ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. ๒๕๖๖
……………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญา
แพทยศาสตรบัณฑิต
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะแพทยศาสตร์
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์
“หน่วยกิต” หมายความว่า ปริมาณการศึกษาซึ่งคณะจัดให้แก่นักศึกษาตามปกติ
“หนึ่งหน่วยกิต”หมายความว่า ระยะเวลาที่นักศึกษาจะต้องศึกษาในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียนหรือการฝึกปฏิบัติในคลินิก ในหอผู้ป่วย ภาคสนามหรือชุมชน โดยวิธีการเรียนการสอนทุกประเภท
ในระยะเวลา ๑ สัปดาห์ มีเวลารวมประมาณ ๓๐ – ๔๐ ชั่วโมง
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ ผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของโครงการรับเข้าศึกษา และมีคุณสมบัติในทุกประการ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค อาการของโรคหรือพิการตามประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์
แห่งประเทศไทย เรื่อง คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
(๒) มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพแพทย์ เหตุผล แรงจูงใจ และความตั้งใจในการเป็นแพทย์
(๓) ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม การรักษาระเบียบวินัยและขนบธรรมเนียมประเพณี
(๔) เป็นผู้มีสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ดี
(๕) มีความสนใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม
(๖) มีความรู้รอบตัวและความสนใจใฝ่รู้
(๗) มีประวัติความประพฤติและบุคลิกภาพดี และมีความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ปฏิบัติงาน
เพื่อชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอ
หนึ่งทุน
(๘) มีคุณวุฒิการศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๘.๑) กลุ่มที่ ๑ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีคุณสมบัติทั่วไป
และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
(๘.๒) กลุ่มที่ ๒ เป็นอาจารย์พรีคลินิกซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐส่งมาศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ
(๙) เป็นผู้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ซึ่งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ ยกเว้นคุณสมบัติตามมาตรา ๓๖ ก. (๒) มิให้นำมาใช้บังคับ
(๑๑) คุณสมบัติอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๖ การคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบการสอบคัดเลือกบุคคล
เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือวิธีอื่นที่มหาวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๗ ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทำสัญญาผูกพันเพื่อเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
หมวด ๒
ระบบการจัดการศึกษา
ข้อ ๘ การจัดการศึกษาของคณะให้ใช้ระบบทวิภาค โดยในหนึ่งปีการศึกษามีสองภาคการศึกษาคือ ภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒
ข้อ ๙ ระบบทวิภาคในหนึ่งภาคการศึกษาอาจมีระยะเวลากี่สัปดาห์ก็ได้แต่ต้องมีชั่วโมง
การสอนในแต่ละรายวิชาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคำนวณชั่วโมงต่อหนึ่งหน่วยกิต
ข้อ ๑๐ การเปิดและปิดภาคการศึกษาในแต่ละปีการศึกษาให้เป็นไปตามที่คณะกำหนด
ข้อ ๑๑ การจัดการศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตมี ๒ ลักษณะ ดังนี้
(๑) วิชาศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งจัดการศึกษาเป็นระบบหน่วยกิตตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
(๒) วิชาที่จัดสอนโดยคณะซึ่งมีลักษณะบูรณาการเนื้อหาวิชาหลายวิชารวมกันและจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียน (Block) โดยเป็นการศึกษาที่เน้นกระบวนการใช้ปัญหาเป็นหลักและชุมชนเป็นฐาน
ข้อ ๑๒ การศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตให้ใช้เวลาศึกษาสิบสองภาคการศึกษา (หกปี) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ระยะ ดังต่อไปนี้
(๑) ระยะที่ ๑ ศึกษาวิชาศึกษาทั่วไป วิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และวิชาเลือกเสรีจำนวน ๓ หน่วยกิต โดยใช้เวลาในการศึกษาสองภาคการศึกษา
(๒) ระยะที่ ๒ ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิชาเลือกเสรีจำนวน ๔ หน่วยกิต
โดยใช้เวลาในการศึกษาสี่ภาคการศึกษา
(๓) ระยะที่ ๓ ศึกษาทางด้านคลินิก โดยใช้เวลาในการศึกษาหกภาคการศึกษา
ผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ (๘) (๘.๒) ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องศึกษาวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๑
และต้องศึกษาวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ และระยะที่ ๓ ให้ครบภายในสิบภาคการศึกษา
หมวด ๓
การลงทะเบียนเรียน
ข้อ ๑๓ การลงทะเบียนเรียนรายวิชาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) การลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๑ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
(๒) การลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ และระยะที่ ๓ ในแต่ละภาคการศึกษา
ให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนรายวิชาตามจำนวนหน่วยกิตที่ปรากฏในแผนการศึกษาที่คณะได้กำหนดขึ้นสำหรับการศึกษาในชั้นปีนั้น
(๓) นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๑ ทั้งหมด
และมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ จึงจะสามารถลงทะเบียนรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ ได้
(๔) นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ ทั้งหมด
และมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ จึงจะสามารถลงทะเบียนรายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๓ ได้
(๕) นักศึกษาที่กำลังศึกษารายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ หรือระยะที่ ๓ และมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ สามารถลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาของหลักสูตรระยะที่ ๒ หรือระยะที่ ๓ ที่นักศึกษาสอบได้ระดับต่ำกว่า C+ ได้
หมวด ๔
การวัดผลการศึกษา
ข้อ ๑๔ ให้คณะจัดการวัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๒ หรือระยะที่ ๓
ที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ในแต่ละภาคการศึกษาเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในรายวิชานั้นทันที
ข้อ ๑๕ การสอบประมวลวิชาเวชศาสตร์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ ที่ศึกษาทุกรายวิชาหลักของปีที่ ๓ ครบตามแผนกำหนดการของคณะ เป็นผู้มีสิทธิ์สอบประมวลวิชาเวชศาสตร์ ๑ วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน
(๒) ให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๕ ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่าสามภาคการศึกษา และได้ศึกษารายวิชาระดับคลินิกในชั้นปีที่ ๕ มาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิต
ในชั้นปีที่ ๕ ของหลักสูตร เป็นผู้มีสิทธิ์สอบประมวลวิชาเวชศาสตร์ ๒ วิทยาศาสตร์คลินิก ภาคทฤษฎี
(๓) ให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๖ ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่า
ห้าภาคการศึกษา โดยได้ศึกษารายวิชาระดับคลินิกในชั้นปีที่ ๖ มาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตในชั้นปีที่ ๖ ของหลักสูตร เป็นผู้มีสิทธิ์สอบประมวลวิชาเวชศาสตร์ ๒ วิทยาศาสตร์คลินิก ภาคปฏิบัติ
ข้อ ๑๖ การประเมินผลการสอบประมวลวิชาด้านเวชศาสตร์ แบ่งเป็น ๒ ระดับ ดังนี้
(๑) ระดับใช้ได้ (S)
(๒) ระดับยังใช้ไม่ได้ (U)
ข้อ ๑๗ ให้คณะจัดสอบประมวลวิชาด้านเวชศาสตร์แต่ละประมวลวิชา อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
แต่ไม่เกิน ๓ ครั้ง
หมวด ๕
สถานภาพทางวิชาการ
ข้อ ๑๘ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
ข้อ ๑๙ นักศึกษาอาจถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษารายวิชาในหลักสูตรระยะที่ ๑ ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของหลักสูตรหรือได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ภายในระยะเวลาสี่ภาคการศึกษา
(๒) ศึกษารายวิชาในหลักสูตระยะที่ ๒ ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของหลักสูตรหรือได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ภายในระยะเวลาแปดภาคการศึกษา นับแต่ภาคแรกที่เริ่มศึกษาหลักสูตรระยะที่ ๒
(๓) ศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๓ ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของหลักสูตรหรือได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ภายในระยะเวลาสิบสองภาคการศึกษา นับแต่ภาคแรกที่เริ่มศึกษาหลักสูตรระยะที่ ๓
ข้อ ๒๐ กรณีนักศึกษามีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิตจนอาจเป็นอุปสรรค
ต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพในอนาคต ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาพฤติกรรมและสุขภาพจิตจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ คน เพื่อพิจารณาว่านักศึกษาดังกล่าวสมควรพ้นสถานภาพนักศึกษาหรือไม่ และเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาอนุมัติต่อไป
ข้อ ๒๑ การพ้นสถานภาพการเป็นนักศึกษาเพราะเหตุตามข้อ ๒๐ ให้นักศึกษาผู้นั้นมีสถานภาพ
ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่ศึกษาผ่านน้อยกว่า ๑๒๐ หน่วยกิต ให้พ้นสถานภาพการเป็นนักศึกษาในหลักสูตร
แพทยศาสตรบัณฑิต
(๒) กรณีที่ศึกษาผ่านมากกว่า ๑๒๐ หน่วยกิต ให้นักศึกษาสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ของคณะได้ ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการประจำคณะ
ข้อ ๒๒ เมื่อผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ (๘) (๘.๑) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของคณะในภาคการศึกษาครบสิบสองปีการศึกษาแล้ว หรือผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ (๘) (๘.๒) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของคณะในภาคการศึกษาครบสิบปีการศึกษาแล้ว หากนักศึกษาผู้ใดมีผลการศึกษาไม่เพียงพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตามข้อบังคับนี้ นักศึกษาผู้นั้นจะต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและหน่วยกิตสะสมที่ได้ไว้ทั้งหมดจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่อไปไม่ได้
หมวด ๖
การอนุมัติปริญญา และการได้รับปริญญาเกียรตินิยม
ข้อ ๒๓ การเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
นักศึกษาซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๒) สอบประมวลวิชาเวชศาสตร์ได้ระดับ S
(๓) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองภาคการศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องศึกษาตามหลักสูตรระยะที่ ๑ หรือสิบภาคการศึกษาสำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องศึกษาตามหลักสูตรระยะที่ ๑
ข้อ ๒๔ ปริญญาตรีเกียรตินิยมมีสองระดับ ดังนี้
(๑) ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑.๑) ได้ศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลาห้าปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ได้รับ
การยกเว้นไม่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑ หรือศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในหกปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑
(๑.๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๕๐
(๑.๓) ไม่เคยได้ระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือต่ำกว่าระดับพอใช้ (C) ในรายวิชาใด และ
(๑.๔) ไม่เคยศึกษาซ้ำในรายวิชาใด
(๒) ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
(๒.๑) กรณีที่หนึ่ง
(๒.๑.๑) ได้ศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในเวลาห้าปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ได้รับ
การยกเว้นไม่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑ หรือศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในหกปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑
(๒.๑.๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๕๐
(๒.๑.๓) ไม่เคยได้ระดับตก (F) หรือระดับยังใช้ไม่ได้ (U) ในรายวิชาใด และ
(๒.๑.๔) ไม่เคยศึกษาซ้ำในรายวิชาใด
(๒.๒) กรณีที่สอง
(๒.๒.๑) ได้ศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในเวลาห้าปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑ หรือศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรภายในหกปีการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องศึกษารายวิชาตามหลักสูตรระยะที่ ๑
(๒.๒.๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๒๕
(๒.๒.๓) ไม่เคยได้ระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือต่ำกว่าระดับพอใช้ (C) ในรายวิชาใด และ
(๒.๒.๔) ไม่เคยศึกษาซ้ำในรายวิชาใด
กรณีนักศึกษาลาพักการศึกษาหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ทำให้ไม่สามารถศึกษาได้และอธิการบดีเห็นสมควรให้ลาพักการศึกษามิให้นับระยะเวลาลาพักการศึกษาดังกล่าวเป็นระยะเวลาศึกษาตาม (๑) (๑.๑) และ (๒) (๒.๑) (๒.๑.๑) และ (๒.๒) (๒.๒.๑)
ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย