ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑
……..………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับนักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๑
เป็นต้นไป
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัย
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“คณะกรรมการประจำคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำวิทยาลัย สถาบัน
หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“หลักสูตร” หมายความว่า หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย
และให้หมายความรวมถึงหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีควบปริญญาโทในส่วนที่เป็นการศึกษาระดับ
ปริญญาตรีด้วย
“ภาคการศึกษา” หมายความว่า ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค หรือในระบบไตรภาค
แต่ไม่รวมภาคฤดูร้อน
“สถาบันอุดมศึกษาอื่น” หมายความว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับ
การจัดตั้งตามกฎหมายของไทยหรือเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของต่างประเทศ
“ข้อกำหนดหลักสูตร” หมายความว่า ข้อกำหนดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
ในการศึกษาของหลักสูตรตามที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อำานวยการสำนักงานทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ
ของ มหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ได้
หมวด ๑
ระบบการจัดการศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษา
—————————————–
ข้อ ๖ มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาด้วยหลักการประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
คณะใด มีหน้าที่จัดการศึกษาในวิชาการด้านใดให้จัดการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ทุกคณะ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลอันสมควรและได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมี ๒ ระบบ ดังนี้
(๑) ระบบทวิภาค เป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสองภาคการศึกษา
คือภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒ และอาจมีภาคฤดูร้อนต่อจากภาคการศึกษาที่ ๒ ด้วยก็ได้
(๒) ระบบไตรภาค เป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสามภาคการศึกษา
คือภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒ และภาคการศึกษาที่ ๓
การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งอาจออกแบบวิธีการเรียนการสอนโดยแบ่งช่วงการศึกษาตามหัวข้อการศึกษาที่มีปริมาณการเรียนรู้เทียบเท่าระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาคแล้วแต่กรณี
หลักสูตรการศึกษาใดจะจัดการศึกษาในระบบตามวรรคหนึ่งให้เป็นอำนาจของสภา มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๘ ระบบทวิภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าสัปดาห์ และในภาคฤดูร้อนให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคการศึกษา
ระบบไตรภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบสองสัปดาห์และไม่เกิน
๑๔ สัปดาห์
ในแต่ละรายวิชาที่เปิดสอนอาจใช้ระยะเวลาศึกษาแตกต่างจากวรรคหนึ่งหรือวรรคสองก็ได้
แต่ต้องมีปริมาณการศึกษาต่อหนึ่งหน่วยกิตไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๙
ข้อ ๙ หน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตรให้คำนวณตามปริมาณการศึกษา โดยหนึ่งหน่วยกิตเท่ากับปริมาณการศึกษาดังต่อไปนี้
(ก) ระบบทวิภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสามสิบชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายให้มีเวลา
ทำโครงงาน หรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(ข) ระบบไตรภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยาย หรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
ให้มีเวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมง
ต่อภาคการศึกษา
ข้อ ๑๐ การกําหนดจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบหน่วยกิต หรือระบบ
ไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบหน่วยกิต
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบหน่วยกิต หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยยี่สิบห้าหน่วยกิต
ข้อ ๑๑ ระยะเวลาที่ใช้ศึกษาต้องไม่เกินเวลาที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร แต่ทั้งนี้
ในข้อกําหนดหลักสูตรต้องกําหนดไว้ไม่เกินระยะเวลาดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) ให้ใช้เวลาศึกษาได้ไม่เกินแปดปีการศึกษา
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) ให้ใช้เวลาการศึกษาได้ไม่เกินสิบสองปีการศึกษา
นักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาเกินกว่ากําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียน นักศึกษา
ข้อ ๑๒ คณะต้องกําหนดให้นักศึกษามีอาจารย์ที่ปรึกษาประจําตัวนักศึกษา เพื่อทําหน้าที่ แนะนํา ให้คําปรึกษา ให้ความเห็นชอบ หรืออนุญาตในการวางแผนการเรียน การลงทะเบียนเรียน
การเพิ่มและการถอนรายวิชาของนักศึกษา การย้ายหลักสูตร การลาพักการศึกษา การลาออก และ
การดําเนินการอื่นเพื่อดูแลความประพฤติและการติดตามผลการเรียนของนักศึกษา
หมวด ๒
การรับเข้าศึกษา
——————————————–
ข้อ ๑๓ การรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอาจมีได้ดังต่อไปนี้
(๑) การรับเข้าโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการตามการมอบหมายของมหาวิทยาลัยหรือตามข้อตกลง ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
(๒) การรับเข้าโดยการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
หลักเกณฑ์และวิธีการรับเข้าตาม (๒) ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
(๒) ไม่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น เว้นแต่การศึกษา
ในมหาวิทยาลัยเปิด หรือการศึกษาหลักสูตรทางไกล (Online) ที่ได้รับปริญญา
(๓) ไม่เป็นผู้ป่วยหรืออยู่ในสภาวะที่จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการศึกษา
(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีหรือมีพฤติกรรมเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษาใด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามข้อกำหนดหลักสูตรที่เข้าศึกษาและตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรับเข้าศึกษาด้วย
หมวด ๓
การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
———————————————
ข้อ ๑๕ ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษา ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจำเป็นอธิการบดีอาจอนุญาตผ่อนผันการขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก
ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาโดยใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศต้องยื่นใบสำคัญแสดงวุฒิการศึกษาต่อคณะในวันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วย แต่หากยังไม่สามารถนำส่งได้ อธิการบดีอาจผ่อนผันให้นำมาส่ง
ในภายหลัง แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก หากพ้นกำหนดเวลาที่ผ่อนผันให้แล้ว
ยังไม่อาจนำส่งได้ให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษา
ข้อ ๑๖ หากมีการตรวจพบว่าผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามข้อ ๑๔ หรือได้ใช้เอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนอันเป็นเท็จ ให้นายทะเบียน
เสนอต่ออธิการบดีเพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษาผู้นั้น
หากมีกรณีตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นเมื่อผู้กระทำผิดได้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ให้อธิการบดี
เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญาบัตรของผู้นั้น
หมวด ๔
ฐานะชั้นปี
—————————————
ข้อ ๑๗ การเทียบฐานะชั้นปีของนักศึกษา ให้พิจารณาจากจํานวนหน่วยกิตที่สอบได้ หรือได้รับเทียบโอน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ชั้นปีหนึ่ง นับตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาและสอบได้หรือได้รับเทียบโอนไม่ถึงหนึ่งในสี่
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๒) ชั้นปีสอง สอบได้หรือได้รับเทียบโอนตั้งแต่หนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงหนึ่งในสอง
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๓) ชั้นปีสาม สอบได้หรือได้รับเทียบโอนตั้งแต่หนึ่งในสองแต่ไม่ถึงสามในสี่
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๔) ชั้นปีสี่ สอบได้หรือได้รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนหน่วยกิต
รวมของข้อกําหนดหลักสูตร
หมวด ๕
การลงทะเบียนเรียน
——————————————–
ข้อ ๑๘ เพื่อคุณภาพของการจัดการศึกษา คณบดีอาจกําหนดเงื่อนไข หรือจํากัดจํานวน นักศึกษา
ที่จะลงทะเบียนเรียนในรายวิชาใดก็ได้โดยทําเป็นประกาศคณะ
การประกาศเปิดวิชาเพิ่ม หรือปิดรายวิชาใดที่มีนักศึกษาลงทะเบียนแล้วจะต้องกระทําภายใน
เจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือสี่วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
ข้อ ๑๙ การลงทะเบียนเรียนให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกําหนดการที่อธิการบดีกําหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หากนักศึกษามีหนี้สินใด ๆ กับมหาวิทยาลัย จะต้องชําระให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ ลงทะเบียนเรียนได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ภายหลังจากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว นักศึกษาต้องดําเนินการตรวจสอบ
ผลการลงทะเบียนของตนเองด้วยภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาไม่ทันกําหนดการตามวรรคหนึ่ง นักศึกษาอาจขอ ลงทะเบียนล่าช้าได้ แต่ทั้งนี้ ต้องดําเนินการภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษานั้น หรือสามวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อนนั้น และต้องชําระเบี้ยปรับการลงทะเบียนเรียนล่าช้าเป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๒๐ ในภาคการศึกษาของระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาค นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียน
ไม่น้อยกว่าเก้าหน่วยกิต แต่ไม่เกินยี่สิบสองหน่วยกิต และในภาคฤดูร้อน นักศึกษาลงทะเบียนเรียน
ได้ไม่เกินหกหน่วยกิต
นักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนมากกว่าจํานวนตามวรรคหนึ่งได้โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี
ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนักศึกษาที่มีฐานะชั้นปี ๔
(๒) สําหรับการศึกษาภาคฤดูร้อนนักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนเกินกว่า ๖ หน่วยกิต
แต่ไม่เกิน ๙ หน่วยกิตได้ เฉพาะกรณีเป็นนักศึกษาที่คาดว่าจะสําเร็จการศึกษาในปีการศึกษานั้น
นักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนรายวิชาน้อยกว่าจํานวนตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาจนเหลือจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาตามหลักสูตรน้อยกว่าจํานวน ตามวรรคหนึ่ง
(๒) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนจําเป็นต้องใช้เวลาเพื่อการรักษาพยาบาล หรือฟื้นฟูร่างกาย โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี
การนับจํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนสูงสุดตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงรายวิชาเสริมหลักสูตรพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยกําหนดให้ศึกษาโดยไม่นับหน่วยกิต รายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อเสริมความรู้โดยไม่วัดผลการศึกษา และรายวิชาที่ลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒๕
การนับจํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนตามวรรคหนึ่งมิให้นับจํานวนหน่วยกิตของรายวิชา
ที่นักศึกษาได้รับการยกเว้นโดยผ่านการทดสอบ การวัดผล หรือการเทียบโอนรายวิชา
ข้อ ๒๑ ในแต่ละภาคการศึกษา นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่ศึกษาอยู่
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียน เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดีในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ได้ศึกษารายวิชาเอกหรือรายวิชาเฉพาะของหลักสูตรครบแล้ว
(๒) ได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่ศึกษาทุกรายวิชาในภาคการศึกษา
ที่ลงทะเบียนเรียนนั้นแล้ว
(๓) นักศึกษาขอลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่จะย้ายเข้าไปศึกษา
(๔) นักศึกษามีสถานภาพทางวิชาการอยู่ในการเตือนครั้งที่ ๒ หรือภาวะรอพินิจ
ข้อ ๒๒ ห้ามมิให้นักศึกษาที่ได้อักษร D ขึ้นไป หรือได้อักษร S ในรายวิชาใดลงทะเบียนเรียน
ในรายวิชานั้นอีก เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๓ นักศึกษาได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตร
ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร D ขึ้นไป หรือ S
นักศึกษาที่ได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร D ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็นรายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๒๔ นักศึกษาผู้ใดไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใด และไม่ได้ขอลาพักการศึกษา
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาของภาคการศึกษานั้น ให้ถอนชื่อนักศึกษาผู้นั้นออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ สถาบันอุดมศึกษาอื่น หรือนักศึกษามีข้อตกลงเพื่อรับทุนจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงาน ภาคประชาชน
หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากําไรอื่น หรือนักศึกษามีความประสงค์จะไปศึกษากับ สถาบันอุดมศึกษาอื่น อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาไปลงทะเบียนเรียน ในรายวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นเปิดสอนโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรของ นักศึกษาผู้นั้นก็ได้
ข้อ ๒๖ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบัน อุดมศึกษาอื่น หรือมีข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยอื่นที่มีวัตถุประสงค์ให้มหาวิทยาลัยหรือคณะรับบุคคล
เข้าศึกษาในรายวิชาของมหาวิทยาลัยหรือคณะ อธิการบดีอาจอนุมัติให้ผู้ซึ่งมิได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงทะเบียนเรียนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยก็ได้
ผู้ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ต้องชําระค่าธรรมเนียมในอัตรา
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๒๗ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการลงทะเบียนเรียน ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๖
การเพิ่มและการถอนรายวิชา
—————————————–
ข้อ ๒๘ การขอเพิ่มรายวิชาภายหลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว ให้กระทําได้ภายใน
สิบสี่วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผล
อันสมควร คณบดีอาจอนุมัติให้เพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เกินสิบสี่วันก่อน
วันปิดภาคการศึกษา หรือภาคฤดูร้อนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องมีเวลาเรียนครบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๔๓
การขอเพิ่มรายวิชาตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้สอน
ในรายวิชานั้นก่อน
ข้อ ๒๙ การขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วให้กระทําได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การขอถอนภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาค
ฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้ลบรายวิชานั้นออก
(๒) การขอถอนเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา
หรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
(๓) การขอถอนเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๒) แต่ไม่เกินสิบสี่วันก่อนปิดภาคการศึกษา หรือภาค
ฤดูร้อน ทั้งนี้ จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลความจําเป็น โดยได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดี
เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
การขอถอนจนเหลือรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้นน้อยกว่าจํานวนเก้าหน่วยกิต จะกระทํามิได้ เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้ ให้นับหน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒๕ รวมเข้าในหน่วยกิตดังกล่าวด้วย
ข้อ ๓๐ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการเพิ่มและถอนรายวิชาซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๗
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต และการเทียบโอนความรู้
———————————————-
ข้อ ๓๑ นักศึกษาที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น อาจขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่มีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่าและมีเกณฑ์การประเมินผลหรือวัดผลได้มาตรฐานเทียบเท่ากับรายวิชาในหลักสูตรที่ศึกษาอยู่ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีเวลาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษา
(๒) ให้เทียบโอนได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่อยกิตรวมทั้งหลักสูตร
(๓) รายวิชาที่จะขอเทียบโอน ต้องมิใช่รายวิชาในหลักสูตรที่นักศึกษาผู้นั้นถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษา
(๔) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องศึกษามาแล้วไม่เกินห้าปีนับจากปีที่ลงเบียนเรียนจนถึงวันที่
ขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๕) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ C ขึ้นไป หรือเทียบเท่า ยกเว้นกรณีของนักศึกษาซึ่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ในโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน
หรือโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการให้เทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามผลการศึกษาที่ได้
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ
อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่แตกต่างจากความใน
วรรคหนึ่งก็ได้ โดยทำเป็นประกาศคณะ และรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๓๒ ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามหมวดนี้
ข้อ ๓๓ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) สําหรับกรณีนักศึกษาที่ไปศึกษาตามโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน หรือ โครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือไปศึกษาด้วยตนเองโดยได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึกผล การศึกษาตามที่ได้ หรือในรายวิชาที่มีผลการศึกษาได้อักษร C ขึ้นไปอาจบันทึกอักษร ACC ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณบดี
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะกําหนดโดยทําเป็นประกาศคณะ
(๒) สําหรับกรณีนักศึกษาอื่นนอกจาก (๑) ให้บันทึกอักษร ACC
ข้อ ๓๔ การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบหรือการศึกษา
ตามอัธยาศัย อาจทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ กำหนดโดยทำเป็นประกาศคณะ และให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนความรู้นั้น
คณะอาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งโดยจัดให้มีการทดสอบ ข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติก็ได้
หมวด ๘
อักษรแสดงผลการศึกษา
——————————————
ข้อ ๓๕ ผลการศึกษาของแต่ละรายวิชา แบ่งออกเป็นสองประเภทดังนี้
(๑) ผลการศึกษารายวิชาที่มีค่าระดับและนํามาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษรความหมาย และค่าระดับดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ ค่าระดับ
A ผลการประเมินขั้นชั้นเลิศ Excellent ๔.๐
B+ ผลการประเมินขั้นดีมาก Very Good ๓.๕
B ผลการประเมินขั้นดี Good ๓.๐
C+ ผลการประเมินขั้นดีพอใช้ Almost Good ๒.๕
C ผลการประเมินขั้นพอใช้ Fair ๒.๐
D+ ผลการประเมินขั้นค่อนข้างอ่อน Almost Fair ๑.๕
D ผลการประเมินขั้นอ่อน Poor ๑.๐
F ผลการประเมินขั้นตก Failed ๐
(๒) ผลการศึกษาที่ไม่มีค่าระดับและไม่นํามาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษรและความหมาย ดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ
S ใช้ได้ Satisfactory
U ใช้ไม่ได้ Unsatisfactory
ACC ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่านการ Accreditation
ทดสอบเทียบความรู้หรือใช้ผล
การสอบในรายวิชาที่นับหน่วยกิต
หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิต
EXE ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่าน Exempted
การทดสอบเทียบความรู้หรือใช้ผล
การสอบในรายวิชาที่ไม่นับ
หน่วยกิต
I การวัดผลไม่สมบูรณ์ Incomplete
W การถอนรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ Withdraw
AUD การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา Audit
ข้อ ๓๖ อักษร S หรือ U ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่กําหนดให้มีผลการศึกษาเป็นระดับใช้ได้ หรือระดับใช้ไม่ได้
ผลการศึกษาระดับใช้ได้ ให้ใช้อักษร S และระดับใช้ไม่ได้ให้ใช้อักษร U
ข้อ ๓๗ อักษร ACC หรือ EXE ให้ใช้ในรายวิชาที่ให้นักศึกษาสามารถนําผลการทดสอบเทียบ ความรู้หรือคะแนนการทดสอบอื่นมาใช้แทนการศึกษาในรายวิชานั้นได้
อักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่นํามานับหน่วยกิต
อักษร EXE ให้ใช้ในรายวิชาที่ไม่นํามานับหน่วยกิต
ข้อ ๓๘ อักษร I ให้ใช้กับรายวิชาที่การวัดผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์ และเป็นการบันทึกไว้
เป็นการชั่วคราว
นักศึกษาที่ได้อักษร I ในรายวิชาใด ให้ดําเนินการวัดผลในรายวิชานั้นให้แล้วเสร็จภายใน
แปดสิบวัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา แต่หากไม่สามารถดําเนินการวัดผลได้ทัน อาจารย์ผู้สอนอาจกําหนด
ผลการศึกษาของนักศึกษาผู้นั้นจากคะแนนสอบหรือคะแนนการวัดผลการศึกษาโดยวิธีการอื่นเท่าที่นักศึกษา
ผู้นั้นมีอยู่ก็ได้
เมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา หากยังไม่มีการดําเนินการตามวรรคสอง
ให้บันทึกอักษร W
ข้อ ๓๙ อักษร W ให้ใช้ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ในรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร I และอาจารย์ผู้สอนยังไม่ได้กําหนดผลการศึกษาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาที่นักศึกษาขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณบดีหรือ อธิการบดีแล้วแต่กรณี
(๓) ได้รับอนุมัติให้ถอนรายวิชาตามข้อ ๒๙ (๒) และ ๒๙ (๓)
(๔) ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามข้อ ๕๐ (๒) และ ๕๐ (๓)
ในกรณีตาม (๒) นักศึกษาต้องยื่นคําร้องขออนุมัติต่อคณบดีผ่านอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์
ที่ปรึกษา ภายในสิบวันนับแต่วันสอบแต่หากยื่นคําร้องเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว หากคณบดีเห็นว่า
มีเหตุผลอันสมควรให้รายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๔๐ อักษร AUD กระทําได้ในรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อการเสริมความรู้
โดยไม่ต้องมีการวัดผล และมีเวลาเรียนในรายวิชานั้นตามเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในข้อ ๔๓ หรือตามข้อกําหนด
ของหลักสูตรและรายวิชา
นักศึกษาที่ประสงค์จะลงทะเบียนเพื่อเสริมความรู้ต้องได้รับคําแนะนําจากอาจารย์ที่ปรึกษา
และได้รับอนุญาตจากผู้สอน และชําระค่าธรรมเนียมตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียม การศึกษา
เมื่อลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเพื่อการเสริมความรู้โดยไม่ต้องมีการวัดผลแล้ว จะขอเปลี่ยนแปลง เป็นการลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อนโดยต้องได้รับอนุมัติจากคณบดี เมื่อพ้นกําหนดเวลานี้แล้วกระทํามิได้
ห้ามมิให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้อักษร AUD แล้วซ้ำอีก เว้นแต่กรณีการย้ายหลักสูตรและรายวิชานั้นเป็นรายวิชาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรที่ย้ายเข้า
ข้อ ๔๑ การนับจํานวนหน่วยกิตสะสมให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับตั้งแต่ D ขึ้นไป ระดับใช้ได้ (S) หรือระดับ ACC เท่านั้น
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาใดซ้ำหรือแทนกันตามข้อกําหนดหลักสูตร ให้นับจํานวน หน่วยกิตของรายวิชานั้นได้เพียงครั้งเดียว
หมวด ๙
การวัดผลการศึกษา และการคํานวณค่าเฉลี่ยสะสม
——————————————
ข้อ ๔๒ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสําหรับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ในภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การวัดผลการศึกษาอาจทําได้ระหว่างภาค ด้วยวิธีรายงานจากหนังสือที่กําหนดให้อ่าน งานที่แบ่งกันทําเป็นหมู่คณะ การทดสอบระหว่างภาค การเขียนสารนิพนธ์ประจํารายวิชาหรืออื่น ๆ และเมื่อสิ้นภาค
จะมีการสอบไล่สําหรับแต่ละรายวิชาที่ศึกษาในภาคนั้น
รายวิชาใดที่ไม่มีการสอบไล่เมื่อสิ้นภาค คณบดีจะประกาศให้ทราบ
ในบางกรณี มหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษาตามความ
ในวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๔๓ นักศึกษาที่มีเวลาเรียนตลอดภาคการศึกษาในรายวิชาใดไม่ถึงร้อยละเจ็ดสิบของเวลาเรียนในรายวิชานั้นทั้งหมดหรือตามที่กําหนดไว้ในรายวิชาหรือข้อกําหนดหลักสูตร ไม่มีสิทธิเข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษาผู้นั้น คณบดีอาจอนุญาตให้เข้าสอบไล่ได้เป็นกรณีพิเศษ
การนับเวลาเรียนตามวรรคหนึ่งให้นับการเรียนในรายวิชานั้นทั้งการเรียนภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การฝึกงาน การฝึกภาคสนาม และการทําโครงงาน
ข้อ ๔๔ ให้คํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนเมื่อสิ้นภาค
โดยคํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชานั้น
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนในภาคนั้น
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคนั้น
ข้อ ๔๕ การคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดทุกภาคการศึกษา
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนไว้ ทุกภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อน
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสะสม
ข้อ ๔๖ ในการคํานวณตามข้อ ๔๔ (๔) หรือข้อ ๔๕ (๔) หากได้ทศนิยมตําแหน่งที่สาม
เป็นจํานวนตั้งแต่ห้าขึ้นไปให้ปัดเศษขึ้นไป
หมวด ๑๐
สถานภาพทางวิชาการ
ข้อ ๔๗ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาให้พิจารณาจากผลการคํานวณคะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษา เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่เรียน ดังนี้
(๑) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๒.๐๐ ขึ้นไปมีสถานภาพทางวิชาการปกติ (Normal)
(๒) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ มีสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๑
(Warning ๑) เว้นแต่กรณีเป็นภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา ให้มีสถานภาพทางวิชาการเตือนพิเศษ (Warning)
(๓) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือนพิเศษในภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา ตาม (๒) และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๑.๕๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
(๔) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือนพิเศษ หรือเตือนครั้งที่ ๑ ตาม (๒) ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ให้มีสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๒ (Warning ๒)
(๕) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๒ ตาม (๔) ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ให้มีสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ (Probation)
(๖) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ ตาม (๕) ในภาคการศึกษา
ที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
ในกรณีที่นักศึกษาสอบได้รายวิชาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
แล้วมีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๑.๘๐ ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒.๐๐ และต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ตาม (๖) อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นศึกษาต่อในหลักสูตรเดิม หรือย้ายหลักสูตร แต่นักศึกษา
ต้องศึกษาให้ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมถึง ๒.๐๐ ภายในสามภาคการศึกษา และต้องศึกษาให้สําเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาตาม ข้อ ๑๑ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
ข้อ ๔๘ ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๔๗ การย้ายหลักสูตรระหว่างคณะหรือภายในคณะ
หรือการลาพักการศึกษาไม่มีผลทําให้การเตือนและภาวะรอพินิจเปลี่ยนแปลง
หมวด ๑๑
การลาพักการศึกษา
—————————————
ข้อ ๔๙ นักศึกษาอาจขอลาพักการศึกษาได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ถูกเกณฑ์หรือระดมพลเข้ารับราชการทหารกองประจําการ
(๒) ได้รับทุนเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ
(๓) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนจําเป็นต้องพักการศึกษาเพื่อ การรักษาพยาบาล
หรือฟื้นฟูร่างกายตามใบรับรองแพทย์
(๔) นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนมาแล้วเกินกว่าสองภาคการศึกษามีความประสงค์
จะขอพักการศึกษาโดยมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี
(๕) นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนไม่ถึงสองภาคการศึกษามีความประสงค์จะขอพักการศึกษา
โดยมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
การลาพักการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้นักศึกษายื่นคําร้องต่อคณบดี และให้คณบดี
เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ เว้นแต่กรณีตาม (๕) และการลาพักการศึกษาเกินกว่าสองภาคการศึกษาติดต่อกัน
ต้องได้รับการอนุมัติจากอธิการบดี ทั้งนี้ กรณีนักศึกษาไม่ลงทะเบียนเรียนให้ยื่นคําร้องต่อคณบดี
ภายในสามสิบวันนับแต่เปิดภาคการศึกษา
ข้อ ๕๐ ในกรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันแรก
ของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วออก
(๒) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาหรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชา ที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
(๓) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลา ตาม (๒) แต่ก่อนวันปิดภาค การศึกษาไม่
น้อยกว่าสิบสี่วัน จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร และต้องได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึกอักษร W
สําหรับรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
ข้อ ๕๑ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาก่อนการลงทะเบียนเรียนหรือการลาพักการศึกษา
ก่อนวันเปิดภาคการศึกษาจะต้องชําระค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพ ตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๕๒ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักให้สํานักงานทะเบียนนักศึกษา ทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๕๓ ให้นับรวมเวลาในระหว่างการลาพักการศึกษา เป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๑๒
การถูกลงโทษให้พักการศึกษา
—————————————
ข้อ ๕๔ นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษา ให้ลบรายวิชา
ที่นักศึกษาผู้นั้นลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ถูกสั่งพักการศึกษาออก และให้บันทึกคําว่า
ถูกสั่งพักการศึกษา (Suspended) และเปลี่ยนเป็นลาพักการศึกษา (Leave) เมื่อสําเร็จการศึกษา
นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปต้องชําระค่าธรรมเนียม
การรักษาสถานภาพ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้นด้วย
ข้อ ๕๕ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ถูกสั่งให้พักการศึกษาให้สํานักงานทะเบียน
นักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๕๖ ให้นับรวมเวลาในระหว่างที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาเป็นระยะเวลาศึกษาตาม
ข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๑๓
การลาออก
—————————————
ข้อ ๕๗ นักศึกษาที่ประสงค์จะลาออกให้มีความเห็นจากผู้ปกครอง และให้ยื่นคําร้อง
ที่ได้รับ คําปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วต่อคณบดี
เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้มีผลนับแต่วันที่นักศึกษายื่นคําร้องตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๕๔ เมื่อการลาออกมีผลแล้ว ให้บันทึกอักษร W ในรายวิชาที่ยังไม่มีการประกาศผลการศึกษา
หมวด ๑๔
การย้ายหลักสูตร
—————————————
ข้อ ๕๙ การย้ายหลักสูตรภายในคณะหรือย้ายระหว่างคณะ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาต้องศึกษาในหลักสูตรเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่าสองภาคการศึกษา ทั้งนี้
ไม่นับภาคการศึกษาที่ลาพัก หรือถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษา
(๒) สอบผ่านรายวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรเดิม หรือหลักสูตรที่จะย้ายเข้าโดยต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ย ๒.๐๐ ขึ้นไป หรือตามหลักเกณฑ์การย้ายหลักสูตรที่คณะกําหนด โดยทําเป็นประกาศคณะ
(๓) มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมถึงภาคการศึกษาก่อนการย้ายหลักสูตร ๒.๐๐ ขึ้นไป หรือตามหลักเกณฑ์การย้ายหลักสูตรที่คณะกําหนด โดยทําเป็นประกาศคณะ
(๔) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า
ข้อ ๖๐ นักศึกษาที่ประสงค์จะขอย้ายหลักสูตรให้ยื่นคําร้องขอย้ายหลักสูตรพร้อมแสดง เหตุผลความจําเป็นต่อคณะที่ประสงค์จะย้ายเข้าศึกษาในหลักสูตรนั้น ไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ประสงค์จะย้ายเข้าในหลักสูตรนั้น
ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า
พิจารณาอนุมัติการย้ายหลักสูตรของนักศึกษา
ในกรณีหลักสูตรที่ย้ายเข้าใช้ระบบการวัดผลแตกต่างกันกับหลักสูตรที่ย้ายออก ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาย้ายหลักสูตร ให้แปลงคะแนนของรายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายออก ให้เป็นไป
ตามหลักเกณฑ์การวัดผลของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า เพื่อประกอบการพิจารณาสถานภาพทางวิชาการ
ของนักศึกษา
ข้อ ๖๑ นักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายหลักสูตร ต้องศึกษาให้สําเร็จการศึกษาภายในระยะเวลา
ตามข้อ ๑๑ นับแต่วันที่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๖๒ ให้นํารายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายออกมาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมกับรายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายเข้า
หมวด ๑๕
การสําเร็จการศึกษา และการอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญา
————————————————-
ข้อ ๖๓ นักศึกษาจะสําเร็จการศึกษาได้ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) สําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนเจ็ดภาคการศึกษาในระบบทวิภาค
หรือไม่ก่อนสิบภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) สําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนเก้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาค หรือไม่ก่อนสิบสามภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
(๓) หลักสูตรอนุปริญญาจะสําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนห้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาค
หรือเจ็ดภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับกับหลักสูตรระดับปริญญาตรีควบปริญญาโทหรือหลักสูตร
ที่มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ทั้งนี้ ให้กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร และนักศึกษาซึ่งได้รับ
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๖๔ นักศึกษาซึ่งจะได้รับอนุปริญญาหรือปริญญาจากมหาวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาจนครบเงื่อนไขการสําเร็จการศึกษาตามข้อกําหนดหลักสูตร และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า ๒.๐๐
(๒) ผ่านการทดสอบความรู้และทักษะอื่นตามที่มหาวิทยาลัยกําหนด
(๓) เป็นผู้มีความประพฤติดีเหมาะสมกับศักดิ์ศรีแห่งอนุปริญญาหรือปริญญาของ มหาวิทยาลัย
(๔) ไม่มีภาระหนี้สินกับมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๖
การได้รับปริญญาเกียรตินิยม
————————————–
ข้อ ๖๕ ปริญญาเกียรตินิยมมีสองระดับ ดังนี้
(๑) ปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามหมวดนี้ และศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๕๐ ขึ้นไป โดยทุกรายวิชาต้องได้ไม่ต่ำกว่าอักษร C
(๒) ปริญญาเกียรตินิยมอันดับสอง ให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามหมวดนี้ ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๒.๑) ศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๕๐ ขึ้นไปแต่มีรายวิชาที่ได้ต่ํากว่า อักษร C
และมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมในหมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า ๒.๐๐
(๒.๒) ศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๒๕ ขึ้นไป โดยทุกรายวิชาในหมวดวิชาเฉพาะต้องได้ไม่ต่ำกว่าอักษร C
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ
อาจกําหนดหลักเกณฑ์เฉพาะของหลักสูตรโดยออกเป็นประกาศคณะ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อ ๖๕
และข้อ ๖๖
ข้อ ๖๖ นักศึกษาที่จะมีสิทธิได้รับปริญญาเกียรตินิยมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) มีเวลาศึกษาจนสําเร็จการศึกษาไม่เกินสี่ปีการศึกษา และนักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) มีเวลาศึกษาจนสําเร็จการศึกษาไม่เกินหกปีการศึกษา
(๒) มีรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนมาหรือได้รับการยกเว้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจํานวนหน่วยกิตรวมที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๓) ไม่เคยลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาหนึ่งวิชาใด
(๔) ไม่เคยศึกษาได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาหนึ่งวิชาใด
(๕) ไม่เคยได้รับการลงโทษทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นทําทัณฑ์บนขึ้นไป
การนับเวลาตาม (๑) ไม่ให้นับรวมเวลาในภาคการศึกษาที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้ลาพัก การศึกษา หรือให้ไปศึกษาหรือปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ตามโครงการของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการของหน่วยงานอื่นที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะหรืออธิการบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้การไปศึกษาหรือปฏิบัติงานนั้นต้องมีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา
หมวด ๑๗
การเสนอชื่อและการอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญา
—————————————-
ข้อ ๖๗ ให้นักศึกษาซึ่งคาดว่าจะสําเร็จการศึกษาเมื่อสิ้นภาคที่ลงทะเบียนเรียนทําหนังสือยื่น
ต่อมหาวิทยาลัยภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
เพื่อขอสําเร็จการศึกษาและให้มหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญาเมื่อสิ้นภาค
ข้อ ๖๘ ให้นายทะเบียนตรวจสอบและจัดทํารายชื่อนักศึกษาซึ่งศึกษาครบรายวิชาตามหลักสูตรและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๖๔ หรือ ๖๖ แล้วแต่กรณี ที่ได้ยื่นหนังสือตามข้อ ๖๗ ไว้
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติปริญญาเกียรตินิยม ปริญญา หรืออนุปริญญาแล้วแต่กรณีในสาขาวิชาที่ศึกษาสําเร็จตามหลักสูตร
หมวด ๑๘
ค่าธรรมเนียมและการขอคืนค่าธรรมเนียม
——————————-
ข้อ ๖๙ นักศึกษาต้องชําระค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ และเบี้ยปรับ ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๗๐ มหาวิทยาลัยอาจคืนค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาชําระให้แก่มหาวิทยาลัยไว้แล้ว ในกรณี และอัตราดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษา ให้มีสิทธิขอคืนได้เต็มจํานวน
ที่ชําระไว้
(๒) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษา ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา ให้มีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง
(๓) นักศึกษาขอถอนรายวิชาเพราะมหาวิทยาลัยปิดรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้เต็มจํานวน เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ปิดได้
(๔) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียม
การใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่าย
ไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ถอนได้
(๕) นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปแต่ได้ลงทะเบียนเรียนและชําระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษไว้แล้ว ให้มีสิทธิขอคืนได้เต็มจํานวนที่ชําระไว้
นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอคืนเงินค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคําร้องต่อคณะ
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน หากพ้นกําหนดเวลานั้น ให้ถือว่าสละสิทธิ์
หมวด ๑๙
การพ้นสภาพนักศึกษาและการขอกลับเข้าศึกษา
———————————————–
ข้อ ๗๑ นักศึกษาต้องพ้นสภาพนักศึกษา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สําเร็จการศึกษาและได้รับอนุปริญญาและปริญญา
(๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ ๑๔
(๓) ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
(๔) พ้นกําหนดเวลาศึกษาตามข้อบังคับนี้หรือตามข้อกําหนดหลักสูตร
(๕) ลาออกจากการเป็นนักศึกษา
(๖) ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากการเป็นนักศึกษา
(๗) ตาย
ข้อ ๗๒ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะถูกถอนชื่อตาม ข้อ ๒๔ ไปแล้ว
ไม่เกิน กว่าสองปีนับแต่วันที่มหาวิทยาลัยประกาศให้ถอนชื่อ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษาในหลักสูตรเดิมได้
ในกรณีที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กลับเข้าศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าในระหว่างที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาเป็นช่วงเวลาลาพักการศึกษา เพื่อการนี้ ให้นักศึกษาดําเนินการชําระค่าธรรมเนียม
การรักษาสถานภาพและค่าธรรมเนียมอื่นสําหรับภาคการศึกษาที่ถือเป็นการลาพักการศึกษานั้นด้วย
ข้อ ๗๓ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะลาออกจากการเป็นนักศึกษาไปแล้ว
ไม่เกินหนึ่งภาคการศึกษานับแต่วันลาออก อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษา
ในหลักสูตรเดิมได้
ให้นําความในข้อ ๗๒ วรรคสองมาใช้กับกรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ ๗๔ ให้นับรวมเวลาในช่วงเวลาลาพักการศึกษาตามข้อ ๗๒ และข้อ ๗๓ เป็นระยะเวลา ศึกษาตามข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๒๐
การยกเว้นใช้ข้อบังคับ
——————————
ข้อ ๗๕ ในกรณีการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ทําให้เกิดความเป็นไม่ธรรมแก่นักศึกษาคนหนึ่ง
คนใด อันเนื่องมาจากเหตุที่มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของอธิการบดี
อาจกําหนดให้ปฏิบัติแตกต่างจากที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามสมควร
แก่นักศึกษาผู้นั้นเป็นการเฉพาะรายก็ได้
ข้อ ๗๖ ในกรณีที่มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยหรือข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข
และวิธีจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีไว้เป็นการเฉพาะของคณะหรือหลักสูตร ให้ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยหรือข้อบังคับหลักสูตรที่กําหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้นก่อนแต่หากไม่มีกําหนดเรื่องใดไว้ให้ใช้ข้อบังคับนี้
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๗๗ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยก่อนปีการศึกษา ๒๕๖๑
ให้ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
ถึงฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อไปจนกว่าจะสําเร็จการศึกษา
ข้อ ๗๘ ให้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ มีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยในเรื่องเดียวกันขึ้นมาใหม่ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๐ (พร้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์
และคณะทันตแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๑ (พร้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
(๓) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
สองสถาบัน พ.ศ. ๒๕๔๓
(๔) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๒
(๕) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาสําหรับนักศึกษาชาวต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๒๔
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษญบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย