ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๒
……………………………………….…………………
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการกำหนดประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๒๒ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลในคราวประชุมครั้งที่
๔ /๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๒”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันหรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาด้วย
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบันหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาด้วย
“พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายวิชาการ
“คณะกรรมการประจำคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำสถาบันหรือคณะกรรมการอำนวยการส่วนงานด้วย
“คณะกรรมการกลั่นกรอง” หมายความว่า “คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
“ก.บ.ค.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารบุคคล
“ก.บ.ม.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
หมวด ๑
คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ ๒ กลุ่ม ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะกรรมการกลั่นกรองกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
คณะกรรมการกลั่นกรองตามวรรคหนึ่งในแต่ละชุด ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาอาจารย์ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการที่อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้แทนของคณะในกลุ่มสาขาวิชาที่คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจหน้าที่ จำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน
(๔) ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์อาจแต่งตั้งให้ผู้ปฏิบัติงานในกองทรัพยากรมนุษย์
เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน และรายงานอธิการบดีเพื่อทราบ
ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะเสนอชื่อผู้แทนคณะ คณะละหนึ่งคนต่อกองทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการตาม (๓) โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำของคณะ
(๒) ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป
(๓) ไม่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัย
บัญชีรายชื่อตามวรรคสี่มีอายุคราวละสามปี เว้นแต่กรณีที่มีรายชื่อในบัญชีไม่เพียงพอที่จะพิจารณาแต่งตั้ง หรือมีเหตุผลอันสมควรอื่น อธิการบดีจะสั่งยกเลิกบัญชีรายชื่อและให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อใหม่ก็ได้
ข้อ ๕ กรรมการ ตาม ข้อ ๔ วรรคสอง (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการตามข้อ ๔ วรรคสอง (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากการเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
(๔) เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๔ วรรคสอง (๓) พ้นจากตำแหน่ง อธิการบดีจะพิจารณาแต่งตั้งกรรมการตามข้อ ๔ วรรคสอง (๓) จากบัญชีรายชื่อผู้แทนของคณะ ในกรณีนี้ให้กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งแทนนั้นมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๖ ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๔ วรรคสอง (๒) หรือ (๓) พ้นจากตำแหน่งตามข้อ ๕ วรรคสอง และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทน ให้คณะกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอความเห็นต่ออธิการบดีเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการขอให้ส่วนงานพิจารณาดำเนินการอย่างใดเพื่อให้การพิจารณาบรรจุแต่งตั้งและจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ เป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
และหน้าที่อื่น ๆ ที่อธิการบดี ก.บ.ค. หรือ ก.บ.ม. มอบหมาย
ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๗ ที่เกี่ยวกับการบรรจุ แต่งตั้ง
และจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการของคณะ ดังต่อไปนี้
(๑) คณะนิติศาสตร์
(๒) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
(๓) คณะรัฐศาสตร์
(๔) คณะเศรษฐศาสตร์
(๕) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
(๖) คณะศิลปศาสตร์
(๗) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
(๘) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
(๙) คณะศิลปกรรมศาสตร์
(๑๐) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
(๑๑) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
(๑๒) วิทยาลัยสหวิทยาการ
(๑๓) วิทยาลัยนวัตกรรม
(๑๔) วิทยาลัยโลกคดีศึกษา
(๑๕) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
(๑๖) สถาบันภาษา
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๗ ที่เกี่ยวกับการบรรจุ แต่งตั้ง และจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการของคณะดังต่อไปนี้
(๑) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๒) คณะวิศวกรรมศาสตร์
(๓) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
(๔) คณะแพทยศาสตร์
(๕) คณะทันตแพทยศาสตร์
(๖) คณะสหเวชศาสตร์
(๗) คณะพยาบาลศาสตร์
(๘) คณะสาธารณสุขศาสตร์
(๙) คณะเภสัชศาสตร์
(๑๐) วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์
หมวด ๒
วิธีการสรรหา
ข้อ ๑๐ เมื่อคณะมีอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการใหม่และมีงบประมาณสำหรับบรรจุอัตราใหม่นั้นแล้ว หรือได้รับจัดสรรอัตราทดแทนอัตราว่างเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือมีอัตราว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากเหตุเกษียณอายุ ให้คณะเจ้าของอัตราดำเนินการสรรหา ตามวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ใน
ข้อ ๑๑
ข้อ ๑๑ การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการให้ใช้วิธีการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) วิธีคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
(๒) วิธีคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก
ข้อ ๑๒ การคัดเลือกตามข้อ ๑๑ (๑) หรือ (๒) คณะต้องจัดให้มีการดำเนินการตามวิธีการสอบหรือนำเสนอผลงานทางวิชาการอย่างน้อย ๒ วิธี ดังนี้
(๑) การสอบข้อเขียน
(๒) การสอบสัมภาษณ์ทางวิชาการ
(๓) การทดสอบสอน
(๔) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่คณะใช้วิธีการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป ให้ออกประกาศคณะรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ประกาศรับสมัครตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตำแหน่งที่รับสมัคร
(๒) สาขาวิชาที่จะบรรจุ แต่งตั้ง และจ้าง
(๓) ลักษณะหรือเงื่อนไขการปฏิบัติงานที่สำคัญ
(๔) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
(๕) เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการสมัคร
(๖) วันเวลาสถานที่รับสมัคร
(๗) วิธีการสอบหรือส่งผลงานทางวิชาการ
(๘) เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและเกณฑ์การตัดสิน
(๙) กำหนดการประกาศผลการคัดเลือก
(๑๐) เงื่อนไขการได้รับการบรรจุ แต่งตั้ง และการจ้าง
ข้อ ๑๔ วิธีคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก
ให้คณะเจ้าของอัตราดำเนินการโดยพิจารณาคัดเลือกบุคคลจากคุณสมบัติ คุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ และประสบการณ์การทำงานของผู้นั้น หากเห็นว่ามีคุณสมบัติดีเด่นเพียงพอ ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะเชิญผู้นั้นมาเข้ามารับการคัดเลือก
ในกรณีที่คณะมีภาควิชาให้หัวหน้าภาควิชาเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก
ที่ประชุมภาควิชาตามวรรคหนึ่งต่อคณบดีเพื่อพิจารณา
ข้อ ๑๕ ในการดำเนินการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการแต่ละครั้ง ให้คณะแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประกอบด้วย คณบดีเป็นประธาน
และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน และให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในสังกัดของคณะคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ในกรณีที่คณะมีภาควิชา ให้หัวหน้าภาควิชาที่เกี่ยวกับการรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกร่วมเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งด้วย
ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ จัดให้มีการสอบ พิจารณาผลการคัดเลือก ประกาศผลการคัดเลือก และดำเนินการเพื่อรายงานผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๗
หมวด ๓
เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ประเภทคณาจารย์ประจำ
ข้อ ๑๖ การพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อรับการบรรจุแต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ ให้พิจารณาจากคุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ ประสบการณ์การทำงาน สุขภาพกาย สุขภาพจิต และอื่น ๆ
ข้อ ๑๗ การพิจารณาตามข้อ ๑๖ ต้องพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) เกณฑ์การพิจารณาคุณวุฒิ
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาที่ตรงกับสาขาที่จะมอบหมายให้สอนหรือทำวิจัย หรืออยู่ระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอก โดยผ่านการสอบประมวลวัดผล
Ph.D. Candidate แล้ว
(๒) มีวิทยานิพนธ์ หรือมีประสบการณ์ปฏิบัติงานในสาขาวิชาที่จะมอบหมายให้สอนหรือทำวิจัย และ
(๓) สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) รับรอง
ในกรณีที่ผู้เข้ารับการคัดเลือกมีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไปที่ได้รับการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ หรือ ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ตาม (ก) (๑) และ (ก) (๒)
หลักเกณฑ์วิธีการตรวจสอบหรือเทียบมาตรฐานการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนด
(ข) เกณฑ์การพิจารณาความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ
(๑) ต้องได้คะแนนผลการทดสอบภาษาต่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งไม่น้อยกว่าคะแนนที่กำหนดไว้ในตารางนี้
ประเภทการทดสอบ เกณฑ์คะแนน
๑. TOEFL
– Paper Based (คะแนนเต็ม ๖๖๗) ๕๕๐
– Computer Based (คะแนนเต็ม ๓๐๐) ๒๑๓
– Internet Based (คะแนนเต็ม ๑๒๐) ๗๙
๒. IELTS (คะแนนเต็ม ๙) ๖.๕
๓. TU-GET (คะแนนเต็ม ๑,๐๐๐) ๕๕๐
๔. CU-TEP (คะแนนเต็ม ๑๒๐) ๗๕
คะแนนการสอบภาษาต่างประเทศตามตารางใน (ข) (๑) ต้องเป็นคะแนนการสอบที่มีอายุไม่เกินสามปีนับจากวันที่ทำการสอบจนถึงวันสมัครหรือถูกเรียกเข้ารับการคัดเลือก
(๒) ในกรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกไม่มีคะแนนการสอบภาษาต่างประเทศ ตาม (ข) (๑) แต่คณะพิจารณาในเบื้องต้นว่าผู้รับการคัดเลือกรายนั้น มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศอยู่ในระดับที่จะสอบให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าตามตาราง (ข) (๑) อาจเสนอขอให้คณะกรรรมการกลั่นกรองพิจารณาการอนุมัติการบรรจุแต่งตั้งและจ้าง ผู้เข้ารับการคัดเลือกนั้น เป็นรายกรณีไปก่อน ในการนี้ หากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะเสนอ อาจเสนอความเห็นให้อนุมัติการบรรจุแต่งตั้งและจ้างผู้เข้ารับการคัดเลือกรายนั้น โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องไปเข้าสอบภาษาต่างประเทศให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าที่กำหนดในตารางตาม (ข) (๑) ภายในเวลาไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งและจ้าง หากไม่เข้าสอบหรือสอบไม่ได้คะแนนตาม (ข) (๑) ให้ผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
(๓) ผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ไม่ต้องมีคะแนนภาษาต่างประเทศ
ตามตาราง (ข) (๑)
(๓.๑) สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติหรือหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นที่คณะกำหนด โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจาก ก.พ. หรือ ก.พ.อ.
(๓.๒) ผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นชาวต่างประเทศซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่คณะกำหนด ในชีวิตประจำวัน
(ค) เกณฑ์การพิจารณาสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
(๑) ผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นโรคดังต่อไปนี้
(๑.๑) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
(๑.๒) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(๑.๓) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
(๑.๔) โรคพิษสุราเรื้อรัง
(๑.๕) โรคไตวายเรื้อรัง
(๑.๖) โรคสมองเสื่อม
(๑.๗) โรคทางจิตเวชในระยะที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
(๑.๘) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและ
เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
(๒) ผู้รับการคัดเลือกต้องได้รับการตรวจและรับรองจากแพทย์ว่าไม่ได้เป็นโรคตาม (ค) (๑)
ก่อนการเข้ารับการคัดเลือก และนำใบรับรองแพทย์ที่ทำการตรวจมาแสดงประกอบด้วย
(๓) เกณฑ์การพิจารณาจริยธรรม คุณธรรม และความฉลาดทางอารมณ์
(๓.๑) ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณของคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
(๓.๒) ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องมีผลทดสอบด้านความฉลาดทางอารมณ์ และผลการประเมินสุขภาพจิตและคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน
ด้านคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน ได้แก่
(๓.๒.๑) มีความมั่นคงทางอารมณ์ เช่น มีความหนักแน่น อดทนอดกลั้น สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ที่กระตุ้นหรือยั่วยุได้ และแสดงออกอย่างเหมาะสม
(๓.๒.๒) มีมนุษยสัมพันธ์ และความเป็นมิตร เช่น มีความไว้วางใจจริงใจ มีความยอมรับผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกลุ่มกับผู้อื่นได้
(๓.๒.๓) มีความสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ไม่มีความวิตกกังวลหรือหวั่นกลัวอย่างไร้เหตุผล
การทดสอบตาม (๓.๒) ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกไปเข้ารับการตรวจสุขภาพจิต ทดสอบด้านความฉลาดทางอารมณ์กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติหรือส่วนงานอื่นของมหาวิทยาลัยตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนด และอาจให้มีการสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม หรือวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนดด้วยก็ได้
หมวด ๔
หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ประเภทนักวิจัย
ข้อ ๑๘ ให้นำเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ มาใช้กับการพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทนักวิจัย โดยอนุโลม ยกเว้น เกณฑ์การพิจารณาคุณวุฒิและผลการศึกษา ให้ใช้พิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และ
(๒) มีผลการศึกษาในระดับปริญญาโทได้คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๒๕
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๙ การดำเนินการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการนั้นต่อไปจนกว่า
การดำเนินการจะแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี