ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ
และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๖
………………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๐ วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย
การบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและระดับเชี่ยวชาญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“ส่วนงาน” หมายความว่า สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงานตรวจสอบภายใน
สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย
สถาบัน หรือส่วนงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน คณะ วิทยาลัย หรือสถาบัน
แต่ไม่รวมถึงสำนักงานเลขานุการ
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
และให้หมายความรวมถึงรองอธิการบดีซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลส่วนงานระดับกอง
ข้อ ๔ การกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ให้ส่วนงานทำหน้าที่ประเมินค่างานเพื่อกำหนดกรอบของตำแหน่งที่เสนอขอกำหนดระดับตำแหน่ง โดยจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่เสนอขอกำหนดระดับตำแหน่ง ได้แก่ ชื่อตำแหน่ง อัตราเลขที่ ระดับตำแหน่ง ประเภทตำแหน่ง สังกัด หน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่ง วิเคราะห์เปรียบเทียบคุณภาพ และความยุ่งยากและซับซ้อนของงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงานและคณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยพิจารณา
ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงานที่หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) หัวหน้าส่วนงานของตำแหน่งที่เสนอขอประเมินค่างาน เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดี หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
ซึ่งรับผิดชอบงานด้านตำแหน่งที่ประเมินค่างาน เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์หรือระดับเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวนสองราย
เป็นกรรมการ
(๔) ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า เป็นกรรมการ
ให้หัวหน้างานซึ่งรับผิดชอบงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ของส่วนงานเป็นเลขานุการ
และหัวหน้างานของตำแหน่งที่เสนอขอประเมินค่างานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นหรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทำให้ไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ ให้หัวหน้าส่วนงานชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบแตกต่างจากองค์ประกอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้
ข้อ ๖ คณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงาน มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณาตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่จะขอกำหนดระดับตำแหน่ง
ได้แก่ ชื่อตำแหน่ง อัตราเลขที่ ระดับตำแหน่ง ประเภทตำแหน่ง สังกัด หน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่ง
(๒) พิจารณาประเมิน วิเคราะห์ เปรียบเทียบคุณภาพ ความยุ่งยากและความซับซ้อนของงาน
ข้อ ๗ ให้มีคณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคล เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคล เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) กรรมการซึ่งแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสายสังคมศาสตร์ จำนวนหนึ่งคน
(๔) กรรมการซึ่งแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จำนวนหนึ่งคน
(๕) กรรมการซึ่งแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวนหนึ่งคน
(๖) ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้หัวหน้างานซึ่งรับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคลของกองทรัพยากรมนุษย์คนหนึ่ง
เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการตาม (๓) (๔) และ (๕) ต้องดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์หรือระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ข้อ ๘ คณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยตามข้อ ๗
มีอำนาจและหน้าที่พิจารณากลั่นกรองประเมินค่างานของตำแหน่งที่เสนอขอกำหนดระดับตำแหน่ง
ข้อ ๙ คณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงานให้ทำหน้าที่ประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ หากผ่านการประเมินให้นำผลการประเมินเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา พร้อมแจ้งผล
การประเมินให้ส่วนงานทราบ และหากไม่ผ่านการประเมินให้คณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงานแจ้งผลการประเมินให้ส่วนงานทราบ
คณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยให้ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษที่ได้ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงาน หากผ่านการประเมินให้นำผลการประเมินเสนอต่อ
คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อให้ความเห็นชอบ และหากไม่ผ่านการประเมินให้คณะอนุกรรมการบริหารบุคคลด้านการประเมินค่างานระดับมหาวิทยาลัยแจ้งผลการประเมินให้ส่วนงานทราบ
ข้อ ๑๐ การประเมินค่างานเพื่อกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญและระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
ให้มีองค์ประกอบการประเมินค่างาน ๓ ด้าน ซึ่งมีคะแนนการประเมินรวมทั้งหมด ๓๐๐ คะแนน ดังนี้
(๑) ด้านความรู้และทักษะที่จำเป็นในงาน ๘๐ คะแนน ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย ดังนี้
(๑.๑) ความรู้และความชำนาญงาน
(๑.๒) การบริหารจัดการ
(๑.๓) การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์
(๒) ด้านความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา ๘๐ คะแนน ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย ดังนี้
(๒.๑) กรอบแนวความคิดในการแก้ปัญหา
(๒.๒) อิสระในการคิด
(๒.๓) ความท้าทายในงาน
(๓) ด้านภาระงานที่รับผิดชอบ ๑๔๐ คะแนน ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย ดังนี้
(๓.๑) การวิเคราะห์ข้อมูล
(๓.๒) อิสระในการปฏิบัติงาน
(๓.๓) ผลกระทบจากการปฏิบัติงาน
(๓.๔) ลักษณะงานที่ปฏิบัติของตำแหน่ง
คณะกรรมการประเมินค่างานระดับส่วนงานให้พิจารณารายละเอียดการประเมินและการให้คะแนนของแต่ละองค์ประกอบตามแบบประเมินค่างานแนบท้ายประกาศ
ข้อ ๑๑ การขอกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ ต้องได้คะแนนรวมตามข้อ ๑๐ ไม่น้อยกว่า
๑๗๐ คะแนน
การขอกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องได้คะแนนรวมตามข้อ ๑๐ ไม่น้อยกว่า
๒๓๕ คะแนน
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี