ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๖๖
…………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ
จัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๐ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ จึงออกประกาศไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ
จัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๕
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย สำนักงานสภามหาวิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสำนักงานตรวจสอบภายใน
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานที่มีเงินรายได้ของส่วนงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่เป็น
พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน พนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน)
พนักงานเงินรายได้ และพนักงานมหาวิทยาลัยตามภารกิจ
หมวด ๑
คณะอนุกรรมการสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์
เป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการคลัง เป็นอนุกรรมการ
(๓) ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองคลัง
และผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นอนุกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบริหารงานบุคคลหรือด้านการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพ จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นอนุกรรมการ
(๕) หัวหน้างานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กองทรัพยากรมนุษย์ เป็นอนุกรรมการ
และเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์มอบหมายผู้ปฏิบัติงานในสังกัดกองทรัพยากรมนุษย์
เป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกินสองคน
ให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ข้อ ๖ ให้คณะอนุกรรมการสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยและเสนอต่ออธิการบดี
(๒) ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหารบุคคลและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย
(๓) พิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนวงเงินสวัสดิการด้านสุขภาพตามประกาศนี้
และรายการสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นที่สามารถเบิกได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารบุคคล
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคลหรืออธิการบดีมอบหมาย
หมวด ๒
สวัสดิการด้านสุขภาพ
ข้อ ๗ สวัสดิการด้านสุขภาพเป็นสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยจัดให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย
เพื่อการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค หรือการสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย
(๑) สวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐาน
(๒) สวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
ข้อ ๘ สวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานเป็นสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีการทำประกันภัยกลุ่มจากผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้
(๑) ประเภทที่หนึ่ง ประกอบด้วย การประกันชีวิตกลุ่ม การประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และ การประกันสุขภาพกลุ่ม
(๒) ประเภทที่สอง ประกอบด้วย การประกันชีวิตกลุ่ม และการประกันอุบัติเหตุกลุ่ม
พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
ข้อ ๙ สวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นเป็นสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยจัดให้แก่
พนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค หรือการสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของร่างกายและจิตใจ ที่อยู่นอกเหนือหรือเกินกว่าสิทธิที่เบิกได้จากสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตามข้อ ๘
และสิทธิตามกฎหมายของผู้ขอใช้สิทธิ
รายการสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นที่สามารถเบิกได้ให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้าย
ประกาศนี้
ทั้งนี้ การซื้อสินค้าหรือรับบริการตามรายการสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นที่สามารถเบิกได้แนบท้ายประกาศนี้จากผู้ประกอบการภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศ
หมวด ๓
สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน
ข้อ ๑๐ ให้พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ ดังนี้
(๑) พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมิใช่พนักงานมหาวิทยาลัย
ที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตามข้อ ๘ (๑) และสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น รวมกันในอัตราคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งปีงบประมาณ
(๒) พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตามข้อ ๘ (๒) และสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น รวมกันในอัตราคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งปีงบประมาณ
พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินผู้ใด ใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการ
ด้านสุขภาพไม่เต็มวงเงินตาม (๑) หรือ (๒) ให้นำวงเงินส่วนที่เหลืออยู่ในปีงบประมาณนั้นไปรวมกับวงเงินสวัสดิการด้านสุขภาพที่จะได้รับในปีงบประมาณถัดไป แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราคนละ
๒๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งปีงบประมาณ
สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน
ให้เบิกจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับจัดสรรจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
หมวด ๔
สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน)
พนักงานเงินรายได้ และพนักงานมหาวิทยาลัยตามภารกิจ ที่สังกัดสำนักงาน
ข้อ ๑๑ ให้พนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) และพนักงานเงินรายได้ ประเภทประจำ
ที่สังกัดสำนักงาน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐาน ประเภทที่หนึ่งตามข้อ ๘ (๑)
ให้พนักงานเงินรายได้ ประเภทชั่วคราว ที่สังกัดสำนักงาน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐาน
ประเภทที่สองตามข้อ ๘ (๒)
อธิการบดีอาจกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) พนักงานเงินรายได้
ประเภทประจำ และพนักงานเงินรายได้ ประเภทชั่วคราว ที่สังกัดสำนักงาน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ
แบบยืดหยุ่นตามข้อ ๗ (๒) ได้ โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
สวัสดิการด้านสุขภาพตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้เบิกจ่ายจากเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๒ การได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยตามภารกิจที่สังกัดสำนักงาน ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือตามประกาศของมหาวิทยาลัย
หมวด ๕
สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน)
พนักงานเงินรายได้ และพนักงานมหาวิทยาลัยตามภารกิจ ที่สังกัดส่วนงาน
ข้อ ๑๓ ให้พนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) และพนักงานเงินรายได้ ประเภทประจำ
ที่สังกัดส่วนงาน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐาน ประเภทที่หนึ่งตามข้อ ๘ (๑)
ให้พนักงานเงินรายได้ ประเภทชั่วคราว ที่สังกัดส่วนงาน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐาน
ประเภทที่สองตามข้อ ๘ (๒)
สวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ส่วนงานเบิกจ่ายจากเงินรายได้
ของส่วนงาน
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ส่วนงานเห็นสมควร อาจจัดสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
แก่พนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) พนักงานเงินรายได้ ประเภทประจำ หรือพนักงานเงินรายได้
ประเภทชั่วคราว ในสังกัดของส่วนงาน ตามหลักเกณฑ์ รายการ และอัตราตามประกาศนี้ หรือตามอัตราที่
หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงานกำหนดโดยออกเป็นประกาศส่วนงาน
และรายงานคณะกรรมการบริหารบุคคลเพื่อทราบ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงศักยภาพด้านงบประมาณของส่วนงาน
สวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนงานเบิกจ่ายจากเงินรายได้ของส่วนงาน
ในกรณีที่อัตราตามวรรคหนึ่งสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ส่วนงานอาจกำหนดให้จ่ายเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่สังกัดส่วนงาน ในอัตราเดียวกันกับวรรคหนึ่งก็ได้ โดยให้เบิกจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับ การจัดสรรจากเงินงบประมาณแผ่นดินก่อนและให้เบิกจ่ายจากเงินรายได้ของส่วนงานสมทบให้จนครบ ตามอัตราดังกล่าว
ข้อ ๑๕ การได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยตามภารกิจที่สังกัดส่วนงาน
ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือตามประกาศส่วนงานที่หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงานกำหนด
หมวด ๖
หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
ข้อ ๑๖ พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งมีสิทธิได้รับสวัสดิการแบบยืดหยุ่นต้องได้รับการบรรจุ
และแต่งตั้งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ ให้มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพ
(๒) เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากพนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) ในสังกัดสำนักงานหรือส่วนงานเดียวกันมาก่อน ให้มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุจ้าง
(๓) เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (ส่วนงาน) ที่เปลี่ยนสถานภาพจากพนักงานเงินรายได้ประเภทประจำ ในสังกัดสำนักงานหรือส่วนงานเดียวกันมาก่อน ให้มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพ
(๔) เป็นพนักงานเงินรายได้ประเภทประจำ ที่เปลี่ยนสถานภาพจากพนักงานเงินรายได้ประเภทชั่วคราว ในสังกัดสำนักงานหรือส่วนงานเดียวกันมาก่อน ให้มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพ
ข้อ ๑๗ สวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตามประกาศนี้ พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิเบิก
เพื่อตนเองและเพื่อบุคคลในครอบครัวของตนเองซึ่งมีสถานะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นมารดาหรือบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย
(๒) เป็นคู่สมรส
(๓) เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็น คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของพนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิเบิกเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลในครอบครัว เป็นค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากเงินงบประมาณแผ่นดินตามสิทธิของข้าราชการบำนาญหรือสิทธิประกันสังคม หรือประกันกลุ่มตามสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยในสวัสดิการด้านสุขภาพพื้นฐานตามข้อ ๘ ให้ใช้สิทธิเบิกจากแหล่งดังกล่าวก่อนและส่วนที่เหลือจึงจะนำมาขอใช้สิทธิในสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
ข้อ ๑๘ การขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น ให้ใช้แบบคำขอเบิกสวัสดิการ
ด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้
เอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น มีดังต่อไปนี้
(๑) แบบคำขอเบิกสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
(๒) ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง
(๓) สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์
(๔) สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับกรณีขอเบิกสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นเพื่อมารดา
หรือบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๕) สำเนาทะเบียนสมรส และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำหรับกรณีขอเบิก
สวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นเพื่อคู่สมรส
(๖) เอกสารอื่นที่กำหนดไว้ในรายการสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น (ถ้ามี)
ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัย ผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายอาจเรียกให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรก็ได้
ข้อ ๑๙ ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น
ในแต่ละรายการ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) ใบเสร็จรับเงินที่ผู้รับเงินเป็นผู้ออกให้ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของผู้ขายหรือให้บริการ
(๑.๒) วัน เดือน ปี ที่รับเงิน
(๑.๓) รายการแสดงสินค้าหรือบริการ
(๑.๔) จำนวนเงินค่าสินค้าหรือบริการทั้งตัวเลขและตัวอักษร
(๑.๕) ลายมือชื่อของผู้รับเงิน
(๑.๖) ชื่อของพนักงานมหาวิทยาลัย หรือบุคคลในครอบครัว ตามข้อ ๑๗ ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
(๒) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรายการตามที่กำหนดไว้ใน (๑) สามารถนำมาเป็นหลักฐานการเบิกเงินค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นได้
(๓) กรณีใบเสร็จรับเงินตาม (๑) หรือ (๒) มีรายการไม่ครบถ้วน ให้ผู้มีสิทธิเป็นผู้รับรอง การใช้ใบเสร็จรับเงินนั้นในการใช้สิทธิเบิกไม่ว่าเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลในครอบครัว ตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมกับแนบใบเสร็จรับเงินที่มีรายการไม่ครบถ้วนนั้นประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นด้วย
(๔) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจะต้อง ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง โดยใบเสร็จรับเงินจะต้องปรากฏข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
ข้อ ๒๐ การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์
และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) พนักงานมหาวิทยาลัยที่สังกัดสำนักงาน ให้ยื่นคำขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพ
แบบยืดหยุ่น พร้อมกับแนบเอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตามข้อ ๑๙ต่อกองทรัพยากรมนุษย์ ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงิน
(๒) พนักงานมหาวิทยาลัยที่สังกัดส่วนงาน ให้ยื่นคำขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพ แบบยืดหยุ่น พร้อมกับแนบเอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตามข้อ ๑๙
ต่อส่วนงาน ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงิน
(๓) เมื่อกองทรัพยากรมนุษย์ หรือส่วนงาน ได้รับคำขอและเอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่นตาม (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
และครบถ้วนของคำขอและเอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินดังกล่าว หากถูกต้องครบถ้วนแล้ว
ให้กองทรัพยากรมนุษย์เสนอต่อรองอธิการบดีที่ดูแลกองคลังเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงิน หรือให้ส่วนงานเสนอต่อหัวหน้าส่วนงานเพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน แต่หากคำขอและเอกสารที่ใช้ประกอบการขอเบิกเงินดังกล่าว
ยังไม่ถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้แจ้งแก่ผู้ยื่นคำขอเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง
และครบถ้วน หากไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนให้ปฏิเสธการเบิกจ่าย
ข้อ ๒๑ พนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสำนักงาน ให้กองทรัพยากรมนุษย์ จัดเก็บข้อมูลเบิกจ่ายเป็นรายบุคคล และรายงานให้กองคลังทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
พนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดส่วนงาน ให้ส่วนงานจัดเก็บข้อมูลเบิกจ่ายเป็นรายบุคคลและรายงานให้กองคลัง และกองทรัพยากรมนุษย์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ให้ส่วนงานรายงานการเบิกจ่ายเงินภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ หากเงินของพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินรายใด มีเงินเหลือจ่ายมากกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งปีงบประมาณ ให้นำส่งคืนให้แก่มหาวิทยาลัยพร้อมดอกเบี้ย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๒ การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพที่มีอยู่ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ และการดำเนินการที่
ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๕ และวิธีการที่กำหนดในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินของส่วนงาน ต่อไปจนกว่า จะแล้วเสร็จ
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่ส่วนงานใดมีสวัสดิการที่มีลักษณะเดียวกันกับประกาศนี้ ให้คงจัดสวัสดิการดังกล่าวต่อไปได้ตามระเบียบหรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่ที่ได้ออกประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีการจัดสวัสดิการตามข้อ ๑๔ ของประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี