ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและระบบการตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๔
______________________
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบภายใน พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อให้การตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรลุเป้าหมาย
อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
และหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๖๐ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๔
เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและระบบการตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบภายใน พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
และหัวหน้าส่วนงานอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนักงาน
“คณะกรรมการตรวจสอบ” หมายความว่า คณะกรรมการตรวจสอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สำนักงานตรวจสอบภายใน” หมายความว่า สำนักงานตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ผู้ตรวจสอบภายใน” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย
“หน่วยรับตรวจ” หมายความว่า ส่วนงานและหน่วยงานภายในส่วนงานที่รับผิดชอบใน
การปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย
“ผู้บริหาร” หมายความว่า อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าส่วนงาน
รองหัวหน้าส่วนงาน และให้หมายความรวมถึงผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานด้วย
ข้อ ๕ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบ และอธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการตรวจสอบภายใน
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี ตามแต่กรณีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการและถือเป็นที่สุด
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๖ กฎบัตรการตรวจสอบภายใน หมายถึง เอกสารทางการที่เป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของงานตรวจสอบภายใน ซึ่งกฎบัตรการตรวจสอบภายใน ประกอบด้วย
(๑) สถานภาพของหน่วยงานตรวจสอบภายใน
(๒) สายการรายงาน ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน
กับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐและคณะกรรมการตรวจสอบ
(๓) สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล บุคลากร และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
(๔) ขอบเขตการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
ข้อ ๗ กฎบัตรการตรวจสอบภายในตามข้อบังคับนี้ ได้แก่ กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ และกฎบัตรของสำนักงานตรวจสอบภายใน
ข้อ ๘ กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดหน้าที่อำนาจและความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและช่วยสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และกระบวนการการกำกับดูแลที่ดี
ข้อ ๙ กฎบัตรของสำนักงานตรวจสอบภายใน จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ ขอบเขตการดำเนินงาน และแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจสอบภายในเป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ และหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายใน สำหรับหน่วยงานของรัฐ บรรลุวัตถุประสงค์และมีการกำกับดูแลที่ดี
หมวด ๒
คณะกรรมการตรวจสอบ
ข้อ ๑๐ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในเป็นเลขานุการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคนก็ได้
ข้อ ๑๑ ประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบตามข้อ ๑๐ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ดังนี้
(๑.๑) ด้านการเงินและบัญชีหรือการตรวจสอบภายใน อย่างน้อยหนึ่งคน
(๑.๒) ด้านกฎหมาย อย่างน้อยหนึ่งคน
(๒) เป็นผู้มีความเข้าใจในภารกิจและความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย
(๓) เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับโดยทั่วไป
(๔) สามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ แสดงความเห็น และรายงานผลการดำเนินงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความอิสระและเที่ยงธรรม
ข้อ ๑๒ คณะกรรมการตรวจสอบต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และให้รวมถึงที่ปรึกษา หรือผู้ที่ได้รับการจ้างหรือแต่งตั้งโดยมีค่าจ้างหรือค่าตอบแทนประจำ
(๒) เป็นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย
(๓) เป็นผู้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าในขณะดำรงตำแหน่ง
หรือภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบ
(๔) เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส หรือบุคคลซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ของนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายใน หรือผู้ตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ได้อีก
ข้อ ๑๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้ว่าจะได้รับการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ออก ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่
(๗) พ้นจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกรณีที่เป็นกรรมการตามข้อ ๑๐ (๑)
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการหรือกรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการตรวจสอบแทนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๖ ให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยทุกสามเดือน
การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบต้องมีกรรมการตรวจสอบมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตรวจสอบที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
กรณีประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทน
กรณีที่ต้องมีการลงมติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและให้กระทำเป็นการเปิดเผย
กรณีที่มีเหตุเกี่ยวกับกรรมการตรวจสอบซึ่งมีสภาพอาจทำให้การตรวจสอบไม่เป็นกลาง กรรมการผู้นั้นจะประชุม ตรวจสอบ หรือลงมติ ในเรื่องที่มีเหตุดังกล่าวไม่ได้
ข้อ ๑๗ คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
(๑) จัดทำกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๒) สอบทานประสิทธิภาพประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลที่ดี รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตของมหาวิทยาลัย และระบบการรับแจ้งเบาะแส
(๓) สอบทานให้มหาวิทยาลัยมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ
(๔) สอบทานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของมหาวิทยาลัย
(๕) กำกับดูแลระบบงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย ให้มีความเป็นอิสระเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่
(๖) พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือ
มีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๗) ให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมิน ผลงานของผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในต่อสภามหาวิทยาลัย
(๘) ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นชอบเกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่น ๆ และอาจเสนอแนะให้สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น รวมถึงเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีต่อสภามหาวิทยาลัยตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๙) รายการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้งต่อสภามหาวิทยาลัย
(๑๐) ประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานตรวจสอบภายใน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในของหน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อสภามหาวิทยาลัย
(๑๑) ทบทวนข้อบังคับนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๑๒) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายหรือสภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๘ ในการตรวจสอบภายในให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจ ดังนี้
(๑) เชิญผู้บริหาร หรือผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม หารือ ชี้แจง หรือตอบข้อซักถาม ในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
(๒) เสนอให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หรือผู้ตรวจสอบภายนอกเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการตรวจสอบ ด้านการบริหารความเสี่ยง หรือด้านอื่น ๆ และให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือสำนักงานตรวจสอบภายในในการตรวจสอบ
(๓) แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบเป็นครั้งคราว
(๔) กำหนดแนวทางการตรวจสอบภายในให้เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรของสำนักงานตรวจสอบภายในตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
(๕) กรณีหน่วยรับตรวจไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน หรือหัวหน้าหน่วยรับตรวจปฏิบัติบกพร่องทุจริต ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสืบเสาะ สอบสวนหาสาเหตุผู้รับผิดชอบ
และวิธีการป้องกันแก้ไข และรายงานต่ออธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้วแต่กรณี
หมวด ๓
ระบบการตรวจสอบภายใน
ส่วนที่ ๑
สำนักงานตรวจสอบภายใน
ข้อ ๑๙ ให้สำนักงานตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบในด้าน
การปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
การบริหารงานทั่วไปของสำนักงานตรวจสอบภายในให้ขึ้นตรงต่ออธิการบดี เว้นแต่การแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนเงินเดือน และประเมินผลงานของผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายใน ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบ และให้อธิการบดีสั่งการให้เป็นไปตามมติของสภามหาวิทยาลัยนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนเงินเดือน และประเมินผลงานของผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในตามวรรคสองให้เป็นไปตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม
ข้อ ๒๐ ให้สำนักงานตรวจสอบภายในมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
(๑) กำหนดกฎบัตรของสำนักงานตรวจสอบภายในไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเสนออธิการบดีก่อนเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเผยแพร่หน่วยรับตรวจทราบ รวมทั้งมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรนี้ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๒) กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ภารกิจการตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยและส่วนงานเพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
(๓) จัดให้มีการประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายในทั้งภายในและภายนอก และเสนอรายงานผลการประเมิน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งแผนปรับปรุงการดำเนินงานเสนออธิการบดี
และคณะกรรมการตรวจสอบ
(๔) จัดทำแผนการตรวจสอบภายในระยะยาวที่แยกย่อยเป็นรายปีและครอบคลุมส่วนงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานโดยกำหนดกรอบระยะเวลาของแผนเป็นสองปี สามปี หรือสี่ปี โดยใช้แนวคิดการวางแผนการตรวจสอบตามพื้นฐานความเสี่ยง
(๕) เสนอแผนงานตรวจสอบของมหาวิทยาลัยต่ออธิการบดีเพื่อให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในเดือนกันยายนของทุกปี โดยให้แผนการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยแผนการตรวจสอบของสำนักงานตรวจสอบภายใน และแผนการตรวจสอบของแต่ละส่วนงาน
(๖) เมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จ ให้สำนักงานตรวจสอบภายในจัดทำรายงานผลการตรวจสอบที่ผู้บริหารของหน่วยรับตรวจได้แสดงความเห็นต่อข้อเสนอแนะไว้แล้ว เสนออธิการบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ และเสนอรายงานผลการตรวจสอบโดยสรุปต่อคณะกรรมการตรวจสอบในระยะเวลาอันสมควร เว้นแต่กรณีเรื่องที่ตรวจพบเป็นเรื่องที่จะมีผลเสียหายต่อมหาวิทยาลัยให้รายงานผลการตรวจสอบทันที
(๗) เผยแพร่ความรู้หรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน
(๘) เสนอทบทวนข้อบังคับนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๙) ปฏิบัติงานอื่นใดอันเกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบภายในที่สภามหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการตรวจสอบมอบหมาย โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กระทรวงการคลังกำหนด
ส่วนที่ ๒
การตรวจสอบภายในส่วนงาน
ข้อ ๒๑ ให้มีการตรวจสอบภายในส่วนงานตามมาตรฐานการตรวจสอบภายในส่วนงานที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด และเมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้ว ให้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการประจำส่วนงาน อธิการบดี และคณะกรรมการตรวจสอบ
ให้ส่วนงานแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหรือดำเนินการให้มีบุคคลภายนอกเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบภายในส่วนงานของตามมาตรฐานที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดก็ได้
ในกรณีที่เป็นส่วนงานขนาดใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด ให้หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงานแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประจำส่วนงานและจัดตั้งหน่วยตรวจสอบภายในประจำส่วนงานนั้น
หมวด ๔
หน่วยรับตรวจ
ข้อ ๒๒ ให้หน่วยรับตรวจ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
(๑) อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือแก่ผู้ตรวจสอบภายใน โดยการจัดเตรียมสถานที่ข้อมูลเอกสาร ทรัพย์สินและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการตรวจสอบตามที่ผู้ตรวจสอบภายในร้องขอ รวมถึงการชี้แจงและตอบข้อซักถามของผู้ตรวจสอบภายในด้วย
(๒) ให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เป็นประเด็นข้อตรวจพบภายในเวลาที่หน่วยงานตรวจสอบภายในกำหนด หากหน่วยรับตรวจมีแนวทางที่ต่างจากข้อเสนอแนะให้สามารถแสดงแนวทางนั้นไว้ในรายงานการตรวจสอบด้วย
(๓) ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน หรือแนวทางที่หน่วยรับตรวจเสนอ
และผู้ตรวจสอบภายในเห็นควร ซึ่งอธิการบดีหรือหัวหน้าส่วนงานแล้วแต่กรณีสั่งการในรายงานผลการตรวจสอบโดยปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรายงาน
(๔) ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ภายในหน่วยรับตรวจมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติสภามหาวิทยาลัย หรือพบข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงในการบริหารงาน หรือมีการทุจริต
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๓ ให้คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบภายในส่วนงานตามข้อบังคับนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๒๔ ให้คณะกรรมการตรวจสอบภายในตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบภายใน พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นคณะกรรมการตรวจสอบตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย