ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ตามมาตรา ๒๐ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
…………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้ง เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม มาตรา ๒๐ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๐ วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งกรรมการ
สภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ เวลาที่มีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๓)
ข้อ ๔ การเสนอชื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี
ให้อธิการบดีเสนอชื่อรองอธิการบดีคนหนึ่งต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ตามมาตรา ๒๐ (๓)
หมวด ๒
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๔)
ข้อ ๕ กระบวนการได้มากรณีคณบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๔) ให้ได้มาจากการเสนอชื่อของที่ประชุมคณบดี
และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมคณบดีและหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยเพื่อเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
จากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
การประชุมตามวรรคสอง ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัย แจ้งกำหนดการและระเบียบวาระ
การประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณบดีและหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
คณะหรือวิทยาลัยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ข้อ ๖ การประชุมและการเสนอชื่อ
ให้คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยมีสิทธิเข้าร่วมการประชุม ตามข้อ ๕ และมีสิทธิเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรง ตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
ข้อ ๗ ประธานในการประชุม
ให้อธิการบดีเป็นประธานที่ประชุมคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย เพื่อเสนอชื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามข้อ ๕
ข้อ ๘ วิธีการเสนอชื่อ
การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยให้กระทำโดยวิธีลับ
ข้อ ๙ จำนวนรายชื่อในการเสนอชื่อ
คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยมีสิทธิเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยได้เพียงหนึ่งชื่อ
ข้อ ๑๐ คะแนนในการเสนอชื่อ
ให้ผู้ได้รับคะแนนจากการเสนอชื่อมากที่สุดเป็นผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนจากการเสนอชื่อในลำดับที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง เท่ากันหลายคนและเกินกว่าจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีได้ ให้ประธานที่ประชุมจัดให้ผู้เข้าร่วม
การประชุมเสนอชื่อเฉพาะผู้ที่มีคะแนนจากการเสนอชื่อเท่ากันนั้นอีกครั้ง แต่หากยังได้คะแนนเท่ากันอีกให้
จับสลาก และให้ผู้จับสลากได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ การแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อ
ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัย เสนอชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย
หมวด ๓
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๕)
ข้อ ๑๒ กระบวนการได้มากรณีผู้บริหารสถาบัน สำนัก หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก
หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก ตามมาตรา ๒๐ (๕) ให้ได้มา
จากการเสนอชื่อของที่ประชุมผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก
การได้มาซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ มาใช้
โดยอนุโลม
หมวด ๔
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๖)
ข้อ ๑๓ กระบวนการได้มากรณีผู้แทนคณาจารย์ประจำ
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ตามมาตรา ๒๐ (๖) ให้ใช้วิธีการเลือกตั้ง
ข้อ ๑๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการของมหาวิทยาลัยทุกคนที่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน
แล้วเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ข้อ ๑๕ คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ต้องเป็นคณาจารย์ประจำที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ (๖)
นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งแล้ว คณาจารย์ประจำที่จะสมัครเข้า
รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หรือหัวหน้าส่วนงาน รองหัวหน้า
ส่วนงาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
(๒) เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
(๓) เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณ
ข้อ ๑๖ การเริ่มกระบวนการเลือกตั้งและองค์ประกอบคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง
ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ ประกอบด้วย เลขานุการสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงาน มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการกองนิติการ ผู้อำนวยการกองกลาง ผู้อำนวยการ
กองงานศูนย์รังสิต ผู้อำนวยการกองบริหารศูนย์ลำปาง เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภามหาวิทยาลัยอีกไม่เกินสองคน
เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๑๗ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง
ให้คณะกรรมการตามข้อ ๑๖ มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต
และเที่ยงธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเลือกตั้ง โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการ
(๒) ประกาศรายชื่อพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการที่มีสิทธิเลือกตั้ง
(๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือคณะอนุกรรมการอื่นเพื่อทำหน้าที่ ช่วยเหลือคณะกรรมการในการจัดการเลือกตั้ง
(๔) ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติ และออกประกาศรายชื่อผู้สมัครรับ เลือกตั้งพร้อมหมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(๕) ควบคุม และดำเนินการเลือกตั้ง
(๖) ตรวจนับคะแนนการเลือกตั้ง
(๗) รายงานผลการเลือกตั้งและรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งเป็น กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
(๘) จัดการเลือกตั้งในกรณีที่ยังมีผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจาก คณาจารย์ประจำไม่ครบจำนวน
ข้อ ๑๘ กรอบระยะเวลาในการดำเนินการเลือกตั้ง
ให้คณะกรรมการตามข้อ ๑๖ ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ ประจำ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
ข้อ ๑๙ เกณฑ์การได้รับการเสนอชื่อ
ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งสูงสุดสองอันดับแรกเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ สภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงในลำดับที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภา มหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๖) เท่ากัน ให้ตัดสินโดยวิธีการให้ผู้ได้ลำดับคะแนนเท่ากันนั้นจับสลาก และให้ผู้จับสลากได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ข้อ ๒๐ เกณฑ์การได้รับการเสนอกรณีมาจากส่วนงานเดียวกัน
ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงในลำดับที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภา มหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำมาจากส่วนงานเดียวกัน ให้ผู้ที่อยู่ส่วนงานเดียวกันนั้นจับสลาก และให้ผู้จับสลากได้
เป็นผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ
ข้อ ๒๑ การเลือกตั้งซ่อมทดแทน
หากมีกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ พ้นจากตำแหน่ง ที่มิใช่การพ้น จากตำแหน่งตามวาระ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ เพื่อดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำทดแทน ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
คณะกรรมการตามวรรคแรกให้มีองค์ประกอบ ตามข้อ ๑๖ วรรคสอง และให้มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑๗
ข้อ ๒๒ คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้ที่สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำเพื่อทดแทน ตามข้อ ๒๑ ต้องมีคุณลักษณะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ข้อ ๑๕ และต้องมิใช่คณาจารย์ประจำในส่วนงานที่มีคณาจารย์ประจำเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๖) อยู่แล้ว
ข้อ ๒๓ เกณฑ์การได้รับการเสนอชื่อกรณีเลือกตั้งซ่อมทดแทน
ในการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ แทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่พ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งสูงสุดเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ แทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเกินกว่าหนึ่งคน ให้ผู้ได้ลำดับคะแนนเท่ากันนั้นจับสลาก
และให้ผู้จับสลากได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๖) แทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่พ้นจากตำแหน่ง
หมวด ๕
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๗)
ข้อ ๒๔ กระบวนการได้มากรณีผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ตามมาตรา ๒๐ (๗) ให้ใช้วิธีการเลือกตั้ง
ข้อ ๒๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการของมหาวิทยาลัยทุกคนที่ผ่านการทดลอง
การปฏิบัติงานแล้วเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน วิชาการ
ข้อ ๒๖ คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากพนักงานมหาวิทยาลัย
สายสนับสนุนวิชาการ ต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการที่มีคุณสมบัติและไม่ลักษณะ ต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ (๗)
นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการที่จะผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หรือหัวหน้าส่วนงาน รองหัวหน้า
ส่วนงาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
(๒) เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
(๓) เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณ
ข้อ ๒๗ กระบวนการและเกณฑ์ในการเลือกตั้ง
ให้นำความในข้อ ๑๖ ถึงข้อ ๒๓ มาใช้กับการดำเนินการเลือกตั้งและการเลือกตั้งกรรมการ
สภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๗) โดยอนุโลม
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๘ กรอบเวลาดำเนินการครั้งแรก
การได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ในครั้งแรก
ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๒๙ การเลือกตั้งกรรมการประเภทผู้แทนคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย
สายสนับสนุนวิชาการครั้งแรก
การดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๖) และ (๗) ครั้งแรก
ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ตามมาตรา ๒๐ (๖) และ (๗) ที่มีองค์ประกอบตามข้อ ๑๖ ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ
สภามหาวิทยาลัย ให้ผู้อำนวยการกองกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้นำความในข้อ ๑๗ ถึง ๑๘ มาใช้กับการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม
มาตรา ๒๐ (๖) และ (๗) โดยอนุโลม
ข้อ ๓๐ สิทธิของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการพลเรือนใน
สถาบันอุดมศึกษา
ระหว่างที่ยังมีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเหลืออยู่
ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๖)
หรือ (๗) แล้วแต่กรณี