ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์ การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ประเภทคณาจารย์ประจำและนักวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๕
————————————
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้ง
พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำและนักวิจัย เพื่อให้การปฏิบัติมีมาตรฐาน
และสอดคล้องกับนโยบายด้านการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๒๒ และข้อ ๒๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์
การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำและนักวิจัย
พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยชาวต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐
(๒) ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๒
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
“พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำและนักวิจัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
“ก.บ.ม.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
“คณะกรรมการประจำส่วนงาน” หมายความว่า คณะกรรมการประจำคณะ
วิทยาลัย สถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย หรือสถาบัน
“คณะกรรมการกลั่นกรอง” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หรือคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ เมื่อส่วนงานมีหรือได้รับจัดสรรอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ให้ส่วนงานเจ้าของอัตราดำเนินการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่กำหนดตามประกาศนี้
หมวด ๒
การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
ข้อ ๖ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำส่วนงาน
อาจเลือกใช้วิธีการคัดเลือกได้ ๒ วิธี ดังต่อไปนี้
(๑) วิธีการทั่วไป โดยการสอบแข่งขัน
(๒) วิธีพิเศษ โดยพิจารณาจากคุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ หรือประสบการณ์การทำงาน
ส่วนที่ ๑
การคัดเลือกโดยวิธีการทั่วไป
ข้อ ๗ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
โดยวิธีการทั่วไป โดยการสอบแข่งขัน ให้ส่วนงานแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนงานหรือรองหัวหน้าส่วนงานซึ่งหัวหน้าส่วนงานมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน โดยแต่งตั้งจากรองหัวหน้าส่วนงาน หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชาคณาจารย์ประจำ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในสังกัด
ของส่วนงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ในกรณีที่ส่วนงานมีภาควิชาหรือสาขาวิชา ให้แต่งตั้งหัวหน้าภาควิชาหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอัตราที่รับสมัครร่วมเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งด้วย
ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการประกาศ
รับสมัคร ตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม กำหนดและจัดให้มีการสอบ พิจารณาคัดเลือก จัดลำดับผู้ผ่านการคัดเลือก รายงานผลการคัดเลือกต่อหัวหน้าส่วนงาน และจัดทำประกาศผลการคัดเลือกระดับส่วนงาน การจัดทำประกาศผลการคัดเลือกระดับส่วนงานให้ระบุไว้ด้วยว่าผู้ซึ่งจะได้รับการบรรจุ
และแต่งตั้งเป็นคณาจารย์ประจำ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
และจะบรรจุแต่งตั้งได้เมื่อ ก.บ.ม. อนุมัติแล้ว
การพิจารณาคัดเลือกบุคคล ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกพิจารณาจากผลการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถตามข้อ ๑๒ พิจารณาคุณวุฒิ ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ สุขภาพ จริยธรรม คุณธรรม ความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิต และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานตามข้อ ๑๖ และพิจารณาเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัคร
ให้หัวหน้าส่วนงานนำเสนอผลการคัดเลือกระดับส่วนงานไปยังผู้มีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณา
โดยผ่านความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรอง
ข้อ ๘ การคัดเลือกโดยวิธีการทั่วไป โดยการสอบแข่งขัน ในประกาศรับสมัคร
อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตำแหน่งที่รับสมัคร
(๒) สาขาวิชาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง
(๓) ลักษณะหรือเงื่อนไขการปฏิบัติงานที่สำคัญ เช่น สถานที่ปฏิบัติงาน ลักษณะงานที่สำคัญ เป็นต้น
(๔) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
(๕) เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการสมัคร
(๖) วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร
(๗) วิธีการสอบหรือส่งผลงานทางวิชาการ
(๘) เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและเกณฑ์การตัดสิน
(๙) กำหนดการประกาศผลการคัดเลือก
(๑๐) เงื่อนไขการได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
(๑๑) เงินเดือน
ในกรณีที่เห็นสมควรส่วนงานอาจกำหนดเงื่อนไขการจ้างโดยให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าวุฒิ
หรือการได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดในประกาศรับสมัครได้
ข้อ ๙ การดำเนินการรับสมัครต้องกำหนดให้มีระยะเวลาการรับสมัครไม่น้อยกว่า
เจ็ดวันทำการ โดยกำหนดให้ผู้สมัครต้องส่งเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) ใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามแบบฟอร์มที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๒) รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่ใส่แว่นตาดำ ขนาดหนึ่งนิ้วหรือสองนิ้วที่ได้ถ่ายไว้
ไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่ปิดรับสมัครตามจำนวนที่ส่วนงานกำหนด
(๓) สำเนาใบปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร อนุมัติบัตร หรือหลักฐานการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใบแสดงระดับผลการศึกษา (Transcript) และหลักฐานแสดงคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
ตามที่ส่วนงานกำหนด โดยให้นำฉบับจริงมาแสดง และให้ผู้ยื่นใบสมัครและเจ้าหน้าที่ผู้รับสมัครลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ในกรณีที่หลักฐานผลการศึกษาเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษให้แปลเป็นภาษาไทย
หรือภาษาอังกฤษ และลงลายมือชื่อรับรองการแปลด้วย
(๔) สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ชื่อ หรือชื่อสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง)
(๕) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือทะเบียนบ้าน หรือหนังสือเดินทาง
หรือใบกองเกินทหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยให้นำใบจริงมาแสดงด้วย
(๖) ใบรับรองแพทย์ซึ่งออกให้ไม่เกินหนึ่งเดือนนับถึงวันที่ปิดรับสมัคร และแสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๗) ผลการทดสอบภาษาต่างประเทศ
(๘) ผลทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิต และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน
ซึ่งออกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันทดสอบ หากไม่สามารถยื่นผลทดสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ให้ขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องยื่นก่อนการคัดเลือกตามข้อ ๑๒ สิ้นสุดลง
(๙) หนังสือรับรองความประพฤติและหนังสือรับรองความเหมาะสมด้านวิชาการ
(Letter of Recommendation)
ข้อ ๑๐ การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครและประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการสอบคัดเลือก ให้ดำเนินการก่อนการคัดเลือกไม่น้อยกว่าเจ็ดวันทำการ
ข้อ ๑๑ การคัดเลือกโดยวิธีการทั่วไป ให้ส่วนงานพิจารณาคัดเลือกจากการทดสอบ
หรือประเมินความรู้ความสามารถ ด้านคุณวุฒิ ด้านความสามารถทางภาษาต่างประเทศ ด้านสุขภาพ
ด้านจริยธรรม คุณธรรม ความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิตและคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน
ข้อ ๑๒ การคัดเลือกโดยวิธีการทั่วไปตามส่วนนี้ ให้ส่วนงานจัดให้มีการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถอย่างน้อยสองวิธีจากวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) การสอบข้อเขียน
(๒) การสอบสัมภาษณ์ทางวิชาการ
(๓) การทดสอบสอน
(๔) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ
ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถในแต่ละวิธี
ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบของคะแนนเต็ม และต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของคะแนน
รวมทั้งหมด
ข้อ ๑๓ การพิจารณาคัดเลือกจากด้านคุณวุฒิ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับการคัดเลือกต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๗ หรือข้อ ๑๘
(๒) ผู้รับการคัดเลือกต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในสาขาวิชาที่ตรง
หรือเกี่ยวข้องกับสาขาที่จะมอบหมายให้สอนหรือทำวิจัย
(๓) ผู้รับการคัดเลือกต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในหลักสูตรที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) รับรอง
(๔) ผู้รับการคัดเลือกต้องมีวิทยานิพนธ์ หรือประสบการณ์การปฏิบัติงานตรง
หรือเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่จะมอบหมายให้สอนหรือทำวิจัย
(๕) กรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกมีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไป
ที่ได้รับการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ หรือประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ
ของคณาจารย์ประจำ ไม่ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ตาม (๑) และ (๔) และเมื่อผู้นั้นได้รับการคัดเลือกแล้ว
ให้บรรจุแต่งตั้งตามตำแหน่งทางวิชาการของผู้นั้นหรือตามตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับการพิจารณาเทียบเคียงตามมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์วิธีการตรวจสอบหรือเทียบมาตรฐานการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ
ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนด
ข้อ ๑๔ การพิจารณาคัดเลือกจากด้านความสามารถทางภาษาต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องแสดงหลักฐานผลการทดสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องมีผลการทดสอบภาษาต่างประเทศ โดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าที่ได้กำหนดไว้
ในตารางนี้
ประเภทการทดสอบ เกณฑ์คะแนน
๑. TOEFL
– Paper Based (คะแนนเต็ม ๖๗๗) ๕๕๐
– Computer Based (คะแนนเต็ม ๓๐๐) ๒๑๓
– Internet Based (คะแนนเต็ม ๑๒๐) ๗๙
๒. IELTS (คะแนนเต็ม ๙) ๖.๕
๓. TU-GET
– Paper Based (คะแนนเต็ม ๑,๐๐๐) ๕๕๐
– Computer Based (CBT) (คะแนนเต็ม ๑๒๐) ๘๐
๔. CU-TEP (คะแนนเต็ม ๑๒๐) ๗๕
ผลการทดสอบภาษาต่างประเทศตามตารางที่กำหนดต้องมีอายุไม่เกินสองปีนับถึงวันสมัคร
หรือวันที่เข้ารับการคัดเลือก
(๒) ผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ อาจได้รับยกเว้นไม่ต้องแสดงคะแนน
ผลการทดสอบภาษาต่างประเทศตามตารางใน (๑)
(๒.๑) สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติหรือหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอน
เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นที่ส่วนงานกำหนด โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องได้รับการรับรอง
จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
(๒.๒) ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นชาวต่างประเทศที่มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษ
ในการสื่อสารระดับดีมาก
(๓) กรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกมีผลการสอบภาษาต่างประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
ตาม (๑) แต่ส่วนงานพิจารณาในเบื้องต้นว่าผู้ได้รับการคัดเลือกรายนั้น มีความสามารถ
ด้านภาษาต่างประเทศอยู่ในระดับที่จะสอบให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าตามตารางใน (๑) อาจเสนอขอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกนั้นเป็นรายกรณีไปก่อน
หากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่ส่วนงานเสนอ อาจเสนอความเห็นให้อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกรายนั้น โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องไปเข้ารับการทดสอบภาษาต่างประเทศ ให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามตารางใน (๑) ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง หากไม่เข้ารับการทดสอบหรือสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามตาราง
ใน (๑) ให้ผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ให้ส่วนงานมีหน้าที่กำกับดูแลการทดสอบและแจ้งผลการทดสอบให้มหาวิทยาลัยทราบ
ภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็นส่วนงานอาจเสนอรายงานขออนุมัติขยายระยะเวลา
ต่ออธิการบดีเป็นกรณีพิเศษได้ ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาได้จำนวนหนึ่งครั้งไม่เกินหกเดือน
ข้อ ๑๕ การพิจารณาคัดเลือกจากด้านสุขภาพ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นโรค ดังต่อไปนี้
(๑) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
(๒) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(๓) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
(๔) โรคพิษสุราเรื้อรัง
(๕) โรคไตวายเรื้อรัง
(๖) โรคสมองเสื่อม
(๗) โรคทางจิตเวชในระยะที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรค
ต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
(๘) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรค
ต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ตามที่ ก.พ. กำหนด
ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องได้รับการตรวจและรับรองจากแพทย์ว่าไม่ได้เป็นโรคตาม (๑) ถึง (๘) มาก่อนการเข้ารับการคัดเลือก และให้นำใบรับรองแพทย์ที่ทำการตรวจมาแสดงประกอบด้วย
ข้อ ๑๖ การพิจารณาคัดเลือกจากด้านจริยธรรม คุณธรรม ความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิต และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณ
ของคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
(๒) ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องมีผลทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิต
และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานที่มีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันทดสอบในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๒.๑) ด้านความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่ การควบคุมตนเอง เห็นใจผู้อื่น รับผิดชอบ
มีแรงจูงใจ ตัดสินใจและแก้ปัญหา สัมพันธภาพ ภูมิใจตนเอง พอใจชีวิต สุขสงบทางใจ
(๒.๒) ด้านสุขภาพจิต ได้แก่ กระบวนการรู้คิด การประมวลสิ่งต่าง ๆ อย่างตรงตามความเป็นจริง หรือมีลักษณะความคิดแปลกแยก เชิงลบ หรือปัญหาระบบอารมณ์ เช่น เปลี่ยนแปลงง่าย
เศร้าง่ายมาก หรือว้าวุ่นใจควบคุมให้สงบได้ยาก เป็นต้น
(๒.๓) ด้านคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน ได้แก่
(๒.๓.๑) ความมั่นคงทางอารมณ์ เช่น มีความหนักแน่น อดทนอดกลั้น
สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ที่กระตุ้นหรือยั่วยุได้ และแสดงออกอย่างเหมาะสม
(๒.๓.๒) การมีมนุษยสัมพันธ์และความเป็นมิตร เช่น มีความไว้วางใจ จริงใจ
มีความยอมรับผู้อื่น และสามารถทำงานร่วมกลุ่มกับผู้อื่นได้ เป็นต้น
(๒.๓.๓) ความวิตกกังวล เช่น ไม่หวั่นไหว หรือวิตกกังวลอย่างไร้เหตุผล
และสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
(๓) คุณลักษณะความเหมาะสมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณาจารย์ประจำ เช่น มีใจรักในการเป็นอาจารย์ และมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
การทดสอบตาม (๒) ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกไปเข้ารับการตรวจความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิตและคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือส่วนงานอื่นของมหาวิทยาลัยตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนด และอาจให้มีการสัมภาษณ์
การตอบแบบสอบถามหรือวิธีการอื่นเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนดประกอบด้วยก็ได้
และให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกส่งหลักฐานผลทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิตและคุณลักษณะ
ที่เหมาะสมในการทำงานเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย
ในกรณีผู้เข้ารับการคัดเลือกมีที่พำนักอยู่ต่างประเทศหรือไม่อยู่ในวิสัยที่จะเข้ารับการทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ สุขภาพจิตและคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานที่มหาวิทยาลัยกำหนด
โดยแสดงหลักฐานให้ปรากฏได้ อาจเสนอเรื่องต่อส่วนงานที่ประกาศรับสมัครเพื่อขอเข้ารับการทดสอบ
ทางระบบออนไลน์กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติหรือส่วนงานอื่นของมหาวิทยาลัย
ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนดได้
ข้อ ๑๗ ส่วนงานอาจพิจารณารับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและอยู่ระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกโดยผ่านการสอบอนุมัติหัวข้อดุษฎีนิพนธ์แล้วก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อการสรรหาได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ส่วนงานรายงานความก้าวหน้าของการศึกษาระดับปริญญาเอกให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทราบ
เป็นประจำทุกหกเดือน
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ส่วนงานมีความประสงค์จะบรรจุและแต่งตั้งคณาจารย์ประจำจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาใด ให้ส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงาน
เสนอเรื่องต่อ ก.บ.ค. เพื่อพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นก่อนดำเนินการคัดเลือก โดยต้องเข้าเหตุดังต่อไปนี้ทุกข้อ
(๑) ส่วนงานได้ดำเนินการสรรหาโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้อย่างน้อยสองครั้งแล้ว และไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
หรือผู้มีคุณวุฒิตามข้อ ๑๗ มาเข้ารับการคัดเลือกหรือผ่านการคัดเลือก
(๒) เป็นสาขาที่มีความขาดแคลนหรือเป็นสาขาที่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
จำนวนน้อย
(๓) ส่วนงานมีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากขาดแคลนคณาจารย์ประจำในสาขานั้น
เป็นเวลานาน
(๔) ส่วนงานมีแผนพัฒนาการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก เว้นแต่สาขานั้นไม่มีการเปิดรับการศึกษาระดับปริญญาเอก ส่วนงานอาจเสนอแผนพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้
เมื่อ ก.บ.ค. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ส่วนงานดำเนินการสรรหาตามวิธีการ
ที่กำหนดในประกาศนี้ต่อไป และเมื่อการสรรหาได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ส่วนงานรายงานความก้าวหน้า
ของการดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกหรือแผนพัฒนาบุคลากรตาม (๔)
ให้ ก.บ.ค. ทราบเป็นประจำทุกปี
ส่วนที่ ๒
การคัดเลือกโดยวิธีพิเศษ
ข้อ ๑๙ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
โดยวิธีพิเศษ ส่วนงานอาจพิจารณาจากคุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ
หรือประสบการณ์การทำงาน โดยไม่ต้องประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไปได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) การคัดเลือกบุคคลซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยได้รับทุนจากหน่วยงานภายในประเทศหรือภายนอกประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
(๒) การคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติทางวิชาการ มีผลงานทางวิชาการหรือมีประสบการณ์
ที่เกี่ยวข้องทางวิชาการดีเด่นที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
(๓) การคัดเลือกกรณีอื่น ๆ ตามที่ ก.บ.ค. กำหนด โดยให้คำนึงถึงความจำเป็น
ความขาดแคลน และประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
ข้อ ๒๐ การคัดเลือกโดยวิธีพิเศษ ส่วนงานอาจเลือกใช้วิธีการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีประกอบกัน รวมทั้งเกณฑ์การผ่านการคัดเลือกตามข้อ ๑๒
ถึงข้อ ๑๖ ก็ได้
ในกรณีตามข้อ ๑๙ (๒) หากส่วนงานมีความประสงค์บรรจุและแต่งตั้งคณาจารย์ประจำ
จากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทอาจพิจารณาคัดเลือกโดยวิธีการทั่วไปหรือวิธีพิเศษ และให้ส่วนงานปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ ๑๗ หรือข้อ ๑๘ ด้วย แล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๑ ให้ส่วนงานแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกโดยวิธีพิเศษและให้นำความ
ในข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๓
การบรรจุและแต่งตั้ง
ข้อ ๒๒ เมื่อส่วนงานได้ดำเนินการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ประเภทคณาจารย์ประจำ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในส่วนที่ ๑ หรือส่วนที่ ๒ แล้ว ให้เสนอเรื่อง
ขออนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งไปยังกองทรัพยากรมนุษย์เพื่อดำเนินการเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง พิจารณาตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอความเห็นต่ออธิการบดีเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งบุคคล
เข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ในกรณีที่เห็นสมควรหรือมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีการจ้างสูงกว่าวุฒิหรือมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกเสนอความเห็นประกอบด้วย
ข้อ ๒๓ ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ ๒ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกลั่นกรอง กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์
และมนุษยศาสตร์ และคณะกรรมการกลั่นกรอง กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
(๑) กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้แก่
(๑.๑) คณะนิติศาสตร์
(๑.๒) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
(๑.๓) คณะรัฐศาสตร์
(๑.๔) คณะเศรษฐศาสตร์
(๑.๕) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
(๑.๖) คณะศิลปศาสตร์
(๑.๗) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
(๑.๘) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
(๑.๙) คณะศิลปกรรมศาสตร์
(๑.๑๐) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
(๑.๑๑) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
(๑.๑๒) วิทยาลัยสหวิทยาการ
(๑.๑๓) วิทยาลัยนวัตกรรม
(๑.๑๔) วิทยาลัยโลกคดีศึกษา
(๑.๑๕) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
(๑.๑๖) สถาบันภาษา
(๑.๑๗) ส่วนงานอื่นตามที่ ก.บ.ม.กำหนด
(๒) กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่
(๒.๑) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๒.๒) คณะวิศวกรรมศาสตร์
(๒.๓) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
(๒.๔) คณะแพทยศาสตร์
(๒.๕) คณะทันตแพทยศาสตร์
(๒.๖) คณะสหเวชศาสตร์
(๒.๗) คณะพยาบาลศาสตร์
(๒.๘) คณะสาธารณสุขศาสตร์
(๒.๙) คณะเภสัชศาสตร์
(๒.๑๐) วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์
(๒.๑๑) ส่วนงานอื่นตามที่ ก.บ.ม.กำหนด
ข้อ ๒๔ คณะกรรมการกลั่นกรองตามข้อ ๒๓ (๑) และ (๒) ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์
เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านวิชาการหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๓) ประธานสภาอาจารย์หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนคณาจารย์ประจำของส่วนงานในกลุ่มสาขาวิชาที่อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้ง
จากบัญชีรายชื่อ จำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในกรณีที่เห็นสมควรอธิการบดีอาจพิจารณาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในกองทรัพยากรมนุษย์นั้น
เป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน
ให้หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงานเสนอชื่อคณาจารย์ประจำของส่วนงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไปและไม่เป็นผู้บริหารส่วนงานหรือมหาวิทยาลัย ส่วนงานละหนึ่งคนต่อกองทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้ง
เป็นกรรมการตาม (๔) และให้บัญชีรายชื่อผู้แทนคณาจารย์ประจำมีอายุคราวละสามปี เว้นแต่กรณีที่มีรายชื่อในบัญชีไม่เพียงพอที่จะพิจารณาแต่งตั้งหรือมีเหตุผลอันสมควรอื่น อธิการบดีอาจสั่งยกเลิกบัญชีรายชื่อ
และให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อใหม่ก็ได้
ข้อ ๒๕ กรรมการตามข้อ ๒๔ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการตามข้อ ๒๔ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากการเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
(๔) เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บริหารส่วนงานหรือมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๒๔ (๔) พ้นจากตำแหน่ง ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งกรรมการตามข้อ ๒๔ (๔) จากบัญชีรายชื่อผู้แทนคณาจารย์ประจำ ในกรณีนี้ให้กรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งแทนนั้น
มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๒๖ ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๒๔ (๓) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทน ให้คณะกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๒๗ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ความเหมาะสมในการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ประจำ รวมทั้งในกรณีการคัดเลือก
โดยวิธีการทั่วไปและการคัดเลือกโดยวิธีพิเศษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในส่วนที่ ๑ หรือส่วนที่ ๒ แล้วแต่กรณี ตลอดจนประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี) และจัดทำรายงานความเห็นเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณานำเสนอ ก.บ.ม.
ในการบรรจุและแต่งตั้งคณาจารย์ประจำ หากมีกรณีที่ต้องมีการจ้างสูงกว่าวุฒิ
หรือมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ให้คณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบกลั่นกรองและเสนอความเห็นประกอบด้วย
อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้รวมถึงการมอบหมายให้ส่วนงานดำเนินการอย่างใดเพื่อให้การพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งคณาจารย์ประจำเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
และหน้าที่อื่น ๆ ที่อธิการบดี ก.บ.ค. หรือ ก.บ.ม. มอบหมาย
ข้อ ๒๘ ผู้ซึ่งจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นคณาจารย์ประจำต้องมีคุณสมบัติ
และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด และจะบรรจุและแต่งตั้งได้เมื่อ ก.บ.ม. อนุมัติแล้ว
แต่จะต้องบรรจุและแต่งตั้งหลังจากวันที่เข้ามาปฏิบัติงานแล้ว เว้นแต่การบรรจุและแต่งตั้งนักเรียนทุน
ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยให้บรรจุได้ตั้งแต่วันที่มารายงานตัวเข้าปฏิบัติงาน แต่จะต้องบรรจุ
และแต่งตั้งหลังจากวันที่สำเร็จการศึกษาแล้ว
ข้อ ๒๙ การพิจารณาคัดเลือกคณาจารย์ประจำ ในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกอาจขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกโดยเรียงตามลำดับคะแนนได้ โดยบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกให้มีอายุใช้ได้ไม่เกินหกเดือนนับตั้งแต่วันประกาศผลการคัดเลือก
ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็น หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ประจำส่วนงานอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกได้ไม่เกินหกเดือน
ข้อ ๓๐ ในการเรียกผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ส่วนงานเรียกตามลำดับในบัญชี
ผู้ได้รับการคัดเลือก โดยทำเป็นหนังสือพร้อมกับแจ้งให้ทราบด้วยว่าผู้ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการบรรจุ
และแต่งตั้งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติ
จาก ก.บ.ม. แล้ว
ข้อ ๓๑ ให้ส่วนงานแจ้งผลการพิจารณาของ ก.บ.ม. ให้ผู้ได้รับคัดเลือกทราบพร้อมทั้งแจ้ง
ให้มารายงานตัวและจัดทำสัญญาจ้างที่ส่วนงานต้นสังกัดภายในสามสิบวันทำการ นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
หากไม่มารายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุอันสมควร
ส่วนงานอาจขยายระยะเวลาการรายงานตัวได้อีกสามสิบวันทำการ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้
ภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ส่วนงานเสนอเรื่องต่ออธิการบดีพร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นเพื่อประกอบ
การพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลารายงานตัวออกไปอีกไม่เกินสามสิบวันทำการ
เมื่อส่วนงานได้รับการรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานแล้ว ให้ส่งเรื่องพร้อมหลักฐานการสมัคร
ที่เกี่ยวข้องมายังกองทรัพยากรมนุษย์โดยเร็วเพื่อพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ การออกคำสั่งและแต่งตั้งให้มีผลตั้งแต่วันที่
ผู้ได้รับการคัดเลือกรายงานตัวเข้าปฏิบัติงาน
หมวด ๓
การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย
ข้อ ๓๒ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย ให้พิจารณา
จากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
ให้นำหลักเกณฑ์วิธีการสรรหาและการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ประเภทคณาจารย์ประจำมาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๔
บทเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ชาวต่างประเทศ
ข้อ ๓๓ เมื่อส่วนงานได้ดำเนินการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ชาวต่างประเทศแล้ว ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามความเหมาะสมนั้น ให้ส่วนงานดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติข้อมูลประวัติบุคคล (ประวัติอาชญากรรม)
ใบปริญญาบัตรที่แสดงการสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) หนังสือเดินทางการตรวจสุขภาพ
พร้อมทั้งจัดส่งหลักฐานให้กองทรัพยากรมนุษย์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองและจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๓๔ ให้ส่วนงานจัดส่งใบอนุญาตการทำงานในประเทศไทย (Work Permit)
ให้กองทรัพยากรมนุษย์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รายงานตัวเข้าปฏิบัติงาน
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๕ การดำเนินการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ เดิมต่อไปจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จหรือสิ้นสุดลง
ข้อ ๓๖ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
โดยใช้วิธีการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป ที่ได้ดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จนถึงวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และไม่สามารถสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งได้ ให้สามารถนับรวม
เป็นจำนวนครั้งตามข้อ ๑๘ ได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี