ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยกองทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๖
………………………………………………..
โดยที่เป็นการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
ของอาจารย์มหาวิทยาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๒ /๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์
“คณะต้นสังกัด” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย หรือสถาบันที่มีหน้าที่จัดการศึกษาซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้รับทุน
“ทุนการศึกษา” หมายความว่า ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์
“ผู้รับทุน” หมายความว่า อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีผู้รักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
การจัดตั้งกองทุน
ข้อ ๕ ให้จัดตั้งกองทุนเรียกว่า “กองทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ข้อ ๖ รายได้และทรัพย์สินของกองทุน มีดังนี้
(๑) เงินอุดหนุนที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ทุกปี
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๓) เงินหรือผลประโยชน์จากการลงทุน
(๔) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
(๕) เงินสมทบจากคณะต้นสังกัดของผู้รับทุน โดยหลักเกณฑ์และอัตราเงินสมทบจากคณะต้นสังกัด
ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ รายได้ของกองทุนให้จ่ายได้เฉพาะเพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและ
ตามรายการดังต่อไปนี้
(๑) จัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในประเทศ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในรายการ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) ค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา
(๑.๒) ค่าหนังสือ ค่าถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ประกอบการศึกษา
(๑.๓) ค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์
(๑.๔) ค่าตีพิมพ์บทความในวารสารระดับนานาชาติ
(๑.๕) ค่าใช้จ่ายในการไปเพิ่มพูนประสบการณ์ในต่างประเทศ
(๒) จัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ
สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในรายการ ดังต่อไปนี้
(๒.๑) ค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของนักเรียนทุนรัฐบาลตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายประจำเดือน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมในการศึกษา ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ค่าประกันสุขภาพ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดตามที่จ่ายจริง และเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลนักเรียน
(๒.๒) ค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์
(๒.๓) ค่าตีพิมพ์บทความในวารสารระดับนานาชาติ
(๒.๔) ค่าใช้จ่ายในการไปเพิ่มพูนประสบการณ์ในต่างประเทศ
(๓) ค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๘ หลักเกณฑ์ คุณสมบัติ วิธีการยื่นขอรับทุนการศึกษาและวิธีการคัดเลือกผู้ได้รับทุนการศึกษา ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การบริหารกองทุน
ข้อ ๙ ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองอธิการบดีที่รับผิดชอบงานด้านวิชาการ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ ๑
(๓) รองอธิการบดีที่รับผิดชอบงานด้านการวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นรองประธาน
คนที่ ๒
(๔) กรรมการอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสิบคน
(๕) ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิชาการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิชาการมอบหมายเจ้าหน้าที่กองบริหารงานวิชาการเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินจำนวนสองคน
อธิการบดีอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอื่นเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการบริหารกองทุนก็ได้
ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการตาม ข้อ ๙ (๔) มีวาระในการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการตาม ข้อ ๙ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๙ (๔) พ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ให้กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งมีวาระเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าหกสิบวัน จะไม่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ในกรณีที่กรรมการตามมข้อ ๙ (๔) พ้นจากตำแหน่งและยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๑๑ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดเป้าหมายและนโยบายการบริหารการจัดสรรทุนการศึกษา
(๒) กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๓) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๔) พิจารณาหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินของกองทุนเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๕) ดำเนินการเพื่อนำเงินรายได้ของกองทุนไปหารายได้หรือลงทุน
(๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๗) พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อให้เป็นไป
ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๘) พิจารณาจัดทำผลการดำเนินงานและรายงานฐานะการเงินประจำปีของกองทุนเพื่อเสนอ
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ
การจัดสรรเงินกองทุนตาม (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
โดยเสนอต่ออธิการบดีเพื่อออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการพิจารณาเงินกองทุนเพื่อประโยชน์แก่อาจารย์ที่ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจกำหนดวงเงินให้ประธานคณะกรรมการมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติได้
ข้อ ๑๓ ให้กองคลัง มีหน้าที่รับ จ่ายเงินและเก็บรักษาเงินกองทุน ตลอดจนการปฏิบัติทางบัญชี
ข้อ ๑๔ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุนนอกเหนือจากที่กำหนดไว้
ตามข้อบังคับนี้ ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ
และการบัญชี
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๕ การดำเนินการตามกองทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกของอาจารย์ที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกต่อไปจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จหรือสิ้นสุดลง
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย