ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ภาระงานขั้นต่ำของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการและการเทียบเคียง
______________________
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเกณฑ์ภาระงานขั้นต่ำของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นมาตรฐานเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๑๑ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์
และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๕๕ และมติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) ในการประชุมครั้งที่
๑๕/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ และครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ มีภาระงานเต็มเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า
สามสิบห้าชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
ข้อ ๒ กำหนดกรอบภาระงานผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต้องปฏิบัติ ดังนี้
(๑) ภาระงานวิชาการ ประกอบด้วย ภาระงานสอน งานวิชาการ ภาระงานวิจัย
และภาระงานบริการวิชาการ
(๒) ภาระงานอื่น ๆ ได้แก่ งานพัฒนานักศึกษา ภาระงานทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม ภาระงานกิจกรรมส่วนรวม หรืองานอื่นใดตามที่หน่วยงานกำหนด
ข้อ ๓ การคิดภาระงานวิชาการขั้นต่ำ ให้คิดภาระงานด้านงานสอนเป็นหน้าที่หลักที่อาจารย์ทุกคนต้องปฏิบัติ โดย
(๑) ต้องสอนในภาคการศึกษาปกติ โดยมีภาระงานสอนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๑๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ
(๒) ต้องเป็นรายวิชาในหลักสูตรภาคปกติ ไม่น้อยกว่า ๒ วิชาต่อปี รายวิชาละไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต ยกเว้น คณะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการเรียนการสอนในลักษณะโครงการเลี้ยงตัวเองทั้งระบบ
(๓) กรณีรายวิชาใดน้อยกว่า ๓ หน่วยกิต ให้นับรวมกันได้
(๔) การคิดภาระงานสอนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในภาคผนวก หมายเลข ๑ แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ ๔ การคิดภาระงานด้านอื่น ๆ ให้หน่วยงานกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำหน่วยงาน และจัดทำประกาศ และให้ทำข้อตกลงภาระงานดังกล่าวกับหัวหน้าหน่วยงาน
ข้อ ๕ กรณีผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร ให้คิดภาระงานเทียบเคียงภาระงานสอนตามภาคผนวก หมายเลข ๒ แนบท้ายประกาศนี้ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งบริหารให้ถือปฏิบัติตามเกณฑ์ภาระงานขั้นต่ำของ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๖ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
(ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์)
อธิการบดี
ภาคผนวก หมายเลข ๑
แนบท้ายประกาศ มธ. เรื่อง ภาระงานขั้นต่ำของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๕
——————————————-
หลักเกณฑ์การคิดค่าภาระงานสอน
คำอธิบาย
ภาระงานสอน หมายถึง งานสอนในรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรภาคปกติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา โดยครอบคลุมการสอนทุกประเภท ได้แก่ สอนแบบบรรยาย สอนปฏิบัติการ/คุม lab สอนแบบ PBL (problem based learning)
การทำวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ของนักศึกษา วิชาสัมมนา/project/ปัญหาพิเศษ นิเทศงาน คุมนักศึกษาฝึกงาน และปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการสอนนักศึกษา
๑. การสอนระดับปริญญาตรี
๑.๑ การสอนบรรยาย
– ใช้เกณฑ์ภาระงานสอน ๑ หน่วยกิต เท่ากับ ๓ ชั่วโมงทำการ ประกอบด้วย
๑) การเตรียมสอนและตรวจงาน ๒ ชั่วโมงทำการ
๒) การสอน ๑ ชั่วโมงทำการ
– ในกรณีที่รายวิชาเดียวกัน แต่เปิดสอนหลายกลุ่ม (หลาย Section) โดยมีเนื้อหาและสอนโดยอาจารย์รายเดียวกัน ให้คิดภาระงานสอนกลุ่มที่ ๒ ลดลงเหลือเพียง ๒ ชั่วโมงทำการ และกลุ่มที่ ๓ ลดลงเหลือเพียง ๑ ชั่วโมงทำการ
๑.๒ การสอนปฏิบัติ
– ใช้เกณฑ์ภาระงานสอน ๑ หน่วยกิต เท่ากับ ๒ ชั่วโมงทำการ ประกอบด้วย
๑) ควบคุมการปฏิบัติ ๑ ชั่วโมงทำการ
๒) การตรวจงาน ๑ ชั่วโมงทำการ
๑.๓ ภาระงานอาจารย์ที่ปรึกษาภาคนิพนธ์ / การค้นคว้าอิสระ
– ให้คิดค่าภาระงานต่อนักศึกษาที่ลงทะเบียน ๑ คน เท่ากับ ๑ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
ทั้งนี้ ให้คิดเป็นภาระงานสอนได้ จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วใน
ภาคการศึกษานั้น
๒. การสอนระดับบัณฑิตศึกษา
๒.๑ ภาระงานสอน
– การสอนบรรยาย ๑ หน่วยกิต เท่ากับ ๔ ชั่วโมงทำการ
– การสอนภาคปฏิบัติ ๑ หน่วยกิต เท่ากับ ๓ ชั่วโมงทำการ
– ในกรณีที่รายวิชาเดียวกัน แต่เปิดสอนหลายกลุ่ม (หลาย Section) โดยมีเนื้อหา
และสอนโดยอาจารย์รายเดียวกัน ให้คิดภาระงานสอนกลุ่มที่ ๒ ลดลงเหลือเพียง ๒ ชั่วโมงทำการ และกลุ่มที่ ๓ ลดลงเหลือเพียง ๑ ชั่วโมงทำการ
๒.๒ ภาระงานอาจารย์ที่ปรึกษา
ระดับปริญญาโท
– ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๒ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
– กรรมการวิทยานิพนธ์ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๐.๕ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
– ที่ปรึกษาสารนิพนธ์/ค้นคว้าอิสระ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๑ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
– กรรมการสารนิพนธ์/ค้นคว้าอิสระ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๐.๕ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
ทั้งนี้ อาจารย์ ๑ คน รับนักศึกษาทำสารนิพนธ์/ค้นคว้าอิสระได้ไม่เกิน ๑๕ โครงการ
และวิทยานิพนธ์ได้ไม่เกิน ๕ โครงการ และต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในภาคการศึกษานั้น
ระดับปริญญาเอก
– อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๔ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
– กรรมการวิทยานิพนธ์ ๑ เรื่อง เท่ากับ ๑ ชั่วโมงทำการ/สัปดาห์
ทั้งนี้ อาจารย์ ๑ คน รับนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ได้ไม่เกิน ๕ โครงการ และต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในภาคการศึกษานั้น
๓. กรณีการสอนร่วมกันให้คิดสัดส่วนตามที่สอนจริง
๔. สำหรับภาระงานที่เกี่ยวเนื่องกับภาระงานสอนที่มหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้กำหนด เช่น การฝึกงานภาคสนามหรือสัมมนา การฝึกงานให้แก่บุคคลภายนอกหน่วยงาน การเป็นวิทยากรภายนอก งานบริการวิชาการแพทย์ประจำบ้านฯ ให้คณะกรรมการประจำหน่วยงานกำหนดเพิ่มได้ตามความเหมาะสม และจัดทำเป็นประกาศ
ภาคผนวก หมายเลข ๒
แนบท้ายประกาศ มธ. เรื่อง ภาระงานขั้นต่ำของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๕
——————————————-
ตารางเทียบเคียงภาระงานสอนกับงานบริหาร
ภาระงาน จำนวนชั่วโมงเทียบเคียง
งานบริหารภายนอกคณะ
๑. อธิการบดี
๒. รองอธิการบดี
๓. ผู้ช่วยอธิการบดี
๔. ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน
๕. รองผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน
๖. ประธานสภาอาจารย์
๗. รองประธานสภาอาจารย์
๘. เลขาธิการสภาอาจารย์
๙. ประธานคณะกรรมการ ซึ่งมีข้อบังคับหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยรองรับ และแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย
๑๐. กรรมการ/อนุกรรมการ ซึ่งมีข้อบังคับหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยรองรับ และแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย
๑๑.กรรมการเฉพาะกิจ ที่ไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยรองรับ และแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย
งานบริหารภายในคณะ
๑. คณบดี
๒. รองคณบดีหรือเทียบเท่า
๓. ผู้ช่วยคณบดี
๔. หัวหน้าภาควิชา / สาขา หรือเทียบเท่า
๕. ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา
๖. ผู้อำนวยการโครงการ / หลักสูตร
๗. รองผู้อำนวยการโครงการ / หลักสูตร
๘. ประธานคณะกรรมการ ที่แต่งตั้งโดยคณะ
๙. กรรมการ/อนุกรรมการ ที่แต่งตั้งโดยคณะ
๓๐ ชม./สัปดาห์
๒๕ ชม./สัปดาห์
๒๐ ชม./สัปดาห์
๒๕ ชม./สัปดาห์
๒๐ ชม./สัปดาห์
๑๐ ชม./สัปดาห์
๑.๕ ชม./สัปดาห์
๑.๕ ชม./สัปดาห์
๕ ชม./สัปดาห์
๒.๕ ชม./สัปดาห์
๑ ชม./สัปดาห์
๒๕ ชม./สัปดาห์
๒๐ ชม./สัปดาห์
๑๕ ชม./สัปดาห์
๑๕ ชม./สัปดาห์
๑๕ ชม./สัปดาห์
๑๐ ชม./สัปดาห์
๕ ชม./สัปดาห์
๑.๕ ชม./สัปดาห์
๐.๕ ชม./สัปดาห์