ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๘
…………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๘ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๘ จึงเห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๘”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๔
(๓) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๕
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“คณะกรรมการประจำคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำวิทยาลัย สถาบัน
หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาหรือผู้อำนวยการ โครงการบริการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละคณะซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
“กรรมการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า กรรมการบัณฑิตศึกษาของแต่ละคณะซึ่งได้รับ
การแต่งตั้งจากคณบดี
“การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
หลักสูตรระดับปริญญาโท และหลักสูตรระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย
“หลักสูตร” หมายความว่า หลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“ภาคการศึกษา” หมายความว่า ภาคการศึกษาในระบบทวิภาคหรือในระบบไตรภาค แต่ไม่รวมภาคฤดูร้อน
“สถาบันอุดมศึกษาอื่น” หมายความว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับการจัดตั้งตามกฎหมายของไทยที่มีมาตรฐานและมหาวิทยาลัยรับรอง หรือเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยรับรอง
“ข้อกำหนดหลักสูตร” หมายความว่า ข้อกำหนดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการศึกษาของหลักสูตรตามที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานทะเบียนนักศึกษา
“การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต” หมายความว่า การเทียบโอนรายวิชาสำหรับการศึกษา
ในระบบในกรณีที่นักศึกษาได้ศึกษารายวิชามาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น
“การเทียบโอนความรู้” หมายความว่า การนำความรู้จากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมาเทียบโอนเป็นรายวิชาและหน่วยกิตของหลักสูตร
“การศึกษานอกระบบ” หมายความว่า การศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
“การศึกษาตามอัธยาศัย” หมายความว่า การศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม
สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น
“การปฏิบัติงานในสถานประกอบการ” หมายความว่า การศึกษาในลักษณะการเรียนรู้
จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นที่มีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย
เพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ได้
หมวด ๑
ระบบการจัดการศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา
ข้อ ๖ มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาด้วยหลักการประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
คณะใดมีหน้าที่จัดการศึกษาในวิชาการด้านใดให้จัดการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทุกคณะ คณะอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชานั้น หากมีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องจัดการสอนรายวิชานั้นเองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีสองระบบ ดังต่อไปนี้
(๑) ระบบทวิภาคเป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสองภาคการศึกษา คือ ภาคการศึกษา
ที่หนึ่งและภาคการศึกษาที่สอง และอาจมีภาคฤดูร้อนต่อจากภาคการศึกษาที่สองด้วยก็ได้
(๒) ระบบไตรภาคเป็นการจัดการศึกษาที่หนึ่งปีการศึกษามีสามภาคการศึกษา คือ ภาคการศึกษาที่หนึ่ง ภาคการศึกษาที่สอง และภาคการศึกษาที่สาม
การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งอาจออกแบบวิธีการเรียนการสอนโดยแบ่งช่วงการศึกษา
ตามหัวข้อการศึกษาที่มีปริมาณการเรียนรู้เทียบเท่าระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาคแล้วแต่กรณี
หลักสูตรการศึกษาใดจะจัดการศึกษาในระบบตามวรรคหนึ่งให้เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๘ ระบบทวิภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าสัปดาห์ และในภาคฤดูร้อนให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคการศึกษา
ระบบไตรภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบสองสัปดาห์และไม่เกินสิบสี่สัปดาห์
ในแต่ละรายวิชาที่เปิดสอนอาจใช้ระยะเวลาศึกษาแตกต่างจากวรรคหนึ่งหรือวรรคสองก็ได้
แต่ต้องมีปริมาณการศึกษาต่อหนึ่งหน่วยกิตไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐
ข้อ ๙ วันเวลาในการดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปตามที่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนด
ข้อ ๑๐ หน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตรให้คำนวณตามปริมาณการศึกษาโดยหนึ่งหน่วยกิตเท่ากับปริมาณการศึกษา ดังต่อไปนี้
(๑) ระบบทวิภาค
(๑.๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๑.๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสามสิบชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๑.๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๑.๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายให้มีเวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๑.๕) การทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า
ไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒) ระบบไตรภาค
(๒.๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒.๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒.๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒.๔) การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายให้มีเวลาทำโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
(๒.๕) การทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า
ไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
ข้อ ๑๑ การกำหนดจำนวนหน่วยกิตรวมและรูปแบบการจัดการศึกษาของหลักสูตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่หน่วยกิต
หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าสามสิบหน่วยกิต
(๒) หลักสูตรระดับปริญญาโทระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่าสามสิบหกหน่วยกิต หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าหน่วยกิต จัดการศึกษาได้สองแผน ดังต่อไปนี้
(๒.๑) แผนหนึ่งแบบวิชาการเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้การทำวิจัยโดยแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ ดังต่อไปนี้
(๒.๑.๑) แผนการศึกษาที่ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์อย่างเดียว
(๒.๑.๒) แผนการศึกษาที่ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์ โดยมีจำนวนหน่วยกิตสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ของระบบทวิภาคไม่น้อยกว่าสิบสองหน่วยกิต หรือไม่น้อยกว่าสิบห้าหน่วยกิตในระบบไตรภาค
(๒.๒) แผนสองแบบวิชาชีพเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษารายวิชาและการค้นคว้าอิสระเชิงการประยุกต์ใช้ความรู้ในวิชาชีพโดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ โดยมีจำนวนหน่วยกิตวิชาการค้นคว้าอิสระระบบทวิภาคไม่น้อยกว่าสามหน่วยกิตแต่ไม่เกินหกหน่วยกิต หรือไม่น้อยกว่าสี่หน่วยกิตแต่ไม่เกินเจ็ดหน่วยกิต
ในระบบไตรภาค
(๓) หลักสูตรระดับปริญญาเอก ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทต้องมีจำนวนหน่วยกิต
รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดหน่วยกิต และผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองหน่วยกิต จัดการศึกษาได้เป็นสองแผน ดังต่อไปนี้
(๓.๑) แผนหนึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ โดยคณะอาจกำหนดให้ศึกษารายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับ
หน่วยกิตแต่ต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามข้อกำหนดหลักสูตรแบ่งเป็นสองแผน ดังนี้
(๓.๑.๑) แผนหนึ่งจุดหนึ่ง ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดหน่วยกิต
(๓.๑.๒) แผนหนึ่งจุดสอง ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองหน่วยกิต
(๓.๒) แผนสองเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง
และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพและศึกษารายวิชาเพิ่มเติมแบ่งเป็นสองแผน ดังนี้
(๓.๒.๑) แผนสองจุดหนึ่ง ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่าสามสิบหกหน่วยกิตและศึกษารายวิชาอีกไม่น้อยกว่าสิบสองหน่วยกิต
(๓.๒.๒) แผนสองจุดสอง ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดหน่วยกิต และศึกษารายวิชาอีกไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่หน่วยกิต
ข้อ ๑๒ คณะอาจกำหนดให้นักศึกษามีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่แนะนำ หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการเรียน และการดำเนินการอื่นเพื่อดูแลความประพฤติและการติดตามผลการเรียนของนักศึกษา
หมวด ๒
การเปลี่ยนแผนการศึกษาและการเปลี่ยนระดับการศึกษา
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่คณะจัดการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งสองแผนการศึกษาควบคู่กัน นักศึกษาอาจขอเปลี่ยนแผนการศึกษาโดยยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยนักศึกษาที่ศึกษาในแผนหนึ่ง
แบบวิชาการ ต้องยื่นคำร้องก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ และนักศึกษาที่ศึกษาในแผนสองแบบวิชาชีพต้องยื่น
คำร้องก่อนการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๑๔ นักศึกษาที่ศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาใดอาจเปลี่ยนไปศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกัน หรือนักศึกษาที่ศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาใดอาจเปลี่ยนไปศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเดียวกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตรที่จะขอเปลี่ยนเข้าศึกษานั้น
การขอเปลี่ยนระดับการศึกษาตามวรรคหนึ่งให้นักศึกษายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่จะขอเปลี่ยนเข้าศึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในหลักสูตรเดิมก่อนเปลี่ยนระดับการศึกษา
หมวด ๓
ระยะเวลาการศึกษา
ข้อ ๑๕ ระยะเวลาที่ใช้ศึกษาสูงสุดต้องไม่เกินสองเท่าของระยะเวลาการศึกษาของหลักสูตร หากต้องการกำหนดระยะเวลาการศึกษาไว้น้อยกว่าหรือมากกว่าต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยและกำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
นักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาเกินกว่าสองเท่าของระยะเวลาการศึกษาของหลักสูตรหรือเกินกว่าระยะ
เวลาตามข้อกำหนดหลักสูตรต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๑๖ ในกรณีที่นักศึกษาในหลักสูตรหนึ่งขอย้ายไปศึกษาในอีกหลักสูตรหนึ่งให้นับระยะเวลาการศึกษาในหลักสูตรเดิมรวมกับระยะเวลาการศึกษาในหลักสูตรที่ย้ายไปด้วย
ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ศึกษาครบตามโครงสร้างหลักสูตรและสอบผ่านวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระและครบระยะเวลาตามข้อ ๑๕ แล้ว แต่ยังรอหนังสือตอบรับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ นักศึกษาอาจขอขยายระยะเวลาการศึกษาโดยยื่นคำร้องต่อคณบดีเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาต่อไปจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่
นอกจากการขอขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง นักศึกษาซึ่งประสบปัญหาสุขภาพหรือมีเหตุสุดวิสัยอาจขอขยายระยะเวลาการศึกษาต่อไปได้คราวละสองภาคการศึกษา แต่ไม่เกินสี่ภาคการศึกษาได้
นักศึกษาซึ่งประสงค์จะขอขยายระยะเวลาการศึกษาตามวรรคหนึ่งให้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อคณบดีพิจารณาเสนอความเห็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนครบกำหนดระยะเวลาการศึกษาหรือไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาการศึกษาตามข้อ ๑๕
ข้อ ๑๘ นักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาเกินกว่าระยะเวลาตามข้อ ๑๕ และไม่ได้รับการขยายเวลา
ตามข้อ ๑๗ ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
หมวด ๔
การรับเข้าศึกษา
ข้อ ๑๙ การคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตรสาขาวิชานั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
นอกจากการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว คณะอาจรับบุคคลเข้าศึกษาโดยวิธีการอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
ข้อ ๒๐ นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
(๒) มีคุณสมบัติด้านภาษาต่างประเทศตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
(๓) ไม่เป็นผู้ป่วยหรืออยู่ในสภาวะที่จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการศึกษา
(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีหรือมีพฤติกรรมเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
(๕) ต้องไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นเพราะมีความผิด
ทางวินัยภายในระยะเวลาสิบปีก่อนการสมัครเข้าเป็นนักศึกษา
นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาใด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามข้อกำหนดหลักสูตรที่เข้าศึกษาและตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรับเข้าศึกษาด้วย
การกำหนดคุณสมบัติตาม (๑) อาจกำหนดระดับผลการศึกษาหรือคะแนนเฉลี่ยสะสมจากการศึกษาได้เท่าที่จำเป็นเพื่อคัดกรองความรู้หรือความสามารถในการศึกษาในหลักสูตรนั้นได้โดยกำหนดในข้อกำหนดหลักสูตร ในกรณีที่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดให้ต้องมีผลการศึกษาชั้นปริญญาตรีอยู่ในระดับดีมากให้ถือว่าผู้ที่ได้คะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๒๕ ขึ้นไป มีผลการศึกษาอยู่ในระดับดีมาก
ข้อ ๒๑ การกำหนดคุณสมบัติตามข้อ ๒๐ (๑) ในข้อกำหนดหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
ข้อ ๒๒ นักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะเข้าศึกษาในอีกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมิได้ เว้นแต่การศึกษาในหลักสูตรเดิมจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาในหลักสูตรที่จะเข้าศึกษา อธิการบดีอาจอนุมัติให้เข้าศึกษาได้อีกหลักสูตรหนึ่งได้
หมวด ๕
การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
ข้อ ๒๓ ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่นายทะเบียนกำหนดภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจำเป็น
นายทะเบียนอาจอนุญาตผ่อนผันการขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาแรกของปีที่เข้าศึกษา
ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาโดยใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศต้องยื่นใบสำคัญแสดงวุฒิการศึกษาต่อคณะในวันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วย แต่หากยังไม่สามารถนำส่งได้ นายทะเบียนอาจผ่อนผันให้นำมาส่งในภายหลัง แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาแรกของปีที่เข้าศึกษา หากพ้นกำหนดเวลาที่ผ่อนผันให้แล้วยังไม่อาจนำส่งได้ให้นายทะเบียนเพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษา
ข้อ ๒๔ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาสังกัดหลักสูตรใดแล้วจะย้ายหลักสูตรมิได้ เว้นแต่มีเหตุผลและความจำเป็นให้นักศึกษายื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลต่อคณบดีเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะ
การขอย้ายหลักสูตรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะของหลักสูตร
ที่จะขอย้ายไปศึกษา เมื่อได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งแล้วให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ในหลักสูตรเดิมด้วย
ข้อ ๒๕ หากมีการตรวจพบว่าผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามข้อ ๒๐ หรือได้ใช้เอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนอันเป็นเท็จ ให้นายทะเบียนเสนอต่ออธิการบดีเพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษาผู้นั้น
หากมีกรณีตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นเมื่อผู้กระทำผิดได้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ให้อธิการบดีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญาบัตรของผู้นั้น
หมวด ๖
การลงทะเบียนเรียน
ข้อ ๒๖ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการลงทะเบียนศึกษารายวิชา และวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
และการค้นคว้าอิสระสำหรับแต่ละภาคการศึกษาให้เสร็จก่อนวันเปิดภาคการศึกษานั้น
เพื่อคุณภาพของการจัดการศึกษา คณบดีอาจกำหนดเงื่อนไขหรือจํากัดจำนวนนักศึกษา
ที่จะลงทะเบียนเรียนในรายวิชาใดก็ได้โดยออกเป็นประกาศคณะ
การประกาศเปิดวิชาเพิ่มหรือปิดรายวิชาใดที่มีนักศึกษาลงทะเบียนแล้วจะต้องกระทําภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือสี่วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
ข้อ ๒๗ การลงทะเบียนเรียนรายวิชาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร นักศึกษารายใดประสงค์ลงทะเบียนเรียนรายวิชาใดที่มีเงื่อนไขก่อนการลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้น
นักศึกษารายนั้นอาจได้รับการยกเว้นโดยปฏิบัติตามประกาศมหาวิทยาลัย
การลงทะเบียนเรียนให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดการที่อธิการบดี
ประกาศกำหนด
หากนักศึกษามีหนี้สินใด ๆ กับมหาวิทยาลัย จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ ลงทะเบียนเรียนได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ภายหลังจากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว นักศึกษาต้องดำเนินการตรวจสอบผล
การลงทะเบียนของตนเองด้วยภายในระยะเวลาตามสมควร หากพบความผิดพลาดให้ขออนุมัติแก้ไข
การลงทะเบียนเรียนต่อคณบดี ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานมาแสดงเพื่อประกอบการพิจารณาของคณบดีด้วย
เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้แจ้งสำนักงานทะเบียนนักศึกษาดำเนินการเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนเรียนรายวิชา
ให้ถูกต้องต่อไป
นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาไม่ทันกำหนดการตามวรรคหนึ่ง นักศึกษาอาจขอลงทะเบียนล่าช้าได้ แต่ต้องดำเนินการภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษานั้น หรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิด
ภาคฤดูร้อนนั้น และต้องชำระค่าปรับการลงทะเบียนเรียนล่าช้าเป็นรายวันตามอัตราที่ประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
ข้อ ๒๘ จำนวนหน่วยกิตในการลงทะเบียนเรียนสูงสุดในแต่ละภาคการศึกษาให้เป็นไปตามข้อกำหนดหลักสูตรหรือที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะประกาศกำหนด
ข้อ ๒๙ นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและระดับปริญญาโทที่ศึกษาในรายวิชา
ที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตรได้อักษรไม่ต่ำกว่า C หรือ S จะลงทะเบียนในรายวิชานั้นอีกไม่ได้
เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
นักศึกษาได้อักษรต่ำกว่า C หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตรให้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นได้อีกหนึ่งครั้ง หากในการลงทะเบียนเรียนครั้งหลังยังได้อักษรต่ำกว่า C หรือ U อีก
ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
นักศึกษาที่ได้อักษรต่ำกว่า C หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร C ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็นรายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๓๐ นักศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาเอกที่ศึกษาในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตรได้อักษรไม่ต่ำกว่า B หรือ S จะลงทะเบียนในรายวิชานั้นอีกไม่ได้ เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
นักศึกษาได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตรให้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นได้อีกเพียงหนึ่งครั้ง หากในการลงทะเบียนเรียนครั้งหลังยังได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U อีก ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
นักศึกษาที่ได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร B ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็นรายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๓๑ นักศึกษาผู้ใดไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใดและไม่ได้ขอลาพักการศึกษา
ตามข้อ ๘๕ ให้ถอนชื่อนักศึกษาผู้นั้นออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๓๒ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาไปลงทะเบียนเรียนในรายวิชา
ที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นเปิดสอนโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรของนักศึกษาผู้นั้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาที่นักศึกษา
ไปศึกษา
(๒) นักศึกษามีข้อตกลงรับทุนเพื่อไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่นจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคประชาชน หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
(๓) นักศึกษามีความประสงค์จะไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น
ข้อ ๓๓ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาอื่น หรือมีข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นที่มีวัตถุประสงค์ให้มหาวิทยาลัยหรือคณะรับบุคคลเข้าศึกษาในรายวิชาของมหาวิทยาลัยหรือคณะ อธิการบดีอาจอนุมัติให้ผู้ซึ่งมิได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงทะเบียนเรียนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยก็ได้
ผู้ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตรา
ที่ประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
หมวด ๗
การลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มและการถอนรายวิชา
ข้อ ๓๔ การลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มภายหลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้วให้กระทำได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร คณบดีอาจอนุมัติให้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวได้
แต่ต้องไม่เกินวันปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ต้องมีเวลาเรียนตลอดภาคการศึกษาตามข้อกำหนดหลักสูตรและรายวิชา
การลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนในรายวิชา
นั้นก่อน และการลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาต้องชำระค่าปรับการลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพิ่มล่าช้าเป็นรายวันตามอัตราที่ประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
ข้อ ๓๕ การขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การขอถอนภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้ลบรายวิชานั้นออก
(๒) การขอถอนเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา
หรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชานั้น
(๓) การขอถอนเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) แต่ไม่เกินวันปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
จะกระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นโดยได้รับอนุมัติจากคณบดีโดยข้อเสนอของอาจารย์ผู้สอนในรายวิชา
ที่ขอถอน เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชานั้น
หมวด ๘
การโอนรายวิชาและหน่วยกิต
ข้อ ๓๖ นักศึกษาอาจขอโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาในหลักสูตรดังต่อไปนี้
มาเป็นรายวิชาของหลักสูตรที่กำลังศึกษา
(๑) หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการศึกษาหรือจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่น
(๒) หลักสูตรปริญญาโทซึ่งต่อยอดจากการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาเดียวกัน
ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะมีอำนาจอนุมัติการโอนรายวิชา
และหน่วยกิต
ข้อ ๓๗ การโอนรายวิชาและหน่วยกิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๓๖ (๑) ให้โอนได้ไม่จํากัดจำนวน และโอนได้เฉพาะรายวิชา (course work)
(๒) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๓๖ (๒) ให้โอนได้ไม่เกินร้อยละสี่สิบ ของจำนวนหน่วยกิตในหลักสูตรที่กำลังศึกษา
(๓) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาบังคับและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปี
นับจากภาคการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านจนถึงวันที่ขอโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๔) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาเลือกและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินสิบปี
นับจากภาคการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านจนถึงวันที่ขอโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๕) กรณีการศึกษาระดับปริญญาโทและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตรายวิชาและหน่วยกิต
ที่จะโอนต้องมีผลการศึกษาอักษร C ขึ้นไปหรือเทียบเท่า หรืออักษร S
(๖) กรณีการศึกษาระดับปริญญาเอกรายวิชาและหน่วยกิตที่จะโอนต้องมีผลการศึกษาอักษร B ขึ้นไป หรือเทียบเท่า หรืออักษร S
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ
อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง
กับความในวรรคหนึ่งโดยออกเป็นประกาศคณะและรายงานอธิการบดีเพื่อพิจารณาตรวจสอบและทักท้วง
ข้อ ๓๘ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้โอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๓๖ (๑) ให้บันทึกตามผลการศึกษาที่ได้
(๒) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๓๖ (๒) ให้บันทึกด้วยอักษร ACC
หมวด ๙
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตและการเทียบโอนความรู้
ข้อ ๓๙ ให้คณะกรรมการนโยบายวิชาการทำหน้าที่กำกับดูแลระบบและกลไกการเทียบโอน
ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน และให้คณะกรรมการระดับคณะและระดับหลักสูตรทำหน้าที่ทดสอบและประเมินผลการเทียบโอน โดยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ข้อ ๔๐ การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตสำหรับการศึกษาในระบบ และการเทียบโอนความรู้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตร
ข้อ ๔๑ นักศึกษาอาจขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่มีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่า
และมีเกณฑ์การประเมินผลหรือวัดผลได้มาตรฐานเทียบเท่ากับรายวิชาในหลักสูตรที่ศึกษาอยู่ได้ โดยให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะมีอำนาจอนุมัติการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมรายวิชาหรือกลุ่มวิชาที่ขอเทียบโอน
(๒) ต้องมิใช่รายวิชาในหลักสูตรที่นักศึกษาผู้นั้นเคยถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษามาก่อน
(๓) ต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปีนับจากภาคการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านจนถึงวันที่ขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๔) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ B ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
(๕) ต้องเป็นรายวิชาที่ศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาและเทียบได้เฉพาะหน่วยกิตรายวิชา (course work) เท่านั้น
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ
อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในวรรคหนึ่งโดยออกเป็นประกาศคณะและรายงานอธิการบดีเพื่อพิจารณาตรวจสอบและทักท้วง
ข้อ ๔๒ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับกรณีนักศึกษาที่ไปศึกษาตามโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตที่มีการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ให้บันทึกผลการศึกษาตามที่ได้ หรือในรายวิชาที่มีผลการศึกษาได้อักษร B ขึ้นไป อาจบันทึกอักษร ACC ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะประกาศกำหนด
(๒) สำหรับกรณีนักศึกษาอื่นนอกจาก (๑) ให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่มีผลการศึกษา
ที่ได้อักษร B ขึ้นไป
ข้อ ๔๓ การเทียบโอนความรู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
ข้อ ๔๔ ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะมีอำนาจอนุมัติการเทียบโอนความรู้ โดยให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนความรู้
เป็นอักษร ACC
หมวด ๑๐
การสอบประมวลความรู้และการสอบวัดคุณสมบัติ
ข้อ ๔๕ การสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การสอบประมวลความรู้ทำได้โดยการสอบข้อเขียน หรือสอบปากเปล่า หรือทั้งสองอย่างตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
(๒) นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบประมวลความรู้ตามข้อกำหนดหลักสูตรและยื่น
ความจำนงต่อคณะเพื่อขอสอบ
(๓) การจัดสอบประมวลความรู้ให้กระทำได้ไม่เกินปีการศึกษาละสามครั้ง
(๔) ให้มีคณะกรรมการสอบประมวลความรู้ที่คณบดีแต่งตั้งมีหน้าที่ดำเนินการสอบประมวลความรู้และกำหนดผลการสอบประมวลความรู้
(๕) ให้กำหนดผลการสอบเป็นอักษร P (ผ่าน) หรือ N (ไม่ผ่าน)
(๖) นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้อักษร P (ผ่าน) ภายในจำนวนไม่เกินสามครั้ง
เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้น้อยกว่าสามครั้งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตรนั้น หากไม่สามารถสอบผ่านได้ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งให้บันทึกไว้ในใบแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๔๖ การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การสอบทำได้โดยการสอบข้อเขียนหรือสอบปากเปล่า หรือทั้งสองอย่างตามหลักเกณฑ์การสอบที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
(๒) นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบวัดคุณสมบัติตามข้อกำหนดหลักสูตรและยื่น
ความจำนงต่อคณะเพื่อขอสอบ
(๓) นักศึกษาต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ได้อักษร P (ผ่าน) ภายในจำนวนไม่เกินสามครั้ง
เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้น้อยกว่าสามครั้ง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดหลักสูตรนั้น หากไม่สามารถสอบผ่านได้ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งให้บันทึกไว้ในใบแสดงผลการศึกษา
หมวด ๑๑
การทำและการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๔๗ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท แผนหนึ่งแบบวิชาการ ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้น
การเรียนรู้การทำวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว สามารถลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้ตั้งแต่
ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท แผนหนึ่งแบบวิชาการ ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้
การทำวิจัยโดยมีทั้งการศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์ สามารถลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดหลักสูตร และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ ยกเว้นในกรณีหลักสูตรกำหนดให้ศึกษารายวิชาไม่เกิน ๑๒ หน่วยกิต นักศึกษาสามารถลงทะเบียนวิทยานิิพนธ์ได้ตั้งแต่ภาคแรกที่เข้าศึกษา
นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท แผนสองแบบวิชาชีพ ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษารายวิชา
และการค้นคว้าอิสระ สามารถลงทะเบียนทำสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระได้เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดหลักสูตรและได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
ข้อ ๔๘ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก แผนหนึ่ง ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัย
โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ สามารถลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก แผนสอง ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมี
การทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูงและก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพและศึกษารายวิชาเพิ่มเติม สามารถลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดหลักสูตร
และสอบวัดคุณสมบัติได้อักษร P (ผ่าน) โดยได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
ข้อ ๔๙ เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระครบจำนวนหน่วยกิตตามข้อกำหนดหลักสูตรในภาคการศึกษาใดแล้ว จะต้องยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระในภาคการศึกษานั้น
ข้อ ๕๐ กรณีที่นักศึกษาได้หน่วยกิตสะสมของรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว แต่ยังลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระไม่ได้ เพราะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามข้อ ๔๗ และข้อ ๔๘ นักศึกษาผู้นั้นต้องรักษาสถานภาพนักศึกษาและชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาทุกภาคการศึกษาที่ไม่มีการลงทะเบียน
การรักษาสถานภาพให้นักศึกษาทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะ
ข้อ ๕๑ การสอบวิทยานิพนธ์ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมโดยพิจารณาแต่งตั้งจากการหารือร่วมกันระหว่างนักศึกษาและผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมเพื่อทำหน้าที่แนะนำการเขียนวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา
ให้คณบดีพิจารณาแต่งตั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา ในกรณีที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกให้แต่งตั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร หรืออาจารย์ประจำหรือนักวิจัยประจำของมหาวิทยาลัยหรือผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมให้แก่นักศึกษาด้วย
คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นคณบดีอาจเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์
ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมได้
ข้อ ๕๒ คณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ประกอบด้วย ประธาน
และกรรมการรวมไม่น้อยกว่าสามคนซึ่งแต่งตั้งจากอาจารย์ประจำหรือนักวิจัยประจำของมหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
คุณสมบัติของคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด
ข้อ ๕๓ คณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ประกอบด้วย ประธาน
และกรรมการรวมไม่น้อยกว่าห้าคน ซึ่งแต่งตั้งจากอาจารย์ประจำหรือนักวิจัยประจำของมหาวิทยาลัย
และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสองคน อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม
คุณสมบัติของคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด
ข้อ ๕๔ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้แต่งตั้งเมื่อนักศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์
แล้วเสร็จและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์พิจารณาแล้วเห็นควรให้เข้าสอบ
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้แต่งตั้งจากคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอาจไม่แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการก็ได้
คุณสมบัติของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐาน
การอุดมศึกษากำหนด
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นคณบดีอาจเปลี่ยนกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ได้
ข้อ ๕๕ การสอบวิทยานิพนธ์จะต้องมีกรรมการในคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ครบทุกคน
จึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการมาไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป
การสอบวิทยานิพนธ์อาจใช้การสอบโดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้ เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๕๖ การวัดผลวิทยานิพนธ์ ให้แบ่งเป็นสองระดับ คือ ในกรณีใช้ได้ให้ได้อักษร S หรือในกรณีใช้ไม่ได้ให้ได้อักษร U
ข้อ ๕๗ การสอบสารนิพนธ์หรือการสอบค้นคว้าอิสระให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษา
สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระโดยพิจารณาแต่งตั้งจากการหารือร่วมกันระหว่างนักศึกษาและผู้ที่จะได้รับ
การแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเพื่อทำหน้าที่แนะนำการเขียนสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระให้แก่นักศึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระและคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระให้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นคณบดีอาจเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระได้
ข้อ ๕๘ เมื่อนักศึกษาจัดทำเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเสร็จแล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระอย่างน้อยสองคน ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระที่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร หรือผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเพื่อร่วมกันสอบ
เค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระโดยมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้แต่งตั้งเมื่อนักศึกษาได้ทำ
สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระแล้วเสร็จและอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ พิจารณาแล้วเห็นควรให้เข้าสอบ
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระให้แต่งตั้งจากคณะกรรมการสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอาจไม่แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเป็นกรรมการในคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระและแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นคณบดีอาจเปลี่ยนกรรมการสอบสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระได้
ข้อ ๕๙ การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระจะต้องมีกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระครบทุกคนจึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป
การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระอาจใช้การสอบโดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้
เว้นแต่ข้อกำหนดหลักสูตรกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๖๐ การวัดผลสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้แบ่งเป็นสองระดับ คือ ในกรณีใช้ได้
ให้ได้อักษร S หรือในกรณีใช้ไม่ได้ให้ได้อักษร U หรือวัดผลเป็นค่าระดับตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหลักสูตร
ข้อ ๖๑ หลักเกณฑ์และวิธีการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และการสอบสารนิพนธ์และการสอบ
การค้นคว้าอิสระให้เป็นไปตามที่อธิการบดีประกาศกำหนด
ข้อ ๖๒ การจัดทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระให้เป็นไปตามแบบที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศกำหนด
ลิขสิทธิ์ผลงานวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และมหาวิทยาลัยอาจใช้หรือมีลิขสิทธิ์ได้โดยการทำเป็นข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากร
ข้อ ๖๓ เมื่อนักศึกษาได้ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระที่มีการวัดผลเป็นอักษร S หรืออักษร U แล้ว ให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ประเมินความก้าวหน้าการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระของนักศึกษาได้ตามที่เห็นสมควร
และเมื่อสิ้นภาคการศึกษาให้รายงานและส่งผลการประเมินความก้าวหน้าให้คณบดีเพื่อจัดส่งให้สำนักงานทะเบียนนักศึกษาบันทึกผลไว้ในใบแสดงผลการศึกษาเป็นรายภาคการศึกษา
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระของนักศึกษา คณบดีอาจแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ประเมินร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระด้วยก็ได้
หลักเกณฑ์การประเมินความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้เป็นไปตามประกาศของแต่ละคณะหรือประกาศของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ต้องประกาศให้นักศึกษาทราบล่วงหน้า
ข้อ ๖๔ ผลการประเมินความก้าวหน้าการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้ประเมินด้วยอักษรอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) “NP” (No Progress) หมายถึง ไม่มีความก้าวหน้า จำนวนหน่วยกิตที่ได้มีค่าเป็น ๐ (ศูนย์)
(๒) “U” (Unsatisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจำนวนหน่วยกิต
ที่กำหนดในหลักสูตร แต่ผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ไม่ได้”
(๓) “SP” (Satisfactory and Progress) หมายถึง มีความก้าวหน้า โดยระบุจำนวนหน่วย
กิตของนักศึกษาแต่ละคนตามความก้าวหน้าของผลงานในแต่ละภาคการศึกษา แต่ไม่เกินจำนวนหน่วยกิต
ที่ลงทะเบียนในแต่ละภาคการศึกษา
(๔) “S” (Satisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด
ในหลักสูตร และผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ได้”
ข้อ ๖๕ นักศึกษาที่ได้รับผลการประเมินความก้าวหน้าเป็นอักษร NP ติดต่อกันสองครั้ง
ในการลงทะเบียนครั้งต่อไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการสอบ
ในกรณีที่มีการลาพักการศึกษาในภาคการศึกษาต่อจากภาคการศึกษาที่ได้อักษร NP
และในภาคการศึกษาถัดจากภาคการศึกษาที่ลาพักการศึกษายังได้อักษร NP อีก ให้ถือว่าเป็นการได้อักษร NP สองครั้งติดต่อกัน
ข้อ ๖๖ ในกรณีที่ผลการประเมินผลความก้าวหน้าของนักศึกษาที่ได้อักษร NP ให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ หรือคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
(๒) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
(๓) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
ในกรณีที่การได้อักษร NP เกิดจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในหัวข้อเรื่องของนักศึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษา หรือไม่ตรงกับประเด็นตามความสนใจหรือความถนัดของนักศึกษา
คณบดีโดยข้อเสนอของนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คณะกรรมการสอบเค้าโครง วิทยานิพนธ์
สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
หรือผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาอาจพิจารณาแก้ไขโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เปลี่ยนหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
(๒) เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
(๓) ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระ หรือคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๖๗ นักศึกษาที่ได้รับผลการสอบวิทยานิพนธ์เป็นอักษร U ต้องถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
นักศึกษาที่ได้รับผลการสอบสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ เป็นอักษร U หรือ F ต้องถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
หมวด ๑๒
อักษรแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๖๘ ผลการศึกษาของแต่ละรายวิชาแบ่งออกเป็นสองประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ผลการศึกษารายวิชาที่มีค่าระดับและนำมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยมีอักษรความหมาย และค่าระดับ ดังต่อไปนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ ค่าระดับ
A ผลการประเมินขั้นชั้นเลิศ Excellent ๔.๐
A- ผลการประเมินค่อนข้างขั้นชั้นเลิศ Almost Excellent ๓.๖๗
B+ ผลการประเมินขั้นดีมาก Very Good ๓.๓๓
B ผลการประเมินขั้นดี Good ๓.๐๐
B- ผลการประเมินค่อนข้างขั้นดี Fairly Good ๒.๖๗
C+ ผลการประเมินขั้นดีพอใช้ Almost Good ๒.๓๓
C ผลการประเมินขั้นพอใช้ Fair ๒.๐๐
D ผลการประเมินขั้นอ่อน Poor ๑.๐๐
F ผลการประเมินขั้นตก Failed ๐
(๒) ผลการศึกษาที่ไม่มีค่าระดับและไม่นำมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยมีอักษรและความหมาย ดังต่อไปนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ
P ผ่าน Pass
N ไม่ผ่าน Not Pass
S ใช้ได้ Satisfactory
U ใช้ไม่ได้ Unsatisfactory
ACC ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่าน Accreditation
การทดสอบเทียบความรู้หรือใช้ผล
การสอบในรายวิชาที่นับหน่วยกิต
หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิต
I การวัดผลไม่สมบูรณ์ Incomplete
W การถอนรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ Withdraw
AUD การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา Audit
ข้อ ๖๙ อักษร P หรือ N ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่กำหนดให้มีผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต
ผลการศึกษาระดับผ่านให้ใช้อักษร P และระดับไม่ผ่านให้ใช้อักษร N
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษาวิชาเสริมหลักสูตร ถ้านักศึกษาผู้นั้นสอบได้ตั้งแต่อักษร C ให้ถือว่าสอบได้อักษร P ถ้าได้ต่ำกว่าอักษร C ให้ถือว่าได้อักษร N ในวิชานั้น
ข้อ ๗๐ การวัดผลการศึกษาของนักศึกษาทุกรายวิชาทุกครั้งต้องบันทึกไว้ในระเบียน เว้นแต่วิชาภาษาต่างประเทศซึ่งจะบันทึกเมื่อนักศึกษาสอบได้อักษร P (ผ่าน) หรือเมื่อการสอบหรือการอบรมครั้งนั้นเป็นการสอบหรือการอบรมครั้งสุดท้ายของนักศึกษาเท่านั้น
ข้อ ๗๑ อักษร S หรือ U ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่นับหน่วยกิตและกำหนดให้มีผล การศึกษาเป็นระดับใช้ได้หรือระดับใช้ไม่ได้
ผลการศึกษาระดับใช้ได้ให้ใช้อักษร S และระดับใช้ไม่ได้ให้ใช้อักษร U
ข้อ ๗๒ อักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่ให้นักศึกษาสามารถนำผลการทดสอบเทียบความรู้
หรือคะแนนการทดสอบอื่นมาใช้แทนการศึกษาในรายวิชานั้นได้หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต โดยอักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่นำมานับหน่วยกิต
ข้อ ๗๓ อักษร I ให้ใช้กับรายวิชาที่การวัดผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์ และเป็นการบันทึกไว้
เป็นการชั่วคราว
นักศึกษาที่ได้อักษร I ในรายวิชาใดให้อาจารย์ผู้สอนดำเนินการวัดผลในรายวิชานั้นให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา หรือสามสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษาสำหรับภาคฤดูร้อน
แต่หากไม่สามารถดำเนินการวัดผลได้ทันโดยที่ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้สอน ให้อาจารย์ผู้สอนกำหนดผลการศึกษาของนักศึกษาผู้นั้นจากคะแนนสอบหรือคะแนนการวัดผลการศึกษาโดยวิธีการอื่นเท่าที่นักศึกษาผู้นั้นมีอยู่
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา หรือสามสิบวันนับแต่วันปิดภาคฤดูร้อน หากยังไม่มีการดำเนินการตามวรรคสองให้บันทึกอักษร W
ข้อ ๗๔ อักษร W ให้ใช้ได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ในรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร I และอาจารย์ผู้สอนยังไม่ได้กำหนดผลการศึกษาภายใน
หกสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษา หรือสามสิบวันวันนับแต่วันปิดภาคฤดูร้อน
(๒) ในรายวิชาที่นักศึกษาขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณบดี
หรืออธิการบดีแล้วแต่กรณี
(๓) ได้รับอนุมัติให้ถอนรายวิชาตามข้อ ๓๕ (๒) และ ๓๕ (๓)
(๔) ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามข้อ ๘๖ (๒) และ ๘๖ (๓)
ในกรณีตาม (๒) นักศึกษาต้องยื่นคำร้องขออนุมัติเพื่อบันทึกอักษร W ต่อคณบดี
ผ่านอาจารย์ผู้สอนภายในสิบวันนับแต่วันสอบ หากยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวและคณบดีเห็นว่า
มีเหตุผลอันสมควรให้รายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๗๕ อักษร AUD กระทำได้ในรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อการเสริมความรู้
โดยไม่ต้องมีการวัดผลและมีเวลาเรียนในรายวิชานั้นตามข้อกำหนดหลักสูตรและรายวิชา
นักศึกษาที่ประสงค์จะลงทะเบียนเพื่อเสริมความรู้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการ
โครงการหรือผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาและอาจารย์ผู้สอน และชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่ประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
เมื่อลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเพื่อการเสริมความรู้โดยไม่ต้องมีการวัดผลแล้วจะขอเปลี่ยนแปลงเป็นการลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณบดีเมื่อพ้นกำหนดเวลานี้แล้วจะกระทำมิได้
ห้ามมิให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้อักษร AUD แล้วซ้ำอีก เว้นแต่กรณีการย้ายหลักสูตรและรายวิชานั้นเป็นรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่ย้ายเข้า
ข้อ ๗๖ การนับจำนวนหน่วยกิตสะสมสำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโทให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร S หรือไม่ต่ำกว่าอักษร C หรืออักษร ACC เท่านั้น
รายวิชาที่นักศึกษาได้ต่ำกว่าอักษร C ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือกให้นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนนั้นและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
ข้อ ๗๗ การนับจำนวนหน่วยกิตสะสมสำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก
ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร S หรือไม่ต่ำกว่าอักษร B หรืออักษร ACC เท่านั้น
รายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับต่ำกว่าอักษร B ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือกให้นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนนั้นและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
ข้อ ๗๘ ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาใดซ้ำหรือแทนกันตามข้อกำหนดหลักสูตร
ให้นับจำนวนหน่วยกิตของรายวิชานั้นได้เพียงครั้งเดียว
หมวด ๑๓
การวัดผลการศึกษาและการคำนวณคะแนนเฉลี่ย
ข้อ ๗๙ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้ในภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การวัดผลการศึกษาอาจกระทำได้ระหว่างภาคด้วยวิธีรายงานจากหนังสือที่กำหนดให้อ่าน
งานที่แบ่งกันทำเป็นหมู่คณะ การทดสอบระหว่างภาค การเขียนรายงานประจำรายวิชาหรืออื่น ๆ และเมื่อสิ้นภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนจะมีการสอบไล่สำหรับแต่ละรายวิชาที่ศึกษาในภาคนั้น หากไม่มีการสอบไล่
เมื่อสิ้นภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนจะต้องมีการวัดผลตามวิธีการที่อาจารย์ผู้สอนกำหนด
ในบางกรณีมหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษาตามความในวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๘๐ นักศึกษาต้องมีเวลาเรียนตลอดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนตามข้อกำหนดของหลักสูตรและรายวิชาจึงจะมีสิทธิเข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษาผู้นั้น คณบดีอาจอนุญาตให้เข้าสอบไล่ได้เป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๘๑ ให้คำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนเมื่อสิ้นภาคการศึกษาโดยคำนวณตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้นำค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจำนวนหน่วยกิตของรายวิชานั้น
(๒) ให้นำผลการคำนวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นำผลการคำนวณตาม (๒) มาหารด้วยจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียน
ในภาคนั้น
(๔) ผลการคำนวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสำหรับภาคนั้น
ข้อ ๘๒ การคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คำนวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นำค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจำนวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดทุกภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อน
(๒) ให้นำผลการคำนวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นำผลการคำนวณตาม (๒) มาหารด้วยจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนไว้
ทุกภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อน
(๔) ผลการคำนวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสะสม
ข้อ ๘๓ ในการคำนวณตามข้อ ๘๒ (๓) หรือ ข้อ ๘๒ (๔) หากได้ทศนิยมตำแหน่งที่สาม
เป็นจำนวนตั้งแต่ห้าขึ้นไปให้ปัดเศษขึ้นไป
หมวด ๑๔
สถานภาพทางวิชาการ
ข้อ ๘๔ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาให้พิจารณาจากผลการคำนวณคะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษา เมื่อสิ้นภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนที่เรียน ดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๐๐ ขึ้นไปมีสถานภาพทางวิชาการปกติ (Normal)
(๒) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ มีสถานภาพทางวิชาการเตือน (Warning)
(๓) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือน และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๗๐
ในภาคถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
(๔) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือน และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐
แต่สูงกว่า ๒.๗๐ ในภาคถัดมา ให้มีสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ (Probation)
(๕) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ ตาม (๔) ในภาคที่ผ่านมาและมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ ในภาคถัดมาต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
หมวด ๑๕
การลาพักการศึกษา
ข้อ ๘๕ กรณีที่นักศึกษายังไม่ได้ลงทะเบียนเรียน หากประสงค์จะขอลาพักการศึกษาให้ยื่นคำร้องภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
กรณีที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนแล้วแต่ยังไม่เปิดภาคการศึกษา หากมีเหตุผลความจำเป็น
จะขอลาพักการศึกษาให้ยื่นคำร้องต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้ลบรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนและให้คืนค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ได้ชำระไปแล้ว
เมื่อได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้นักศึกษารักษาสถานภาพ
และชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพตามอัตราที่ประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
ข้อ ๘๖ กรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว หากประสงค์ขอลาพักการศึกษาให้ยื่นคำร้อง
ต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในไม่เกินสิบสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาหรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาหรือภายในเจ็ดวันแรก
ของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วออก
(๒) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังไม่เกินสิบสัปดาห์แรก
ของภาคการศึกษาหรือสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
ข้อ ๘๗ กรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว หากประสงค์ขอลาพักการศึกษาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ ๘๖ แต่ต้องไม่เกินวันปิดภาคการศึกษา ให้ยื่นคำร้องต่อคณบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่ออธิการบดีอนุมัติแล้วให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
ข้อ ๘๘ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาให้สำนักงานทะเบียนนักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๘๙ ให้นับรวมเวลาในระหว่างการลาพักการศึกษาเป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๕ ด้วย
หมวด ๑๖
การถูกลงโทษให้พักการศึกษา
ข้อ ๙๐ นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษาให้ลบรายวิชา
ที่นักศึกษาผู้นั้นลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ถูกสั่งพักการศึกษาออก และให้บันทึกคำว่าถูกสั่งพักการศึกษา (Suspended) และเปลี่ยนเป็นลาพักการศึกษา (Leave) เมื่อสำเร็จการศึกษา
หากนักศึกษาถูกลงโทษด้วยเหตุทุจริตในการสอบไล่ให้ถือว่าได้ค่าระดับ F ในรายวิชาที่ทุจริตในการสอบไล่นั้นและให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวินัยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไป
นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้นด้วย
ข้อ ๙๑ คณะจะต้องแจ้งชื่อนักศึกษาที่ถูกสั่งให้พักการศึกษาให้สำนักงานทะเบียนนักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๙๒ ให้นับรวมเวลาในระหว่างที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาเป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๕ ด้วย
หมวด ๑๗
การลาออก
ข้อ ๙๓ นักศึกษาที่ประสงค์จะลาออกให้ยื่นคำร้องต่ออาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัวนักศึกษา
หรือผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาแล้วเสนอต่อคณบดีแล้วแต่กรณี
เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้มีผลนับแต่วันที่นักศึกษายื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๙๔ เมื่อการลาออกมีผลแล้ว ให้บันทึกอักษร W ในรายวิชาที่ยังไม่มีการประกาศผล การศึกษา
หมวด ๑๘
การสำเร็จการศึกษาและการอนุมัติปริญญา
ข้อ ๙๕ นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาและจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้มี
ความประพฤติดีเหมาะสมกับศักดิ์ศรีแห่งปริญญาของมหาวิทยาลัยและมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
(๑.๑) ต้องศึกษาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๑.๒) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
(๑.๓) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๑.๔) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๑.๕) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
(๒) หลักสูตรปริญญาโท แผนหนึ่งแบบวิชาการ
(๒.๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ จากระบบสี่ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า (ถ้ามี)
(๒.๒) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
(๒.๓) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) (ถ้ามี)
(๒.๔) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย สำหรับการสอบปากเปล่า
ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่คณะแต่งตั้งและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๒.๕) ต้องได้อักษร P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
(๒.๖) ต้องมีผลการสอบวิทยานิพนธ์ที่ได้อักษร S จากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
และการค้นคว้าอิสระ
(๒.๗) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ หรือตอบรับให้ตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของบทความหรือนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานทางวิชาการอื่นซึ่งสามารถสืบค้นได้โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดและออกเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย
(๒.๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๒.๙) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
(๓) หลักสูตรปริญญาโท แผนสองวิชาชีพ
(๓.๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๓.๒) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
(๓.๓) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ จากระบบสี่ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า
(๓.๔) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination)
(๓.๕) เสนอสารนิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย สำหรับการสอบปากเปล่าให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสอบที่คณะแต่งตั้งและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๓.๖) ต้องได้อักษร P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนดและออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๓.๗) นำส่งสารนิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระฉบับสมบูรณ์ตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๓.๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๓.๙) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
(๔) หลักสูตรปริญญาเอก แผนหนึ่ง
(๔.๑) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)
(๔.๒) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
(๔.๓) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายสำหรับการสอบปากเปล่า
ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสอบที่คณะแต่งตั้งและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๔.๔) ต้องได้อักษร P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
(๔.๕) ต้องมีผลการสอบวิทยานิพนธ์ที่ได้อักษร S จากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
และการค้นคว้าอิสระ
(๔.๖) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ
ที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด อย่างน้อยสองเรื่อง หรือผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง และเป็นผลงานนวัตกรรมหรือผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคมและเศรษฐกิจ อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง หรือได้รับสิทธิบัตร อย่างน้อยหนึ่งสิทธิบัตร
กรณีผลงานนวัตกรรม หรือผลงานสร้างสรรค์ วิทยานิพนธ์ต้องได้รับการประเมิน
จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในสาขาเดียวกันหรือเกี่ยวข้องอย่างน้อยสามคนซึ่งเป็นผู้มีความรู้
ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงเป็นที่ยอมรับ โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดและออกเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย
สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อาจเผยแพร่ในวารสารระดับชาติที่มีคุณภาพตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด
(๔.๗) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๔.๘) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
(๕) หลักสูตรปริญญาเอก แผนสอง
(๕.๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๕.๒) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
(๕.๓) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ จากระบบสี่ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า
(๕.๔) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)
(๕.๕) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย สำหรับการสอบปากเปล่า
ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสอบที่คณะแต่งตั้งและต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๕.๖) ต้องได้อักษร P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยประกาศกำหนด
(๕.๗) ต้องมีผลการสอบวิทยานิพนธ์ที่ได้อักษร S จากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
และการค้นคว้าอิสระ
(๕.๘) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ
ที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด หรือได้รับสิทธิบัตร หรือเป็นผลงานนวัตกรรม หรือผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคมและเศรษฐกิจ
กรณีผลงานนวัตกรรม หรือผลงานสร้างสรรค์ วิทยานิพนธ์ต้องได้รับการประเมิน
จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในสาขาเดียวกันหรือเกี่ยวข้องอย่างน้อยสามคนที่เป็นผู้มีความรู้
ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงเป็นที่ยอมรับโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดและออกเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย
สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อาจเผยแพร่ในวารสารระดับชาติที่มีคุณภาพตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด
(๕.๙) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๕.๑๐) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
หมวด ๑๙
การเสนอชื่อและการอนุมัติปริญญา
ข้อ ๙๖ ให้นักศึกษาซึ่งคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาเมื่อสิ้นภาคที่ลงทะเบียนเรียนทำหนังสือยื่นต่อมหาวิทยาลัยภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
เพื่อขอสำเร็จการศึกษาและให้มหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติปริญญาเมื่อสิ้นภาค
ข้อ ๙๗ ให้นายทะเบียนตรวจสอบและจัดทำชื่อนักศึกษาซึ่งศึกษาครบรายวิชาตามหลักสูตร
และมีคุณสมบัติตามข้อ ๙๕ ที่ได้ยื่นหนังสือตามข้อ ๙๖ ไว้ ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติปริญญา
ในสาขาวิชาที่ศึกษาสำเร็จตามหลักสูตร
ภายหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาแล้ว และตรวจสอบพบว่า มีการทุจริตในการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ เช่น การลอกเลียนผลงานทางวิชาการ การสร้างข้อมูลเท็จ และการมิได้ทำผลงานวิชาการด้วยตนเอง เป็นต้น ให้คณะกรรมการประจำคณะพิจารณาและเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนปริญญา และให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
(1) การลอกเลียนผลงานทางวิชาการ หมายถึง การลอกเลียนข้อความของผู้อื่นและของตนเอง
ที่พิมพ์ไปแล้ว โดยไม่มีการอ้างอิง หรือปกปิดแหล่งที่มา หรือการเสนอความคิดหรือนำผลงานทางวิชาการที่มีผู้อื่นกระทำไว้มาเป็นของตน
(2) การสร้างข้อมูลเท็จ หมายถึง การตกแต่งข้อมูลหรือการสร้างข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
(3) การมิได้ทำผลงานวิชาการด้วยตนเอง หมายถึง การจ้างหรือให้ผู้อื่นช่วยทำ หรือทำแทนตน หรือการมอบให้ผู้อื่นทำแทนนอกเหนือจากงานที่ได้ระบุไว้ในโครงร่างวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระที่ได้รับอนุมัติแล้วว่าจะกระทำเอง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล การแปลวิทยานิพนธ์จากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ
หมวด ๒๐
ค่าธรรมเนียมการศึกษาและการขอคืนค่าธรรมเนียม
ข้อ ๙๘ นักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่าปรับ ตามอัตราที่ประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษากำหนด
ข้อ ๙๙ มหาวิทยาลัยอาจคืนค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาชำระให้แก่มหาวิทยาลัยไว้แล้ว
ในกรณีและอัตรา ดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษาให้มีสิทธิขอคืนได้เต็มจำนวนที่ชำระไว้
(๒) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาให้มีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง
(๓) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนไว้เพราะเป็นเหตุมหาวิทยาลัยปิดรายวิชา หรือเป็นเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้เต็มจํานวน เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ปิดได้
(๔) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาสำหรับภาคการศึกษาปกติ หรือเจ็ดวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาสำหรับภาคฤดูร้อน ให้มีสิทธิ
ขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่กรณี
เป็นการชำระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ถอนได้
(๕) นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป
แต่ได้ลงทะเบียนเรียนและชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษไว้แล้ว ให้มีสิทธิขอคืนได้
เต็มจำนวนที่ชำระไว้
นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอคืนเงินค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคำร้องต่อคณะ
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือภาคฤดูร้อน หากพ้นกำหนดเวลานั้นให้ถือว่าสละสิทธิ์
ในกรณีที่มีเหตุอันมิใช่ความผิดของนักศึกษา อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจพิจารณายกเว้นค่าปรับให้กับนักศึกษาก็ได้
หมวด ๒๑
การพ้นสภาพนักศึกษาและการขอกลับเข้าศึกษา
ข้อ ๑๐๐ นักศึกษาต้องพ้นสภาพนักศึกษา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญา
(๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๒๐
(๓) ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
(๔) พ้นกำหนดเวลาศึกษาตามข้อบังคับนี้หรือตามข้อกำหนดหลักสูตร
(๕) ลาออกจากการเป็นนักศึกษา
(๖) ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากการเป็นนักศึกษา
(๗) ตาย
ข้อ ๑๐๑ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะถูกถอนชื่อตามข้อ ๓๑ ไปแล้ว
ไม่เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่มหาวิทยาลัยประกาศให้ถอนชื่อ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้า ศึกษาในหลักสูตรเดิมได้
ในกรณีที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กลับเข้าศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าในระหว่างที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาเป็นช่วงเวลาลาพักการศึกษา เพื่อการนี้ให้นักศึกษาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพและค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับภาคการศึกษาที่ถือเป็นการลาพักการศึกษานั้นด้วย
ข้อ ๑๐๒ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะลาออกจากการเป็นนักศึกษาไปแล้ว
ไม่เกินหนึ่งภาคการศึกษานับแต่วันลาออก อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษาในหลักสูตรเดิมได้
ให้นำความในข้อ ๑๐๑ วรรคสอง มาใช้กับกรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ ๑๐๓ ให้นับรวมเวลาในช่วงเวลาลาพักการศึกษาตามข้อ ๑๐๑ และข้อ ๑๐๒ เป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๕ ด้วย
หมวด ๒๒
การยกเว้นใช้ข้อบังคับ
ข้อ ๑๐๔ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาของนักศึกษาเป็นการเฉพาะราย อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจพิจารณาให้นักศึกษาลงทะเบียนรายวิชา ลงทะเบียนรายวิชาเพิ่ม ถอนรายวิชา ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขหรือวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ก็ได้
ข้อ ๑๐๕ ในกรณีการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นักศึกษาคนหนึ่งคนใด อันเนื่องมาจากเหตุที่มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของอธิการบดีอาจกำหนดให้ปฏิบัติแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามสมควรแก่นักศึกษาผู้นั้น
เป็นการเฉพาะรายก็ได้
ข้อ ๑๐๖ ข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน เว้นแต่มีกรณีตามข้อ 104 หรือข้อ 105 ให้นำข้อบังคับนี้มาใช้โดยอนุโลม
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๐๗ ให้นำความในข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๗ และข้อ ๙๗ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาใช้บังคับกับหลักสูตรที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับนี้
ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘ จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงหลักสูตร
ข้อ ๑๐๘ กรณีหลักสูตรปริญญาเอก ให้นำความในข้อ 52 และข้อ 53 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาบังคับใช้กับนักศึกษาของหลักสูตรที่จัดการศึกษาอยู่ก่อนประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงหลักสูตร
ข้อ ๑๐๙ มิให้นำความในข้อ ๒๐ ข้อ ๗๓ และข้อ ๗๔ มาใช้บังคับกับนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ และให้นำความในข้อ ๒๒ ข้อ ๗๔ และข้อ ๗๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาใช้โดยอนุโลม
ประกาศ ณ วันที่ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๘
(ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย