ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร พ.ศ.๒๕๖๑
……………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๖๑
เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ จึงเห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ ๒ ในข้อบังคับนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
“ผู้บริหาร” หมายความว่า อธิการบดี หรือคณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
ข้อ ๓ ให้สภามหาวิทยาลัยประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารตามกำหนดเวลา ดังนี้
(๑) อธิการบดี เมื่อดำรงตำแหน่งครบทุกหนึ่งปีครึ่ง
(๒) คณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เมื่อดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีครึ่ง
ข้อ ๔ ให้ผู้บริหารจัดทำเป้าหมายและแผนการปฏิบัติงานเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาหลังจากสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานนั้นภายในเวลาเก้าสิบวัน โดยเป้าหมาย
และแผนการปฏิบัติงานนั้น จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและแผนของมหาวิทยาลัย โดยต้องประกอบด้วยเป้าหมาย ๕ ด้าน ดังต่อไปนี้
(๑) ด้านการสร้างบัณฑิตที่สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
(๒) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน
(๓) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย
(๔) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ
(๕) ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน
ข้อ ๕ ก่อนครบกำหนดเวลาตามข้อ ๓ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการ สำหรับผู้บริหารที่จะดำรงตำแหน่งบริหารครบกำหนดเวลาตามองค์ประกอบ ดังนี้
(๑) อธิการบดี
(ก) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งคน ประธานกรรมการ
(ข) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ สองคน กรรมการ
(ค) ประธานสภาอาจารย์ หรือผู้แทน กรรมการ
(ง) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย หรือผู้แทน กรรมการ
(จ) เลขานุการสภามหาวิทยาลัย หรือผู้แทน กรรมการและเลขานุการ
(ฉ) ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ผู้ช่วยเลขานุการ
(ช) ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย หนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการ
(๒) คณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
(ก) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งคน ประธานกรรมการ
(ข) คณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการ กรรมการ
สำนัก หรือผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานอื่น
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งมิใช่
ผู้ถูกประเมินผลการปฏิบัติงาน หนึ่งคน
(ค) ประธานสภาอาจารย์ หรือผู้แทน กรรมการ
(ง) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย หรือผู้แทน กรรมการ
(จ) เลขานุการสภามหาวิทยาลัย หรือผู้แทน กรรมการและเลขานุการ
(ฉ) ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ผู้ช่วยเลขานุการ
(ช) ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย หนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๖ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกําหนดเวลาตามข้อ ๓ ให้ผู้บริหารจัดทํารายงานประเมิน
ผลการปฏิบัติงาน ทั้งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว ที่กําลังปฏิบัติอยู่ และที่ยังมิได้ปฏิบัติ พร้อมเอกสารอ้างอิง
เสนอต่อคณะกรรมการ โดยจะต้องคํานึงถึงความสอดคล้องในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) เป้าหมายและแผนปฏิบัติงานตามที่ได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไว้ตามข้อ ๔
(๒) นโยบายและแนวทางการบริหารที่ได้แถลงไว้ต่อประชาคมในกระบวนการสรรหา
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารผู้ถูกประเมิน ในประเด็นดังต่อไปนี้
(๑) เป้าหมายและแผนการปฏิบัติงานที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไว้
ตามข้อ ๔
(๒) นโยบายและแนวทางการบริหารที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินได้แถลงไว้ต่อประชาคม
ในกระบวนการสรรหา
(๓) การปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ดังต่อไปนี้
(๓.๑) ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity)
(๓.๒) การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (Effective)
(๓.๓) การปฏิบัติตามกติกาหรือกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และสิ่งที่ตกลงกัน
ของประชาคม (Following the Rule of Law)
(๓.๔) โปร่งใส – ไม่ปิดบังข้อมูลสาธารณะ (Transparent)
(๓.๕) รับผิดชอบต่อผลงานและตรวจสอบได้ (Accountable)
(๓.๖) ตอบสนองต่อหน้าที่และชี้แจงข้อสงสัย (Responsive)
(๓.๗) สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Participatory)
(๓.๘) นำข้อคิดเห็นหรือปัญหาของทุกฝ่ายมาคำนึงถึง (Inclusive)
(๓.๙) มุ่งไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน เมื่อเกิดความเห็นต่างหรือความขัดแย้ง (Consensus Oriented)
ข้อ ๘ ในการเสนอผลการประเมินต่อสภามหาวิทยาลัย ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประกอบด้วยผลการประเมิน พร้อมด้วยปัญหา อุปสรรคหรือข้อจำกัดอื่นในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร
ผู้ถูกประเมิน รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ในประการที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุงการปฏิบัติงานของผู้บริหาร ผู้ถูกประเมินผู้บริหารอื่น หน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่อไปด้วย
ให้คณะกรรมการส่งสำเนารายงานผลการประเมินตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคล/กลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้บริหารผู้ถูกประเมิน
(๒) คณะกรรมการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารหน่วยงาน
ที่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินดำรงตำแหน่ง แล้วแต่กรณี เพื่อใช้ประกอบการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารหน่วยงานที่ผู้บริหารผู้นั้นดำรงตำแหน่ง แล้วแต่กรณีต่อไป
ข้อ ๙ ให้สภามหาวิทยาลัยประเมินรายงานจากคณะกรรมการพร้อมสรุปความเห็นเพื่อเสนอแนะแก่ผู้บริหารผู้ถูกประเมินเพื่อนำไปประกอบการบริหารงานและการปฏิบัติงานต่อไป
ข้อ ๑๐ เมื่อคณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการศูนย์
หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
หรือดำรงตำแหน่งครบวาระ ๓ ปี ให้จัดทำรายงานการประเมินตนเองเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารที่สภามหาวิทยาลัย
ได้แต่งตั้งไว้แล้ว ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงมีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารตามที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปได้จนแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๒ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยรักษาการตามข้อบังคับนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑