ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนสถานภาพจากนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ
เป็นนักวิจัย สายวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๕
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์
และวิธีการเปลี่ยนสถานภาพจากนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เป็นนักวิจัย สายวิชาการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๕/๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล
พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๔
เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนสถานภาพจากนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เป็นนักวิจัย สายวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
“นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ประเภทนักวิจัย ทั้งที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ของส่วนงาน
“นักวิจัย สายวิชาการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย ทั้งที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ของส่วนงาน
“ผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพ” หมายความว่า นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ
ซึ่งแสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ
“คณะกรรมการประเมิน” หมายความว่า คณะกรรมการประเมินความรู้ความสามารถ
และผลงานทางวิชาการของนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ
“คณะกรรมการกลั่นกรอง” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการเปลี่ยนสถานภาพนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เป็นนักวิจัย สายวิชาการ
ข้อ ๔ การเทียบเคียงตำแหน่งทางวิชาการของนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นนักวิจัย สายวิชาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ให้เปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย ระดับปฏิบัติการ
(๒) นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ
ให้เปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย ระดับชำนาญการ
ข้อ ๕ การเปลี่ยนสถานภาพจากนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เป็นนักวิจัย สายวิชาการ ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ
นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ เมื่อแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพแล้วจะถอนการแสดงเจตนาไม่ได้
ข้อ ๖ นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย
สายวิชาการ ต้องมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ และผลงานทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท
(๑.๒) ผ่านการประเมินทดลองการปฏิบัติงานแล้ว
(๑.๓) เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ
(๑.๔) มีผลการทดสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาและการบรรจุแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ
(๒) การประเมินความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการประเมิน
ของส่วนงานกำหนด
(๓) ผลงานทางวิชาการที่นำมาใช้ในการขอประเมินเพื่อเปลี่ยนสถานภาพต้องประกอบด้วยผลงานที่มีคุณภาพและมีปริมาณ ดังต่อไปนี้
(๓.๑) นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ต้องเสนอผลงานวิจัย
อย่างน้อยหนึ่งรายการ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าระดับดี
(๓.๒) นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ
ต้องเสนอผลงานทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๓.๑.๑) ผลงานวิจัย อย่างน้อยสองรายการ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าระดับดี หรือ
(๓.๑.๒) ผลงานวิจัย อย่างน้อยหนึ่งรายการ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าระดับดี และ
(๓.๑.๒.๑) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการ
รับใช้สังคม อย่างน้อยหนึ่งรายการที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าระดับดี หรือ
(๓.๑.๒.๒) บทความทางวิชาการอย่างน้อยหนึ่งรายการที่มีคุณภาพ
ไม่ต่ำกว่าระดับดีมาก
(๔) ผลงานทางวิชาการที่นำมาใช้ในการขอประเมินเพื่อเปลี่ยนสถานภาพตาม (๓) ต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๔.๑) เป็นผลงานทางวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการศึกษา
เพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใด ๆ ของผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพ
(๔.๒) เป็นผลงานทางวิชาการเดียวกันหรือซ้ำกับผลงานทางวิชาการซึ่งได้ใช้ในการขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นของผู้นั้นมาแล้ว
(๔.๓) เป็นผลงานทางวิชาการที่จัดทำขึ้นโดยผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณ
ทางวิชาการ
คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพผลงานทางวิชาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ ลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการ และลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ โดยอนุโลม
ข้อ ๗ นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งประสงค์เปลี่ยนสถานภาพให้แจ้งความประสงค์
ตามแบบแสดงเจตนาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยยื่นแบบแสดงเจตนาต่อส่วนงานต้นสังกัดภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งประสงค์เปลี่ยนสถานภาพผู้ใดอยู่ระหว่างลาศึกษา
ในระดับปริญญาเอก ฝึกอบรมดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ให้แจ้งความประสงค์ตามแบบแสดงเจตนา
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยยื่นแบบแสดงเจตนาต่อส่วนงานต้นสังกัดภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่
กลับเข้าปฏิบัติงาน
นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งได้แจ้งความประสงค์เปลี่ยนสถานภาพตามวรรคหนึ่ง
และวรรคสองแล้ว ให้ยื่นแบบขอรับการประเมินการเปลี่ยนสถานภาพตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดต่อส่วนงาน
ต้นสังกัดภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับหรือวันที่กลับเข้าปฏิบัติงาน แล้วแต่กรณี
ในระหว่างระยะเวลายื่นแบบแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และยื่นแบบขอรับ
การประเมินการเปลี่ยนสถานภาพตามวรรคสาม ให้นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ผู้นั้นยังคงดำรงตำแหน่งนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ และปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของนักวิจัย
สายสนับสนุนวิชาการ
ข้อ ๘ ให้ส่วนงานจัดให้มีคณะกรรมการประเมิน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนงาน
เป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งหัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งจากคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับผลงานของผู้ขอรับการประเมิน จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินสี่คน
และให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานของส่วนงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ให้คณะกรรมการประเมินมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินความรู้ความสามารถของผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่
ผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพยื่นแบบขอรับการประเมินเปลี่ยนสถานภาพ
ข้อ ๙ การประเมินผลงานทางวิชาการ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) การประเมินผลงานทางวิชาการของนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
ให้คณะกรรมการประเมินตรวจสอบและประเมินผลงานทางวิชาการให้เป็นไปตามเกณฑ์ในข้อ ๖ (๓) (๓.๑)
และข้อ ๖ (๔)
(๒) การประเมินผลงานวิชาการของนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ระดับชำนาญการ
และระดับชำนาญการพิเศษ ให้คณะกรรมการประเมินตรวจสอบผลงานทางวิชาการให้เป็นไปตามเกณฑ์
ในข้อ ๖ (๓) (๓.๒) และข้อ ๖ (๔) และให้ส่งผลงานทางวิชาการไปยังงานพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
เพื่อประเมินคุณภาพ
ให้นำประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๐ เมื่อคณะกรรมการประเมินตามข้อ ๘ ตรวจสอบคุณสมบัติ ประเมินความรู้ความสามารถและประเมินผลงานทางวิชาการ หรือได้รับผลการประเมินผลงานทางวิชาการแล้วเห็นว่า
ผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถและผลงานทางวิชาการ เป็นไปตามข้อ ๖
ให้หัวหน้าส่วนงานจัดส่งผลการตรวจสอบและการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพที่ผ่านการประเมินนำเสนออธิการบดีพิจารณาโดยผ่านความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรอง
ข้อ ๑๑ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีซึ่งกำกับดูแลงานด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีซึ่งกำกับดูแลงานด้านวิจัยหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๓) ผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งกำกับดูแลงานด้านพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการหรือผู้แทน
เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนคณาจารย์ประจำของส่วนงานในกลุ่มสาขาวิชาซึ่งอธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์ สรรหา การบรรจุและแต่งตั้ง
พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำและนักวิจัย จำนวนอย่างน้อยกลุ่มสาขาวิชาละหนึ่งคน แต่รวมแล้วไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ
(๕) ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในกรณีที่เห็นสมควรอธิการบดีอาจพิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ปฏิบัติงานในกองทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ให้คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองการเปลี่ยนสถานภาพนักวิจัย และเสนอรายงานความเห็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนสถานภาพ
ข้อ ๑๒ ให้ส่วนงานจัดทำสัญญาการปฏิบัติงานกับผู้ซึ่งได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพตามข้อ ๔ เป็นสัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยตามกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
ให้เริ่มทำสัญญาการปฎิบัติงาน ระยะที่สอง นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นต้นไป
(๒) ผู้ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ ระดับชำนาญการ
ให้เริ่มทำสัญญาการปฎิบัติงานระยะที่สาม นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นต้นไป
ข้อ ๑๓ ให้ผู้ซึ่งได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง
ตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ
และค่าตอบแทนทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพ
ข้อ ๑๔ ให้นับระยะเวลาการทำงานของนักวิจัย สายวิชาการ ซึ่งเปลี่ยนสถานภาพต่อเนื่องจากระยะเวลาการทำงานในตำแหน่งนักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ
ข้อ ๑๕ นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งไม่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพ หรือไม่ได้ยื่นแบบแสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพ หรือไม่ได้ยื่นแบบขอรับการประเมินการเปลี่ยนสถานภาพ ภายในระยะเวลา
ที่กำหนด หรือไม่ผ่านการประเมินเพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ ให้ส่วนงานพิจารณามอบหมายภาระงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและดำเนินการขอเปลี่ยนตำแหน่ง
เป็นตำแหน่งนักบริหารงานวิจัย โดยมีภาระงานตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคคลกำหนด
ในกรณีที่ส่วนงานเห็นสมควรให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่นเพื่อให้ตรงกับภาระงานที่ได้มอบหมาย
ให้ส่วนงานเสนอเรื่องขออนุมัติต่ออธิการบดีเป็นรายกรณีไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี