ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ
ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖
—————————-
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
เพื่อให้การพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์ และเหมาะสมกับการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และ (๘) และมาตรา ๗๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ เมื่อวันที่
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ จึงออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นฉบับที่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันที่จัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือบัณฑิตศึกษาด้วย
“ตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ในการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการ และให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำ ซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือน
ในสถาบันอุดมศึกษา หรือพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ
“ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์
“ผู้ประพันธ์อันดับแรก (first author)” หมายความว่า ผู้ที่มีชื่อในผลงานวิชาการเป็นชื่อแรก รับผิดชอบการทำผลงานวิชาการ และเขียนต้นฉบับ (manuscript) ชิ้นนั้นด้วยตนเอง
“ผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author)” หมายความว่า บุคคลที่มีบทบาทและ
ความรับผิดชอบในการเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือผลงานทางวิชาการ ให้เกิดการถ่ายทอดเป็นเรื่องราวแสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางวิชาการที่ประกอบด้วย การแสดงข้อมูล หลักฐาน ข้อคิดเห็น และประสบการณ์รวมทั้ง
ทำหน้าที่รับผิดชอบติดต่อกับบรรณาธิการ
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้และให้มีอำนาจออกประกาศของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๖ เพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานและคุณภาพในการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย การดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อบังคับนี้ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง
ทางวิชาการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เว้นแต่เป็นเรื่องลักษณะเฉพาะ
ของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ การดำเนินการทุกขั้นตอนในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
ตามข้อบังคับนี้ ให้ดำเนินการอยู่ในชั้นความลับทุกขั้นตอน
ข้อ ๘ ภาระงานสอน การประเมินผลการสอน และเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมิน
ผลการสอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อประเมิน
ผลการสอนของคณาจารย์ประจำในแต่ละคณะได้ตามความเหมาะสม
ข้อ ๙ การเทียบตำแหน่งทางวิชาการที่ใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๐ การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางวิชาการที่ใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการ
ตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามเอกสารแนบท้ายข้อบังคับนี้
หมวด ๒
ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๑๒ ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
(๑) กลุ่ม ๑ งานวิจัย
(๒) กลุ่ม ๒ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น
(๒.๑) ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
(๒.๒) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
(๒.๓) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
(๒.๔) กรณีศึกษา (case study)
(๒.๕) งานแปล
(๒.๖) พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการอื่นในลักษณะเดียวกัน
(๒.๗) ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๒.๘) ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ ศิลปะ
(๒.๙) สิทธิบัตร
(๒.๑๐) ซอฟต์แวร์
(๒.๑๑) ผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม
(๒.๑๒) ผลงานนวัตกรรม
(๓) กลุ่ม ๓ ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ
ข้อ ๑๓ ผลงานทางวิชาการที่จะใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการต้องได้รับการเผยแพร่ ดังนี้
(๑) กรณีการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์
(๑.๑) งานวิจัยต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล
Thai – Journal Citation Index (TCI) กลุ่ม ๑ หรือกลุ่ม ๒ หรือระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๑.๒) วารสารทางวิชาการระดับชาติที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล Thai – Journal Citation Index (TCI) กลุ่ม ๑ หรือกลุ่ม ๒ วารสารทางวิชาการนั้นต้องมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชา
นั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๓ ปี
และมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ (peer reviewer) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบัน อย่างน้อย ๓ คน ทั้งนี้ วารสารวิชาการนั้นอาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน
(๑.๓) บทความทางวิชาการต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Thai – Journal Citation Index (TCI) กลุ่ม ๑ หรือกลุ่ม ๒ หรือระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือวารสารทางวิชาการระดับชาติที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล Thai – Journal Citation Index (TCI)
กลุ่ม ๑ หรือกลุ่ม ๒ วารสารทางวิชาการนั้นต้องมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชาหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๓ ปี และมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบัน
อย่างน้อย ๓ คน ทั้งนี้ วารสารวิชาการนั้นอาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน
(๑.๔) ผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่งานวิจัยหรือบทความทางวิชาการ ต้องได้รับการเผยแพร่
ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมแสดงหลักฐานว่า การเผยแพร่นั้น ได้ผ่านการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง (peer reviewer) ที่มาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งนี้ ตามเอกสารแนบท้าย
(๑.๕) ผลงานทางวิชาการตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ นอกจากจะเผยแพร่ตามข้อ (๑.๑) (๑.๒) (๑.๓) และ (๑.๔) แล้ว อาจเผยแพร่ตามคำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่และลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการตามปรากฏในเอกสารแนบท้ายข้อบังคับนี้ได้
(๒) กรณีการขอตำแหน่งศาสตราจารย์
(๒.๑) การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ตามสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี งานวิจัยต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๒.๒) การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ตามสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผลงาน
ทางวิชาการต้องได้รับการตีพิมพ์ ดังนี้
(๒.๒.๑) งานวิจัยต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล
ระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือ
(๒.๒.๒) งานวิจัยต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับชาติ ดังนี้
(๒.๒.๒.๑) วารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Thai – Journal Citation Index (TCI) กลุ่ม ๑ หรือ
(๒.๒.๒.๒) ในกรณีที่วารสารทางวิชาการระดับชาติไม่อยู่ในฐานข้อมูล
Thai – Journal Citation Index (TCI) กลุ่ม ๑ วารสารทางวิชาการนั้นต้องมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ
ในวงวิชาการในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเป็นระยะเวลา
อย่างน้อย ๓ ปี และมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ
ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบัน อย่างน้อย ๓ คน ทั้งนี้ วารสารวิชาการอาจเผยแพร่เป็น
รูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน
(๒.๓) ผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่งานวิจัยหรือบทความทางวิชาการ ต้องได้รับการเผยแพร่
ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมแสดงหลักฐานว่า การเผยแพร่นั้น ได้ผ่านการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง (peer reviewer) ที่มาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งนี้ ตามเอกสารแนบท้าย
ข้อ ๑๔ การนำผลงานทางวิชาการที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา ประกาศนียบัตร หรือเพื่อสำเร็จการศึกษา หรือการอบรม มาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ จะกระทำมิได้
เว้นแต่ผู้ขอได้แสดงหลักฐานว่าได้ทำการศึกษาหรือวิจัยเพิ่มเติมขยายผลต่อจากเรื่องเดิมจนปรากฏความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีเช่นนี้ให้พิจารณาเฉพาะผลการศึกษาหรือวิจัยที่เพิ่มขึ้น
จากเดิมเท่านั้น
หมวด ๓
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
ข้อ ๑๕ ผู้ที่จะได้รับการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องไม่ประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการมีดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน ไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น ไม่สร้างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันไม่มีอยู่จริง (fabrication) ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (falsification) ไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ ในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใดจากผลงานเดิมของตน โดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการ
(๒) ต้องอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตนเอง
เพื่อแสดงหลักฐานของการค้นคว้า
(๓) ต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นหรือสิทธิมนุษยชน
(๔) ผลงานทางวิชาการต้องได้มาจากการศึกษาโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์ ปราศจากอคติ และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่ขยายข้อค้นพบโดยปราศจาก
การตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
(๕) ต้องนำผลงานทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ต้องแสดงการได้รับอนุญาตหรือต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยในคนหรือสัตว์ เฉพาะในกรณีการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นการทำวิจัยในคนหรือสัตว์
หมวด ๔
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทั่วไปโดยวิธีปกติ
ส่วนที่ ๑
การขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ข้อ ๑๖ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติงานมาแล้ว
และต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ ดังนี้
(๑) ไม่น้อยกว่า ๑ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
(๒) ไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาโทหรือเทียบเท่า
(๓) ไม่น้อยกว่า ๖ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต่อมาบรรจุและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย หากเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาที่ ก.พ.อ. รับรอง
และได้สอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งเทียบค่าได้ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิตในระบบทวิภาค หรือปฏิบัติงาน
ด้านวิชาชีพที่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เสนอขอกำหนดตำแหน่งมาแล้ว อาจนำระยะเวลาระหว่างเป็นอาจารย์พิเศษในภาคการศึกษาที่สอนหรือปฏิบัติงานด้านวิชาชีพนั้นมารวมเป็นเวลาในการเสนอขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ โดยให้คำนวณเวลาในการสอนเป็น ๓ ใน ๔ ของเวลาที่ทำการสอน
ผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำในสถาบันการศึกษาอื่นที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่อยู่ในสถาบันเดิมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงาน
กรณีได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น ให้นับเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์ก่อนได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นและเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หลังจากได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นรวมกัน เพื่อเสนอขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ตามอัตราส่วนของระยะเวลาการปฏิบัติงานที่กำหนด
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัย (เปลี่ยนสถานภาพ) ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในขณะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามข้อบังคับนี้
การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษา หรือฝึกอบรม รวมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ
ข้อ ๑๗ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยซึ่งเทียบค่าได้ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิตในระบบทวิภาคตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ข้อ ๑๘ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องมีผลการสอนและเอกสารหลักฐานที่ใช้ใน
การประเมินผลการสอนตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๑
ข้อ ๑๙ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องเสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ
และปริมาณตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๒ เรื่อง มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป
(๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นอย่างน้อย ๑ รายการ
มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป
(๓) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง และตำราหรือหนังสืออย่างน้อย ๑ เล่ม มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป
(๔) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป และบทความทางวิชาการอย่างน้อย
๑ เรื่อง มีคุณภาพระดับ A
งานวิจัยตาม (๑) ถึง (๔) อย่างน้อย ๑ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจและบทความทางวิชาการตาม (๔) อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
ข้อ ๒๐ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
นอกจากการใช้ผลงานทางวิชาการตามข้อ ๑๙ แล้ว อาจเสนอผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีคุณภาพ
ระดับ B ขึ้นไป หรือบทความทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A แทนงานวิจัยตามข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง (๒)
และ (๓) ได้ โดยที่ผลงานอย่างน้อย ๑ เรื่อง ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
ส่วนที่ ๒
การขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์
ข้อ ๒๑ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันการศึกษาอื่นที่ได้รับการบรรจุและเทียบให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่อยู่ในสถาบันเดิมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงาน
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัย (เปลี่ยนสถานภาพ) ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในขณะเป็นข้าราชการเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามข้อบังคับนี้
การนับรวมระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษา หรือฝึกอบรม รวมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ข้อ ๒๒ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยซึ่งเทียบค่าได้ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิตในระบบทวิภาคตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ข้อ ๒๓ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ต้องมีผลการสอนและเอกสารหลักฐานที่ใช้ใน
การประเมินผลการสอนตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๑
ข้อ ๒๔ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์อาจเสนอผลงานทางวิชาการ ดังนี้
(๑) วิธีที่ ๑ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป ประกอบด้วย
(๑.๑) งานวิจัย ๒ เรื่อง และตำราหรือหนังสือ ๑ เล่ม หรือ
(๑.๒) งานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๑ รายการ และตำราหรือหนังสือ
๑ เล่ม
งานวิจัยตาม (๑.๑) และ (๑.๒) อย่างน้อย ๑ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และตำราหรือหนังสือตาม (๑.๑) และ (๑.๒) ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
(๒) วิธีที่ ๒ ผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วย
(๒.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง โดยมีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป อย่างน้อย ๒ เรื่อง และอีกหนึ่งเรื่องต้องมีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป หรือ
(๒.๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นอย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป
งานวิจัยตาม (๒.๑) และ (๒.๒) อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ
ข้อ ๒๕ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นอกจากการใช้ผลงานทางวิชาการตามข้อ ๒๔ แล้ว อาจเสนอผลงานทางวิชาการเป็นตำราหรือหนังสือ
อย่างน้อย ๓ เล่ม โดยอย่างน้อย ๒ เล่มมีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป แทนงานวิจัยตามข้อ ๒๔ (๒) (๒.๑) และ (๒.๒) ซึ่งผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกและอีกหนึ่งเล่มต้องมีคุณภาพระดับ B ขึ้นไป
ข้อ ๒๖ ผลงานทางวิชาการทุกประเภทต้องเป็นผลงานหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เว้นแต่กรณีที่ใช้ผลงานทางวิชาการก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผลงานนั้นต้องได้รับการเผยแพร่ไม่เกิน ๕ ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และนำมาใช้ได้ไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของผลงานที่นำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่ง โดยมีผล
การประเมินคุณภาพของผลงานใหม่หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ผ่านเกณฑ์จำนวนอย่างน้อย ๒ เรื่องด้วย
ข้อ ๒๗ กรณีผู้ขอเสนอผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งเป็นผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม
ที่มีเนื้อหาสาระและรูปแบบที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ดำเนินการคนละพื้นที่ หากเป็นการดำเนินการในลักษณะ
ที่ขยายผลเชิงพื้นที่จากพื้นที่เดียวไปสู่หลายพื้นที่ให้ครอบคลุมกว้างขึ้น โดยมีตัวแปรที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดกลไกใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และมีการพัฒนาต่อยอด ซึ่งต้องไม่ใช่งานเดียวกันและซ้ำซ้อนกัน
ผู้ขออาจสามารถนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้โดยอนุโลม
ข้อ ๒๘ นอกจากการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ตามวิธีที่ ๑ และวิธีที่ ๒ ตามข้อ ๒๔ ผู้ขออาจเสนอขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในวิธีที่ ๓ ได้ ในกรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีงานวิจัยที่ได้รับ
การตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมากและได้รับการอ้างอิงอย่างสูงในฐานข้อมูล Scopus เป็นผู้มีค่า
life-time h-index สูง ตลอดจนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเห็นว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ ให้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์
พยาบาลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการ ดังนี้
(๑.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Quartile 1 และ Quartile 2 ของ Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และ
(๑.๒) มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงในฐานข้อมูล Scopus โดยรวม (life-time citation) อย่างน้อย ๕๐๐ รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง และ
(๑.๓) มีค่า life-time h-index (Scopus) ไม่น้อยกว่า ๘ และ
(๑.๔) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (principal investigator) ที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างน้อย ๕ โครงการ (life-time)
(๒) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการ ดังนี้
(๒.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยอย่างน้อย ๓ เรื่อง
ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และ
(๒.๒) มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงในฐานข้อมูล Scopus โดยรวม (life-time citation)
อย่างน้อย ๑๕๐ รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง และ
(๒.๓) มีค่า life-time h-index (Scopus) ไม่น้อยกว่า ๔ และ
(๒.๔) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างน้อย
๕ โครงการ (life-time)
ส่วนที่ ๓
การขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์
ข้อ ๒๙ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
ผู้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสถาบันการศึกษาอื่น ที่ได้รับการบรรจุและเทียบให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่อยู่ในสถาบันเดิมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงาน
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัย (เปลี่ยนสถานภาพ) ให้นับรวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในขณะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามข้อบังคับนี้
การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษา หรือฝึกอบรม รวมเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งรองศาสตราจารย์
ข้อ ๓๐ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๑ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์อาจเสนอผลงานทางวิชาการ ตามวิธีการข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๑) วิธีที่ ๑ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป ประกอบด้วย
(๑.๑) ผลงานทางวิชาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๑.๑.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๑.๑.๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่ได้รับ
การเผยแพร่ในระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย ๕ เรื่อง
(๑.๒) ตำราหรือหนังสืออย่างน้อย ๑ เล่ม
ผลงานตาม (๑.๑.๑) และ (๑.๑.๒) อย่างน้อย ๒ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และตำราหรือหนังสืออย่างน้อย ๑ เล่ม ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
(๒) วิธีที่ ๒ ผลงานทางวิชาการตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๒.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด โดยมีคุณภาพระดับ A+ อย่างน้อย ๒ เรื่อง และมีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป อย่างน้อย ๓ เรื่อง
(๒.๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นต้องได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย ๕ เรื่อง โดยที่ผลงานทางวิชาการอย่างน้อย
๒ เรื่อง ต้องมีคุณภาพระดับ A+ และอีกอย่างน้อย ๓ เรื่อง มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป
(๒.๓) งานวิจัยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และมีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป
ผลงานทางวิชาการตาม (๒.๑) และ (๒.๒) อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A+ และ
อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ
ผลงานทางวิชาการตาม (๒.๓) อย่างน้อย ๖ เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ
ข้อ ๓๒ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นอกจากการใช้วิธีการตามข้อ ๓๑ แล้ว อาจเสนอผลงานทางวิชาการตามวิธีการข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๑) วิธีที่ ๑ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A ขึ้นไป ประกอบด้วย
(๑.๑) ผลงานทางวิชาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๑.๑.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๒ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๑.๑.๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย ๒ เรื่อง
(๑.๒) ตำราหรือหนังสืออย่างน้อย ๒ เล่ม
ผลงานทางวิชาการตาม (๑.๑.๑) และ (๑.๑.๒) อย่างน้อย ๒ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เล่ม ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
(๒) วิธีที่ ๒ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A+ ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(๒.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๒.๒) งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือวารสารทางวิชาการระดับชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย ๓ เรื่อง
(๒.๓) ตำราหรือหนังสืออย่างน้อย ๓ เล่ม
ผลงานทางวิชาการตาม (๒.๑) และ (๒.๒) อย่างน้อย ๓ เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ สำหรับตำราหรือหนังสือตาม (๒.๓) ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก
ข้อ ๓๓ ผลงานทางวิชาการทุกประเภทต้องเป็นผลงานหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรง
ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เว้นแต่กรณีที่ใช้ผลงานทางวิชาการก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ ผลงานนั้นต้องได้รับการเผยแพร่ไม่เกิน ๕ ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ และนำมาใช้ได้ไม่เกินจำนวน ๑ ใน ๓ ของผลงานที่นำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่ง โดยมีผลการประเมินคุณภาพของผลงานใหม่หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ที่ผ่านเกณฑ์ จำนวนอย่างน้อย ๒ เรื่องด้วย
ข้อ ๓๔ กรณีผู้ขอเสนอผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งเป็นผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคมที่มีเนื้อหาสาระและรูปแบบที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ดำเนินการคนละพื้นที่ หากเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ขยายผลเชิงพื้นที่จากพื้นที่เดียวไปสู่หลายพื้นที่ให้ครอบคลุมกว้างขึ้น โดยมีตัวแปรที่แตกต่างกันก่อให้เกิดกลไกใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และมีการพัฒนาต่อยอด ซึ่งต้องไม่ใช่งานเดียวกันและซ้ำซ้อนกันผู้ขออาจสามารถนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้โดยอนุโลม
ข้อ ๓๕ นอกจากการขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ตามวิธีที่ ๑ และวิธีที่ ๒ ตามข้อ ๓๑ หรือข้อ ๓๒ ผู้ขออาจเสนอขอตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีที่ ๓ ได้ ในกรณีผู้ขอมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมากและได้รับการอ้างอิงอย่างสูงในฐานข้อมูล Scopus เป็นผู้มีค่า life-time h-index สูง ตลอดจนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเห็นว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ ให้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
(๑) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการ ดังนี้
(๑.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Quartile 1 และ Quartile 2 ของ Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ โดยผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และ
(๑.๒) มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงในฐานข้อมูล Scopus โดยรวม (life-time citation)
อย่างน้อย ๑,๐๐๐ รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง และ
(๑.๓) มีค่า life-time h-index (Scopus) ไม่น้อยกว่า ๑๘ และ
(๑.๔) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างน้อย ๑๐ โครงการ (life-time)
(๒) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ต้องมีคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการ ดังนี้
(๒.๑) งานวิจัยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ โดยผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรกหรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ และ
(๒.๒) มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงในฐานข้อมูล Scopus โดยรวม (life-time citation)
อย่างน้อย ๕๐๐ รายการ เว้นแต่สาขาวิชาทางเศรษฐศาสตร์ ต้องมีอย่างน้อย ๒๐๐ รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง และ
(๒.๓) มีค่า life-time h-index (Scopus) ไม่น้อยกว่า ๘ และ
(๒.๔) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างน้อย
๑๐ โครงการ (life-time)
หมวด ๕
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยทั่วไปวิธีพิเศษ
ข้อ ๓๖ การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีพิเศษ อาจทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่ครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้สำหรับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงขึ้น
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเสนอขอกำหนดตำแหน่งข้ามระดับตำแหน่ง
ทางวิชาการ
(๓) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในสาขาวิชา
ที่แตกต่างจากสาขาวิชาที่ดำรงตำแหน่งอยู่
ข้อ ๓๗ การขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยวิธีพิเศษ อาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เสนอผลงานทางวิชาการและให้ดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยวิธีปกติ โดยผลงานทางวิชาการต้องมีคุณภาพระดับ B และบทความทางวิชาการ
ต้องมีคุณภาพระดับ A
(๒) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนอย่างน้อย ๓ คน พิจารณาผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยการตัดสินเกณฑ์ผ่านต้องได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
ข้อ ๓๘ การขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ โดยวิธีพิเศษ อาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เสนอผลงานทางวิชาการและให้ดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการแต่งตั้งตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ วิธีที่ ๑ โดยผลงานทางวิชาการต้องมีคุณภาพระดับ A
(๒) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนอย่างน้อย ๓ คน พิจารณาผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยการตัดสินเกณฑ์ผ่านต้องได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
ข้อ ๓๙ การขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยวิธีพิเศษ อาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เสนอผลงานทางวิชาการและให้ดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ วิธีที่ ๑ โดยผลงานทางวิชาการต้องมีคุณภาพระดับ A+
(๒) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนอย่างน้อย ๓ คน พิจารณาผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยการตัดสินเกณฑ์ผ่านต้องได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
หมวด ๖
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิธีการประเมินผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๔๐ ในการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแต่งตั้ง มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(๑) ประธานกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๓ ถึง ๕ คน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ. หรือสภามหาวิทยาลัยกำหนด โดยต้องไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานในสังกัดของมหาวิทยาลัย เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการไม่สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ. หรือสภามหาวิทยาลัยกำหนดได้ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
(๑) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในสังกัดมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกบัญชีหรือ
ในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ. กำหนด
(๒) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ. หรือสภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๔๑ กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้ อาจจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ในกรณีการพิจารณาผลงานทางวิชาการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ที่มีผลการประเมินเป็นเอกฉันท์ว่า คุณภาพของผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอยู่ในเกณฑ์หรือไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ข้อบังคับกำหนด อาจไม่เรียกประชุมก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ในกรณีการพิจารณาผลงานทางวิชาการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่มีผลการประเมินเป็นเสียงข้างมากว่า คุณภาพของผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอยู่ในเกณฑ์หรือไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ข้อบังคับกำหนด อาจไม่เรียกประชุมก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
เกณฑ์การตัดสิน ผลงานทางวิชาการต้องมีปริมาณและคุณภาพที่แสดงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
ในสาขาวิชานั้น การตัดสินของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
ข้อ ๔๒ ในกรณีที่การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในสาขาวิชาเดียวกันและในระดับตำแหน่งเดียวกันหรือระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ได้เคยขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมาแล้ว หากมีการนำผลงานทางวิชาการเดิมที่เคยเสนอเพี่อพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการมาก่อน มาเสนอขอกำหนดตำแหน่ง
ทางวิชาการอีกครั้งหนึ่ง ผู้ขอจะต้องดำเนินการภายในห้าปีนับตั้งแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยมีมติกำหนด
หรือไม่กำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยผู้ขอคนเดิมหรือผู้ขอคนใหม่ ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ใช้ผลการพิจารณาผลงานทางวิชาการเดิมแต่ละเรื่องที่ผ่านการพิจารณามาแล้วนั้น โดยไม่ต้องพิจารณาผลงานทางวิชาการนั้นใหม่อีก เว้นแต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เห็นว่าผลงานทางวิชาการเดิมที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์นั้นเป็นผลงานที่ล้าสมัยหรือมีเหตุสมควรอื่นที่จะไม่ใช้ผลการพิจารณานั้นอีกต่อไป ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ต้องระบุเหตุผลทางวิชาการโดยชัดแจ้งด้วย
ในกรณีที่ผลงานทางวิชาการเดิมมีคุณภาพไม่อยู่ในเกณฑ์ หากมีข้อพิสูจน์ภายหลังว่า ผลงานนั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือถูกอ้างอิงอย่างแพร่หลาย หรือในกรณีผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคมหากพิสูจน์ภายหลังได้ว่า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดหรือก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน สังคม องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรภาคเอกชนได้ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ระดับจังหวัด หรือประเทศ ผู้ขอสามารถนำผลงานทางวิชาการนั้นมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในครั้งใหม่ได้
โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จะต้องพิจารณาผลงานทางวิชาการนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
หมวด ๗
วิธีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๔๓ แบบคำขอกำหนดตำแหน่ง วิธีการ และขั้นตอนในการยื่นคำขอกำหนดตำแหน่ง
ทางวิชาการ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๔ แบบแสดงหลักฐานการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ ลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ คำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ลักษณะการเผยแพร่ และคุณภาพของผลงานทางวิชาการ ให้เป็นไปตามเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เว้นแต่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๔๕ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งผลงานวิจัยหรือบทความทางวิชาการที่ยังมิได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ แต่มีคำรับรองจากบรรณาธิการวารสารทางวิชาการว่าจะมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัย
หรือบทความทางวิชาการนั้นในฉบับใดและในเวลาใด ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับหลักฐานว่าผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการฉบับนั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว
(๓) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงาน
ทางวิชาการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง
ทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม
(๔) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือ ตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๕) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต่อฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม
หรือปฏิบัติการวิจัย ลาติดตามคู่สมรสไปต่างประเทศ หรือลาคลอด ให้แต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๕.๑) กรณีที่ไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำรา
หรือหนังสือ ตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๕.๒) กรณีมีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและก่อนวันที่ได้รับอนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมนั้น
(๕.๓) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วก่อนวันที่ได้รับอนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๕.๔) กรณีต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วในระหว่างการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน
(๕.๕) กรณีต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วในวันหรือหลังวันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่
ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๖) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต่อฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยสาเหตุตาย เกษียณอายุ หรือลาออก ให้แต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๖.๑) กรณีที่ไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือ ตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๖.๒) กรณีมีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและก่อนวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่
ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมนั้น
(๖.๓) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณา
ตำแหน่งทางวิชาการแล้วก่อนวันที่พ้นสภาพ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
หมวด ๘
การแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน
ข้อ ๔๖ นอกจากการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป ตามหมวด ๔ แล้ว
ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอาจเสนอผลงานทางวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน ตามประกาศ ก.พ.อ. ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เว้นแต่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
หมวด ๙
การขอทบทวนผลการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๔๗ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อาจมีหนังสือชี้แจงเหตุผลทางวิชาการเพื่อขอให้มีการทบทวนผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
ข้อ ๔๘ ในกรณีที่มีการขอให้ทบทวนผลการพิจารณาตามข้อ ๔๗ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) การทบทวนผลการพิจารณาครั้งที่หนึ่ง
(๑.๑) ในกรณีที่เห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลทางวิชาการ จะมีมติไม่รับพิจารณาก็ได้ และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการผู้นั้นทราบ
(๑.๒) ในกรณีที่เห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งมีเหตุผลทางวิชาการ ให้มีมติรับไว้พิจารณา โดยมอบให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมพิจารณาคำชี้แจงข้อโต้แย้งนั้น
(๒) การทบทวนผลการพิจารณาครั้งที่สอง
(๒.๑) ในกรณีที่เห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลทางวิชาการหรือมิได้ชี้แจงข้อโต้แย้งโดยมีเหตุผลเพิ่มเติมจากครั้งที่หนึ่ง จะมีมติไม่รับพิจารณาก็ได้ และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการผู้นั้นทราบ
(๒.๒) ในกรณีที่เห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งมีเหตุผลทางวิชาการและได้ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมจากการทบทวนครั้งที่หนึ่ง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมจากที่แต่งตั้งไว้เดิม จำนวน ๒ ถึง ๓ คน
เพื่อพิจารณาคำชี้แจงข้อโต้แย้งและผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๔๙ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาเฉพาะคำชี้แจงข้อโต้แย้งของผลงานทางวิชาการที่ยื่นไว้เดิมทุกประเภทที่คุณภาพไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีผลงานทางวิชาการใหม่เพิ่มเติมหรือมีการแก้ไขผลงานเดิม กรณีนี้จะต้องดำเนินการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการใหม่ และให้ถือว่าวันที่ยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมหรือวันที่ยื่นขอแก้ไขผลงานเดิมเป็นวันเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการใหม่
หมวด ๑๐
การลงโทษและการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๕๐ ในระหว่างการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำผู้ใด
หากปรากฏต่อมาว่ามีข้อร้องเรียนว่าผลงานทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) พักการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของผู้นั้นไว้ก่อน และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผลงานทางวิชาการมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ หรือไม่
(๒) เมื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ ปรากฏว่า ผลงานทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ ให้เสนอ
สภามหาวิทยาลัยพิจารณามีมติให้ยุติการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของผู้นั้น และห้ามมิให้ผู้นั้น
ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยมีมติ
ในกรณีที่มีการดำเนินการทางวินัย และผลการดำเนินการทางวินัยปรากฏว่า ผลงานทางวิชาการ
ที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการอาจถือเอาผลการดำเนินการทางวินัยมาประกอบการดำเนินการตาม (๒) โดยไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งก็ได้
ข้อ ๕๑ หากปรากฏภายหลังจากการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการว่าผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางวิชาการผู้นั้น ได้จัดทำผลงานทางวิชาการที่นำมาเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ โดยมีการประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๕ ให้สภามหาวิทยาลัยมีมติถอดถอนตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ สำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาเสนอความเห็นต่อ ก.พ.อ. เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอน และดำเนินการทางวินัยตามข้อเท็จจริงและความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดเป็นรายกรณี และห้ามมิให้ผู้นั้นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนหรือนับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอน
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๕๒ การดำเนินการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การลงโทษ และการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้กับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นต่อไปจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ข้อ ๕๓ กรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นผลงานทางวิชาการไว้ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้เทียบเกณฑ์คุณภาพของผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
(๑) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ ดี เทียบเท่าคุณภาพระดับ B
(๒) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ ดีมาก เทียบเท่าคุณภาพระดับ A
(๓) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ ดีเด่น เทียบเท่าคุณภาพระดับ A+
ข้อ ๕๔ กรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นผลงานทางวิชาการไว้ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์
และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้เทียบเกณฑ์คุณภาพของผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่ง
ทางวิชาการ ดังนี้
(๑) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ B หรือ B+ เทียบเท่าคุณภาพระดับ B
(๒) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A เทียบเท่าคุณภาพระดับ A
(๓) ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับ A+ เทียบเท่าคุณภาพระดับ A+
ประกาศ ณ วันที่ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย