ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๐
แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
______________________
โดยที่เห็นเป็นการสมควรตราข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๐
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๔๙๕ สภามหาวิทยาลัยจึงขอตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
หมวดที่ ๑
บททั่วไป
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของ คณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๐”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับแก่นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๑ เป็นต้นไป
บรรดาข้อความในข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศอื่นใดที่มีความกล่าวไว้ในข้อบังคับนี้หรือที่ข้อบังคับนี้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่น หรือที่ขัดแย้งกับความในข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๓ ลักษณะวิชาที่จัดสอนในคณะนิติศาสตร์มีกำหนดปริมาณการศึกษาเป็นหน่วย
และทำการสอนลักษณะวิชาหนึ่ง ๆ ในเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
“หน่วย” หมายถึง ปริมาณการศึกษาซึ่งคณะนิติศาสตร์อำนวยให้แก่นักศึกษาตามปกติ
“หนึ่งหน่วย” หมายความว่า นักศึกษาต้องเรียนในห้องเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อหนึ่งภาคการศึกษา
ข้อ ๔ ค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาต้องเสีย ให้ถือตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยอนุโลมและให้คำนวณค่าธรรมเนียม สำหรับหน่วยของลักษณะวิชาตามหน่วยกิตในข้อบังคับที่กล่าวนั้น
ข้อ ๕ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๑๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๖ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจออกระเบียบการได้
หมวดที่ ๒
วิชาพื้นฐานทั่วไปและวิชาเลือกนอกคณะ
ข้อ ๗ การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิชาเลือกนอกคณะเป็นระบบหน่วยกิต
การวัดผลและการนับหน่วยกิตสะสมให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยอนุโลม
ข้อ ๘ นักศึกษาต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมในวิชาที่ได้จดทะเบียนเมื่อสิ้นสองภาคแรกที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า ๑.๕๐ มิฉะนั้นจะต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๙ ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาเฉพาะลักษณะวิชาพื้นฐานทั่วไปตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีวิชาพื้นฐานทั่วไปของคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาจะต้องสอบไล่ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิชาเลือกนอกคณะด้วย นักศึกษาจะต้องสอบไล่ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมของวิชาพื้นฐานทั่วไปรวมกับวิชาเลือกนอกคณะได้ไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
หมวดที่ ๓
วิชาบังคับและวิชาเลือกในคณะ
ข้อ ๑๐ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของหลักสูตร และจดทะเบียนลักษณะวิชาในปีต่ำซึ่งเปิดสอนในภาคนั้น ๆ ในแต่ละภาคการศึกษาจนครบก่อน จึงจะ
จดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาในปีถัดขึ้นไปได้ ยกเว้นในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
๑๐.๑ วิชาในปีต่ำที่นักศึกษาเคยจดทะเบียนศึกษามาก่อน แต่ยังสอบไม่ผ่าน นักศึกษาอาจไม่จดทะเบียนซ้ำในภาคนั้นก็ได้
๑๐.๒ วิชาในปีต่ำที่มีเวลาเรียนตรงกันหรือซ้อนกัน นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษาได้เฉพาะวิชาบังคับหรือวิชาบังคับเลือกสำหรับการศึกษาเพื่อขอรับประกาศนียบัตรความรู้เฉพาะด้านตามหลักสูตรในคณะนิติศาสตร์ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้เท่านั้น
๑๐.๒.๑ วิชาที่จดทะเบียนมีเวลาตรงหรือซ้อนกัน เป็นวิชาที่เคยสอบตกมาแล้วทั้งหมด หรือ
๑๐.๒.๒ วิชาที่จดทะเบียนมีเวลาตรงหรือซ้อนกันนั้น เป็นวิชาที่เคยสอบตกมาแล้ว ส่วนอีกวิชาหนึ่งเป็นวิชาที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน
ข้อ ๑๑ การจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาให้ถือตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๙
ข้อ ๑๒ ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาภาคปกติต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชา
ไม่ต่ำกว่า ๙ หน่วยหรือหน่วยกิตโดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๓ วิชาโดยไม่จำกัดหน่วยหรือหน่วยกิต และไม่เกิน ๑๙ หน่วยหรือหน่วยกิตโดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๖ วิชาโดยไม่จำกัดหน่วยหรือหน่วยกิต เว้นแต่กรณีที่นักศึกษาประสบปัญหาในการจดทะเบียนศึกษาวิชาพื้นฐานในภาคการศึกษาแรกไม่ได้ครบตามแผนการศึกษาของหลักสูตรหรือมีเหตุจำเป็นประการอื่น อธิการบดีอาจอนุมัติให้จดทะเบียนศึกษาเป็นกรณีพิเศษในภาคสองได้ไม่เกิน ๒๒ หน่วยหรือหน่วยกิต
นักศึกษาที่สอบวิชาพื้นฐานทั่วไปได้ถึง ๒๔ หน่วยกิตแล้ว จะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาได้ไม่เกิน ๒๒ หน่วยหรือหน่วยกิตโดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๗ วิชาโดยไม่จำกัดหน่วยหรือหน่วยกิต เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้ จะต้องเป็นนักศึกษาฐานะตั้งแต่ปีที่ ๔ ขึ้นไป
การจดทะเบียนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในภาคปกติจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
และได้รับอนุมัติจากคณบดีเว้นแต่ในกรณีที่มีหน่วยหรือหน่วยกิตที่จะจดทะเบียนได้ตามหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษานั้นเหลือต่ำกว่า ๙ หน่วยหรือหน่วยกิตหรือ ๓ วิชา
ข้อ ๑๓ ในแต่ละภาคการศึกษาปกตินักศึกษาภาคบัณฑิตจะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาได้ไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วย และไม่เกิน ๑๖ หน่วย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณบดี
ในกรณีที่มีหน่วยกิตที่จะจดทะเบียนได้ตามหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษานั้นเหลือต่ำกว่า ๖ หน่วย ให้จดทะเบียนได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณบดี
ข้อ ๑๔ การสอบไล่ลักษณะวิชาบังคับหรือวิชาเลือกในคณะนิติศาสตร์ วิชาหนึ่ง ๆ มีคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน ซึ่งอาจแบ่งเป็นคะแนนทดสอบระหว่างภาคและคะแบบสอบไล่ประจำภาค ตามที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดโดยอนุมัติของคณบดี
ลักษณะวิชาบังคับ หรือลักษณะวิชาเลือกในคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาต้องสอบไล่ได้คะแนน
ไม่ต่ำกว่า ๖๐ ใน ๑๐๐ จึงจะถือว่าสอบไล่ได้ในลักษณะวิชานั้น ๆ
ข้อ ๑๕ การขาดสอบไล่ลักษณะวิชาใด ให้ถือว่าได้คะแนนลักษณะวิชานั้นเฉพาะส่วนที่ขาดสอบไล่นั้นเป็นศูนย์
ข้อ ๑๖ นักศึกษาซึ่งได้จดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาบังคับในปีการศึกษาใดและสอบไล่ตก
มีสิทธิสอบไล่แก้ตัวได้เมื่อสิ้นปีการศึกษานั้น ไม่เกิน ๑๒ หน่วย โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๔ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วย เว้นแต่
(๑) นักศึกษาฐานะตั้งแต่ปี ๔ ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในการสอบไล่แก้ตัวอาจขออนุมัติคณบดีเพื่อสอบไล่แก้ตัวได้เดิน ๑๒ หน่วย หรือ ๔ วิชา แต่ไม่เกิน ๑๕ หน่วย โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๕ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วย ทั้งนี้นักศึกษาผู้นั้นจะจดทะเบียนศึกษาวิชาในภาคฤดูร้อนด้วยมิได้
(๒) นักศึกษาที่มีสิทธิสอบไล่แก้ตัวเป็นภาคสุดท้าย ซึ่งจะถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ ๑๙ อาจขออนุมัติคณบดีเพื่อสอบไล่แก้ตัวเกิน ๑๕ หน่วย โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๕ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วย
ค่าธรรมเนียมในการสอบไล่แก้ตัวให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๗ ถ้านักศึกษาผู้ใดสอบไล่ตกในลักษณะวิชาบังคับ นักศึกษาผู้นั้นต้องจดทะเบียนศึกษาซ้ำในลักษณะวิชาบังคับที่สอบไล่ตก พร้อมทั้งเสียค่าธรรมเนียมตามข้อ ๔
ข้อ ๑๘ นักศึกษาจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สอบไล่วิชาบังคับของคณะนิติศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ยทุกลักษณะวิชาไม่ถึง ๖๐ ใน ๑๐๐ ตามหลักสูตรปีที่ ๑ และปีที่ ๒ ภายใน ๓ ปีการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ
หรือตามหลักสูตรชั้นปีที่ ๒ ภายใน ๒ ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) สอบไล่วิชาบังคับของคณะนิติศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ยทุกลักษณะวิชาไม่ถึง ๖๐ ใน ๑๐๐ ตามหลักสูตรปีที่ ๑ ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ ภายใน ๕ ปีการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ หรือตามหลักสูตรชั้นปีที่ ๒ และปีที่ ๓ และปีที่ ๔ ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษาภาคบัณฑิต
ในการคำนวณคะแนนเฉลี่ยตาม (๑) และ (๒) ให้คิดจากคะแนนที่ได้รับในการสอบไล่ครั้งหลังสุดของแต่ละลักษณะวิชา
การนับระยะเวลาตาม (๑) และ (๒) ไม่ให้นับระยะเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษา หรือมีเหตุอันจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
ข้อ ๑๙ เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในภาคปกติมาครบ ๗ ปีการศึกษา หรือในภาคบัณฑิตมาครบ ๖ ปีการศึกษา นับตั้งแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษาผู้ใดยังสอบไล่ได้ไม่ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๒๐ การสอบไล่ให้มีตามกำหนดเวลาและรายการที่อธิการบดีกำหนด
หมวดที่ ๔
การให้และการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา
ข้อ ๒๑ นักศึกษาต้องสอบไล่ได้ครบตามหลักสูตรและข้อกำหนดของคณะนิติศาสตร์สำหรับชั้นอนุปริญญาและหากจะต้องฝึกหัดงานภาคปฏิบัติตามหลักสูตรก็ต้องได้ฝึกหัดงานนั้นครบถ้วนแล้ว จึงจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับอนุปริญญา
ข้อ ๒๒ นักศึกษาต้องสอบไล่ได้ครบตามหลักสูตรและข้อกำหนดของคณะนิติศาสตร์สำหรับชั้นปริญญาตรี และหากจะต้องฝึกหัดงานหรือทำงานภาคปฏิบัติตามหลักสูตรก็ต้องได้ฝึกหัดงานนั้นครบถ้วนแล้ว จึงจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา
การจัดลำดับที่ของการสอบไล่ตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรี ให้ถือคะแนนรวมการสอบไล่ทุกลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์
ข้อ ๒๓ การฝึกหัดงานหรือทำงานภาคปฏิบัติตามหลักสูตร ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิการบดีกำหนด
ข้อ ๒๔ นักศึกษาที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีเกียรตินิยมต้องมีผลการศึกษาดังต่อไปนี้ครบถ้วนทุกประการ คือ
เกียรตินิยมอันดับหนึ่งให้แก่นักศึกษาที่
(๑) ได้ศึกษาลักษณะวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายใน ๔ ปีการศึกษา สำหรับการศึกษาภาคปกติหรือภายใน ๓ ปีการศึกษาสำหรับการศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) ได้คะแนนรวมสำหรับทุกลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่ร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป
(๓) ไม่เคยสอบตกในลักษณะวิชาใด
(๔) ไม่เคยได้ระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือต่ำกว่าระดับพอใช้ (C) ในลักษณะวิชาใด
เกียรตินิยมอันดับสองให้แก่นักศึกษาที่
(๑) ได้ศึกษาลักษณะวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายใน ๔ ปีการศึกษา สำหรับการศึกษาภาคปกติหรือภายใน ๓ ปีการศึกษาสำหรับการศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) ได้คะแนนรวมสำหรับทุกลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕
(๓) ไม่เคยสอบตกในลักษณะวิชาใด
(๔) ไม่เคยได้ระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือได้ระดับตก (F) ในลักษณะวิชาใด
การนับระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่นับเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษาหรือเหตุอันจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
หมวดที่ ๕
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๕ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาก่อนปีการศึกษา ๒๕๓๐ ให้คงใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๕ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาและการสอบไล่ตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรี ปีที่ ๑ คณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๒
ข้อ ๒๖ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาก่อนปีการศึกษา ๒๕๓๐ ซึ่งได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับวิชาพื้นฐานทั่วไปทั้งหมดต่ำกว่า ๒.๐๐ และยังมีสภาพเป็นนักศึกษาอยู่ หากประสงค์จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับข้อ ๙ แห่งข้อบังคับนี้ในส่วนที่ว่าด้วยการคิดค่าระดับเฉลี่ยสะสมของวิชาพื้นฐานทั่วไป รวมกับวิชาเลือกนอกคณะทุกลักษณะวิชาที่ได้จดทะเบียนศึกษาและที่จะจดทะเบียนศึกษา ให้ยื่นความจำนงภายในเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้ข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐
(ลงนาม) นงเยาว์ ชัยเสรี
(ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี)
นายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๐
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
งานพัฒนาหลักสูตรและบริหารการศึกษา กองบริการการศึกษา/จัดทำ
โทร. ๐-๒๕๖๔-๔๔๔๐ ต่อ ๑๘๒๒-๑๘๒๔
๘ มีนาคม ๒๕๕๕