ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง การจัดทำวารสารวิชาการและอัตราการจ่ายเงินสมนาคุณผู้จัดทำวารสารวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๑
——————————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการบริหารจัดการวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารวิชาการระดับหน่วยงาน สำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับอยู่ในฐานข้อมูลระดับชาติและระดับสากลที่สูงยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยจึงเห็นควรให้มีหลักเกณฑ์การจัดทำวารสารวิชาการและอัตราการจ่ายเงินสมนาคุณผู้จัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย ตามประกาศฉบับนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๗ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การจัดทำวารสารวิชาการและอัตราการจ่ายเงินสมนาคุณผู้จัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
- “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการบริหารวารสารวิชาการ
- “วารสารวิชาการ” หมายถึง วารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย และวารสารวิชาการระดับหน่วยงาน
- “วารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย” หมายถึง วารสารธรรมศาสตร์ วารสาร Thammasat Review วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ วารสาร Science & Technology Asia
- “วารสารวิชาการระดับหน่วยงาน” หมายถึง วารสารวิชาการของคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารวารสารวิชาการ ประกอบด้วย
- รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านวิจัยของมหาวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการ
- รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านวิชาการ เป็นรองประธานกรรมการ
- ผู้ช่วยอธิการบดีหรือผู้ช่วยรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านวิจัยเป็นกรรมการ
- บรรณาธิการวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
- บรรณาธิการวารสารวิชาการระดับหน่วยงานในกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จำนวนสองท่านเป็นกรรมการ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนหนึ่งท่านเป็นกรรมการ และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวนหนึ่งท่านเป็นกรรมการ
- ผู้อำนวยการกองบริหารการวิจัย เป็นกรรมการและเลขานุการ
- หัวหน้างานวารสารทางวิชาการและระบบข้อมูลการวิจัย กองบริหารการวิจัยเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และให้มีผู้ช่วยเลขานุการซึ่งแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่กองบริหารการวิจัย ได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- กำหนดแนวทางการดำเนินการจัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพและได้เกณฑ์มาตรฐานระดับชาติ ได้แก่ เกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) หรือองค์กรอื่นที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
- กำหนดแนวทางสนับสนุนวารสารวิชาการระดับหน่วยงาน ให้ผลิตวารสารที่มีคุณภาพและได้เกณฑ์มาตรฐานระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
- กำกับดูแล ประเมินผล และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานจัดทำวารสารวิชาการ เสนอต่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๖ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะผู้จัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัยแต่ละฉบับ ประกอบด้วย
- บรรณาธิการ
- รองบรรณาธิการและหรือผู้ช่วยบรรณาธิการ จำนวนไม่เกิน ๒ คน
- กองบรรณาธิการ
- ผู้จัดการ
- ผู้ช่วยผู้จัดการ
ข้อ ๗ บรรณาธิการให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยและมีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาขาของวารสารนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องและดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไปหรือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกเท่านั้น
ให้บรรณาธิการมีหน้าที่รวบรวมและคัดกรองบทความ สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความเพื่อตีพิมพ์ (peer review) ตรวจสอบแก้ไขบทความ และควบคุมการผลิตวารสารวิชาการจนกระทั่งตีพิมพ์ได้สำเร็จ
ข้อ ๘ กองบรรณาธิการ ให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า ๑๕ คน และไม่เกิน ๓๐ คน แบ่งเป็น อาจารย์ประจำภายในมหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่า ๕ คน และไม่เกิน ๑๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่า ๑๐ คน และไม่เกิน ๑๘ คน
ข้อ ๙ ให้ผู้อำนวยการกองบริหารการวิจัยเป็นผู้จัดการ ทำหน้าที่จัดทำต้นฉบับ ติดต่อประสานงานระหว่างบรรณาธิการ กองบรรณาธิการและผู้เขียนบทความ ออกแบบ จัดทำรูปเล่ม และตรวจสอบความเรียบร้อยของการพิมพ์ ผลิตเป็นรูปเล่มและจัดทำเป็นสื่อสารสนเทศ ทำการประชาสัมพันธ์ และงานอื่น ๆ ตามที่บรรณาธิการมอบหมาย
ให้หัวหน้างานวารสารทางวิชาการและระบบข้อมูลการวิจัย เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้จัดการมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ให้จ่ายเงินสมนาคุณแก่ผู้จัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย ในอัตราดังต่อไปนี้
- บรรณาธิการ ฉบับละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
- รองบรรณาธิการ ฉบับละไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท
- ผู้ช่วยบรรณาธิการ ฉบับละไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความเพื่อตีพิมพ์ (peer review)
- วารสารธรรมศาสตร์ และวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บทความละไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาทต่อหนึ่งคน
- วารสาร Thammasat Review และ วารสาร Science & Technology Asia บทความละไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาท
- ผู้ตรวจภาษาอังกฤษในบทความที่จะตีพิมพ์ในวารสาร Thammasat Review และ Science & Technology Asia บทความละไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาทแต่ต้องไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งฉบับ
- ผู้เขียนบทความรับเชิญ บทความละไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาท
การจ่ายเงินสมนาคุณให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความเพื่อตีพิมพ์ (peer review) ตาม (๔) จะจ่ายได้ไม่เกินบทความละห้าคน
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการบริหารวารสารวิชาการ มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ข้อ ๑๒ ในการประชุมเพื่อจัดทำวารสารวิชาการระดับมหาวิทยาลัย ให้คณะผู้จัดทำวารสารวิชาการมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในอัตราครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท
ข้อ ๑๓ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี