ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี พ.ศ. ๒๕๖๔
______________________
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี
ของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๔) และมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย
เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
_____________________
ข้อ ๔ ในการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชีของมหาวิทยาลัย
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้ง
และการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย
“เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย” หมายความว่า เงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
และเงินรายได้ของส่วนงาน
“เงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย” หมายความว่า เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่มิได้เป็น
เงินรายได้ของส่วนงาน
“เงินรายได้ของส่วนงาน” หมายความว่า เงินอุดหนุนทั่วไปที่ส่วนงานได้รับการจัดสรรตามวิธีการงบประมาณของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของส่วนงาน
ที่สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเงินกำหนดให้เป็นเงินรายได้ของส่วนงาน
“ส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก สำนักงาน และให้หมายความรวมถึงส่วนงาน หรือโครงการที่ได้รับการจัดตั้งเป็นพิเศษ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเงินกำหนดให้เป็นส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงาน
“คณะกรรมการประจำส่วนงาน” หมายความว่า คณะกรรมการประจำคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก คณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน และให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการอำนวยการ หรือคณะกรรมการบริหารของส่วนงานหรือโครงการ
ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงาน
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงาน หัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน คณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก และให้หมายความรวมถึงรองอธิการบดีที่กำกับดูแลส่วนงาน หรือหัวหน้าโครงการที่ได้รับการกำหนดให้เป็นส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงาน
“เจ้าหน้าที่การเงิน” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการเงินหรือด้านบัญชี
หมวด ๒
คณะกรรมการการเงิน
_____________________
ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการการเงินที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ
(๒) อธิการบดี เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) รองอธิการบดีที่ดูแลกองคลัง เป็นกรรมการ
(๔) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงาน การเงินการงบประมาณ การบัญชี การพัสดุ หรือกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน แต่ไม่เกิน ๗ คน ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ให้ผู้อำนวยการกองคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองนิติการเป็นผู้ช่วยเลขานุการและเจ้าหน้าที่กองคลังอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๖ ให้กรรมการตาม ข้อ ๕ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการตาม ข้อ ๕ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณีที่มีกรรมการตาม ข้อ ๕ (๔) พ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ให้กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งมีวาระเท่ากับวาระที่เหลือของผู้ที่ตนแทน
แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๕ (๔) พ้นจากตำแหน่งและยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนผู้ที่ พ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการการเงินประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการการเงิน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบายเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน การงบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ
ต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณากำหนด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับ
การบริหารการเงิน การลงทุน การงบประมาณ การบัญชี และการพัสดุ
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกันงบประมาณรายจ่ายไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ
(๔) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ที่ล่วงแล้ว ในกรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปีใดออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่
(๕)[๑] กำหนดแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายการและอัตรา หรือมาตรการอื่น เพื่อกำกับดูแลการจ่ายเงินจากเงินรายได้ของส่วนงานและเสนอต่ออธิการบดีเพื่อออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๖) พิจารณากลั่นกรองการจัดตั้งและการบริหารกองทุน และการยุบเลิกกองทุนเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๗) กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณากลั่นกรองการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ แล้วเสนอ
ให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ
(๘) พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ
(๙) มอบหมายให้อธิการบดีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเงิน
ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน การงบประมาณ การบัญชี และการพัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเงิน
(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
หมวด ๓
รายได้และการจัดเก็บเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
_____________________
ข้อ ๘ รายได้ของมหาวิทยาลัย ได้แก่
(๑) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย
(๓) เงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว
(๔) ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ ค่าบริการต่าง ๆ
และเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บตามอำนาจหน้าที่ หรือที่ได้จากสัญญาต่าง ๆ
ของมหาวิทยาลัย
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนและจากทรัพย์สิน
ของมหาวิทยาลัย
(๖) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ที่ราชพัสดุหรือจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ
ซึ่งมหาวิทยาลัยปกครอง ดูแล ใช้ หรือจัดหาประโยชน์ รวมถึงที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย
(๗) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
ข้อ ๙ อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาตามข้อ ๘ (๔) ให้เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นชอบและอธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ ค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและส่วนงานตามข้อ ๘ (๔) นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยและรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
หมวด ๔
การบริหารเงินรายได้ของส่วนงาน
_____________________
ข้อ ๑๐ สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเงินอาจกำหนดให้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายในของส่วนงานหนึ่งส่วนงานใด เป็นเงินรายได้ของส่วนงานนั้น ในอัตราส่วนที่เหมาะสมก็ได้
ให้ส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงานตามวรรคหนึ่ง ดำเนินการรับจ่าย เก็บรักษา และบริหารเงินรายได้ เพื่อการบริหารงานของส่วนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๑ เงินรายได้ของส่วนงานที่ได้มาจากผู้อุทิศหรือบริจาคให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งโดยเฉพาะ ให้เป็นเงินรายได้ของส่วนงานนั้น และให้ส่วนงานนั้นจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศ
หรือบริจาคให้กำหนดไว้ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของผู้อุทิศหรือบริจาคให้
ต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศหรือบริจาคให้ หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเงินและรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
ข้อ ๑๒ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้ส่วนงานส่งเงินรายได้ของส่วนงานในวงเงินที่เหมาะสมกลับมาเป็นเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่
ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานของส่วนงาน
ข้อ ๑๓ ในการบริหารเงินรายได้ของส่วนงาน ห้ามมิให้ส่วนงานแยกเงินรายได้อันเกิดขึ้นจาก
การดำเนินงานของภาควิชา สาขาวิชา ศูนย์ หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา สาขาวิชา หรือศูนย์ ไว้ในลักษณะเป็นเงินรายได้ของภาควิชา สาขาวิชา ศูนย์ หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่านั้น
ห้ามมิให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายเงินจากเงินรายได้อันเกิดจาก
การดำเนินงานของภาควิชา สาขาวิชา ศูนย์ หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา สาขาวิชา ศูนย์ เพื่อเป็นการเฉพาะกิจหรือเพื่อผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยของภาควิชา สาขาวิชา หรือ
ส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่านั้น ในลักษณะเสมือนว่าเป็นเงินรายได้ของภาควิชา สาขาวิชา ศูนย์ หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่านั้น
หมวด ๕
รายจ่ายของมหาวิทยาลัย
_____________________
ข้อ ๑๔ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นเงินรายได้ส่วนกลาง
ของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของส่วนงานให้มีประเภทรายการจ่าย ดังต่อไปนี้
(๑) รายจ่ายเพื่อการบริหารกิจการทั่วไป
(๒) รายจ่ายเพื่อการส่งเสริม เพิ่มพูน และพัฒนาประสิทธิภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
(๓) รายจ่ายเพื่อจัดการศึกษาหรือการวิจัย
(๔) รายจ่ายเพื่อการสนับสนุนการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(๕) รายจ่ายเพื่อให้บริการรักษาพยาบาล
(๖) รายจ่ายเพื่อพัฒนาบุคลากร และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่บุคลากร
ของมหาวิทยาลัย
(๗) รายจ่ายเพื่อกิจกรรมนักศึกษา ทุนการศึกษา และสวัสดิการนักศึกษา
(๘) รายจ่ายตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศหรือบริจาคให้กำหนด
(๙) รายจ่ายเพื่อการลงทุน การจัดตั้งบริษัท การร่วมทุน การร่วมลงทุน หรือการจัดตั้งนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่ง
(๑๐) รายจ่ายเพื่อการให้บริการประชาชนหรือการบริจาคแก่กิจกรรมสาธารณกุศล
(๑๑) รายจ่ายอื่นตามที่คณะกรรมการการเงินโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนด
หมวด ๖
การงบประมาณ
_____________________
ข้อ ๑๕ การจัดทำงบประมาณของมหาวิทยาลัยและส่วนงานเป็นไปตามปีงบประมาณแผ่นดิน โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ในปีถัดไป เป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น ยกเว้นส่วนงานที่ใช้ปีงบประมาณเป็นอย่างอื่นต้องได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ข้อ ๑๖ ในการจัดทำงบประมาณและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของมหาวิทยาลัยและส่วนงานให้จัดทำตามหลักการการงบประมาณแบบแผนงาน
งบประมาณประจำปีที่จะนำเสนอขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และกรอบงบประมาณที่คณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้มีหน้าที่ด้านการวางแผน
และงบประมาณกำหนดและสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๑๗ ให้อธิการบดีจัดทำงบประมาณในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงานตรวจสอบ
ภายใน และสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ให้หัวหน้าส่วนงานจัดทำงบประมาณของส่วนงานเสนอต่ออธิการบดี
ให้อธิการบดีพิจารณาและนำเสนองบประมาณตามวรรคหนึ่งและวรรคสองโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้มีหน้าที่ด้านการวางแผนและงบประมาณเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๑๘ กรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปีใดออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้อธิการบดีอนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเงินกำหนด
ข้อ ๑๙ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ หากมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมีเงินงบประมาณเหลือจ่าย
ให้นำมาเป็นเงินสะสมของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
การจัดทำงบประมาณโดยนำเงินสะสมของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่
สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเงินกำหนด
ข้อ ๒๐ งบประมาณรายจ่ายของปีใด ให้ใช้จ่ายได้เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น เว้นแต่เป็นงบประมาณรายจ่ายที่ได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และต้องได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี
จากอธิการบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเงินกำหนด
ข้อ ๒๑ กรณีที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมีรายได้เพิ่มเติมระหว่างปี หรือกรณีที่ส่วนงานมีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานอาจจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปี โดยมาจากเงิน
รายได้เพิ่มเติมหรือเงินสะสม ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้มีหน้าที่ด้าน
การวางแผนและงบประมาณกำหนดและเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ในการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมของส่วนงานตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามข้อ ๑๗ วรรคสองและวรรคสาม
ข้อ ๒๒ การโอน หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณข้ามยุทธศาสตร์หรือแผนงานจะทำได้
เฉพาะกรณีที่จำเป็น และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) หัวหน้าส่วนงาน ในวงเงินงบประมาณไม่เกินห้าล้านบาท
(๒) อธิการบดี ในวงเงินงบประมาณเกินห้าล้านบาท
เมื่อผู้มีอำนาจตาม (๑) อนุมัติการโอนหรือเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณข้ามยุทธศาสตร์
หรือแผนงานแล้วให้รายงานอธิการบดีและให้อธิการบดีรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
เมื่อผู้มีอำนาจตาม (๒) อนุมัติการโอน หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณข้ามยุทธศาสตร์
หรือแผนงานแล้วให้อธิการบดีรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
หลักเกณฑ์และวิธีการโอน หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณข้ามยุทธศาสตร์หรือแผนงาน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเงินกำหนด
ข้อ ๒๓ ให้หัวหน้าส่วนงานรายงานรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นรายไตรมาสต่ออธิการบดี ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันสิ้นไตรมาส
ให้อธิการบดีรายงานรายรับจริง รายจ่ายจริงทุกไตรมาสของมหาวิทยาลัยและของส่วนงาน
ต่อสภามหาวิทยาลัย ภายในสามสิบวันนับจากวันสิ้นไตรมาส และเมื่อสิ้นปีงบประมาณให้อธิการบดีส่งรายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเงินและคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้มีหน้าที่ด้านการวางแผน
และงบประมาณเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย
หมวด ๗
การรับเงิน และการเก็บรักษาเงิน
_____________________
ข้อ ๒๔ การจัดเก็บเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยทุกประเภทจะหักไว้ใช้เพื่อการใดก่อนนำส่งมิได้
หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดเก็บเงินรายได้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการการเงินกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๕ รายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของส่วนงานทุกประเภท เมื่อรับแล้ว
ต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบที่คณะกรรมการการเงินกำหนดไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๖ ให้เจ้าหน้าที่การเงินที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมอบหมาย เก็บรักษาเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยหรือเงินรายได้ของส่วนงาน โดยนำเงินที่ได้รับเข้าฝากในบัญชีเงินฝากและในนามของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน ตามจำนวนเงินที่ได้รับภายในวันที่รับเงิน
ในกรณีที่ไม่สามารถนำฝากเงินในวันที่รับเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่การเงินที่
มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมอบหมายเก็บรักษาเงิน เอกสารแทนตัวเงิน และหลักฐานอื่น ๆ ที่สำคัญไว้
ในตู้นิรภัยของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานแล้วแต่กรณี และให้นำตัวเงินที่เก็บรักษาไว้นั้นเข้าฝากในบัญชีเงินฝาก
ในวันทำการถัดไป
ตู้นิรภัยของมหาวิทยาลัยหรือของส่วนงานต้องตั้งอยู่ในสำนักงานของกองคลังหรือสำนักงาน
ของส่วนงาน ทั้งนี้ ต้องเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง และมีระบบป้องกันความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน
นอกจากการเก็บเอกสารแทนตัวเงิน เอกสารสำคัญทางการเงินของมหาวิทยาลัย รวมตลอดถึงหลักฐานอื่น ๆ ที่สำคัญไว้ในตู้นิรภัยของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานตามวรรคสองแล้ว อธิการบดีอาจอนุมัติให้นำส่งไปเก็บรักษาไว้กับผู้ประกอบการรับฝากทรัพย์สินที่เชื่อถือได้ก็ได้
ข้อ ๒๗ ให้มหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะมั่นคง
หรือสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด ในนามของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
หลักเกณฑ์และวิธีการเปิดบัญชีเงินฝาก ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการการเงินกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๘ ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย
ร่วมกับผู้อำนวยการกองคลังหรือหัวหน้างานการเงิน เป็นผู้มีอำนาจเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของมหาวิทยาลัย
ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองหัวหน้าส่วนงานหรือผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานที่หัวหน้าส่วนงานมอบหมาย ร่วมกับเลขานุการส่วนงานหรือเจ้าหน้าที่การเงินที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน เป็นผู้มีอำนาจ ลงนามเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของส่วนงาน
ข้อ ๒๙ ให้เจ้าหน้าที่การเงินที่มหาวิทยาลัยมอบหมายจัดทำรายงานเงินคงเหลือเป็นประจำ ทุกวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๘
การจ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของมหาวิทยาลัย
และส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงาน
_____________________
ข้อ ๓๐[๒] การจ่ายเงินจากเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของส่วนงาน
จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติ
จากสภามหาวิทยาลัยหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว
และมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศมหาวิทยาลัย หรือกฎอื่นใด กำหนดให้จ่ายได้เท่านั้น
ข้อ ๓๑ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยให้จ่ายตามหลักเกณฑ์ รายการ และอัตราการจ่ายเงินที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย และรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
ข้อ ๓๒[๓] ให้ส่วนงานออกประกาศส่วนงานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ รายการ และอัตราการจ่ายเงินจากเงินรายได้ของส่วนงานโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำส่วนงานและเสนออธิการบดี
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินอาจกำหนดแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายการและอัตรา หรือมาตรการอื่น เพื่อกำกับดูแลการจ่ายเงินจากเงินรายได้ของส่วนงาน
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ส่วนงานอาจนำประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์ รายการและอัตรา
การจ่ายเงินจากเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยไปใช้เป็นประกาศส่วนงานในการกำหนดหลักเกณฑ์ รายการและอัตราการจ่ายเงินจากเงินรายได้ส่วนงาน โดยเบิกจ่ายจากเงินรายได้ของส่วนงานได้
ข้อ ๓๓ ในกรณีที่มีรายการซึ่งตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ส่วนกลาง
ของมหาวิทยาลัย อธิการบดีอาจอนุมัติเบิกเงินรายการค่าใช้จ่ายนั้น ส่งให้แก่ส่วนงานในลักษณะเดียวกับ
เงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อให้ส่วนงานใช้จ่ายในรายการที่มีการตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายนั้นก็ได้
ข้อ ๓๔ ในกรณีที่ส่วนงานร่วมกันทำภารกิจใดภารกิจหนึ่ง หรือมอบหมายให้ส่วนงานอื่น
ทำภารกิจแทน หรือขอใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสถานที่ของส่วนงานอื่น การส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินระหว่างส่วนงานที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๕ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีส่วนงานที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
ในการผลิต รับทำ จำหน่าย หรือทำงานบริการอื่น ให้ส่วนงานพิจารณามอบหมายให้ส่วนงานนั้นรับผิดชอบก่อน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงหลักความประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
การส่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการมอบหมายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการจ่ายเงินระหว่างส่วนงานที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๙
การก่อหนี้ผูกพันและการจ่ายเงิน
_____________________
ข้อ ๓๖ ให้อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินรายได้ส่วนกลาง
ของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของส่วนงาน ทั้งนี้ ตามวงเงินที่คณะกรรมการการเงินโดยความเห็นชอบ
ของสภามหาวิทยาลัยกำหนด
ให้หัวหน้าส่วนงานเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินรายได้ของส่วนงาน
ภายในวงเงินที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินกำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการก่อหนี้ผูกพันและการอนุมัติการจ่ายเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและเงินรายได้ของส่วนงาน ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๗ การจ่ายเงินทุกรายการให้จ่ายโดยวิธีการจ่ายเงินผ่านการโอนเงินหรือจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องจ่ายด้วยเงินสด ให้จ่ายด้วยเงินสดได้เพียงเท่าที่จำเป็น
จากเงินสดย่อย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเงินกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๐
เงินสดย่อย
_____________________
ข้อ ๓๘ ให้ส่วนงานเก็บรักษาเงินสดย่อยได้ภายในวงเงินที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการการเงินกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ให้ผู้อำนวยการกองหรือเลขานุการส่วนงานเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินจากเงินสดย่อย
และให้ผู้อำนวยการกองหรือเลขานุการส่วนงานรวบรวมเอกสารการจ่ายเงินเพื่อเบิกเงินคืนเงินสดย่อยให้เต็ม วงเงินสดย่อยที่ได้รับอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงิน เก็บรักษา และการเบิกเงินคืนเงินสดย่อย ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๑
การจ่ายเงินยืม
_____________________
ข้อ ๓๙ การอนุมัติให้ยืมเงินเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานให้อนุมัติให้ยืมได้เท่าที่จำเป็นและไม่เกินประมาณการรายจ่ายของการปฏิบัติงานที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเลขานุการส่วนงานของผู้ยืม
ข้อ ๔๐ ห้ามมิให้มีการอนุมัติการยืมเงินครั้งใหม่ให้แก่ผู้ยืมที่ยังมิได้ชำระคืนเงินยืมที่ค้างอยู่ เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจำเป็นและได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือหัวหน้าส่วนงาน แต่จะยืมเกินสองครั้งมิได้
ข้อ ๔๑ ให้ผู้อำนวยการกองคลังเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมสำหรับกรณีการยืมเงินจาก
เงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย และให้เลขานุการส่วนงานเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินสำหรับกรณีการยืมเงินจากเงินรายได้ของส่วนงาน
ข้อ ๔๒ การจ่ายเงินยืม ให้จ่ายเมื่อผู้มีอำนาจได้อนุมัติเงินยืมตามสัญญายืมเงินที่ผู้ยืมได้ทำไว้
ต่อมหาวิทยาลัยแล้วเท่านั้น
สัญญายืมเงินให้จัดทำขึ้นสองฉบับตามแบบที่คณะกรรมการการเงินกำหนด ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเก็บไว้หนึ่งฉบับและผู้ยืมเก็บไว้หนึ่งฉบับ ทั้งนี้ ในสัญญายืมเงินจะต้องมีข้อสัญญากำหนดให้มหาวิทยาลัยมีสิทธิหักเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมมีสิทธิได้รับจากมหาวิทยาลัยบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อส่งใช้คืนเงินยืมได้
ข้อ ๔๓ ผู้ยืมเงินจะเบิกเงินยืมล่วงหน้าเป็นเวลาเกินกว่าห้าวันทำการก่อนถึงกำหนดการปฏิบัติงานมิได้ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาในระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง
หรือเลขานุการส่วนงานรับรองให้เบิกจ่ายล่วงหน้าเกินกว่าห้าวันก็ได้
เมื่อผู้ยืมได้รับเงินยืม กองคลังหรือสำนักงานเลขานุการส่วนงานต้องจัดให้ผู้ยืมลงลายมือชื่อรับรองการรับเงินยืมและวันที่ได้รับเงินยืมในสัญญายืมเงินไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ สำหรับการยืมเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยืม ให้ถือว่าหลักฐานการโอนเงินสามารถทดแทนการลงลายมือชื่อรับรอง
การรับเงินยืม
ข้อ ๔๔ ผู้ยืมเงินจะต้องนำเงินที่ได้จากการยืมไปใช้ในการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์
และรายการที่ได้รับอนุมัติให้ยืมเงินเท่านั้นจะนำไปใช้เพื่อการอื่นมิได้
ข้อ ๔๕ ในการส่งใช้คืนเงินยืม ให้ผู้ยืมส่งหลักฐานการจ่ายเงินและเงินเหลือจ่ายคืนให้แก่ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมภายในสิบวันนับแต่วันที่ปฏิบัติงานเสร็จสิ้นหรือวันที่ได้กลับมาปฏิบัติงานในกรณีการยืมเงินเพื่อการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศหรือต่างประเทศ
เมื่อผู้ยืมได้ส่งหลักฐานการจ่ายเงินและเงินเหลือจ่ายคืนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่การเงินบันทึก
การรับคืนไว้ในสัญญาการยืมเงินและในกรณีที่มีเงินเหลือจ่ายให้ออกใบเสร็จรับเงินมอบให้แก่ผู้ยืมด้วย
ข้อ ๔๖ ในกรณีที่ผู้ยืมได้ส่งหลักฐานการจ่ายเงินและเงินเหลือจ่ายคืนแล้ว แต่ปรากฏว่ามีเหตุ
ที่จะต้องทักท้วง ให้เจ้าหน้าที่การเงินแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้ยืมดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว
เมื่อได้รับทราบข้อทักท้วงแล้วให้ผู้ยืมดำเนินการแก้ไขตามข้อทักท้วงนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน
ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบข้อทักท้วง
ข้อ ๔๗ ในกรณีที่เป็นการยืมเงินเพื่อการปฏิบัติงานหรือโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ
ต่อเนื่องเกินกว่าสามสิบวัน และผู้ยืมได้ยืมเงินค่าใช้จ่ายของการปฏิบัติงานหรือโครงการไปทั้งหมด ให้ผู้ยืมส่งรายงานการใช้จ่ายเงินยืม จำนวนเงินคงเหลือ พร้อมกับจัดส่งหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้มีการจ่ายไปแล้วให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินตรวจสอบภายในสามสิบวันนับแต่วันจ่ายเงินยืมหรือวันที่ส่งรายงานการใช้จ่ายเงินยืมแล้วแต่กรณีไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานหรือโครงการหรือได้มีการส่งใช้เงินยืมครบถ้วนแล้ว
ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินดำเนินการตรวจสอบ หากมีข้อทักท้วงให้ดำเนินการตามข้อ ๔๖
ในกรณีที่ผู้ยืมไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้มีอำนาจอนุมัติเงินยืมแจ้งผู้บังคับบัญชาของผู้ยืมเพื่อดำเนินการเร่งรัดให้ผู้ยืมดำเนินการภายในเจ็ดวัน และหากผู้ยืมยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการ
ไม่แล้วเสร็จ ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินอาจสั่งให้ผู้ยืมดำเนินการส่งหลักฐานการจ่ายเงินและเงินเหลือจ่ายคืนได้โดยไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้นการปฏิบัติงานหรือโครงการ และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ยืมทราบ
ข้อ ๔๘ ในกรณีที่ผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามข้อ ๔๕ หรือข้อ ๔๖ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ยืมทราบเพื่อดำเนินการเร่งรัดติดตามให้ผู้ยืมดำเนินการตามข้อ ๔๕ หรือข้อ ๔๖ แล้วแต่กรณีภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ข้อ ๔๙ ในกรณีที่ยังมิได้มีการส่งใช้คืนเงินยืมหรือมีการส่งใช้คืนเงินยืมแล้วแต่ยังมีข้อทักท้วง
ให้กองคลังหรือสำนักงานเลขานุการส่วนงานและผู้ยืมเงินเก็บรักษาสัญญาการยืมเงิน ตลอดจนเอกสาร
หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ฝ่ายละหนึ่งชุด และเมื่อผู้ยืมได้ส่งใช้คืนเงินยืมเรียบร้อยแล้ว ให้กองคลัง
หรือสำนักงานเลขานุการส่วนงานออกใบรับรองการใช้คืนเงินยืมให้แก่ผู้ยืมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๕๐ เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม ข้อ ๔๕ ข้อ ๔๖ ข้อ ๔๗ วรรคสาม หรือข้อ ๔๘ แล้วแต่กรณี
ผู้ยืมยังไม่ใช้เงินยืมหรือใช้คืนเงินยืมไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการยืมเงินสั่งการให้บังคับ
ตามสัญญายืมต่อไป
หมวด ๑๒
การบริหารการเงินแบบกองทุน
_____________________
ข้อ ๕๑ การนำเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยหรือเงินรายได้ของส่วนงานไปจัดตั้ง
และบริหารในแบบกองทุนเพื่อดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด อาจดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบบริหารการเงิน งบประมาณ หรือการบัญชี ตามข้อบังคับนี้
(๒) การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนมีความต่อเนื่องข้ามปีงบประมาณมากกว่า สองปีงบประมาณ
(๓) กองทุนสามารถมีรายได้จากผลการดำเนินงานของกองทุนหรือมีการระดมทุนเพื่อเป็นรายได้ของกองทุนนอกเหนือจากเงินงบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๒ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารงบประมาณและการเงินอาจมีอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อการระดมทุน
(๒) เพื่อจัดสวัสดิการแก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษา
(๓) เพื่อการบำรุงรักษาอาคารสถานที่หรือวัสดุ ครุภัณฑ์
(๔) เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา
(๕) เพื่อจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองในทางการเงิน
(๖) เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นสมควร
การจัดตั้งกองทุนและการบริหารกองทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเงิน และให้ทำเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๓ คณะกรรมการการเงินอาจพิจารณาเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณายุบเลิกกองทุน
ที่จัดตั้งตามข้อ ๕๒ ได้ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) วัตถุประสงค์ของกองทุนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
(๒) การดำเนินงานของกองทุนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การบริหารงบประมาณและการเงินอย่างปกติตามข้อบังคับนี้
(๓) กรณีอื่น ๆ ที่คณะกรรมการการเงินเห็นสมควร
ในกรณีที่มีการยุบเลิกกองทุน ให้มีการชำระบัญชีของกองทุน และหากมีเงินกองทุนเหลืออยู่
ให้นำเงินที่เหลืออยู่นั้นเป็นเงินสะสมของส่วนกลางมหาวิทยาลัยหรือเป็นเงินสะสมของส่วนงานในกรณีที่
เป็นการตั้งกองทุนภายในของส่วนงานนั้น
การยุบเลิกกองทุนให้ทำเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๔ การจัดตั้งกองทุนจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศหรือบริจาคให้มหาวิทยาลัย หรือส่วนงานหนึ่งส่วนงานใดให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขที่ผู้อุทิศหรือบริจาคให้กำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกองทุนที่ตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
และรายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
การยุบเลิกกองทุนที่ตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยและรายงาน สภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
หมวด ๑๓
รายงานการเงิน
_____________________
ข้อ ๕๕ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงานจัดทำงบการเงินโดยแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานและฐานะการเงินตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ตามรูปแบบที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเงินกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย และปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในของมหาวิทยาลัยโดยเคร่งครัด
การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามวรรคแรกถือเป็นความบกพร่อง
ทางการบริหาร
ข้อ ๕๖ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานทำงบทดลองรายเดือนส่งให้สำนักงานตรวจสอบภายในภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป
ข้อ ๕๗ เมื่อสิ้นปีงบประมาณให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานจัดทำงบการเงินประจำปีส่งให้อธิการบดีภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ และให้มหาวิทยาลัยจัดทำงบการเงินรวม
ของมหาวิทยาลัยส่งอธิการบดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีกำหนด
เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มหาวิทยาลัยจัดส่งงบการเงินรวมให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นและนำเสนอรายงานการเงินที่ตรวจสอบแล้วพร้อมข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี
รับอนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบต่อสภามหาวิทยาลัยภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๕๘ ให้ส่วนงานจัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของมหาวิทยาลัย และให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงินเพื่อเสนอความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
_____________________
ข้อ ๕๙ ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการงบประมาณ การเงิน การบัญชี และพัสดุ ให้นำระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สิน พ.ศ. ๒๕๕๔ และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๖๐ กองทุนที่ตั้งขึ้นและยังดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปตามข้อบังคับของกองทุน แต่ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการเงินพิจารณาตรวจสอบเหตุผล
ความจำเป็นในการบริหารงานของกองทุน หากเห็นว่ากองทุนใดมีกรณีตามข้อ ๕๓ อาจพิจารณาเสนอ
สภามหาวิทยาลัยให้ยุบเลิกกองทุนนั้นเสียก็ได้
ข้อ ๖๑ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ต้องกำหนดให้มีเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้จัดทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ข้อ ๗ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ
และการบัญชี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๒]ข้อ ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ
และการบัญชี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๓]ข้อ ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ
และการบัญชี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๗