คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการ
…………………………….
๑. เอกสารคู่มือ
๑) คำจำกัดความของเอกสารคู่มือ
เอกสารเชิงคุณภาพที่อธิบายถึงการปฏิบัติงานหรือการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเป็น แบบแผนและเป็นระบบ โดยนำแนวคิด ทฤษฎี หรือนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้
๒) รูปแบบของเอกสารคู่มือ
(๑) เอกสารรูปเล่ม หรือ
(๒) เอกสารรูปเล่มแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ
(๓) เอกสารรวบรวมคู่มือ ที่มีการบรรณาธิการ
๓) การเผยแพร่เอกสารคู่มือ
(๑) เผยแพร่ในรูปแบบเอกสารเล่ม หรือหนังสือเล่ม หรือ
(๒) เผยแพร่ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ
(๓) เผยแพร่ในเอกสารรวบรวมคู่มือ ที่มีการบรรณาธิการ
๔) ลักษณะคุณภาพของเอกสารคู่มือ
ระดับดี เป็นเอกสารคู่มือที่มีเนื้อหาถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัย มีแนวคิดและวิธีการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและวิชาชีพ
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ
(๒) มีการสอดแทรกความคิดริเริ่มและประสบการณ์ หรือผลงานวิจัยที่เป็นการแสดงให้ เห็นถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
(๓) สามารถนำไปอ้างอิง หรือนำไปปฏิบัติได้จริง
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้อง
(๑) มีลักษณะเป็นงานบุกเบิกทางวิชาการและเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
(๒) มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดและค้นคว้าต่อเนื่องเป็นที่เชื่อถือและยอมรับในวงวิชาการที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ หรือนานาชาติ
๒. งานวิจัย
๑) คำจำกัดความของงานวิจัย
ผลงานวิชาการที่เป็นงานศึกษาหรืองานค้นคว้าอย่างมีระบบ ด้วยวิธีวิทยาการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ และมีที่มาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลคำตอบหรือข้อสรุปรวม ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ (งานวิจัยพื้นฐาน) หรือการนำวิชาการนั้นมาใช้ประโยชน์ (งานวิจัยประยุกต์) หรือการพัฒนาอุปกรณ์หรือกระบวนการใหม่ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ให้หมายรวมถึง การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research) หรือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ที่เป็นงานศึกษาวิจัยโดยครูผู้สอนในชั้นเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและนำผลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนหรือส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน
๒) รูปแบบของงานวิจัย
(๑) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่ได้รับการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ
(๒) บทความวิจัย หรือ
(๓) บทความวิจัยที่นำเสนอในรูปแบบของหนังสือ (monograph) หรือ
(๔) รายงานการวิจัยในชั้นเรียน
๓) การเผยแพร่งานวิจัย
(๑) เผยแพร่ในรูปแบบรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่ได้รับการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมแสดงหลักฐานการผ่านการประเมิน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง (peer reviewer) ที่มาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่ใช่คณะกรรมการตรวจรับทุน หรือตรวจรับงานจ้างเพื่อให้งานวิจัยนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือข้อกำหนดของสัญญาจ้างนั้น และต้องแสดงว่าได้เผยแพร่ไปยังวงวิชาการและวิชาชีพในสาขาวิชานั้น และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง หรือ
(๒) เผยแพร่ในรูปแบบของบทความวิจัยในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลที่มหาวิทยาลัยยอมรับ ในลักษณะรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ
(๓) เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความวิจัยที่มีการบรรณาธิการ หรือ
(๔) เผยแพร่ในหนังสือประมวลบทความวิจัยในการประชุมทางวิชาการ (Proceeding) ที่เป็นฉบับเต็มของการประชุมระดับชาติหรือระดับนานาชาติ ในลักษณะรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคณะกรรมการคัดเลือกบทความ ที่มาจากหลากหลายสถาบัน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในวงวิชาการนั้นหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กลั่นกรอง รวมถึงตรวจสอบความถูกต้อง การใช้ภาษา และแก้ไขถ้อยคำหรือรูปแบบการนำเสนอที่ถูกต้องก่อนการเผยแพร่ หรือ
(๕) เผยแพร่ในรูปแบบรายงานการวิจัยในชั้นเรียนฉบับสมบูรณ์ โดยแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ ดังนี้
รายงานการวิจัยที่เขียนตามแบบแผนการวิจัย (แบบทางการ) โดยมีหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
๑) บทนำ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาคำถามวิจัย กรอบความคิดของการวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย นิยามศัพท์เฉพาะ ข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ข้อจำกัดของการวิจัย และประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
๒) เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
๓) วิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย เนื้อหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
๔) ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
๕) สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล อภิปราย และข้อเสนอแนะ
๖) บรรณานุกรม
๗) ภาคผนวก
รายงานการวิจัยที่เขียนตามขั้นตอนการสร้างสรรค์ของผู้วิจัย (แบบกึ่งทางการ)
เนื้อหาสาระของรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเหมือนรายงานการวิจัยเขียนตามแบบแผน การวิจัย แต่มักนำเสนออย่างสั้นๆ ไม่ยึดรูปแบบตายตัว ขอเพียงให้มีสาระครบถ้วนทำให้เข้าใจสิ่งที่ศึกษา ขั้นตอนที่ปฏิบัติ และสิ่งที่ค้นพบ แสดงหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันข้อสรุปที่ได้จากการวิจัย ทั้งนี้ อาจลำดับตามหัวข้อต่อไปนี้
๑) การตั้งชื่อเรื่อง
๒) บทนำและความสำคัญของปัญหา
๓) วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๔) สมมติฐาน (ถ้ามี)
๕) วิธีดำเนินการวิจัย
– ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง/กลุ่มเป้าหมาย
– เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
– วิธีการหรือนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา
– เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
– วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
๖) การวิเคราะห์ข้อมูล
๗) สรุปผล อภิปรายและข้อเสนอแนะ
๘) เอกสารอ้างอิง (ถ้ามี)
๔) ลักษณะคุณภาพของงานวิจัย
ระดับดี เป็นงานวิจัยที่มีกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอนถูกต้องเหมาะสมในระเบียบวิธีวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวทางวิชาการหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) เป็นผลงานที่แสดงถึงการวิเคราะห์ และนำเสนอผลเป็นความรู้ใหม่ที่ลึกซึ้งกว่างานเดิมที่เคยมีผู้ศึกษาแล้ว
(๒) เป็นประโยชน์ด้านวิชาการอย่างกว้างขวางหรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างแพร่หลาย
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้อง
(๑) เป็นงานบุกเบิกที่มีคุณค่ายิ่งและมีการสังเคราะห์อย่างลึกซึ้งจนทำให้เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Body of Knowledge) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเกิดการใช้ประโยชน์ในแนวทางหรือรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมีผลกระทบ (Impact) อย่างชัดเจน
(๒) เป็นที่ยอมรับและได้รับการอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ หรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติหรือนานาชาติ
๓. ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น
๓.๑. ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
๑) คำจำกัดความของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ส่วนใหญ่อยู่ภายในประเทศ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาอุตสาหกรรม
๒) รูปแบบของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
จัดทำเป็นเอกสาร โดยมีคำอธิบายอย่างชัดเจนประกอบผลงานนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการในประเด็นต่อไปนี้
(๑) ข้อมูลของสถานการณ์ปัญหาก่อนการดำเนินการ
(๒) หลักฐานการมีส่วนร่วมและการยอมรับของผู้ใช้
(๓) คำอธิบายกระบวนการแก้ปัญหาทางอุตสาหกรรม (solution method)
(๔) คำอธิบายถึงความรู้ความเชี่ยวชาญที่ใช้ และการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาให้
(๕) คำอธิบายถึงความรู้หรือองค์ความรู้ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการวิจัย
(๖) คำอธิบายถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้หรือต่อบางส่วนของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของอุตสาหกรรมนั้น หรือต่อวงการอุตสาหกรรมนั้น คำอธิบายถึงวิธี และคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการนำกลับมาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การเขียนตำรา หรือการปรับปรุงเนื้อหาในรายวิชาที่สอน หรือใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือปัญหาพิเศษของนักศึกษา
๓) การเผยแพร่ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) บทความวิจัยในวารสารวิชาการ หนังสือรวมบทความวิจัย หรือหนังสือประมวลบทความวิจัยในการประชุมทางวิชาการ (Proceeding) ที่มีการประเมินโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นหรือสาขาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และอาจเผยแพร่ก่อนหรือหลังการประชุมก็ได้ ทั้งนี้ บทความดังกล่าวจะต้องมีผู้แต่งร่วมเป็นบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม หากไม่มีจะต้องมีเอกสารยืนยันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยดังกล่าวโดยอุตสาหกรรม เช่น สัญญาร่วมทุนวิจัย หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการนำผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์
(๒) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่มีเนื้อหาหรือเอกสารประกอบตามรูปแบบของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม และมีการประเมินโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบัน
(๓) เอกสารแสดงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานดังกล่าว เช่น สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing agreement) โดยมีเอกสารประกอบที่มีเนื้อหาตามรูปแบบของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
(๔) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย โดยมีเนื้อหาหรือเอกสารประกอบที่มีเนื้อหาตามรูปแบบของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม และต้องมีหลักฐานแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ แต่มีหลักฐานรับรองว่าได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว
(๕) รายงานการประเมินจากหน่วยงานภายนอกที่แสดงถึงผลกระทบที่เกิดจากการวิจัย หรือกิจกรรมทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยผู้เสนอต้องจัดทำเอกสารประกอบที่มีเนื้อหาตามรูปแบบของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
ระดับดี มีการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศที่ชัดเจน มีการระบุปัญหาหรือความต้องการ โดยการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือทำความเข้าใจสถานการณ์ จนมีแนวโน้มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือมีแนวโน้มก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้องสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาหรือทำความเข้าใจสถานการณ์ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือก่อให้เกิดการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในวงกว้างในระดับจังหวัดหรือประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมหรือแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวางอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ หรือได้รับรางวัลจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
๓.๒. ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
๑) คำจำกัดความของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
ผลงานวิชาการซึ่งอาจดำเนินงานในรูปการศึกษา หรือการวิจัยเชิงทดลอง หรือการวิจัยและพัฒนา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือแก้ไขปัญหาด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน องค์ประกอบของผลงานประกอบด้วยคำอธิบาย หรือข้อมูลหลักฐานสำคัญ ได้แก่
(๑) สภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
(๒) แนวคิด ทฤษฎี หลักการและเหตุผลหรือความเชื่อที่ผู้สอนใช้ในการออกแบบ การเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวอาจเป็นรูปแบบใหม่ของการสอน หรือการสอนแนวใหม่ หรือเป็นงานประดิษฐ์คิดค้นที่พัฒนาขึ้นใหม่ หรือปรับประยุกต์จากของเดิมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เป็นบทเรียนแบบใหม่ กิจกรรมใหม่ หรือเทคนิคใหม่ในการจัดการเรียนการสอน หรือเป็นสื่อการสอนใหม่ที่ใช้ในการเรียนการสอน
(๓) กระบวนการ หรือผลลัพธ์ในการนำนวัตกรรมนั้นไปทดลองใช้กับผู้เรียนในสถานการณ์จริง โดยสามารถแสดงผลในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในผู้เรียนและผู้สอน
๒) รูปแบบของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
(๑) ผลงานวิชาการในรูปแบบของรายงานผลการศึกษา บทความวิจัย หรือ
(๒) ผลผลิตจากการศึกษาที่เป็นบทเรียน กิจกรรม สื่อการเรียนการสอน โดยมีการอธิบายแนวคิดในการพัฒนาและผลการใช้กับผู้เรียนประกอบด้วย อาจจัดทำเป็นเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์
๓) การเผยแพร่ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
(๑) เผยแพร่เป็นรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ และมีการประเมินคุณภาพโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิและมีหลักฐานการเผยแพร่ผลงานไปยังวงวิชาการและวิชาชีพในสาขาวิชานั้น หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
(๒) เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความที่มีการบรรณาธิการ
(๓) เผยแพร่ในรูปแบบของบทความวิจัยในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลที่มหาวิทยาลัยยอมรับ ในลักษณะรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(๔) เผยแพร่ในรูปของบทความวิจัยต่อที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีการบรรณาธิการ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน
(๕) เผยแพร่ในรูปของผลผลิตของงานการศึกษาแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคำอธิบายแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน วิธีการใช้ และผลที่เกิดกับผู้เรียน
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
ระดับดี
(๑) แนวคิดการออกแบบนวัตกรรมการเรียนการสอน ที่เป็นงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่ปรับจากแนวคิดเดิม หรือเป็นแนวคิดใหม่
(๒) มีข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่าผลการศึกษาที่พัฒนาขึ้นนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้หรือคุณลักษณะของผู้เรียนที่พึงประสงค์ได้จริง
ระดับดีมาก
(๑) มีคุณลักษณะเหมือนระดับดี และ
(๒) มีข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่าผลการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการพัฒนาผู้เรียนกลุ่มอื่นๆได้
(๓) ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งเป็นวารสารที่มี Impact Factor
ระดับดีเด่น
(๑) มีคุณลักษณะเหมือนระดับดีมาก และ
(๒) ผลงานได้รับรางวัลหรือการยกย่องด้านการพัฒนาการเรียนการสอน/งานการศึกษา หรืองานประดิษฐ์คิดค้น ในระดับชาติหรือนานาชาติ
๓.๓. ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
๑) คำจำกัดความของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
เป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาวิจัย หรือวเคราะห์ สังเคราะห์ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม หรือด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือทางวิชาการด้านอื่น อันนำไปสู่ข้อเสนอนโยบายสาธารณะใหม่ หรือข้อเสนอแนะเชิงความคิดหรือเชิงประจักษ์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะหรือการนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติ เพื่อให้ภาครัฐนำไปใช้กำหนดนโยบาย กฎหมาย แผน คำสั่ง หรือมาตรการอื่น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่หรือพัฒนาให้เกิดผลดีต่อสาธารณะไม่ว่าระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือนานาชาติ
๒) รูปแบบของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
จัดทำเป็นเอกสาร โดยมีคำอธิบายทางวิชาการ ประกอบด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม หรือด้านอื่นที่ต้องการแก้ไข โดยมีเหตุผลหลักฐานและข้อมูลสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีนโยบาย ร่างกฎหมาย ร่างกฎ แผน คำสั่ง หรือมาตรการอื่นใด เป็นผลผลิต (output) รวมทั้งมีการคาดการณ์ผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) ต่อสังคมในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
๓) การเผยแพร่ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) ได้มีการนำเสนอนโยบาย กฎหมาย แผน คำสั่ง หรือมาตรการอื่นใด พร้อมคำอธิบายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในนโยบายสาธารณะนั้นๆ ทั้งได้มีการนำไปสู่การพิจารณาหรือดำเนินการ โดยผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
(๒) ได้มีการเผยแพร่นโยบายสาธารณนั้นไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
ระดับดี เป็นผลงานที่แสดงการวิเคราะห์สังเคราะห์ที่มีหลักฐานข้อมูลหรือเหตุผลสนับสนุน ซึ่งแสดงความก้าวหน้าทางวิชาการ
ระดับดีมาก เป็นเกณฑ์เดียวกับระดับดี แต่ต้องเป็นข้อเสนอใหม่ที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาหรือพัฒนาที่กว้างขวางกว่าข้อเสนอเดิม โดยต้องมีร่างกฎหมาย ร่างนโยบาย ร่างแผน ฯลฯ ที่มีคุณภาพระดับดีมาก และมีการอ้างอิงโดยผู้เกี่ยวข้อง
ระดับดีเด่น เป็นเกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องได้รับการอ้างอิงอภิปรายอย่างกว้างขวางในสังคม หรือได้รับการนำไปใช้โดยผู้รับผิดชอบในนโยบายสาธารณะนั้น และเกิดประโยชน์
๓.๔. กรณีศึกษา (Case Study)
๑) คำจำกัดความของกรณีศึกษา (Case Study)
งานเขียนที่เกิดจากการศึกษาบุคคลหรือสถาบัน (หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐบาล ฯลฯ) เป็นการศึกษาเหตุการณ์ การบริหารจัดการ คดี หรือกรณีที่เกิดขึ้นจริง มาจัดทำเป็นกรณีศึกษาเพื่อใช้ในการสอน (Teaching Case Study) โดยเป็นการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ตามหลักวิชาการถึงสาเหตุของปัญหาและปัจจัยอื่นๆ แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจและกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาตามหลักวิชาการหรือทำข้อเสนอในการพัฒนาองค์กร หรือเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมของบุคคล หรือองค์กร เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์หาเหตุผลและแนวทางในการตัดสินใจตามหลักวิชาการ หรือเพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและการใช้ดุลพินิจในคดีนั้นๆ
๒) รูปแบบของกรณีศึกษา (Case Study)
เอกสารที่ตีพิมพ์หรือเป็นสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย คู่มือการสอน (Teaching Notes) และใช้ประกอบการเรียนการสอนมาแล้ว มีองค์ประกอบครบถ้วน คือ บทนำ เนื้อหา และบทส่งท้าย
๓) การเผยแพร่กรณีศึกษา (Case Study)
เผยแพร่ในลักษณะของสิ่งตีพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพ หรือเผยแพร่ในหนังสือแหล่งรวบรวมกรณีศึกษาที่มีการบรรณาธิการโดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพ
๔) ลักษณะคุณภาพของกรณีศึกษา (Case Study)
ระดับดี
(๑) เป็นกรณีศึกษาที่มีองค์ประกอบครบถ้วน คือ บทนำ เนื้อหา บทส่งท้าย รายละเอียดข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เช่น ตาราง และรูปภาพ
(๒) เป็นกรณีศึกษาที่มีเนื้อหาและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษา
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้องเป็นกรณีศึกษาที่มีการเสนอเน้อหาและการวิเคราะห์ที่ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างกว้างขวาง หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแพร่หลาย
ระดับดีเด่น ให้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้อง
(๑) เป็นกรณีศึกษาที่บุกเบิกทางวิชาการ นำเสนอปัญหาหรือประเด็นที่ไม่เคยมีผู้ศึกษามาก่อน มีการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างลึกซึ้ง และสร้างความรู้ใหม่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างชัดเจน
(๒) เป็นกรณีศึกษาที่กระตุ้นให้เกิดความคิด และการค้นคว้าทางวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติหรือนานาชาติ
๓.๕. งานแปล
๑) คำจำกัดความของงานแปล
งานแปลจากตัวงานต้นฉบับ ที่เป็นงานวรรณกรรม หรืองานด้านปรัชญา หรือประวัติศาสตร์ หรือวิทยาการสาขาอื่นบางสาขาที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าในสาขานั้นๆ ซึ่งเมื่อนำมาแปลแล้วจะเป็นการเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการที่ประจักษ์ชัด เป็นการแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย หรือจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ หรือแปลจากภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่งเป็นภาษาต่างประเทศอีกภาษาหนึ่ง
๒) การเผยแพร่งานแปล
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) เผยแพร่ด้วยวิธีการพิมพ์ หรือ
(๒) เผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น การเผยแพร่ในซีดีรอม ฯลฯ
การเผยแพร่ดังกล่าว ต้องเป็นการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากกว่าการใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ในหลักสูตร ซึ่งจำนวนพิมพ์อาจเป็นดัชนีหนึ่งที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการเผยแพร่อย่างกว้างขวางได้ หรืออาจใช้ดัชนีอื่นวัดความกว้างขวางในการเผยแพร่ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองการเผยแพร่จากคณะกรรมการของสถาบัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นๆ และต้องเผยแพร่สู่สาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
กรณีอยู่ระหว่างการพิจารณา หากคณะผู้ทรงคุณวุฒิมีมติให้ปรับปรุงงานแปล เมื่อได้แก้ไขปรับปรุงงานแปลดังกล่าวแล้วให้เสนอคณะผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาได้ทันที โดยไม่ต้องนำงานแปลดังกล่าวไปเผยแพร่ใหม่อีกครั้ง
กรณีที่งานแปลที่ใช้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ ได้รับการพิจารณาประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว มีผลพิจารณาให้ผลงานนั้นไม่ผ่านหรือไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ผู้เสนอขอตำแหน่งสามารถนำผลงานดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุง หรือเพิ่มเติมเนื้อหา และนำกลับมาใช้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการอีกครั้งได้ โดยต้องมีการประเมินคุณภาพงานแปลนั้นอีกครั้ง
๓) ลักษณะคุณภาพของงานแปล
ระดับดี เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาจากต้นฉบับเดิมได้สมบูรณ์ พร้อมทั้งมีบทนำของผู้แปลที่ให้ข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับเอกสารที่แปล
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้องมีการใช้ภาษาที่สละสลวย และอ่านเข้าใจง่าย
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องมีบทนำเชิงสังเคราะห์ที่แสดงความรู้ ความเข้าใจของผู้แปลในเรื่องนั้นๆ และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกัน หรือมีการค้นคว้าเพิ่มเติมของผู้แปล ใส่ไว้ในบทนำ หรือเชิงอรรถ แล้วแต่กรณี
๓.๖. พจนานุกรม (dictionary) สารานุกรม (encyclopedia) นามานุกรม (directory) และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
๑) คำจำกัดความของพจนานุกรม (dictionary) สารานุกรม (encyclopedia) นามานุกรม (directory) และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
งานอ้างอิงที่อธิบาย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำ หรือหัวข้อ หรือหน่วยย่อย ในลักษณะอื่นๆ อันเป็นผลของการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบและมีหลักวิชา รวมทั้งแสดงสถานะล่าสุดทางวิชาการ (state of the art) ของสาขาวิชานั้นๆ เป็นการรวบรวมคำ หรือหัวข้อ หรือหน่วยย่อย จัดระบบอ้างอิง โดยเป็นงานของนักวิชาการคนเดียว มีคำนำที่ชี้แจงหลักการ หลักวิชา หรือทฤษฎีที่นำไปใช้ รวมทั้งอธิบายวิธีการใช้และมีการบรรณานุกรมรวม หรือบรรณานุกรมแยกส่วนตามหน่วยย่อย รวมทั้งดัชนีค้นคว้า ในกรณีที่จำเป็น
๒) การเผยแพร่พจนานุกรม (dictionary) สารานุกรม (encyclopedia) นามานุกรม (directory) และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
(๑) เผยแพร่ด้วยวิธีการพิมพ์ หรือ
(๒) เผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
๓) ลักษณะคุณภาพของพจนานุกรม (dictionary) สารานุกรม (encyclopedia) นามานุกรม (directory) และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
ระดับดี เป็นงานอ้างอิงที่ให้ความรู้พื้นฐานอันถูกต้องและทันสมัย ครอบคลุมเนื้อหาที่กว้างขวางตามที่ยอมรับกันในวงวิชาการ
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้องมีการให้ข้อมูลและทัศนะที่ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของศัพท์ หัวข้อ หรือหน่วยย่อย และ/หรือ สาขาวิชานั้นๆ
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องมีการชี้ทางให้ผู้อ่าน หรือผู้ใช้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์ และ/หรือ เกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป
๓.๗. ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๑) คำจำกัดความของผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลงานวิชาการที่เป็นการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เครื่องทุ่นแรง ผลงานการสร้างสรรค์พืชหรือสัตว์พันธุ์ใหม่ หรือจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับการใช้ประโยชน์เฉพาะด้านวัคซีน ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยวิธีวิทยาที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ
๒) รูปแบบของผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลงานสร้างสรรค์พร้อมด้วยสิ่งตีพิมพ์หรือเอกสารวิชาการ ที่แสดงถึงแนวคิดในการวิจัยค้นคว้าและพัฒนางานนั้นๆ กระบวนการในการวิจัยและพัฒนา ผลการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ทั้งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานและคุณสมบัติพิเศษที่เป็นข้อเด่น ผลการทดสอบในสภาพของการนำไปปฏิบัติจริงในสภาพที่เหมาะสม และศักยภาพของผลกระทบจากการนำไปใช้ในแง่เศรษฐกิจหรือสังคม
๓) การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) การจัดนิทรรศการ การจัดแสดง การจัดการแสดง การแสดงสาธารณะ การบันทึกภาพ การบันทึกเสียง ภาพถ่าย หรือ แถบบันทึกภาพ
(๒) เอกสารประกอบ ต้องพิมพ์เผยแพร่ หรือเผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ระดับดี เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ซึ่งต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการ มีผลการทดสอบตามหลักวิชาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ และการนำผลงานนั้นไปใช้ต้องมีศักยภาพในการส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับปานกลาง
ระดับดีมาก เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ซึ่งต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการมากขึ้น มีผลการทดสอบตามหลักวิชาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ และการนำผลงานนั้นไปใช้มีศักยภาพในการส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูง
ระดับดีเด่น เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ซึ่งต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการที่ลึกซึ้ง มีผลการทดสอบตามหลักวิชาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ ผลงานมีคุณสมบัติโดดเด่น และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ หรือก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในแนวทางหรือรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมีศักยภาพในการส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูง
๓.๘. ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
๑) คำจำกัดความของผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
ผลงานหรือชุดของผลงานสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางสุนทรียะ ปรัชญา จริยธรรม หรือเป็นงานสะท้อนสังคม แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของเจ้าของผลงาน มีการนำเสนอพร้อมคำอธิบายอันประกอบด้วยหลักวิชาการที่เอื้อต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจในความหมายและคุณค่าของงาน เช่น ผลงานสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม ด้านศิลปะการแสดง ด้านดนตรี ด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ จิตรกรรม ประติมากรรม การพิมพ์ และศิลปะด้านอื่นๆ
๒) รูปแบบของผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
งานสร้างสรรค์พร้อมบทวิเคราะห์ที่อธิบายหลักการ หลักวิชา และ/หรือ ความคิดเชิงทฤษฏี รวมทั้งกระบวนการ และ/หรือ เทคนิคในการสร้างงาน มีการให้ข้อมูลและข้อวินิจฉัยที่ก่อให้เกิดการตีความและการประเมินคุณค่าในหมู่ของผู้รับงาน
๓) การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) วรรณกรรมต้นแบบ และเอกสารประกอบ ต้องพิมพ์เผยแพร่ หรือเผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(๒) การจัดนิทรรศการ การจัดแสดง การจัดการแสดง การแสดงสาธารณะ การบันทึกภาพ การบันทึกเสียง ภาพถ่าย หรือแถบบันทึกภาพ
ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
ระดับดี เป็นผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะ โดยผู้ประพันธ์สามารถอธิบายหลักการและกระบวนการสร้างสรรค์ที่สื่อความกับผู้รับได้เป็นอย่างดี
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และเป็นตัวอย่างอันดีที่ยังประโยชน์เด่นชัดต่อวรรณกรรมศึกษา วิชาการด้านการเขียนสร้างสรรค์ (creative writing) และการศึกษาศิลปะแขนงนั้นๆ
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องเป็นงานที่สร้างมิติใหม่ในด้านการสร้างสรรค์ สุนทรียศาสตร์ วรรณกรรมศึกษา การเขียนสร้างสรรค์ (creative writing) และการศึกษาศิลปะ
๓.๙. สิทธิบัตร (patent)
๑) คำจำกัดความของสิทธิบัตร (patent)
สิทธิบัตรตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
๒) รูปแบบของสิทธิบัตร (patent)
อาจจัดทำได้หลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรูปเล่ม หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) มีบทวิเคราะห์ที่อธิบาย/ชี้แจงโดยชัดเจนประกอบผลงานนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเสริมสร้างความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาหนึ่งๆ หรือหลายสาขาวิชาอย่างไร ในแง่ใด
(๒) ต้องผ่านการพิสูจน์ หรือแสดงหลักฐานเป็นรายละเอียดให้ครบถ้วนที่แสดงถึงคุณค่าของผลงานนั้นด้วย
๓) การเผยแพร่ของสิทธิบัตร (patent)
มีหลักฐานการนำสิทธิบัตรไปใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
๔) ลักษณะคุณภาพของสิทธิบัตร (patent)
ระดับดี เป็นสิทธิบัตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์ได้ว่ามีผู้นำไปวิจัยหรือพัฒนาต่อยอด
ระดับดีมาก เป็นสิทธิบัตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์ได้ว่ามีผู้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ระดับชาติ
ระดับดีเด่น เป็นสิทธิบัตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์ได้ว่ามีผู้นำไปใช้ประโยชน์ในระดับนานาชาติ และมีหลักฐานว่าได้นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะประโยชน์อย่างกว้างขวาง
๓.๑๐. ซอฟต์แวร์ (software)
๑) คำจำกัดความของซอฟต์แวร์ (software)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นผลงานที่ได้จากการวิจัย หรือการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีหลักวิชาที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน รวมถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นการประยุกต์หลักวิชา เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในเชิงวิชาการ โดยต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(๑) การดำเนินงานโครงการที่มีลักษณะการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีระเบียบวิธีเชิงตัวเลข (numerical method) หรือการดำเนินงานลักษณะ engineering design ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการออกแบบโดยตรง
(๒) งานที่มีลักษณะการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาในระดับแฟ้มข้อมูลต้นฉบับ (source code) เพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้ดีขึ้น โดยมีการปรับปรุงระบบอย่างมีนัยสำคัญ
(๓) โครงการที่มีการเก็บข้อมูลเชิงประสิทธิภาพ และประเมินผลเพื่อให้สอดคล้องกับงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จะต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหลังจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาแล้วระบบการทำงานดีขึ้นได้อย่างไร โดยต้องมีการปรับปรุงระบบหรือสำรวจความต้องการ รวมถึงแสดงผลลัพธ์หรือตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งมิได้นำเข้ามาเพื่อทดแทนระบบเดิมเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องสอดคล้องกับลักษณะของงานวิจัยและพัฒนา
๒) รูปแบบซอฟต์แวร์ (software)
อาจจัดทำได้หลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรูปเล่ม หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ
(๑) มีคำอธิบาย/ชี้แจงโดยชัดเจนประกอบผลงานนั้น เช่น คู่มือที่อธิบายการใช้งานอย่างละเอียดและชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเสริมสร้างความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาหนึ่งๆ หรือหลายสาขาวิชาได้อย่างไร ในแง่ใด
(๒) ต้องผ่านการพิสูจน์ หรือแสดงหลักฐานเป็นรายละเอียดให้ครบถ้วนที่แสดงถึงคุณค่าของผลงานนั้น
๓) การเผยแพร่ซอฟต์แวร์ (software)
มีหลักฐานการนำซอฟต์แวร์ไปใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ต้องเผยแพร่สู่สาธารณชนมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน
๔) ลักษณะคุณภาพของซอฟต์แวร์ (software)
ระดับดี เป็นงานที่มีกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน ถูกต้อง เหมาะสมตามระเบียบวิธีวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการหรือนำไปประยุกต์ใช้ได้
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) เป็นผลงานที่แสดงถึงการวิเคราะห์และนำเสนอผลเป็นความรู้ใหม่ที่ลึกซึ้งว่างานเดิม ที่เคยมีผู้ศึกษามาแล้ว
(๒) เป็นประโยชน์ด้านวิชาการอย่างกว้างขวาง หรือสามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างแพร่หลาย
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องได้รับการอ้างอิงและใช้งานอย่างกว้างขวางในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ
๔. ผลงานวิชาการรับใช้สังคม
๑) คำจำกัดความของผลงานวิชาการรับใช้สังคม
ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมโดยประจักษ์ต่อสาธารณะ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านกับชุมชน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง คุณภาพชีวิต หรือสุขภาพ หรือเป็นผลงานที่นำไปสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือรูปแบบอื่นๆ ที่แสดงได้เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการตระหนักและการรับรู้ปัญหา และแนวทางแก้ไขของชุมชน
๒) รูปแบบของผลงานวิชาการรับใช้สังคม
จัดทำเป็นเอกสาร โดยมีคำอธิบาย/ชี้แจงโดยชัดเจนประกอบผลงานนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเสริมสร้างความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาหนึ่งหรือหลายสาขาวิชา และสามารถนำไปอ้างอิงได้ โดยต้องปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในประเด็นต่อไปนี้
(๑) การวิเคราะห์สภาพการณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
(๒) การมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย
(๓) การออกแบบหรือพัฒนาหรือแนวคิดหรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
(๔) ความรู้หรือความเชี่ยวชาญที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น
(๕) การคาดการณ์สิ่งที่จะตามมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
(๖) การประเมินผลลัพธ์โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
(๗) การสรุปแนวทางการธำรงรักษาหรือการนำไปขยายผลหรือการปรับปรุงพัฒนา
ทั้งนี้ นอกจากเอกสารแสดงผลงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจแสดงหลักฐานเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับผลงาน เช่น รูปภาพ หรือการบันทึกเป็นภาพยนตร์ หรือแถบเสียง หรือวีดีทัศน์ จดหมายยืนยันถึงผลประกอบการ กำไร หรือความเอื้ออำนวยจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่ได้รับผลประโยชน์ประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
๓) การเผยแพร่ผลงานวิชาการรับใช้สังคม
ให้มีการเผยแพร่โดยจัดเวทีนำเสนอผลงานในพื้นที่ หรือเปิดใช้เยี่ยมชมพื้นที่ และจะต้องมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สอดคล้องกับผลงาน โดยการเผยแพร่นั้นจะต้องมีการบันทึกเป็นเอกสารหรือเป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถใช้อ้างอิง หรือศึกษาค้นคว้าต่อไปได้
๔) ลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการรับใช้สังคม
ระดับดี มีการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศที่ชัดเจน มีการระบุปัญหาหรือความต้องการ โดยการมีส่วนร่วมของสังคมกลุ่มเป้าหมาย บุคลากรภาครัฐ หรือบุคลากรภาคเอกชน มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ความรู้ที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือทำความเข้าใจสถานการณ์ มีการถ่ายทอดผลงานทางวิชาการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน สังคม องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรภาคเอกชนนั้น
ระดับดีมาก ให้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้องสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาหรือทำความเข้าใจสถานการณ์ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับจังหวัดหรือประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติ หรือได้รับรางวัลจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น UNESCO WHO UNICEF เป็นต้น
๕. ตำรา
๑) คำจำกัดความของตำรา
งานวิชาการที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนทั้งวิชา หรือเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ซึ่งเกิดจากการศึกษาค้นคว้า หรือการวิจัยของผู้ขอ โดยเรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ เนื้อหามีความทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนให้ความรู้ใหม่อันเป็นความรู้สำคัญที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการจัดเรียนการสอนและวิชาการในสาขาวิชานั้นๆ
ตำรา สามารถพัฒนาขึ้นมาจากเอกสารคำสอน หรือเอกสารประกอบการสอน โดยมีเนื้อหาสมบูรณ์ โดยผู้อ่านที่เป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้เรียนในวิชานั้น สามารถอ่านและทำความเข้าใจในสาระของตำราด้วยตนเองได้
ทั้งนี้ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งจะต้องระบุชื่อรายวิชาที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรที่ใช้ตำราเล่มที่เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการนี้ ประกอบการจัดการเรียนการสอนไว้ด้วย
๒) รูปแบบของตำรา
เป็นรูปเล่ม โดยมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
(๑) คำนำ
(๒) สารบัญ
(๓) เนื้อเรื่อง
(๔) การอธิบาย หรือการวิเคราะห์
(๕) การสรุป
(๖) การอ้างอิง
(๗) บรรณานุกรม
(๘) ดัชนีคำค้น
ทั้งนี้ ควรมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยและครบถ้วน สมบูรณ์ การอธิบายสาระสำคัญมีความชัดเจน โดยอาจใช้ข้อมูลภาพ แผนภาพ ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษาประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในสาระสำคัญนั้นได้โดยเบ็ดเสร็จ
๓) การเผยแพร่ตำรา
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) เผยแพร่ด้วยวิธีการพิมพ์ หรือ
(๒) เผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ซีดีรอม, e-learning, online learning หรือ
(๓) เผยแพร่เป็น e-book โดยสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ
ทั้งนี้ ตำราต้องได้รับการประเมินคุณภาพของตำราจากคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะหรือสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้น
ตำราที่ผู้ขอใช้เสนอขอตำแหน่งไปแล้ว โดยที่ผลการประเมินของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้ตำราดังกล่าวไม่ผ่านหรือขาดคุณสมบัติของผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ขอสามารถนำตำรานั้นไปแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในตำราเพื่อนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งครั้งใหม่ได้ แต่ต้องได้รับการประเมินคุณภาพตำราที่แก้ไขปรับปรุงนั้นอีกครั้ง
๔) ลักษณะคุณภาพตำรา
ระดับดี เป็นตำราที่มีเนื้อหาสาระทางวิชาการถูกต้อง สมบูรณ์ ทันสมัย และมีแนวคิดและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษา
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
(๒) มีการสอดแทรกความคิดริเริ่มและประสบการณ์ หรือผลงานวิจัยของผู้เขียนที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
(๓) สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือนำไปปฏิบัติได้
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้อง
(๑) มีลักษณะเป็นงานบุกเบิกทางวิชาการและมีการสังเคราะห์จนถึงระดับที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
(๒) มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดและค้นคว้าต่อเนื่อง
(๓) เป็นที่เชื่อถือและยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ หรือนานาชาติ
๖. หนังสือ
๑) คำจำกัดความของหนังสือ
งานวิชาการที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ ใช้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญาความคิดและสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่สาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาของหนังสือไม่จำเป็นต้องสอดคล้องหรือเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตร หรือเกี่ยวข้องกับรายวิชาใดรายวิชาหนึ่งในหลักสูตร และไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่ง
เนื้อหาสาระของหนังสือต้องมีความทันสมัย เมื่อพิจารณาถึงวันที่ผู้ขอยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
หากผู้ขอนำหนังสือไปใช้ในฐานะเอกสารประกอบการสอนหรือเอกสารคำสอน เพื่อประเมินผลการสอนแล้ว จะนำหนังสือนั้นมาเสนอขอตำแหน่งไม่ได้
๒) รูปแบบของหนังสือ
เป็นรูปเล่ม โดยมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
(๑) คำนำ
(๒) สารบัญ
(๓) เนื้อเรื่อง
(๔) การวิเคราะห์
(๕) การสรุป
(๖) การอ้างอิง
(๗) บรรณานุกรม
(๘) ดัชนีคำค้น
องค์ประกอบในหนังสือต้องทันสมัยและครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอาจใช้ข้อมูลภาพ แผนภาพ ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษา ประกอบด้วยก็ได้ ตามรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
(๑) เป็นงานที่นักวิชาการเขียนทั้งเล่ม (authored book) คือ เอกสารที่ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นทั้งเล่มอย่างมีเอกภาพ มีรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง และให้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญา ความคิด และสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ
(๒) เป็นงานวิชาการบางบทหรือส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีผู้เขียนหลายคน (book chapter) โดยจะต้องมีเอกภาพของเนื้อหาวิชาการ ซึ่งผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในสาระสำคัญนั้นได้โดยเบ็ดเสร็จในแต่ละบท และเป็นงานศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิทยาอันเป็นที่ยอมรับจนได้ข้อสรุปที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการหรือนำไปประยุกต์ใช้ได้
กรณีในแต่ละบทมีผู้เขียนหลายคนจะต้องระบุบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างชัดเจน
๓) การเผยแพร่หนังสือ
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการประเมินโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ที่มาจากหลากหลายสถาบัน ดังนี้
(๑) เผยแพร่ด้วยวิธีการพิมพ์ หรือ
(๒) เผยแพร่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ซีดีรอม, e-learning, online learning หรือ
(๓) เผยแพร่เป็น e-book โดยสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ
หนังสือที่ผู้ขอใช้เสนอขอตำแหน่งไปแล้ว โดยที่ผลการประเมินของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้หนังสือดังกล่าวไม่ผ่านหรือขาดคุณสมบัติของผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ขอสามารถนำหนังสือนั้นไปแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในหนังสือเพื่อนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งครั้งใหม่ได้ แต่ต้องได้รับการประเมินคุณภาพหนังสือที่แก้ไขปรับปรุงนั้นอีกครั้ง
๔) ลักษณะคุณภาพของหนังสือ
ระดับดี เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระทางวิชาการถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัย มีแนวคิดและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
ระดับดีมาก ให้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
(๒) มีการสอดแทรกความคิดริเริ่มและประสบการณ์ หรือผลงานวิจัยที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการสามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือนำไปปฏิบัติได้
ระดับดีเด่น ให้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้อง
(๑) มีลักษณะเป็นงานบุกเบิกทางวิชาการและมีการสังเคราะห์จนถึงระดับที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
(๒) มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดและค้นคว้าต่อเนื่อง
(๓) เป็นที่เชื่อถือและยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ หรือนานาชาติ
๗. บทความวิชาการ
๑) คำจำกัดความของบทความวิชาการ
งานเขียนทางวิชาการซึ่งมีการกำหนดประเด็นที่ต้องการอธิบายหรือวิเคราะห์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีการสำรวจวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนจนสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ อาจเป็นการนำความรู้จากแหล่งต่างๆ มาประมวลร้อยเรียง เพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยที่ผู้เขียนแสดงทัศนะทางวิชาการของตนไว้อย่างชัดเจน
๒) รูปแบบของบทความวิชาการ
ประกอบด้วยการนำความที่แสดงเหตุผลหรือที่มาของประเด็นที่ต้องการอธิบายหรือวิเคราะห์ กระบวนการอธิบายหรือวิเคราะห์และบทสรุป มีการอ้างอิง และมีการบรรณานุกรมครบถ้วนและสมบูรณ์
๓) การเผยแพร่บทความวิชาการ
เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
(๑) เผยแพร่ในรูปแบบบทความวิชาการในวารสารวิชาการที่มหาวิทยาลัยยอมรับ โดยสามารถเผยแพร่ทั้งในรูปแบบรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์
บทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre : TCI) ผู้เสนอขอจะสามารถนำบทความวิชาการนั้นมาใช้ยื่นขอตำแหน่งได้ต่อเมื่อได้เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 เท่านั้น
(๒) เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความในรูปแบบอื่นที่มีการบรรณาธิการ
เมื่อเผยแพร่ “บทความวิชาการ” แล้ว การนำ “บทความวิชาการ” นั้น มาแก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และไม่ให้มีการประเมินคุณภาพ “บทความวิชาการ” นั้น อีกครั้ง จะกระทำมิได้
๔) ลักษณะคุณภาพของบทความวิชาการ
ระดับดี เป็นบทความวิชาการที่มีเนื้อหาสาระทางวิชาการถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัย มีแนวคิดและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
(๑) มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
(๒) สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือนำไปปฏิบัติได้
ระดับดีเด่น
(๑) มีลักษณะเป็นงานบุกเบิกทางวิชาการและมีการสังเคราะห์จนถึงระดับที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
(๒) มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดและค้นคว้าต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อถือและยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ หรือนานาชาติ