ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑
—————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีนโยบายและเป้าหมายในการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งปริมาณและคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับสูงขึ้นทั้งในระดับชาติ
และระดับนานาชาติ โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อผลิตผลงานวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ
การผลักดันให้มีการรวมกลุ่มการวิจัย การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่และการส่งเสริมเผยแพร่ผลงานวิจัย
ในเวทีสำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
มีความเป็นเอกภาพและมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม
ของมหาวิทยาลัยรองรับนโยบายวิจัยของมหาวิทยาลัยได้อย่างทันสมัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัย
และกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับแต่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดา ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้ว
ในข้อบังคับนี้หรือที่ขัด หรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“กองทุนวิจัย” หมายความว่า กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย หรือสถาบัน
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ
หรือคำสั่งมหาวิทยาลัยเพื่อวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
กองทุนวิจัย
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้ง
ข้อ ๖ ให้จัดตั้งกองทุน เรียกว่า “กองทุนวิจัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน
การทำวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
รองรับการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย รวมทั้งให้มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการหรือจัดให้มีการทำการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์
ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๗
(๒) จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
(๓) จัดสรรเป็นทุนสนับสนุนการทำการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์
(๔) จัดสรรเป็นเงินรางวัลเพื่อส่งเสริมการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์
(๕) จัดสรรเป็นทุนสนับสนุนการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ หรือบทความทางวิชาการ
(๖) จัดสรรเป็นทุนในการนำผลงานไปจดทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการทำการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์
(๗) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดทำหรือบริหารจัดการวารสารทางวิชาการ
ระดับมหาวิทยาลัย
(๘) สนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามข้อบังคับนี้
(๙) พัฒนาศักยภาพด้านการทำงานวิจัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็น
คณาจารย์ประจำ นักวิจัย และตำแหน่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๑๐) สนับสนุนการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐานการทำวิจัย
การดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง กองทุนวิจัยและดำเนินการเอง
หรือร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยในการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัย
กับหน่วยงานภายนอกนั้นก็ได้
ข้อ ๗ กองทุนวิจัยตามข้อ ๖ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๒) เงินและทรัพย์สินที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้นำมาสมทบในกองทุนวิจัย
(๓) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กองทุนวิจัย
(๔) เงินทุนวิจัยที่ได้รับคืนและดอกผล
(๕) เงินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากการดำเนินงานของกองทุนวิจัย
(๖) เงินหรือผลประโยชน์อื่น
ให้มหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนตาม (๑) ให้แก่กองทุนวิจัยไม่น้อยกว่า
ร้อยละสามของงบประมาณดำเนินการของงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗)
ข้อ ๘ เงินของกองทุนวิจัยตามข้อ ๖ ให้นำไปใช้จ่ายเพื่อการดังต่อไปนี้
(๑) จัดสรรเป็นทุนวิจัย
(๒) จัดสรรเป็นรางวัล
(๓) จัดสรรเป็นเงินสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ
(๔) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาและการจัดทำวารสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็คทรอนิกส์เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
(๕) จัดสรรเป็นค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าลงทะเบียน
และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยตามที่ได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
(๖) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ
(๗) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างนักวิจัยหรือผู้ช่วยนักวิจัยหรือผู้ปฏิบัติงานอื่น
เพื่อการบริหารงานวิจัย
(๘) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐานการทำวิจัย
(๙) จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
(๑๐) จัดสรรเป็นทุนวิจัย รางวัล หรือเงินสนับสนุนประเภทอื่นที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
เงินและทรัพย์สินของกองทุนที่มีผู้อุทิศให้ ต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้
แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้ หรือทายาท
หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
ส่วนที่ ๒
การบริหารกองทุนวิจัย
ข้อ ๙ ให้มีคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านการวิจัย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านแผนงาน เป็นกรรมการ
(๔) รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านวิชาการ เป็นกรรมการ
(๕) รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านการคลัง เป็นกรรมการ
(๖) ผู้ช่วยอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านการวิจัย (ถ้ามี) เป็นกรรมการ
(๗) ประธานสภาอาจารย์หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๘) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาละไม่เกิน ๒ คน ที่อธิการบดีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
(๙) ผู้อำนวยการกองบริหารการวิจัย เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการ
กองบริหารการวิจัย อาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของกองบริหารการวิจัยอีกไม่เกิน ๒ คน
ให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้
กรรมการตาม (๘) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
(๒) จัดทำงบประมาณและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนวิจัยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามข้อ ๘
(๓) พิจารณาการจัดตั้ง กำกับดูแล และยุบเลิกศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ
(๔) ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนวิจัย
(๕) ส่งเสริม สนับสนุน ติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
(๖) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยทุกสิ้นปีงบประมาณ
(๗) เสนอให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามวัตถุประสงค์
ของกองทุนวิจัยในข้อ ๖
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัยตามที่สภามหาวิทยาลัย
หรืออธิการบดีมอบหมาย
หมวด ๒
กองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้ง
ข้อ ๑๑ ให้ส่วนงานจัดตั้งกองทุน เรียกว่า “กองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)” มีวัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมของส่วนงาน ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ
และนานาชาติ รวมทั้งให้มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการหรือจัดให้มีการทำวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ของส่วนงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของส่วนงาน
(๒) จัดสรรเป็นทุนสนับสนุนการทำวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ตามที่ส่วนงานกำหนด
(๓) จัดสรรเป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ตามที่ส่วนงานกำหนด
(๔) จัดสรรเป็นทุนสนับสนุนการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ หรือบทความทางวิชาการตามที่ส่วนงานกำหนด
(๕) จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดทำหรือบริหารจัดการวารสารทางวิชาการ
ระดับส่วนงาน
(๖) สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยวิจัยเฉพาะทางหรือศูนย์วิจัยเฉพาะด้าน
ตามความเชี่ยวชาญของส่วนงาน ตามที่ส่วนงานกำหนด
(๗) พัฒนาศักยภาพด้านการทำงานวิจัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็น
คณาจารย์ประจำ นักวิจัย และตำแหน่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๘) สนับสนุนการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐานการทำวิจัย
การดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง กองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
จะดำเนินการเอง หรือร่วมมือกับส่วนงานอื่น มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานภายนอกก็ได้
ข้อ ๑๒ กองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารงานวิจัย
และกองทุนวิจัยกำหนด
(๒) เงินอุดหนุนจากเงินรายได้ของส่วนงาน ในอัตราปีละไม่น้อยกว่าร้อยละสอง
ของเงินงบประมาณรายจ่ายของส่วนงานนั้น
(๓) เงินอุดหนุนที่ได้รับจากหน่วยงานอื่น
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ดอกผลจากเงินรายได้ของกองทุน
(๖) เงินทุนวิจัยที่ได้รับคืนและดอกผล
(๗) เงินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันเกิดจากดำเนินงานของกองทุน
ข้อ ๑๓ เงินของกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ให้นำไปจ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
และให้รวมถึงค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าลงทะเบียน และค่าใช้จ่าย
ในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยตามที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
เงินและทรัพย์สินของกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ที่มีผู้อุทิศให้ ต้องจัดการตามเงื่อนไข
ที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้ หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
ส่วนที่ ๒
การบริหารกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
ข้อ ๑๔ ให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน)” ประกอบด้วย
(๑) หัวหน้าส่วนงาน หรือรองหัวหน้าส่วนงานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนงาน
เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการที่หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งอีกจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินเก้าคน
ให้เลขานุการส่วนงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจมีผู้ช่วยเลขานุการ
ที่หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานภายในส่วนงานได้อีกจำนวนไม่เกินสองคน
ให้คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย มีวาระการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าส่วนงานที่แต่งตั้ง
ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการบริหารงานวิจัยของส่วนงานให้สอดคล้อง
กับเป้าหมายและนโยบายของมหาวิทยาลัย
(๒) จัดทำงบประมาณและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุน
(๓) พิจารณาจัดให้มีการทำการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์
ของส่วนงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัย (ชื่อส่วนงาน)
(๔) พิจารณาจัดสรรทุนสนับสนุนการทำการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ ตามที่ส่วนงานกำหนด
(๕) พิจารณาจัดสรรรางวัลเพื่อส่งเสริมการวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ ตามที่ส่วนงานกำหนด
(๖) พิจารณาจัดสรรทุนสนับสนุนการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ หรือบทความทางวิชาการตามที่ส่วนงานกำหนด
(๗) ส่งเสริม สนันสนุน และกำกับติดตาม การจัดทำวารสารทางวิชาการระดับส่วนงาน
(๘) พิจารณาการจัดตั้ง กำกับดูแล และยุบเลิกหน่วยวิจัยเฉพาะทางหรือศูนย์วิจัยเฉพาะด้าน
(๙) พิจารณาดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการทำงานวิจัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนงาน ทั้งที่เป็นคณาจารย์ประจำ นักวิจัย และตำแหน่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๑๐) พิจารณาดำเนินการเพื่อการสนับสนุนด้านการรับรองมาตรฐานการทำวิจัย
(๑๑) ติดตามประเมินผลและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานกองทุนวิจัย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๑๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัย
(ชื่อส่วนงาน)
(๑๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัยตามที่คณะกรรมการการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย มอบหมาย
หมวด ๓
ทุนและรางวัลสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน
ข้อ ๑๖ ทุนและรางวัลสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน
มีดังต่อไปนี้
(๑) ทุนสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรม
(๒) ทุนสนับสนุนการแปลบทความวิจัยและบทความทางวิชาการ
(๓) ทุนสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ
(๔) ทุนสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
(๕) ทุนสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือหน่วยวิจัยเฉพาะทาง
หรือศูนย์วิจัยเฉพาะด้านของส่วนงาน
(๖) ทุนสนับสนุนบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัย หรือส่วนงาน
เพื่อการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
(๗) รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์
(๘) รางวัลสนับสนุนผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
(๙) รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น
(๑๐) รางวัลนักวิจัยดีเด่น
(๑๑) ทุนหรือรางวัลประเภทอื่นที่ได้รับความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรทุนและรางวัลของมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยกำหนด
โดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรทุนและรางวัลตามวรรคหนึ่งของส่วนงาน ให้เป็นไปตามที่
หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) กำหนด
โดยทำเป็นประกาศส่วนงาน
หมวด ๔
การจัดทำวารสารทางวิชาการ
ข้อ ๑๗ การบริหารจัดการและสนับสนุนการจัดทำวารสารทางวิชาการ
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยกำหนด โดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๘ โครงการวิจัยและการดำเนินการอื่นใดที่ได้รับทุนหรือเงินสนับสนุนตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนวิจัยคณะ พ.ศ.๒๕๕๕
และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๕
และระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดทำวารสารวิชาการและอัตราการจ่ายเงินสมนาคุณผู้จัดทำวารสารวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการ
ตามระเบียบดังกล่าวต่อไป จนกว่าโครงการวิจัยหรือการดำเนินการนั้นจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๙ ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศมหาวิทยาลัยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ หรือคำสั่งตามข้อบังคับนี้ ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้
ในตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนวิจัยของคณะ พ.ศ.๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ พ.ศ.๒๕๕๕
และระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดทำวารสารวิชาการและอัตราการจ่ายเงินสมนาคุณผู้จัดทำวารสารวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๒๐ ให้ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ให้แล้วเสร็จ
ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑