ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๕
——————————————————-
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ วรรคสาม มาตรา ๒๓ (๒) (๓) และ (๔) มาตรา ๑๔ วรรคสอง
และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุม
ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕ ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สถานีวิทยุ” หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการอำนวยการ” หมายความว่า คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุ
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
วัตถุประสงค์
ข้อ ๕ สถานีวิทยุมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียง หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ
ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสถานีวิทยุเพื่อประโยชน์ในการให้การศึกษาและบริการวิชาการ และเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการดำเนินการให้มีการเรียนรู้ และเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนและสังคม
(๒) บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(๓) เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร สาระ ความรู้เชิงบูรณาการ และบันเทิงเชิงวัฒนธรรมให้แก่คนทุกกลุ่ม
ทุกระดับในชุมชนและสังคม
(๔) เป็นแหล่งความรู้และวิชาการด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมถึงความรู้และวิชาการด้านอื่น ๆ ให้แก่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
(๕) เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการด้านวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงของนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๖) สร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้และวัฒนธรรมกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือกัน
(๗) สร้างความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์อันดีกับศิษย์เก่า
(๘) เสริมสร้างภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ร่วมนำสังคมไปในทางที่ถูกต้องดีงาม พึงปรารถนา และส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม
ข้อ ๖ ให้สถานีวิทยุมีการดำเนินงานโดยอาศัยการมีส่วนร่วม ความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การบริหารงาน
ข้อ ๗ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี หรือรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการที่แต่งตั้งจากรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย จำนวนหนึ่งคน
(๔) กรรมการที่แต่งตั้งจากคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณบดีที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย จำนวนสี่คน จากคณะสาขาสังคมศาสตร์
สาขามนุษยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาละหนึ่งคน
(๕) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งคน
(๖) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทาง
ด้านสื่อสารมวลชน จำนวนสองคน
(๗) ผู้อำนวยการสถานีวิทยุเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้กรรมการตาม (๕) และ (๖) มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี เมื่อพ้นวาระแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้
ข้อ ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการตามข้อ ๗ (๕) และ (๖) พ้นจาก
ตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๙ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการอำนวยการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนภายในสี่สิบห้าวัน เว้นแต่ในกรณีที่วาระของกรรมการอำนวยการเหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวันจะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่กรรมการอำนวยการพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และได้มีการดำเนินการให้มี
ผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการอย่างน้อยปีละสองครั้ง
ข้อ ๑๓ การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการซึ่งมาประชุมคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๔ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุ มีดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากำหนดนโยบายและแผนงานการบริหารสถานีวิทยุ
(๒) พิจารณากำหนดแนวทางและควบคุมดูแลการบริหารงานของสถานีวิทยุให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย ประกาศ และระเบียบปฏิบัติที่วางไว้
(๓) ออกประกาศ มติ คำสั่ง ตลอดจนแนวปฏิบัติเพื่อการบริหารสถานีวิทยุ
(๔) พิจารณางบประมาณของสถานีวิทยุเสนอต่ออธิการบดี เพื่อนำเสนอขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณานำเงินรายได้ของสถานีวิทยุไปลงทุนหาประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๖) พิจารณาเสนอแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้อำนวยการสถานีวิทยุต่ออธิการบดี
(๗) พิจารณากำหนดโครงสร้างอัตรากำลังของสถานีวิทยุ และกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลพนักงานสถานีวิทยุ
(๘) พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม และค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษจากผลการดำเนินงานของพนักงานสถานีวิทยุ
ข้อ ๑๕ การจ่ายเบี้ยประชุมของคณะกรรมการอำนวยการให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี
ข้อ ๑๖ ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุ แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานีวิทยุคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานของสถานีวิทยุ
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหรือบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุประกาศกำหนด
ในการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานีวิทยุ คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุอาจกำหนดให้ทำสัญญาจ้างหรือคำรับรองการปฏิบัติงานก็ได้
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีหน้าที่บริหารงานสถานีวิทยุให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย แผนงาน ระเบียบ และคำสั่งของคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุ
ข้อ ๑๗ ให้ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุที่มีสัญญาจ้างให้จ้างได้คราวละสามปี และอาจได้รับการต่อสัญญาจ้างอีกได้
นอกจากพ้นตำแหน่งตามวาระหรือพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจะ
พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุกำหนด
(๔) คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุมีมติให้ออก อันเนื่องจากหย่อนความสามารถ
ประพฤติเสื่อมเสีย ทุจริตต่อหน้าที่ ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างร้ายแรง หรือละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่
(๕) ถูกลงโทษโดยคำพิพากษาให้จำคุก
(๖) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๗) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
ข้อ ๑๘ อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีอำนาจปฏิบัติการแทนในกิจการของสถานีวิทยุ
ผู้อำนวยการอาจมอบอำนาจช่วงต่อให้แก่พนักงานหรือบุคคลภายนอกให้ทำกิจการเฉพาะอย่างก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุกำหนด
ข้อ ๑๙ กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุและผู้อำนวยการสถานีวิทยุต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันของผลประโยชน์กับกิจการของสถานีวิทยุ
หมวด ๓
การบริหารบุคคล
ข้อ ๒๐ คณะกรรมการอำนวยการมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสถานีวิทยุ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลเพื่อเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาอนุมัติ
(๒) กำหนดประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของพนักงานสถานีวิทยุ
(๓) กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือเงินเพิ่มพนักงานสถานีวิทยุ
(๔) กำหนดอัตรากำลังของสถานีวิทยุ
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การสรรหา การบรรจุ แต่งตั้ง และการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานสถานีวิทยุ
(๖) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การทดลองปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานสถานีวิทยุ
(๗) พิจารณากำหนดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ตลอดจนประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานสถานีวิทยุ
(๘) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการลา การพัฒนาบุคลากร วันเวลาปฏิบัติงาน และวันหยุดของพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานสถานีวิทยุ
(๙) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลที่เป็นลักษณะเฉพาะของ
สถานีวิทยุ
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงและมาตรฐาน
การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการมีอำนาจเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้งและการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถานีวิทยุ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนดก็ได้
การมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรักษาการแทนและ
การมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทน
ข้อ ๒๒ การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของสถานีวิทยุนอกจากที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล วินัยและการดำเนินการ
ทางวินัยและการอุทธรณ์ หรือการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๔
การเงิน การคลัง งบประมาณ และการพัสดุ
ข้อ ๒๓ รายได้ของสถานีวิทยุ มีดังต่อไปนี้
- เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๒) รายได้จากการดำเนินกิจการ
(๓) เงินผลประโยชน์อันเกิดจากลงทุน
(๔) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งมีผู้มอบให้
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อื่นใด
ข้อ ๒๔ รายได้จากการดำเนินกิจการ ให้สถานีวิทยุเป็นผู้จัดเก็บและใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสถานีวิทยุ โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๕ รายจ่ายของสถานีวิทยุ ให้เป็นไปตามหมวดรายจ่ายที่คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุกำหนด โดยให้คำนึงถึงสภาพความจำเป็นและความเหมาะสมกับการดำเนินกิจการของสถานีวิทยุ ทั้งนี้
ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชีด้วย
ข้อ ๒๖ การจัดทำงบประมาณของสถานีวิทยุ ให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วย
การบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี
ข้อ ๒๗ การโอนหรือการเปลี่ยนแปลงหมวดรายจ่ายภายในวงเงินงบประมาณประจำปีที่ผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุก่อน
ข้อ ๒๘ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน และการพัสดุ ให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และการบัญชี และกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
และการบริหารงานพัสดุภาครัฐ
หมวด ๕
การบัญชีและการตรวจสอบ
ข้อ ๒๙ ผู้อำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินและจัดให้มีการจัดทำบันทึกบัญชีให้ถูกต้องเรียบร้อยตามมาตรฐานการบัญชี รวมทั้งจัดทำงบการเงินของสถานีวิทยุเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุเพื่อพิจารณาภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๓๐ การดำเนินการตรวจสอบภายในของสถานีวิทยุให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและระบบการตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๑ อธิการบดีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีของสถานีวิทยุ
ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบบัญชีที่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุพิจารณารับรองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณและให้คณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุเสนอต่ออธิการบดีภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของสถานีวิทยุได้ทั้งสิ้น และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามคณะกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ หรือผู้ปฏิบัติงานของสถานีวิทยุ หรือดำเนินการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อการสอบบัญชี
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๒ ให้คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถานีวิทยุตามข้อบังคับนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานีวิทยุตามข้อบังคับนี้ภายในเก้าสิบวัน
ข้อ ๓๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถานีวิทยุในสังกัดของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมาเป็นของสถานีวิทยุตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย