศึกษา
“เสริมสร้างความเป็นนานาชาติ” หมายความว่า การแลกเปลี่ยน การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและบุคลากร ระบบบริหารจัดการ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับ
ความเป็นนานาชาติ
“นักศึกษาแลกเปลี่ยน” หมายความว่า นักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และให้หมายความรวมถึงนักศึกษาในโครงการรับเข้าศึกษาในระยะสั้นหรือโครงการอื่นเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติตามมติคณะกรรมการ
ข้อ ๕ ให้กองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นกองทุนเพื่อเสริมสร้าง
ความเป็นนานาชาติตามข้อบังคับนี้
ให้กองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับคณะตามตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นกองทุนเพื่อเสริมสร้าง
ความเป็นนานาชาติ (ชื่อคณะ) ตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๖ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุนนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับนี้
ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี
ข้อ ๗ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
การจัดตั้งกองทุน
ข้อ ๘ ให้จัดตั้งกองทุนเรียกว่า “กองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ” มีวัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นนานาชาติ และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของในประเทศและต่างประเทศ
ข้อ ๙ รายได้และทรัพย์สินของกองทุน มีดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๒) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๔) เงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้จากการดำเนินงาน
(๕) เงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้จากการลงทุน
ข้อ ๑๐ รายได้ของกองทุนให้จ่ายได้เฉพาะเพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
และตามรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดสรรเป็นค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่นของนักศึกษาแลกเปลี่ยน
(๒) จัดสรรเป็นทุนการศึกษาและทุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของนักศึกษาแลกเปลี่ยน
(๓) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายการจัดโครงการรับเข้าศึกษาในระยะสั้น เช่น Short Program, Summer Program เป็นต้น
(๔) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพความเป็นนานาชาติของบุคลากร
(๕) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี (IT) และทรัพยากรทางกายภาพ
เพื่อรองรับความเป็นนานาชาติ
(๖) ค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อการเสริมสร้างความเป็นนานาชาติตามที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๒
การบริหารกองทุน
ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่กำกับดูแลด้านวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการกองคลังและผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษา เป็นกรรมการ
(๔) กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์มอบหมายเจ้าหน้าที่กองวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ได้ไม่เกินจำนวนสองคน
ข้อ ๑๒ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาแผนงานโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โครงการรับเข้าศึกษาในระยะสั้น
และโครงการอื่นเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติตามมติคณะกรรมการและรายงานอธิการบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ
(๒) พิจารณางบประมาณประจำปีของกองทุน เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๓) พิจารณาหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินของกองทุนเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
และเสนอต่ออธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๔) พิจารณาจัดสรรทุนการศึกษาและทุนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาให้แก่นักศึกษาแลกเปลี่ยน
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๖) ดำเนินการเพื่อนำเงินรายได้ของกองทุนไปหารายได้หรือลงทุน
(๗) พิจารณาจัดทำผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินประจำปีของกองทุนเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ
หมวด ๓
กองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ (ชื่อคณะ)
ข้อ ๑๓ ในคณะที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาอาจจัดให้มีกองทุน เรียกว่า “กองทุนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ (ชื่อคณะ)” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะ
เพื่อความเป็นนานาชาติ และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างคณะกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงาน
ของในประเทศและต่างประเทศ
ข้อ ๑๔ รายได้และทรัพย์สินของกองทุน (ชื่อคณะ) มีดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนจากเงินรายได้ของส่วนงาน
(๒) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาของคณะ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๔) เงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้จากการดำเนินงาน
(๕) เงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้จากการลงทุน
ข้อ ๑๕ รายได้ของกองทุน (ชื่อคณะ) ให้จ่ายได้เฉพาะเพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์
ของกองทุน (ชื่อคณะ) และตามรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดสรรเป็นค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่นของนักศึกษาแลกเปลี่ยน
ของคณะ
(๒) จัดสรรเป็นทุนการศึกษาและทุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของนักศึกษาแลกเปลี่ยนของคณะ
(๓) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายการจัดโครงการรับเข้าศึกษาในระยะสั้น เช่น Short Program หรือ Summer Program
(๔) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพความเป็นนานาชาติของบุคลากร
ของคณะ
(๕) ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเป็นนานาชาติตามที่คณะกรรมการกองทุน
(ชื่อคณะ) กำหนด
ข้อ ๑๖ ให้มีคณะกรรมการกองทุน (ชื่อคณะ) ประกอบด้วยคณบดี เป็นประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณบดีแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน
ให้เลขานุการคณะเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการจากผู้ปฏิบัติงานภายในคณะได้ไม่เกินจำนวนสองคน
ข้อ ๑๗ คณะกรรมการกองทุน (ชื่อคณะ) มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาแผนงานโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาของคณะเสนอต่อคณบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ
(๒) พิจารณางบประมาณประจำปีของกองทุน (ชื่อคณะ) เสนอต่อคณบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ
(๓) พิจารณาหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินของกองทุน (ชื่อคณะ) เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์
ของกองทุนและเสนอคณบดีเพื่อออกเป็นประกาศส่วนงาน
(๔) พิจารณาจัดสรรทุนการศึกษาและทุนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาให้แก่นักศึกษาแลกเปลี่ยนของคณะ
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (ชื่อคณะ)
(๖) ดำเนินการเพื่อนำเงินรายได้ของกองทุน (ชื่อคณะ) ไปหารายได้หรือลงทุน
(๗) พิจารณาจัดทำผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินประจำปีของกองทุน (ชื่อคณะ)
เสนอต่ออธิการบดีเพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๘ ให้โอนรายได้และทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (วิเทศสัมพันธ์)
มาเป็นรายได้และทรัพย์สินของกองทุนตามข้อบังคับนี้
ให้โอนรายได้และทรัพย์สินของกองทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาประจำคณะมาเป็นรายได้
และทรัพย์สินของกองทุน (ชื่อคณะ) ตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๙ การดำเนินการตามกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (วิเทศสัมพันธ์) ที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่อไปจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จหรือสิ้นสุดลง
การดำเนินการตามกองทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาประจำคณะที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดตั้งและ
การบริหารกองทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่อไปจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จหรือสิ้นสุดลง
ประกาศ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย