ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ
ของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ พ.ศ. ๒๕๖๔
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๒๒ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ และอธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภท ครูกระบวนการ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
“โรงเรียน” หมายความว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ครูกระบวนการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งครูกระบวนการ
“ตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
“ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ผู้ขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ เชี่ยวชาญ หรือเชี่ยวชาญพิเศษ
“คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
หมวด ๑
บททั่วไป
…………………………………..
ข้อ ๔ การดำเนินการทุกขั้นตอนในการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ ให้กระทำโดยวิธีลับ
ข้อ ๕ ภาระงานสอน การประเมินผลการสอนและเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามภาคผนวกหมายเลข ๑
ข้อ ๖ การกำหนดสาขาวิชาของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้ใช้รายชื่อสาขาตามภาคผนวกหมายเลข ๒
หมวด ๒
ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๗ ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ มีดังต่อไปนี้
(๑) เอกสารคู่มือ
(๒) งานวิจัย
(๓) ผลงานวิชาการรับใช้สังคม
(๔) ตำรา หรือ หนังสือ
(๕) บทความทางวิชาการ
(๖) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น
(๖.๑) ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
(๖.๒) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
(๖.๓) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
(๖.๔) กรณีศึกษา (Case Study)
(๖.๕) งานแปล
(๖.๖) พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
(๖.๗) ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๖.๘) ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะศิลปะ
(๖.๙) สิทธิบัตร
(๖.๑๐) ซอฟต์แวร์
คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามภาคผนวกหมายเลข ๓
ข้อ ๘ ผลงานทางวิชาการที่จะนำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องจัดทำขึ้นโดยผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจัดทำร่วมกันกับผู้อื่น จะนำมาขอตำแหน่ง ทางวิชาการได้ ถ้าผู้นั้นมีส่วนร่วมจัดทำในสัดส่วนและหลักเกณฑ์ตามภาคผนวกหมายเลข ๔
ข้อ ๙ ผลงานทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใด ๆ ของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) เป็นผลงานทางวิชาการเดียวกันหรือซ้ำกับผลงานทางวิชาการ ซึ่งได้ใช้ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของผู้นั้นมาแล้ว เว้นแต่ในครั้งก่อนผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่ผ่านการพิจารณาแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อาจนำผลงานทางวิชาการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพผลงานทางวิชาการ ของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นมาใช้ ในการประกอบการพิจารณากำหนดตำแหน่งในระดับเดียวกันในครั้งต่อไปได้
(๓) เป็นผลงานทางวิชาการที่จัดทำขึ้นโดยผิดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
หมวด ๓
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๑๐ ครูกระบวนการที่จะได้รับการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องไม่ประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๑) มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ โดยไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(๑.๑) ไม่นำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเอง
(๑.๒) ไม่ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
(๑.๓) ไม่นำผลงานทางวิชาการของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใดๆ จากผลงานเดิมของตนโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการอันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่
(๒) ต้องแสดงหลักฐานของการค้นคว้าโดยอ้างถึงหรืออ้างอิงถึงบุคคลและแหล่งที่มาของข้อมูล ที่นำมาใช้ในผลงานทางวิชาการ
(๓) ต้องไม่มุ่งถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
(๔) ต้องจัดทำผลงานวิชาการโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์และเสนอผลงานตามความเป็นจริงปราศจากอคติ ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจงใจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ขยายข้อค้นพบโดยไม่ตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
(๕) ต้องนำผลงานไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ต้องแสดงการได้รับอนุญาตหรือต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยในคนหรือสัตว์ เฉพาะกรณีการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นการวิจัยในคนหรือสัตว์
(๗) ต้องระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อจะทำการวิจัยในเด็กหรือเยาวชน
(๘) ในกรณีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กหรือเยาวชน ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายทุกกรณี และต้องแสดงหลักฐานที่ยืนยันว่าบิดามารดา หรือผู้ปกครอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมายเหล่านั้น ได้รับทราบข้อมูลการวิจัยอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการนี้ ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด โดยให้หมายรวมถึง การผลิตผลงานอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อขอรับการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วย
หมวด ๔
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
………………………………….
ส่วนที่ ๑
การกำหนดตำแหน่งปฏิบัติการ
………………………………….
ข้อ ๑๑ ผู้ซึ่งได้รับการกำหนดตำแหน่งปฏิบัติการ ต้องผ่านการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
ส่วนที่ ๒
การขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ
………………………………….
ข้อ ๑๒ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน และผลงานวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ระยะเวลาการปฏิบัติงาน ในตำแหน่งปฏิบัติการ
(๑.๑) ไม่น้อยกว่า ๖ ปี สำหรับผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งปฏิบัติการ ที่มีวุฒิปริญญาตรี หรือเทียบเท่า
(๑.๒) ไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งปฏิบัติการ ที่มีวุฒิปริญญาโท หรือเทียบเท่า
(๑.๓) ไม่น้อยกว่า ๑ ปี และพ้นการทดลองปฏิบัติหน้าที่ สำหรับผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งปฏิบัติการที่มีวุฒิปริญญาเอก หรือเทียบเท่า
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำในรายวิชาที่กำหนดไว้ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ โดยมีจำนวนภาระงานสอนเป็นไปตามหลักเกณฑ์เรื่องมาตรฐาน ภาระงานและภาระงานขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งครูกระบวนการ และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกำหนด
(๓) เสนอเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาที่ตนได้สอนหรือร่วมสอน อย่างน้อย ๑ รายวิชา หรือหลายรายวิชารวมกันเท่ากับจำนวนชั่วโมงสอน ๑ รายวิชา ที่มีจำนวนหน่วยกิต ๓ หน่วยกิต โดยเอกสารประกอบการสอนนี้ ผู้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการต้องเป็นผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นเอง
(๔) จำนวนและคุณภาพของผลงานวิชาการ อย่างน้อย ๒ รายการ
(๑) เอกสารคู่มือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป และ
(๒) งานวิจัย หรืองานวิจัยในชั้นเรียน อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๓) ตำรา หรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๔) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๕) บทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป
ส่วนที่ ๓
การขอกำหนดตำแหน่งเชี่ยวชาญ
………………………………….
ข้อ ๑๓ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งเชี่ยวชาญ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน และผลงานวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติงาน ในตำแหน่งชำนาญการ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำในรายวิชาที่กำหนดไว้ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ โดยมีจำนวนภาระงานสอนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เรื่องมาตรฐานภาระงานและภาระงานขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งครูกระบวนการ และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกำหนด
(๓) เสนอเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาที่ตนได้สอนหรือร่วมสอน อย่างน้อย ๑ รายวิชา หรือหลายรายวิชารวมกันเท่ากับจำนวนชั่วโมงสอน ๑ รายวิชา ที่มีจำนวนหน่วยกิต ๓ หน่วยกิต โดยเอกสารประกอบการสอนนี้ ผู้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการต้องเป็นผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นเอง
(๔) จำนวนและคุณภาพของผลงานวิชาการ อย่างน้อย ๓ รายการ
(๑) เอกสารคู่มือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป และ
(๒) งานวิจัย หรืองานวิจัยในชั้นเรียน อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๓) ตำรา หรือหนังสือ อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๔) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๕) บทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป
ส่วนที่ ๔
การขอกำหนดตำแหน่งเชี่ยวชาญพิเศษ
………………………………….
ข้อ ๑๔ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน และผลงานวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติงาน ในตำแหน่งเชี่ยวชาญ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำในรายวิชาที่กำหนดไว้ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ โดยมีจำนวนภาระงานสอนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เรื่องมาตรฐานภาระงานและภาระงานขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งครูกระบวนการ และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกำหนด
(๓) เสนอเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาที่ตนได้สอนหรือร่วมสอน อย่างน้อย ๑ รายวิชา หรือหลายรายวิชารวมกันเท่ากับจำนวนชั่วโมงสอน ๑ รายวิชา ที่มีจำนวนหน่วยกิต ๓ หน่วยกิต โดยเอกสารประกอบการสอนนี้ ผู้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการต้องเป็นผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นเอง
(๔) จำนวนและคุณภาพของผลงานวิชาการ อย่างน้อย ๕ รายการ
(๑) เอกสารคู่มือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป และ
(๒) งานวิจัย หรืองานวิจัยในชั้นเรียน อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป หรือ
(๓) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป หรือ
(๔) บทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป และ
(๕) ตำรา หรือหนังสือ อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป
หมวด ๕
คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ และวิธีการประเมินผลงานวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๑๕ ในการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ประกอบด้วย
(๑) คณบดี เป็นประธานคณะกรรมการ
(๒) ผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน ๑ คน เป็นกรรมการ
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ จำนวน ๓ คน เป็นกรรมการ
(๔) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ จำนวน ๑ คน เป็นเลขานุการคณะกรรมการ
ข้อ ๑๖ ให้ประธานกรรมการมีอำนาจหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมและกำกับดูแลการประเมิน ผลงานทางวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม
ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ประชุมเพื่อพิจารณาผลงานทางวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เหมาะสมใน การพิจารณาผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ให้ประธานกรรมการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิภายนอก ทำหน้าที่เป็น peer reviewer เพื่อประเมินคุณภาพผลงานของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ให้เลขานุการคณะกรรมการ ทำหน้าที่ประสานงานการทาบทามและการตอบรับเป็นผู้ทรงวุฒิภายนอก การส่งผลงานวิชาการและเอกสารประกอบการเสนอขอกำหนดตำแหน่งของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการให้แก่ผู้ทรงวุฒิภายนอก การติดตามผลการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ และการสรุปผลการประเมินเพื่อเสนอต่อประธานกรรมการ
ให้ประธานกรรมการ เสนอผลการประเมินต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งหรือไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต่อที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ และแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๑๗ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น peer reviewer ตามข้อ ๑๖ มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลงานวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการและแจ้งผลการประเมินให้คณะทราบภายในเวลาอันสมควร
การประเมินคุณภาพผลงานวิชาการตามวรรคหนึ่ง ให้มีระดับคุณภาพ ๔ ระดับ ดังนี้
(๑) ต่ำกว่าดี
(๒) ดี
(๓) ดีมาก
(๔) ดีเด่น
การประเมินคุณภาพผลงานวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเรื่องใดไม่ผ่านเกณฑ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต้องให้เหตุผลประกอบด้วย
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ผลการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในข้อ ๑๗ ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ “อยู่ในเกณฑ์” หรือ “ไม่อยู่ในเกณฑ์” ที่จะได้รับการแต่งตั้ง ให้ประธานคณะกรรมการเสนอผลการประเมินต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งหรือไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต่อที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ และแจ้งผลการพิจารณาแก่ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ผลการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในข้อ ๑๗ ไม่เป็นเอกฉันท์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการและเชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น peer reviewer มาร่วมประชุมด้วย โดยต้องมีประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกดังกล่าวเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนองค์ประชุม ทั้งนี้ อาจจัดเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ในการประชุมตามวรรคหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น peer reviewer ต้องลงมติเพื่อสรุปผลการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ โดยให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
เมื่อสามารถสรุปผลการประเมินได้แล้ว ให้ประธานคณะกรรมเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งหรือไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต่อที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ สรุปมติ ที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ และแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
หมวด ๖
แบบคำขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ วิธีการและขั้นตอนในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๒๐ แบบคำขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ วิธีการและขั้นตอนในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามภาคผนวกหมายเลข ๕
หมวด ๗
การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
………………………………….
ข้อ ๒๑ การแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานวิชาการให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง ทางวิชาการได้รับผลงานวิชาการเพิ่มเติม
(๓) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๔) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต่อ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ลาติดตามคู่สมรสไปต่างประเทศ หรือลาคลอด ให้แต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๔.๑) กรณีไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๔.๒) กรณีมีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและก่อนวันที่ได้รับอนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมนั้น
(๔.๓) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วก่อนวันที่ได้อนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๔.๔) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้วให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างลา ให้แต่งตั้งได้ในวันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน
(๔.๕) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้วให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ในวันหรือหลังวันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๕) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไว้ต่อ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยสาเหตุตาย เกษียณอายุ หรือลาออก ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง ทางวิชาการยกเลิกการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
หมวด ๘
การขอทบทวนผลการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๒๒ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อาจมีหนังสือชี้แจงเหตุผลทางวิชาการเพื่อขอให้มีการทบทวนผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผล
ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาเรื่องขอให้มีการทบทวนตามวรรคหนึ่งและ ให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) หากเห็นว่าการขอให้มีการทบทวนฟังไม่ขึ้น ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการผู้นั้นทราบ
(๒) หากเห็นว่าการขอให้มีการทบทวนมีเหตุผลรับฟังได้ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมีมติรับเรื่องไว้ทบทวนและแจ้งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาทบทวนโดยให้นำเหตุผลที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอ้างมาประกอบการพิจารณาด้วย
ข้อ ๒๓ เมื่อผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้รับแจ้งผลตามข้อ ๒๒ แล้ว ยังไม่เห็นด้วย อาจมีหนังสือชี้แจงเหตุผลทางวิชาการเพื่อขอให้มีการทบทวนผลเป็นครั้งที่ ๒ ต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาเรื่องขอทบทวนเป็นครั้งที่ ๒ ตามวรรคหนึ่งแล้วดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) หากเห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลทางวิชาการหรือมิได้ชี้แจงข้อโต้แย้งโดยมีเหตุผลเพิ่มเติมจากการยื่นคำขอครั้งที่ ๑ ให้มีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทราบ
(๒) กรณีเห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งมีเหตุผลทางวิชาการและได้มีการชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมจากการยื่นคำขอทบทวนครั้งที่ ๑ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการเพิ่มเติมจากที่แต่งตั้งไว้เดิมจำนวน ๒-๓ คน เพื่อพิจารณาคำชี้แจง ข้อโต้แย้งและผลงานทางวิชาการของผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการชุดเดิมทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ
หมวด ๙
การลงโทษทางจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ
………………………………….
ข้อ ๒๔ ในระหว่างการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ หากปรากฏต่อมาว่าผลงานทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการระงับการพิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อมีมติห้ามมิให้ผู้นั้นขอกำหนดทางวิชาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการประจำคณะมีมติ หรือตามระยะเวลาที่คณะกรรมการประจำคณะเห็นสมควร
ข้อ ๒๕ หากปรากฏภายหลังจากการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการว่าผู้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการนั้น ได้จัดทำผลงานทางวิชาการที่นำมาเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการโดยมีการประพฤติผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาการ ให้ถอดถอนผู้นั้นจากตำแหน่ง ทางวิชาการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยใช้ผลงานทางวิชาการที่มีการประพฤติผิดนั้น
ในกรณีที่มีการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการตามวรรคหนึ่ง หากผู้กระทำผิดดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงกว่าตำแหน่งทางวิชาการที่ถูกถอดถอน ให้ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงกว่านั้นทุกระดับ
ให้ผู้ถูกถอดถอนคืนเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนทางวิชาการในส่วนที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่ถอดถอนนั้นทั้งหมดให้แก่คณะ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี