ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. ๒๕๖๐
…………………………………………………..
โดยที่เห็นเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้สมควรที่จะได้รับการพิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๐
เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี
พ.ศ. ๒๕๖๐”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
(๓) นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานสภาอาจารย์ ประธาน
สภาพนักงานมหาวิทยาลัย และนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ
(๔) กรรมการจำนวนสองคนจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีที่ได้รับการเลือกโดยที่ประชุมคณบดี
(๕) กรรมการจำนวนหนึ่งคนจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
ที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานที่มีหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศที่ได้รับการเลือกโดยที่ประชุมของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น
(๖) กรรมการจำนวนสองคนจากคณาจารย์ประจำซึ่งได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยมาแล้ว
ไม่น้อยกว่าสามปีและได้รับการเลือกตั้งโดยพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ และข้าราชการที่เป็น
คณาจารย์ประจำ
(๗) กรรมการจำนวนหนึ่งคนที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการผู้ซึ่งได้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีและได้รับการเลือกตั้งโดยพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการและข้าราชการที่มิใช่คณาจารย์ประจำ
ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตาม (๑) หรือ (๒) พ้นจากตำแหน่งของ
การเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแล้วแต่กรณีต่อไปจนกว่าการดำเนินการสรรหาอธิการบดีจะแล้วเสร็จ
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการตาม (๓) หรือมีแต่พ้นจากการดำรงตำแหน่งและยังมิได้มีการแต่งตั้ง
ผู้ดำรงตำแหน่งแทน ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
ในกรณีที่กรรมการผู้ใดเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยและพ้นจากความเป็นบุคลากร
ไม่ว่าโดยเหตุใด ให้กรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งกรรมการสรรหาอธิการบดี และให้คณะกรรมการ
สรรหาอธิการบดีประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
กรรมการตาม (๔) ให้มีสายสังคมศาสตร์ และสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายละหนึ่งคน คณะหรือวิทยาลัยใดจะอยู่ในสายใดให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณบดี
กรรมการตาม (๖) มีได้ส่วนงานละไม่เกินหนึ่งคน และต้องไม่อยู่ในสังกัดของส่วนงานเดียวกันกับประธานสภาอาจารย์
กรรมการตาม (๗) ต้องไม่อยู่ในสังกัดเดียวกันกับประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๖) หรือ (๗) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิธีการ
ได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๖) หรือ (๗) มาใช้กับการเลือกตั้งกรรมการตามข้อ ๔ (๖)
หรือ (๗) โดยอนุโลม
ข้อ ๖ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีต้องถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
(๑) ไม่มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี
(๒) ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีของอธิการบดีที่ตนสรรหา
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคล
ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๗ ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
อำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ กำหนดการ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ
การสรรหาอธิการบดี เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
(๒) จัดให้มีการเปิดรับสมัคร การเสนอชื่อ การคัดสรร เฟ้นหา หรือดำเนินการอื่นเพื่อแสวงหาผู้ที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะเหมาะสม
(๓) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา
และศิษย์เก่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือการบริหารมหาวิทยาลัย ในการนี้อาจให้ผู้สมัครเข้ารับ
การสรรหาหรือผู้ที่ได้ตอบรับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ
แนวทางการดำเนินงานหรือการบริหารมหาวิทยาลัย
(๔) กลั่นกรอง คัดเลือก และทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติ วิสัยทัศน์ ศักยภาพ ความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนามหาวิทยาลัยตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ยอมรับจากสังคม
ข้อ ๘ ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีให้ประธานกรรมการเป็นประธาน
ที่ประชุมและมีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ประชุม
ข้อ ๙ ให้นำความในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการประชุมและวิธีการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย ในส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมสภามหาวิทยาลัยมาใช้บังคับการประชุมของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีโดยอนุโลม
หมวด ๒
การดำเนินการสรรหา
ข้อ ๑๐ เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีใกล้ครบกำหนด โดยเหลือเวลาไม่น้อยกว่า หนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยดำเนินการจัดให้มีการเลือกกรรมการตามข้อ ๔ (๔)
และ (๕) และเลือกตั้งกรรมการตามข้อ ๔ (๖) และ (๗) เสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามข้อ ๔
ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีดำเนินการสรรหาอธิการบดีให้แล้วเสร็จภายใน
หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยหรือประธานคณะกรรมการสรรหารายงานปัญหาอุปสรรค ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ขยายเวลาการดำเนินการสรรหาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีดำเนินการสรรหาตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(ก) ขั้นตอนการรับสมัครและการเสนอชื่อ
(๑) จัดให้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหา
(๒) กำหนดให้ส่วนงานจัดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาของส่วนงานเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
หลักเกณฑ์วิธีการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี ตาม (๑) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอชื่อตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง อธิการบดี ตาม (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีกำหนดโดยทำเป็นประกาศ คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
(ข) ขั้นตอนการสรรหาและกระบวนการพิจารณา
(๑) ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีคัดเลือกและกลั่นกรองตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีกำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีอาจจัดให้มีการหาข้อมูลจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้
(๒) ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีพิจารณาดำเนินการทาบทามผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้จำนวนไม่เกินห้าคน และพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหา
(๓) ให้ผู้ตอบรับการทาบทามหรือผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่ผ่านการคัดเลือกตาม (๒) จัดทำแนวทางการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำออกเผยแพร่ต่อผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานที่ผู้ตอบรับการทาบทามหรือผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจัดทำขึ้นนั้นต้องสอดคลองกับเป้าหมาย นโยบาย
และแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยของสภามหาวิทยาลัย
(๔) ให้ผู้ตอบรับการทาบทามและผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่ผ่านการคัดเลือกตาม (๒) แล้ว แถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเข้าฟังการแถลงได้ด้วย ในการนี้ คณะกรรมการ
สรรหาอธิการบดีอาจทำการสัมภาษณ์ผู้ตอบรับการทาบทามและผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่ผ่านการคัดเลือกตาม (๒) ด้วยก็ได้
(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีพิจารณาเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติและคุณลักษณะเหมาะสมเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจำนวนไม่เกินสองชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา เว้นแต่ในกรณี ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีพิจารณาลงมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์จะเสนอชื่อเพียงชื่อเดียวก็ได้
(๖) ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อตาม (๕) เรียงตามลำดับตัวอักษร พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ คุณลักษณะ ตลอดจนแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่จะระบุคะแนน จำนวนความถี่ หรือผลการสรรหาทั้งในขั้นตอน
การเสนอชื่อของส่วนงานและของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมิได้
(๗) คณะกรรมการสรรหาต้องจัดทำรายงานแสดงขั้นตอนและผลของการดำเนินการ
สรรหาพร้อมข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้จากการดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัย นักศึกษา หรือศิษย์เก่า เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
หมวด ๓
การสรรหาอธิการบดีในกรณีที่อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่ง
ตามวาระ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อธิการบดี
พ้นจากตำแหน่ง
ให้นำความในหมวด ๑ ข้อ ๔ ถึงข้อ ๙ และหมวด ๒ ข้อ ๑๐ มาใช้กับการสรรหาอธิการบดีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามวรรคหนึ่งดำเนินการสรรหาอธิการบดีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา
หมวด ๔
การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ การออกเสียงลงมติของสภามหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้ ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติอีกครั้งโดยในการลงมติครั้งนี้ ให้ใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม
ในการลงมติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยออกเสียงชี้ขาด