ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการให้ปริญญากิตติมศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๖๕
….…………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการให้ปริญญากิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ทรงเกียรติคุณที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ หรือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่สังคม และเพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕ จึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการให้ปริญญากิตติมศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณ การพิจารณาและมีมติถวายปริญญากิตติมศักดิ์แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ หรือให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ประมุขของรัฐหรือบุคคลสำคัญของต่างประเทศหรือบุคคลสำคัญที่ปฏิบัติงานให้กับองค์การระหว่างประเทศ สภามหาวิทยาลัย
อาจพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในข้อบังคับนี้ได้
คณะใดที่มีความประสงค์จะเสนอขอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิตติมศักดิ์
แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ หรือให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ประมุขของรัฐ หรือบุคคลสำคัญของต่างประเทศหรือบุคคลสำคัญที่ปฏิบัติงานให้กับองค์การระหว่างประเทศ ให้ปรึกษาหารือกับอธิการบดีก่อนการเสนอ
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความรวมถึง วิทยาลัย หรือส่วนงานที่จัดการเรียนการสอน
“คณบดี” หมายความรวมถึง หัวหน้าส่วนงานที่จัดการเรียนการสอน
“คณะกรรมการประจำคณะ” หมายความรวมถึง คณะกรรมการประจำวิทยาลัย หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานที่จัดการเรียนการสอน
ข้อ ๕ ปริญญากิตติมศักดิ์ตามข้อบังคับนี้ มีสองชั้น คือ
(๑) ชั้นปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
(๒) ชั้นปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ปริญญากิตติมศักดิ์ตามข้อบังคับนี้ ให้มีเฉพาะในสาขาของปริญญาที่มีการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และจะให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินกว่าหนึ่งสาขา ในปีการศึกษาเดียวกันมิได้
ข้อ ๖ ผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสมควร
แก่ปริญญานั้น และเป็นผู้ทรงเกียรติคุณ มีคุณธรรม และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีผลงานทางวิชาการดีเด่น
(๒) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติหรือนานาชาติ หรือบำเพ็ญประโยชน์
แก่สังคม
(๓) เป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีวะประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น
ข้อ ๗ มหาวิทยาลัยจะให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับประเทศ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งมิได้
ข้อ ๘ ผู้มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ได้แก่ กรรมการ
สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วนงาน
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ต้องคำนึงถึงการมีผลประโยชน์
ทับซ้อน ผลประโยชน์ต่างตอบแทน และการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง ทั้งโดยตรงหรือ
โดยอ้อม และไม่ว่าจะก่อนการเสนอชื่อหรือภายหลังการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
ข้อ ๙ ให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อตามข้อ ๘ เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์พร้อมแนบประวัติและผลงานต่อคณะกรรมการประจำคณะที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาของปริญญานั้นพิจารณา
ในการพิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการประจำคณะ
อาจเสนอชื่อบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเพิ่มเติมอีกก็ได้
ให้แต่ละคณะเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะได้ปีการศึกษาละหนึ่งคน
ในกรณีที่คณะใดมีผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในปีการศึกษาหนึ่งแล้ว คณะนั้นจะเสนอชื่อ ผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในปีการศึกษาถัดไปอีกมิได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาติดต่อกัน
เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้สามารถเสนอชื่อผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ได้ โดยจะต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นนั้นประกอบการพิจารณาด้วย
เมื่อดำเนินการพิจารณาผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการประจำคณะเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์พร้อมแนบประวัติ ผลงาน หรือรายละเอียดของผู้ที่สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการปริญญากิตติมศักดิ์ต่อไป
ข้อ ๑๐ ให้มีคณะกรรมการปริญญากิตติมศักดิ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี เป็นประธาน
(๒) ประธานสภาอาจารย์ เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการที่เป็นคณบดีที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย จำนวนสามคน จากสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จำนวนหนึ่งคน สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน
หนึ่งคน และสาขาสุขศาสตร์จำนวนหนึ่งคน
(๔) รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี เป็นเลขานุการ
ให้กรรมการชุดนี้มีหน้าที่กลั่นกรองชื่อจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามข้อ ๘ เพื่อเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัย
กรรมการตาม (๓) ต้องไม่อยู่ในที่ประชุมกรณีพิจารณากลั่นกรองชื่อผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากคณะที่ตนสังกัด
ข้อ ๑๑ ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยประมวลประวัติ ผลงาน หรือรายละเอียดของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อตามข้อ ๘ ไว้ในระเบียบวาระการประชุม เพื่อประกอบการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๒ ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ได้ปีการศึกษาละไม่เกินสิบคน
ข้อ ๑๓ การดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์ในทุกขั้นตอน ให้เป็น
การพิจารณาลับ
การลงมติของคณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการปริญญากิตติมศักดิ์ และ
สภามหาวิทยาลัย ตามข้อบังคับนี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๔ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย