ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการประกันคุณภาพ พ.ศ. ๒๕๖๔
___________________
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการประกันคุณภาพ
เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา
พ.ศ. ๒๕๖๒ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๒ /๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการประกันคุณภาพ
พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนักงาน
“ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา” หมายความว่า ระบบและกลไกที่มีการกำหนดขั้นตอน
การปฏิบัติงานอย่างชัดเจนในการควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
และส่วนงาน โดยครอบคลุมถึงปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์
ข้อ ๔ การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นการควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ และประเมิน
การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน โดยให้ครอบคลุมทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิต
หรือผลลัพธ์อย่างสมดุล ตามภารกิจหลักด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการทางวิชาการ การทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการบริหารจัดการและการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน
ข้อ ๕ ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(๑) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน เป็นการประกันคุณภาพการศึกษา
ในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนงาน และหลักสูตรตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา
(๒) ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก เป็นการจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยหน่วยงานต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรืออาจประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานในต่างประเทศที่คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษาประกาศกำหนด
ข้อ ๖ ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของมหาวิทยาลัยต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการอุดมศึกษา มาตรฐานวิชาชีพ และระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก
ให้มีการประเมินประสิทธิผลของระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในของมหาวิทยาลัย
ทุกสามปีหรือมีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มาตรฐาน ข้อกำหนด หรือนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษา
ข้อ ๗ ให้อธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานต้องดำเนินการให้มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมพันธกิจ เชื่อมโยงกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ มาตรฐานการศึกษาชาติ มาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย และมาตรฐานอื่นของหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ ให้อธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของระบบและกลไกการประกัน คุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๙ ให้อธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานสร้างความตระหนักในการดำเนินงานตามนโยบายคุณภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับในการดำเนินงานตามนโยบายคุณภาพ
ข้อ ๑๐ ให้อธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานร่วมมือประสานงานกันในการออกแบบระบบ
ประกันคุณภาพภายในทุกระดับที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับระบบการนำองค์กร ระบบบริหารงาน ระบบบริหารทรัพยากรและระบบการวัดผลองค์กร และระบบงานสำคัญอื่นของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการที่เป็นรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย จำนวนไม่เกิน ๒ คน
(๓) กรรมการที่แต่งตั้งจากหัวหน้าส่วนงานในสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาละ ๑ คน โดยได้รับเลือกจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
(๔) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๓ คน
(๕) รองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยอีกไม่เกิน ๒ คน
ให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้
กรรมการตาม (๓) และ (๔) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว อาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ โดยวาระแรกเริ่มเมื่อครบสองปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
โดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระตาม (๓) และ (๔)
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) กำหนดนโยบายและเป้าหมายการประกันคุณภาพที่บูรณาการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
และปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ และหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘
(๒) กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการการประกันคุณภาพการศึกษา
(๓) ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน และรายงานเสนอขอความเห็นชอบต่อสภามหาวิทยาลัย
(๔) สนับสนุน ส่งเสริม กำกับดูแล และติดตามความก้าวหน้า การดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๕) ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย
(๖) สนับสนุนส่งเสริมการตรวจประเมินคุณภาพภายในของส่วนงานและมหาวิทยาลัย
(๗) สนับสนุนส่งเสริมการตรวจประเมินคุณภาพจากหน่วยงานภายนอก รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนในการร่วมหรือดำเนินกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับคุณภาพการศึกษา
ของมหาวิทยาลัย
(๘) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่
ของคณะกรรมการ
ข้อ ๑๓ ในส่วนงานให้มีคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับส่วนงาน ประกอบด้วย (๑) หัวหน้าส่วนงานเป็นประธาน
(๒) กรรมการที่แต่งตั้งจากรองหัวหน้าส่วนงานหรือหัวหน้าภาควิชา จำนวนไม่เกิน ๕ คน
(๓) กรรมการที่หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งจากผู้ที่ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยในสังกัดส่วนงานที่มาจากสายวิชาการ จำนวน ๑ คน และจากสายสนับสนุนวิชาการ จำนวน ๑ คน
(๔) รองหัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบงานด้านประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกรรมการ
และเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยอีกไม่เกิน ๒ คน ให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้
ให้กรรมการตาม (๒) และ (๓) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ โดยวาระแรกเริ่มเมื่อครบสองปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระตาม (๒) และ (๓)
ข้อ ๑๔ คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับส่วนงาน มีอำนาจหน้าที่
(๑) จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของส่วนงานเสนอต่อคณะกรรมการประจำส่วนงาน
เพื่อขออนุมัติและรายงานเสนอต่อคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๒) สนับสนุน ส่งเสริม กำกับดูแล และติดตามความก้าวหน้า การดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของส่วนงาน
ข้อ ๑๕ การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษากำหนด
แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหลักสูตร พัฒนาหลักสูตร การกำกับดูแล และการประกันคุณภาพหลักสูตรให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายวิชาการของมหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๖ ให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยและส่วนงานและรายงานผล
การประเมินต่อคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาปีการศึกษาละหนึ่งครั้ง หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์
ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยและส่วนงานต่อคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาปีละสองครั้ง
ให้คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษารายงานผลการประเมินของมหาวิทยาลัย
ต่อสภามหาวิทยาลัยปีการศึกษาละหนึ่งครั้ง
ข้อ ๑๗ ให้นำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีหรือหัวหน้าส่วนงานแล้วแต่กรณี หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่
สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๘ การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ถือเป็นภาระงานที่ผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต้องนำไปประกอบการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๗ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจในการออกประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย