ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานโรงเรียน การสนับสนุนและการกำกับดูแล
โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในพระอุปถัมภ์ของ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พ.ศ. ๒๕๕๓
——————————-
โดยที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ถูกยกเลิก และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ ขึ้นบังคับใช้แทน ทำให้โครงสร้างการบริหารงานโรงเรียนเอกชนในระบบมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงสมควรให้มีระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงเรียน การสนับสนุนและการกำกับดูแลโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ.๒๕๕๓ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างการบริหารงานตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ และเพื่อให้ การบริหารงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ อธิการบดีจึงออกระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วย การบริหารงานโรงเรียน การสนับสนุนและการกำกับดูแลโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. ๒๕๕๓ ”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการสนับสนุนและกำกับดูแลโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๔๕ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีกำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โรงเรียน” หมายความว่า โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน
“ตราสารจัดตั้ง” หมายความว่า ตราสารจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียน
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการโรงเรียน
“ครูประจำ” หมายความว่า ครูประจำโรงเรียน
“ครูพิเศษ” หมายความว่า ครูซึ่งทางโรงเรียนมอบหมายหรือจ้างให้ทำงาน โดยมีกำหนดระยะเวลา ที่แน่นอน
“พนักงาน” หมายความว่า พี่เลี้ยงนักเรียน ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารโรงเรียน รวมทั้งนักการภารโรงด้วย
“ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน” หมายความว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้กับโรงเรียน ทั้งที่เป็น ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ครูประจำ ครูพิเศษ และพนักงาน
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
หมวด ๑
โครงสร้างการบริหารงาน
ข้อ ๖ คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้แทนครู จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๓) ผู้แทนผู้ปกครอง จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้จัดการ เป็นกรรมการ
(๖) ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการตาม (๒) ให้อธิการบดีแต่งตั้งจากครูของโรงเรียนซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากครู
กรรมการตาม (๓) ให้อธิการบดีแต่งตั้งจากผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียน ตามข้อเสนอของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน
กรรมการตาม (๔) ให้อธิการบดีแต่งตั้งตามข้อเสนอของผู้อำนวยการ
นอกจากกรรมการตาม (๑) ถึง (๖) แล้ว อาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนเป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกินสองคนก็ได้
ข้อ ๗ ให้กรรมการตาม ข้อ ๖ (๒) (๓) และ(๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่
ข้อ ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตามข้อ ๗ กรรมการตามข้อ ๖ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ลาออก
(๒) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ได้รับโทษโดยคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำ โดยประมาท
(๕) อธิการบดีสั่งให้พ้นจากการเป็นกรรมการเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย อย่างร้ายแรง
ข้อ ๙ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและความรับผิดชอบตามที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนด และหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ให้อธิการบดี แต่งตั้งผู้อำนวยการคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน
ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจและความรับผิดชอบตามที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนด และให้มีหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียน และตามที่อธิการบดี หรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
ข้อ ๑๑ อำนาจในการสั่งการ การอนุญาตหรือการอนุมัติต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย ทั้งนี้ เว้นแต่ที่มีระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการให้เป็นอำนาจของอธิการบดี
ข้อ ๑๒ อธิการบดีโดยข้อเสนอของผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการมอบหมายก็ได้
เมื่อผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งด้วย
ข้อ ๑๓ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของโรงเรียนในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในนามของโรงเรียน และเป็นผู้ลงนามในบันทึก จดหมาย หรือเอกสารต่าง ๆ ของโรงเรียนเว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำหนดเป็นอย่างอื่น
การลงนามในสัญญาหรือเอกสารอื่นใดที่จะมีผลเป็นการผูกพันโรงเรียนโดยรวมให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการ
อธิการบดีอาจออกคำสั่งให้การลงนามในเรื่องใดของผู้อำนวยการต้องขออนุมัติจากอธิการบดีก่อนก็ได้
ข้อ ๑๔ ให้มีสำนักงานบริหารโรงเรียน ทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการ และรับผิดชอบงานด้านธุรการของโรงเรียน
ข้อ ๑๕ ให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้จัดการคนหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนด และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานบริหารโรงเรียน
(๒) รับผิดชอบงานบริหารทั่วไป และธุรการของโรงเรียน
(๓) ควบคุมดูแลบริหารงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของโรงเรียน
(๔) หน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
หมวด ๒
การบริหารบุคคล
ข้อ ๑๖ การบริหารงานบุคคลของโรงเรียนเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่น การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน วินัย การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน ให้เป็นไปตามให้เป็นไปตามระเบียบโรงเรียนว่าด้วยการบริหารบุคคล
ข้อ ๑๗ อำนาจในการสั่งการ การอนุญาตหรือการอนุมัติต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย ทั้งนี้ เว้นแต่ที่มีระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
อำนาจสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการให้เป็นอำนาจของอธิการบดี
ข้อ ๑๘ ให้มีบัตรประจำตัวผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนตามหลักเกณฑ์และแบบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ข้อ ๑๙ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน มีสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และตามระเบียบ ข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำหนด
หมวด ๓
การบริหารการเงิน การจัดทำงบประมาณ และการบัญชี
ส่วนที่ ๑
การบริหารการเงิน
ข้อ ๒๐ โรงเรียนอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาพิเศษเพื่อการดำเนินงานของโรงเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
(๒) เงินรายได้จากการให้บริการทางวิชาการ
(๓) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๔) เงินอุดหนุนจากหน่วยงานภายนอก
(๕) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่โรงเรียน
(๖) รายได้หรือผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินของโรงเรียน
(๗) รายได้เนื่องจากการขายผลผลิตของโรงเรียน
(๘) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น ๆ
ข้อ ๒๑ รายได้ของโรงเรียนจะต้องบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการดำเนินงานของโรงเรียน
เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของผู้บริจาคและตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่โรงเรียนมีรายได้คงเหลือ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารอาจจัดสรรเงินดังกล่าวเพื่อส่งเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยตามจำนวนที่เห็นควร โดยไม่กระทบต่อการดำเนินงานของโรงเรียน หรือไม่เป็นการขัดกับเงื่อนไขหรือวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
ข้อ ๒๓ โรงเรียนอาจนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ได้ตามระเบียบว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของโรงเรียน
ข้อ ๒๔ โรงเรียนมีรายจ่ายแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
(๑) รายจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(๒) รายจ่ายค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ
(๓) รายจ่ายค่าสาธารณูปโภค
(๔) รายจ่ายค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
(๕) รายจ่ายเงินอุดหนุน
(๖) รายจ่ายค่าสวัสดิการ
(๗) รายจ่ายอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
ข้อ ๒๕ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเงิน สั่งซื้อ สั่งจ้าง หรือก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ ทั้งนี้เว้นแต่ในการอนุมัติจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ต้องจ่ายเป็นประจำ ให้มีอำนาจสั่งจ่ายได้ตามจำนวนและอัตราที่คณะกรรมการบริหารได้ให้ความเห็นชอบไว้
ส่วนที่ ๒
งบประมาณและการบริหารงบประมาณ
ข้อ ๒๖ ปีงบประมาณของโรงเรียนให้เป็นไปตามปีงบประมาณของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๗ ให้ผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำงบประมาณของโรงเรียน เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการบริหารให้ความเห็นชอบเพื่อขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย
ให้ผู้จัดการเสนองบประมาณประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารแล้ว เพื่อ ขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยต่อไป
ส่วนที่ ๓
การจัดทำบัญชีและการตรวจสอบ
ข้อ ๒๘ ให้ผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการวางและรักษาระบบบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินแสดงกิจการ ที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร แยกตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
ข้อ ๒๙ ให้ผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบให้มีการจัดทำรายงานการเงินดังนี้
(๑) จัดทำงบรายได้ – ค่าใช้จ่าย และเงินคงเหลือประจำเดือนของโรงเรียนเสนอต่อ คณะกรรมการบริหารในการประชุมครั้งถัดไป
(๒) จัดทำงบการเงินตามแบบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ส่งให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๓๐ ให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบด้านการเงิน การบริหาร และการดำเนินงานของโรงเรียน
ข้อ ๓๑ ให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงิน
ข้อ ๓๒ ให้ผู้จัดการรับผิดชอบให้มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานและรายงานทางการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว นำเสนอคณะกรรมการบริหารเพื่อรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๓๓ เมื่อสภามหาวิทยาลัยรับทราบผลการตรวจสอบรายงานการเงิน และรายงาน ผลการดำเนินงานของโรงเรียนแล้ว ให้ผู้จัดการจัดพิมพ์รายงานประจำปีเพื่อเผยแพร่ต่อไป
ข้อ ๓๔ ในกรณีที่ระเบียบนี้ หรือระเบียบว่าด้วยการเงิน และทรัพย์สินของโรงเรียนมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้นำระเบียบมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการเงิน และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓๕ ให้อธิการบดีมีอำนาจสั่งการให้ผู้จัดการชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหลักฐาน การดำเนินงานของโรงเรียน สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย อธิการบดีอาจมีคำสั่งให้โรงเรียนระงับการใด ๆ ไว้ก่อนเพื่อรอการพิจารณา หรือการลงมติของมหาวิทยาลัยในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้
หมวด ๔
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๖ ให้บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ประกาศใช้ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปโดยอนุโลม จนกว่าจะได้มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยตามระเบียบนี้ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในระเบียบนี้
บรรดาอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดของมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ประกาศใช้ ที่กำหนดให้เป็นของคณะกรรมการอำนวยการ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารตามระเบียบนี้
ข้อ ๓๗ ให้โอนบรรดาผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการสนับสนุนและกำกับดูแลโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๔๕ มาเป็นผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓
( ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ )
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้รับใบอนุญาต
ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียน