ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑
……..………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับนักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๑
เป็นต้นไป
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัย
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่น
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“คณะกรรมการประจำคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำวิทยาลัย สถาบัน
หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
“หลักสูตร” หมายความว่า หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย
และให้หมายความรวมถึงหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีควบปริญญาโทในส่วนที่เป็นการศึกษาระดับ
ปริญญาตรีด้วย
“ภาคการศึกษา” หมายความว่า ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค หรือในระบบไตรภาค
แต่ไม่รวมภาคฤดูร้อน
“สถาบันอุดมศึกษาอื่น” หมายความว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับ
การจัดตั้งตามกฎหมายของไทยหรือเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของต่างประเทศ
“ข้อกำหนดหลักสูตร” หมายความว่า ข้อกำหนดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
ในการศึกษาของหลักสูตรตามที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อำานวยการสำนักงานทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ
ของ มหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ได้
หมวด ๑
ระบบการจัดการศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษา
—————————————–
ข้อ ๖ มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาด้วยหลักการประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
คณะใด มีหน้าที่จัดการศึกษาในวิชาการด้านใดให้จัดการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ทุกคณะ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลอันสมควรและได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๗[๑] การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมี ๒ ระบบ ดังนี้
(๑) ระบบทวิภาค เป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสองภาคการศึกษา
คือภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒ และอาจมีภาคฤดูร้อนต่อจากภาคการศึกษาที่ ๒ ด้วยก็ได้
(๒) ระบบไตรภาค เป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสามภาคการศึกษา
คือภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒ และภาคการศึกษาที่ ๓
การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งอาจจัดการศึกษาแบบรายปี
การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งอาจออกแบบวิธีการเรียนการสอนโดยแบ่งช่วงการศึกษาตามหัวข้อการศึกษาที่มีปริมาณการเรียนรู้เทียบเท่าระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาคแล้วแต่กรณี
หลักสูตรการศึกษาใดจะจัดการศึกษาในระบบตามวรรคหนึ่งให้เป็นอำนาจของสภา มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๘ ระบบทวิภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าสัปดาห์ และในภาคฤดูร้อนให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคการศึกษา
ระบบไตรภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบสองสัปดาห์และไม่เกิน
๑๔ สัปดาห์
ในแต่ละรายวิชาที่เปิดสอนอาจใช้ระยะเวลาศึกษาแตกต่างจากวรรคหนึ่งหรือวรรคสองก็ได้
แต่ต้องมีปริมาณการศึกษาต่อหนึ่งหน่วยกิตไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๙
ข้อ ๙ หน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตรให้คำนวณตามปริมาณการศึกษา โดยหนึ่งหน่วยกิตเท่ากับปริมาณการศึกษาดังต่อไปนี้
(ก) ระบบทวิภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายให้มีเวลา
ทำโครงงาน หรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(ข) ระบบไตรภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยาย หรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
ให้มีเวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อ
ภาคการศึกษา
ข้อ ๑๐ การกําหนดจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบหน่วยกิต หรือระบบ
ไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบหน่วยกิต
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบหน่วยกิต หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยยี่สิบห้าหน่วยกิต
ข้อ ๑๑ ระยะเวลาที่ใช้ศึกษาต้องไม่เกินเวลาที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตรแต่ทั้งนี้
ในข้อกําหนดหลักสูตรต้องกําหนดไว้ไม่เกินระยะเวลาดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) ให้ใช้เวลาศึกษาได้ไม่เกินแปดปีการศึกษา
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) ให้ใช้เวลาการศึกษาได้ไม่เกินสิบสองปีการศึกษา
นักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาเกินกว่ากําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียน นักศึกษา
ข้อ ๑๒ คณะต้องกําหนดให้นักศึกษามีอาจารย์ที่ปรึกษาประจําตัวนักศึกษา เพื่อทําหน้าที่ แนะนํา ให้คําปรึกษา ให้ความเห็นชอบ หรืออนุญาตในการวางแผนการเรียน การลงทะเบียนเรียน
การเพิ่มและการถอนรายวิชาของนักศึกษา การย้ายหลักสูตร การลาพักการศึกษา การลาออก และ
การดําเนินการอื่นเพื่อดูแลความประพฤติและการติดตามผลการเรียนของนักศึกษา
หมวด ๒
การรับเข้าศึกษา
——————————————–
ข้อ ๑๓ การรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอาจมีได้ดังต่อไปนี้
(๑) การรับเข้าโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการตามการมอบหมายของมหาวิทยาลัยหรือตามข้อตกลง ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
(๒) การรับเข้าโดยการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
หลักเกณฑ์และวิธีการรับเข้าตาม (๒) ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
(๒) ไม่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น เว้นแต่การศึกษา
ในมหาวิทยาลัยเปิด หรือการศึกษาหลักสูตรทางไกล (Online) ที่ได้รับปริญญา
(๓) ไม่เป็นผู้ป่วยหรืออยู่ในสภาวะที่จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการศึกษา
(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีหรือมีพฤติกรรมเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษาใด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามข้อกำหนดหลักสูตรที่เข้าศึกษาและตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรับเข้าศึกษาด้วย
หมวด ๓
การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
———————————————
ข้อ ๑๕ ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษา ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจำเป็นอธิการบดีอาจอนุญาตผ่อนผันการขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก
ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาโดยใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศต้องยื่นใบสำคัญแสดงวุฒิการศึกษาต่อคณะในวันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วย แต่หากยังไม่สามารถนำส่งได้ อธิการบดีอาจผ่อนผันให้นำมาส่ง
ในภายหลัง แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก หากพ้นกำหนดเวลาที่ผ่อนผันให้แล้ว
ยังไม่อาจนำส่งได้ให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษา
ข้อ ๑๖ หากมีการตรวจพบว่าผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามข้อ ๑๔ หรือได้ใช้เอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนอันเป็นเท็จ ให้นายทะเบียน
เสนอต่ออธิการบดีเพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษาผู้นั้น
หากมีกรณีตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นเมื่อผู้กระทำผิดได้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ให้อธิการบดี
เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญา
หมวด ๔
ฐานะชั้นปี
—————————————
ข้อ ๑๗ การเทียบฐานะชั้นปีของนักศึกษา ให้พิจารณาจากจํานวนหน่วยกิตที่สอบได้ หรือได้รับเทียบโอน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ชั้นปีหนึ่ง นับตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาและสอบได้หรือได้รับเทียบโอนไม่ถึงหนึ่งในสี่
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๒) ชั้นปีสอง สอบได้หรือได้รับเทียบโอนตั้งแต่หนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงหนึ่งในสอง
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๓) ชั้นปีสาม สอบได้หรือได้รับเทียบโอนตั้งแต่หนึ่งในสองแต่ไม่ถึงสามในสี่
ของจํานวนหน่วยกิตรวมของข้อกําหนดหลักสูตร
(๔) ชั้นปีสี่ สอบได้หรือได้รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนหน่วยกิต
รวมของข้อกําหนดหลักสูตร
หมวด ๕
การลงทะเบียนเรียน
——————————————–
ข้อ ๑๘[๒] การลงทะเบียนเรียนรายวิชาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
นักศึกษารายใดประสงค์ลงทะเบียนเรียนรายวิชาใดที่มีเงื่อนไขก่อนการลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้น
นักศึกษารายนั้นอาจได้รับการยกเว้นโดยปฏิบัติตามประกาศมหาวิทยาลัย
เพื่อคุณภาพของการจัดการศึกษา คณบดีอาจกําหนดเงื่อนไข หรือจํากัดจํานวน นักศึกษา
ที่จะลงทะเบียนเรียนในรายวิชาใดก็ได้โดยทําเป็นประกาศคณะ
การประกาศเปิดวิชาเพิ่ม หรือปิดรายวิชาใดที่มีนักศึกษาลงทะเบียนแล้วจะต้องกระทําภายใน
เจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือสี่วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
ข้อ ๑๙ การลงทะเบียนเรียนให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกําหนดการที่อธิการบดีกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หากนักศึกษามีหนี้สินใด ๆ กับมหาวิทยาลัย จะต้องชําระให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ ลงทะเบียนเรียนได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ภายหลังจากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว นักศึกษาต้องดําเนินการตรวจสอบ
ผลการลงทะเบียนของตนเองด้วยภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาไม่ทันกําหนดการตามวรรคหนึ่ง นักศึกษาอาจขอ ลงทะเบียนล่าช้าได้ แต่ทั้งนี้ ต้องดําเนินการภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษานั้น หรือสามวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อนนั้น และต้องชําระเบี้ยปรับการลงทะเบียนเรียนล่าช้าเป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๒๐ ในภาคการศึกษาของระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาค นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียน
ไม่น้อยกว่าเก้าหน่วยกิต แต่ไม่เกินยี่สิบสองหน่วยกิต และในภาคฤดูร้อน นักศึกษาลงทะเบียนเรียน
ได้ไม่เกินหกหน่วยกิต
นักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนมากกว่าจํานวนตามวรรคหนึ่งได้โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี
ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนักศึกษาที่มีฐานะชั้นปี ๔
(๒) สําหรับการศึกษาภาคฤดูร้อนนักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนเกินกว่า ๕ หน่วยกิต
แต่ไม่เกิน ๙ หน่วยกิตได้ เฉพาะกรณีเป็นนักศึกษาที่คาดว่าจะสําเร็จการศึกษาในปีการศึกษานั้น
นักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนรายวิชาน้อยกว่าจํานวนตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาจนเหลือจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาตามหลักสูตรน้อยกว่าจํานวน ตามวรรคหนึ่ง
(๒) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนจําเป็นต้องใช้เวลาเพื่อการรักษาพยาบาล หรือฟื้นฟูร่างกาย โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี
การนับจํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนสูงสุดตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงรายวิชาเสริมหลักสูตรพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยกําหนดให้ศึกษาโดยไม่นับหน่วยกิต รายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อเสริมความรู้โดยไม่วัดผลการศึกษา และรายวิชาที่ลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒๕
การนับจํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนตามวรรคหนึ่งมิให้นับจํานวนหน่วยกิตของรายวิชา
ที่นักศึกษาได้รับการยกเว้นโดยผ่านการทดสอบ การวัดผล หรือการเทียบโอนรายวิชา
ข้อ ๒๑ ในแต่ละภาคการศึกษา นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่ศึกษาอยู่
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียน เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดีในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ได้ศึกษารายวิชาเอกหรือรายวิชาเฉพาะของหลักสูตรครบแล้ว
(๒) ได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่ศึกษาทุกรายวิชาในภาคการศึกษา
ที่ลงทะเบียนเรียนนั้นแล้ว
(๓) นักศึกษาขอลงทะเบียนเรียนรายวิชาของหลักสูตรที่จะย้ายเข้าไปศึกษา
(๔) นักศึกษามีสถานภาพทางวิชาการอยู่ในการเตือนครั้งที่ ๒ หรือภาวะรอพินิจ
ข้อ ๒๒ ห้ามมิให้นักศึกษาที่ได้อักษร D ขึ้นไป หรือได้อักษร S ในรายวิชาใดลงทะเบียนเรียน
ในรายวิชานั้นอีก เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๓ นักศึกษาได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตร
ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร D ขึ้นไป หรือ S
นักศึกษาที่ได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร D ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็นรายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๒๔ นักศึกษาผู้ใดไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใด และไม่ได้ขอลาพักการศึกษา
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาของภาคการศึกษานั้น ให้ถอนชื่อนักศึกษาผู้นั้นออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ สถาบันอุดมศึกษาอื่น หรือนักศึกษามีข้อตกลงเพื่อรับทุนจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงาน ภาคประชาชน
หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากําไรอื่น หรือนักศึกษามีความประสงค์จะไปศึกษากับ สถาบันอุดมศึกษาอื่น อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาไปลงทะเบียนเรียน ในรายวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นเปิดสอนโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรของ นักศึกษาผู้นั้นก็ได้
ข้อ ๒๖ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบัน อุดมศึกษาอื่น หรือมีข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยอื่นที่มีวัตถุประสงค์ให้มหาวิทยาลัยหรือคณะรับบุคคล
เข้าศึกษาในรายวิชาของมหาวิทยาลัยหรือคณะ อธิการบดีอาจอนุมัติให้ผู้ซึ่งมิได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงทะเบียนเรียนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยก็ได้
ผู้ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ต้องชําระค่าธรรมเนียมในอัตรา
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๒๗ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการลงทะเบียนเรียน ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๖
การเพิ่มและการถอนรายวิชา
—————————————–
ข้อ ๒๘[๓] การขอเพิ่มรายวิชาภายหลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว ให้กระทําได้ภายใน
สิบสี่วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผล
อันสมควร คณบดีอาจอนุมัติให้เพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เกินสิบสี่วันก่อน
วันปิดภาคการศึกษา หรือภาคฤดูร้อนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องมีเวลาเรียนครบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๔๓
การขอเพิ่มรายวิชาตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้สอน
ในรายวิชานั้นก่อนและกรณีการลงทะเบียนเพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาต้องชําระค่าปรับ
การลงทะเบียน เพิ่มรายวิชาล่าช้าเป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๒๙ การขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วให้กระทําได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การขอถอนภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาค
ฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้ลบรายวิชานั้นออก
(๒) การขอถอนเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา
หรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
(๓) การขอถอนเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๒) แต่ไม่เกินสิบสี่วันก่อนปิดภาคการศึกษา หรือภาค
ฤดูร้อน ทั้งนี้ จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลความจําเป็น โดยได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดี
เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
การขอถอนจนเหลือรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้นน้อยกว่าจํานวนเก้าหน่วยกิต จะกระทํามิได้ เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้ ให้นับหน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒๕ รวมเข้าในหน่วยกิตดังกล่าวด้วย
ข้อ ๓๐ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการเพิ่มและถอนรายวิชาซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๗
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต และการเทียบโอนความรู้
———————————————-
ข้อ ๓๑[๔] การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต หมายถึง การเทียบโอนรายวิชาในกรณี
ที่นักศึกษาได้ศึกษารายวิชามาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยนักศึกษาอาจขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
ที่มีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่าและมีเกณฑ์การประเมินผลหรือวัดผลได้มาตรฐานเทียบเท่ากับรายวิชา
ในหลักสูตรที่ศึกษาอยู่ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เทียบโอนได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจํานวนหน่วยกิตรวมทั้งหลักสูตร และต้องมีเวลาศึกษา
ในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา
(๒) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมิใช่รายวิชาในหลักสูตรที่นักศึกษาผู้นั้นถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษา
(๓) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปีนับจากปีที่ลงทะเบียนเรียนจนถึงวันที่ขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๔) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ C ขึ้นไป หรือเทียบเท่า ยกเว้นกรณีของนักศึกษาซึ่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ในโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน
หรือโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการให้เทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามผลการศึกษาที่ได้
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ
อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมจากความใน
วรรคหนึ่งก็ได้ โดยทำเป็นประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๓๒[๕] ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ
การเทียบโอนและการโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามหมวดนี้
ข้อ ๓๓ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) สําหรับกรณีนักศึกษาที่ไปศึกษาตามโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน หรือ โครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือไปศึกษาด้วยตนเองโดยได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึกผล การศึกษาตามที่ได้ หรือในรายวิชาที่มีผลการศึกษาได้อักษร C ขึ้นไปอาจบันทึกอักษร ACC ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณบดี
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะกําหนดโดยทําเป็นประกาศคณะ
(๒) สําหรับกรณีนักศึกษาอื่นนอกจาก (๑) ให้บันทึกอักษร ACC
ข้อ ๓๔[๖] การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบหรือการศึกษา
ตามอัธยาศัย หรือการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย
ให้เทียบโอนได้รวมกันไม่เกินสามในสี่ของจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ขอเทียบ
และต้องมีเวลาศึกษาในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา
อาจทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกําหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยและให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนความรู้นั้น
คณะอาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งโดยจัดให้มีการทดสอบ ข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ
เพื่อการเทียบโอน หรือพิจารณาโดยใช้ผลการประเมินของหน่วยงานฝึกปฏิบัติงานก็ได้
หมวด ๗/๑[๗]
การโอนรายวิชาและหน่วยกิต
——————————–
ข้อ ๓๔/๑ นักศึกษาที่ศึกษารายวิชาในหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการศึกษา
หรือจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่นอาจขอโอนรายวิชาและหน่วยกิตได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่ากับรายวิชาในหลักสูตรที่ศึกษา
(๒) ให้โอนรายวิชาและหน่วยกิตได้ไม่จํากัดจํานวนรายวิชาและหน่วยกิตเฉพาะรายวิชา
ที่มีผลการศึกษาระดับ C ขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(๓) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาบังคับและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปี
(๔) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาเลือกและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินสิบปี
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ
อาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมจากความในวรรคหนึ่ง
ก็ได้ โดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย หรือประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๓๔/๒ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้โอนรายวิชาและหน่วยกิตตาม
ผล การศึกษารายวิชาในหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการศึกษาหรือจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่น
หมวด ๘
อักษรแสดงผลการศึกษา
——————————————
ข้อ ๓๕ ผลการศึกษาของแต่ละรายวิชา แบ่งออกเป็นสองประเภทดังนี้
(๑) ผลการศึกษารายวิชาที่มีค่าระดับและนํามาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษรความหมาย และค่าระดับดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ ค่าระดับ
A ผลการประเมินขั้นชั้นเลิศ Excellent ๔.๐
B+ ผลการประเมินขั้นดีมาก Very Good ๓.๕
B ผลการประเมินขั้นดี Good ๓.๐
C+ ผลการประเมินขั้นดีพอใช้ Almost Good ๒.๕
C ผลการประเมินขั้นพอใช้ Fair ๒.๐
D+ ผลการประเมินขั้นค่อนข้างอ่อน Almost Fair ๑.๕
D ผลการประเมินขั้นอ่อน Poor ๑.๐
F ผลการประเมินขั้นตก Failed ๐
(๒) ผลการศึกษาที่ไม่มีค่าระดับและไม่นํามาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษรและความหมาย ดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ
S ใช้ได้ Satisfactory
U ใช้ไม่ได้ Unsatisfactory
ACC ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่านการ Accreditation
ทดสอบเทียบความรู้หรือใช้ผล
การสอบในรายวิชาที่นับหน่วยกิต
หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิต
EXE ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่าน Exempted
การทดสอบเทียบความรู้หรือใช้ผล
การสอบในรายวิชาที่ไม่นับ
หน่วยกิต
I การวัดผลไม่สมบูรณ์ Incomplete
W การถอนรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ Withdraw
AUD การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา Audit
ข้อ ๓๖ อักษร S หรือ U ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่กําหนดให้มีผลการศึกษาเป็นระดับใช้ได้ หรือระดับใช้ไม่ได้
ผลการศึกษาระดับใช้ได้ ให้ใช้อักษร S และระดับใช้ไม่ได้ให้ใช้อักษร U
ข้อ ๓๗ อักษร ACC หรือ EXE ให้ใช้ในรายวิชาที่ให้นักศึกษาสามารถนําผลการทดสอบเทียบ ความรู้หรือคะแนนการทดสอบอื่นมาใช้แทนการศึกษาในรายวิชานั้นได้
อักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่นํามานับหน่วยกิต
อักษร EXE ให้ใช้ในรายวิชาที่ไม่นํามานับหน่วยกิต
ข้อ ๓๘ อักษร I ให้ใช้กับรายวิชาที่การวัดผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์ และเป็นการบันทึกไว้
เป็นการชั่วคราว
นักศึกษาที่ได้อักษร ในรายวิชาใด ให้ดําเนินการวัดผลในรายวิชานั้นให้แล้วเสร็จภายใน
แปดสิบวัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา แต่หากไม่สามารถดําเนินการวัดผลได้ทัน อาจารย์ผู้สอนอาจกําหนด
ผลการศึกษาของนักศึกษาผู้นั้นจากคะแนนสอบหรือคะแนนการวัดผลการศึกษาโดยวิธีการอื่นเท่าที่นักศึกษา
ผู้นั้นมีอยู่ก็ได้
เมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา หากยังไม่มีการดําเนินการตามวรรคสอง
ให้บันทึกอักษร W
ข้อ ๓๙ อักษร W ให้ใช้ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ในรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร และอาจารย์ผู้สอนยังไม่ได้กําหนดผลการศึกษาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาที่นักศึกษาขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณบดีหรือ อธิการบดีแล้วแต่กรณี
(๓) ได้รับอนุมัติให้ถอนรายวิชาตามข้อ ๒๙ (๒) และ ๒๙ (๓)
(๔) ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามข้อ ๕๐ (๒) และ ๕๐ (๓)
ในกรณีตาม (๒) นักศึกษาต้องยื่นคําร้องขออนุมัติต่อคณบดีผ่านอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์
ที่ปรึกษา ภายในสิบวันนับแต่วันสอบแต่หากยื่นคําร้องเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว หากคณบดีเห็นว่า
มีเหตุผลอันสมควรให้รายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๔๐ อักษร AUD กระทําได้ในรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อการเสริมความรู้
โดยไม่ต้องมีการวัดผล และมีเวลาเรียนในรายวิชานั้นตามเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในข้อ ๔๓ หรือตามข้อกําหนด
ของหลักสูตรและรายวิชา
นักศึกษาที่ประสงค์จะลงทะเบียนเพื่อเสริมความรู้ต้องได้รับคําแนะนําจากอาจารย์ที่ปรึกษา
และได้รับอนุญาตจากผู้สอน และชําระค่าธรรมเนียมตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียม การศึกษา
เมื่อลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเพื่อการเสริมความรู้โดยไม่ต้องมีการวัดผลแล้วจะขอเปลี่ยนแปลง เป็นการลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อนโดยต้องได้รับอนุมัติจากคณบดี เมื่อพ้นกําหนดเวลานี้แล้วกระทํามิได้
ห้ามมิให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้อักษร AUD แล้วซ้ำอีกเว้นแต่กรณีการย้ายหลักสูตรและรายวิชานั้นเป็นรายวิชาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรที่ย้ายเข้า
ข้อ ๔๑ การนับจํานวนหน่วยกิตสะสมให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับตั้งแต่ D ขึ้นไป ระดับใช้ได้ (S) หรือระดับ ACC เท่านั้น
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาใดซ้ําหรือแทนกันตามข้อกําหนดหลักสูตร ให้นับจํานวน หน่วยกิตของรายวิชานั้นได้เพียงครั้งเดียว
หมวด ๙
การวัดผลการศึกษา และการคํานวณค่าเฉลี่ยสะสม
——————————————
ข้อ ๔๒[๘] มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสําหรับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ในภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การวัดผลการศึกษาอาจทําได้ระหว่างภาค ด้วยวิธีรายงานจากหนังสือที่กําหนดให้อ่าน งานที่แบ่งกันทําเป็นหมู่คณะ การทดสอบระหว่างภาค การเขียนสารนิพนธ์ประจํารายวิชาหรืออื่น ๆ และเมื่อสิ้นภาค
จะมีการสอบไล่สําหรับแต่ละรายวิชาที่ศึกษาในภาคนั้น
รายวิชาใดที่ไม่มีการสอบไล่เมื่อสิ้นภาค คณบดีจะประกาศให้ทราบ
การวัดผลการศึกษาสําหรับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนแบบรายปี ให้มีการวัดและประเมินผล
เมื่อสิ้นปีการศึกษา
ในบางกรณี มหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษาตามความ
ในวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๔๓ นักศึกษาที่มีเวลาเรียนตลอดภาคการศึกษาในรายวิชาใดไม่ถึงร้อยละเจ็ดสิบของเวลาเรียนในรายวิชานั้นทั้งหมดหรือตามที่กําหนดไว้ในรายวิชาหรือข้อกําหนดหลักสูตร ไม่มีสิทธิเข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษาผู้นั้น คณบดีอาจอนุญาตให้เข้าสอบไล่ได้เป็นกรณีพิเศษ
การนับเวลาเรียนตามวรรคหนึ่งให้นับการเรียนในรายวิชานั้นทั้งการเรียนภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การฝึกงาน การฝึกภาคสนาม และการทําโครงงาน
ข้อ ๔๔ ให้คํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนเมื่อสิ้นภาค
โดยคํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชานั้น
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนในภาคนั้น
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคนั้น
ข้อ ๔๕ การคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดทุกภาคการศึกษา
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนไว้ ทุกภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อน
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสะสม
ข้อ ๔๖ ในการคํานวณตามข้อ ๔๔ (๔) หรือข้อ ๔๕ (๕) หากได้ทศนิยมตําแหน่งที่สาม
เป็นจํานวนตั้งแต่ห้าขึ้นไปให้ปัดเศษขึ้นไป
หมวด ๑๐
สถานภาพทางวิชาการ
ข้อ ๔๗[๙] สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาให้พิจารณาจากผลการคํานวณคะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษา เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่เรียน ดังนี้
(๑) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๒.๐๐ ขึ้นไปมีสถานภาพทางวิชาการปกติ (Normal)
(๒) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ มีสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๑
(Warning ๑) เว้นแต่กรณีเป็นภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา ให้มีสถานภาพทางวิชาการเตือนพิเศษ (Warning)
(๓) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถาน ภาพทางวิชาการเตือนพิเศษตาม (๒) ในภาคการศึกษา
ที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๑.๕๐ ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ให้มีสถานภาพ
ทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๑ (Warning ๑) แต่หากมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๑.๕๐ ในภาคการศึกษาถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
(๔) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๑ ตาม (๒) และ (๓) ในภาคการศึกษา
ที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมาให้มีสถานภาพทางวิชาการ
เตือนครั้งที่ ๒ (Warning ๒)
(๕) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือนครั้งที่ ๒ ตาม (๔) ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมาให้มีสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ (Probation)
(๖) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ ตาม (๕) ในภาคการศึกษา
ที่ผ่านมา และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ ในภาคการศึกษาถัดมาต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
ในกรณีที่นักศึกษาสอบได้รายวิชาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
แล้วมีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๑.๘๐ ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒.๐๐ และต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ตาม (๖) อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นศึกษาต่อในหลักสูตรเดิม หรือย้ายหลักสูตร แต่นักศึกษา
ต้องศึกษาให้ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมถึง ๒.๐๐ ภายในสามภาคการศึกษา และต้องศึกษาให้สําเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาตาม ข้อ ๑๑ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
ข้อ ๔๘ ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๔๗ การย้ายหลักสูตรระหว่างคณะหรือภายในคณะ
หรือการลาพักการศึกษาไม่มีผลทําให้การเตือนและภาวะรอพินิจเปลี่ยนแปลง
หมวด ๑๑
การลาพักการศึกษา
—————————————
ข้อ ๔๙ นักศึกษาอาจขอลาพักการศึกษาได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ถูกเกณฑ์หรือระดมพลเข้ารับราชการทหารกองประจําการ
(๒) ได้รับทุนเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ
(๓) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนจําเป็นต้องพักการศึกษาเพื่อ การรักษาพยาบาล
หรือฟื้นฟูร่างกายตามใบรับรองแพทย์
(๔) นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนมาแล้วเกินกว่าสองภาคการศึกษามีความประสงค์
จะขอพักการศึกษาโดยมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี
(๕) นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนไม่ถึงสองภาคการศึกษามีความประสงค์จะขอพักการศึกษา
โดยมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
การลาพักการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้นักศึกษายื่นคําร้องต่อคณบดี และให้คณบดี
เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ เว้นแต่กรณีตาม (๕) และการลาพักการศึกษาเกินกว่าสองภาคการศึกษาติดต่อกัน
ต้องได้รับการอนุมัติจากอธิการบดี ทั้งนี้ กรณีนักศึกษาไม่ลงทะเบียนเรียนให้ยื่นคําร้องต่อคณบดี
ภายในสามสิบวันนับแต่เปิดภาคการศึกษา
ข้อ ๕๐ ในกรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันแรก
ของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วออก
(๒) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาหรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชา ที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
(๓) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลา ตาม (๒) แต่ก่อนวันปิดภาค การศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร และต้องได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึกอักษร W
สําหรับรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
ข้อ ๕๑ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาก่อนการลงทะเบียนเรียนหรือการลาพักการศึกษา
ก่อนวันเปิดภาคการศึกษาจะต้องชําระค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพ ตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๕๒ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักให้สํานักงานทะเบียนนักศึกษา ทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๕๓ ให้นับรวมเวลาในระหว่างการลาพักการศึกษา เป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๑๒
การถูกลงโทษให้พักการศึกษา
—————————————
ข้อ ๕๔ นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษาให้ลบรายวิชา
ที่นักศึกษาผู้นั้นลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ถูกสั่งพักการศึกษาออก และให้บันทึกคําว่า
ถูกสั่งพักการศึกษา (Suspended) และเปลี่ยนเป็นลาพักการศึกษา (Leave) เมื่อสําเร็จการศึกษา
นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปต้องชําระค่าธรรมเนียม
การรักษาสถานภาพ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้นด้วย
ข้อ ๕๕ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ถูกสั่งให้พักการศึกษาให้สํานักงานทะเบียน
นักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๕๖ ให้นับรวมเวลาในระหว่างที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาเป็นระยะเวลาศึกษาตาม
ข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๑๓
การลาออก
—————————————
ข้อ ๕๗ นักศึกษาที่ประสงค์จะลาออกให้มีความเห็นจากผู้ปกครอง และให้ยื่นคําร้อง
ที่ได้รับ คําปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วต่อคณบดี
เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้มีผลนับแต่วันที่นักศึกษายื่นคําร้องตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๕๔ เมื่อการลาออกมีผลแล้ว ให้บันทึกอักษร W ในรายวิชาที่ยังไม่มีการประกาศผลการศึกษา
หมวด ๑๔
การย้ายหลักสูตร
—————————————
ข้อ ๕๙ การย้ายหลักสูตรภายในคณะหรือย้ายระหว่างคณะ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาต้องศึกษาในหลักสูตรเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่าสองภาคการศึกษา ทั้งนี้
ไม่นับภาคการศึกษาที่ลาพัก หรือถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษา
(๒) สอบผ่านรายวิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรเดิม หรือหลักสูตรที่จะย้ายเข้าโดยต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ย ๒.๐๐ ขึ้นไป หรือตามหลักเกณฑ์การย้ายหลักสูตรที่คณะกําหนด โดยทําเป็นประกาศคณะ
(๓) มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมถึงภาคการศึกษาก่อนการย้ายหลักสูตร ๒.๐๐ ขึ้นไป หรือตามหลักเกณฑ์การย้ายหลักสูตรที่คณะกําหนด โดยทําเป็นประกาศคณะ
(๔) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า
ข้อ ๖๐ นักศึกษาที่ประสงค์จะขอย้ายหลักสูตรให้ยื่นคําร้องขอย้ายหลักสูตรพร้อมแสดง เหตุผลความจําเป็นต่อคณะที่ประสงค์จะย้ายเข้าศึกษาในหลักสูตรนั้น ไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ประสงค์จะย้ายเข้าในหลักสูตรนั้น
ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า
พิจารณาอนุมัติการย้ายหลักสูตรของนักศึกษา
ในกรณีหลักสูตรที่ย้ายเข้าใช้ระบบการวัดผลแตกต่างกันกับหลักสูตรที่ย้ายออก ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาย้ายหลักสูตร ให้แปลงคะแนนของรายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายออก ให้เป็นไป
ตามหลักเกณฑ์การวัดผลของหลักสูตรที่จะย้ายเข้า เพื่อประกอบการพิจารณาสถานภาพทางวิชาการ
ของนักศึกษา
ข้อ ๖๑ นักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายหลักสูตร ต้องศึกษาให้สําเร็จการศึกษาภายในระยะเวลา
ตามข้อ ๑๑ นับแต่วันที่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๖๒ ให้นํารายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายออกมาคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมกับรายวิชาของหลักสูตรที่ย้ายเข้า
หมวด ๑๕
การสําเร็จการศึกษา และการอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญา
————————————————-
ข้อ ๖๓ นักศึกษาจะสําเร็จการศึกษาได้ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) สําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนเจ็ดภาคการศึกษาในระบบทวิภาค
หรือไม่ก่อนสิบภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
(๒) หลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) สําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนเก้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาค หรือไม่ก่อนสิบสามภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
(๓) หลักสูตรอนุปริญญาจะสําเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อนห้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาค
หรือเจ็ดภาคการศึกษาในระบบไตรภาค
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับกับหลักสูตรระดับปริญญาตรีควบปริญญาโทหรือหลักสูตร
ที่มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ทั้งนี้ ให้กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร และนักศึกษาซึ่งได้รับ
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๖๔ นักศึกษาซึ่งจะได้รับอนุปริญญาหรือปริญญาจากมหาวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาจนครบเงื่อนไขการสําเร็จการศึกษาตามข้อกําหนดหลักสูตร และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า ๒.๐๐
(๒) ผ่านการทดสอบความรู้และทักษะอื่นตามที่มหาวิทยาลัยกําหนด
(๓) เป็นผู้มีความประพฤติดีเหมาะสมกับศักดิ์ศรีแห่งอนุปริญญาหรือปริญญาของ มหาวิทยาลัย
(๔) ไม่มีภาระหนี้สินกับมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๖
การได้รับปริญญาเกียรตินิยม
————————————–
ข้อ ๖๕ ปริญญาเกียรตินิยมมีสองระดับ ดังนี้
(๑) ปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามหมวดนี้ และศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๕๐ ขึ้นไป โดยทุกรายวิชาต้องได้ไม่ต่ำกว่าอักษร C
(๒) ปริญญาเกียรตินิยมอันดับสอง ให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามหมวดนี้ ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๒.๑) ศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๕๐ ขึ้นไปแต่มีรายวิชาที่ได้ต่ํากว่า อักษร C
และมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมในหมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า ๒.๐๐
(๒.๒) ศึกษาได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๒๕ ขึ้นไป โดยทุกรายวิชาในหมวดวิชาเฉพาะต้องได้ไม่ต่ำกว่าอักษร C
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ
อาจกําหนดหลักเกณฑ์เฉพาะของหลักสูตรโดยออกเป็นประกาศคณะ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อ ๖๕
และข้อ ๖๖
ข้อ ๖๖ นักศึกษาที่จะมีสิทธิได้รับปริญญาเกียรตินิยมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี (สี่ปี) มีเวลาศึกษาจนสําเร็จการศึกษาไม่เกินสี่ปีการศึกษา และนักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี (หกปี) มีเวลาศึกษาจนสําเร็จการศึกษาไม่เกินหกปีการศึกษา
(๒) มีรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนมาหรือได้รับการยกเว้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจํานวนหน่วยกิตรวมที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๓) ไม่เคยลงทะเบียนเรียนซ้ําในรายวิชาหนึ่งวิชาใด
(๔) ไม่เคยศึกษาได้อักษร F หรือ U ในรายวิชาหนึ่งวิชาใด
(๕) ไม่เคยได้รับการลงโทษทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นทําทัณฑ์บนขึ้นไป
การนับเวลาตาม (๑) ไม่ให้นับรวมเวลาในภาคการศึกษาที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้ลาพัก การศึกษา หรือให้ไปศึกษาหรือปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ตามโครงการของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการของหน่วยงานอื่นที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะหรืออธิการบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้การไปศึกษาหรือปฏิบัติงานนั้นต้องมีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา
หมวด ๑๗
การเสนอชื่อและการอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญา
—————————————-
ข้อ ๖๗ ให้นักศึกษาซึ่งคาดว่าจะสําเร็จการศึกษาเมื่อสิ้นภาคที่ลงทะเบียนเรียนทําหนังสือยื่น
ต่อมหาวิทยาลัยภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
เพื่อขอสําเร็จการศึกษาและให้มหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติอนุปริญญาหรือปริญญาเมื่อสิ้นภาค
ข้อ ๖๔ ให้นายทะเบียนตรวจสอบและจัดทํารายชื่อนักศึกษาซึ่งศึกษาครบรายวิชาตามหลักสูตรและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๖๔ หรือ ๖๖ แล้วแต่กรณี ที่ได้ยื่นหนังสือตามข้อ ๖๗ ไว้
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติปริญญาเกียรตินิยม ปริญญา หรืออนุปริญญาแล้วแต่กรณีในสาขาวิชาที่ศึกษาสําเร็จตามหลักสูตร
หมวด ๑๘
ค่าธรรมเนียมและการขอคืนค่าธรรมเนียม
——————————-
ข้อ ๖๙ นักศึกษาต้องชําระค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ และเบี้ยปรับ ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๗๐[๑๐] มหาวิทยาลัยอาจคืนค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาชําระให้แก่มหาวิทยาลัยไว้แล้วในกรณี และอัตราดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษา ให้มีสิทธิขอคืนได้เต็มจํานวน
ที่ชําระไว้
(๒) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษา ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา ให้มีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง
(๓) นักศึกษาขอถอนรายวิชาเพราะมหาวิทยาลัยปิดรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้เต็มจํานวน เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ปิดได้
(๔) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียม
การใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่าย
ไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ถอนได้
(๕) นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปแต่ได้ลงทะเบียนเรียนและชําระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษไว้แล้ว ให้มีสิทธิขอคืนได้เต็มจํานวนที่ชําระไว้
นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอคืนเงินค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคําร้องต่อคณะ
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน หากพ้นกําหนดเวลานั้น ให้ถือว่าสละสิทธิ์
การยกเว้นค่าปรับหรือลดค่าปรับให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีมีอํานาจพิจารณา
ยกเว้น ค่าปรับหรือลดค่าปรับได้
หมวด ๑๙
การพ้นสภาพนักศึกษาและการขอกลับเข้าศึกษา
———————————————–
ข้อ ๗๑ นักศึกษาต้องพ้นสภาพนักศึกษา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สําเร็จการศึกษาและได้รับอนุปริญญาและปริญญา
(๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ ๑๔
(๓) ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
(๔) พ้นกําหนดเวลาศึกษาตามข้อบังคับนี้หรือตามข้อกําหนดหลักสูตร
(๕) ลาออกจากการเป็นนักศึกษา
(๖) ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากการเป็นนักศึกษา
(๗) ตาย
ข้อ ๗๒ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะถูกถอนชื่อตาม ข้อ ๒๔ ไปแล้ว
ไม่เกิน กว่าสองปีนับแต่วันที่มหาวิทยาลัยประกาศให้ถอนชื่อ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษาในหลักสูตรเดิมได้
ในกรณีที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กลับเข้าศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าในระหว่างที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาเป็นช่วงเวลาลาพักการศึกษา เพื่อการนี้ ให้นักศึกษาดําเนินการชําระค่าธรรมเนียม
การรักษาสถานภาพและค่าธรรมเนียมอื่นสําหรับภาคการศึกษาที่ถือเป็นการลาพักการศึกษานั้นด้วย
ข้อ ๗๓ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะลาออกจากการเป็นนักศึกษาไปแล้ว
ไม่เกินหนึ่งภาคการศึกษานับแต่วันลาออก อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษา
ในหลักสูตรเดิมได้
ให้นําความในข้อ ๗๒ วรรคสองมาใช้กับกรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ ๗๔ ให้นับรวมเวลาในช่วงเวลาลาพักการศึกษาตามข้อ ๓๒ และข้อ ๗๓ เป็นระยะเวลา ศึกษาตามข้อ ๑๑ ด้วย
หมวด ๒๐
การยกเว้นใช้ข้อบังคับ
——————————
ข้อ ๗๕ ในกรณีการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ทําให้เกิดความเป็นไม่ธรรมแก่นักศึกษาคนหนึ่ง
คนใด อันเนื่องมาจากเหตุที่มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของอธิการบดี
อาจกําหนดให้ปฏิบัติแตกต่างจากที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามสมควร
แก่นักศึกษาผู้นั้นเป็นการเฉพาะรายก็ได้
ข้อ ๗๖ ในกรณีที่มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยหรือข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข
และวิธีจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีไว้เป็นการเฉพาะของคณะหรือหลักสูตร ให้ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยหรือข้อบังคับหลักสูตรที่กําหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้นก่อนแต่หากไม่มีกําหนดเรื่องใดไว้ให้ใช้ข้อบังคับนี้
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๗๗ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยก่อนปีการศึกษา ๒๕๖๑
ให้ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
ถึงฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อไปจนกว่าจะสําเร็จการศึกษา
ข้อ ๗๘ ให้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ มีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยในเรื่องเดียวกันขึ้นมาใหม่ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๐ (พร้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์
และคณะทันตแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๑ (พร้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
(๓) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
สองสถาบัน พ.ศ. ๒๕๕๓
(๔) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๒
(๕) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาสําหรับนักศึกษา
ชาวต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๕
ข้อ ๗๙[๑๑] กรณีหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติให้นักศึกษาลงทะเบียนการศึกษาแบบรายปีได้ให้นักศึกษา
ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยก่อนปีการศึกษา ๒๕๖๑ ตามข้อบังคับระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถลงทะเบียนการศึกษาแบบรายปี ตามข้อ ๗ และมีวิธีการวัดและประเมินผลการศึกษา ตามข้อ ๔๒ ของข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๑
[๒] ข้อ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๑
[๓] ข้อ ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๔] ข้อ ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๕] ข้อ ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๖] ข้อ ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๗] หมวดที่ ๗/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๘] ข้อ ๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๑
[๙] ข้อ ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๐] ข้อ ๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๑] ข้อ ๗๙ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๑