ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์
ประเภทการตีพิมพ์บทความวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๔
————————————————————————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงกำหนดให้มีการให้รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการตีพิมพ์บทความวิจัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการตีพิมพ์บทความวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการตีพิมพ์บทความวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑” และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“รางวัล” หมายความว่า รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการตีพิมพ์บทความวิจัย
“บุคลากร” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงอาจารย์หรือนักวิจัยอาคันตุกะชาวต่างประเทศ
ข้อ ๕ รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัล
การตีพิมพ์บทความวิจัย สำหรับการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล Scopus และ/หรือ ISI Web of Science มีดังนี้
(๑) วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในการจัดอันดับ ของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) สูงสุดร้อยละ ๑๐ (TOP 10%) ของสาขา รางวัลละ ๕๐,๐๐๐ บาท
(๒) วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในการจัดอันดับของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ควอไทล์ที่ ๑ (Q1) รางวัลละ ๔๐,๐๐๐ บาท
(๓) วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในการจัดอันดับของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ควอไทล์ที่ ๒ (Q2) รางวัลละ ๓๐,๐๐๐ บาท
(๔) วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในการจัดอันดับของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ควอไทล์ที่ ๓ (Q3) รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๕) วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในการจัดอันดับของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ควอไทล์ที่ ๔ (Q4) รางวัลละ ๑๐,๐๐๐ บาท
การพิจารณาว่าวารสารนั้นถูกจัดอยู่ในควอไทล์ใดจะพิจารณาจาก
(๑) ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ของปีที่คณะกรรมการกำหนด และกรณีที่วารสารถูกจัดอยู่ใน subject category มากกว่า ๑ สาขา หรืออยู่ในควอไทล์ที่ต่างกันจะได้รับรางวัลในระดับควอไทล์สูงสุดเพียงรางวัลเดียว
(๒) วารสารที่ปรากฎอยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus และไม่มีค่าการจัดอันดับของวารสาร SJR ให้ใช้ค่าควอไทล์ จากการจัดอันดับของ Web of Science ได้
ข้อ ๖ ผู้ที่จะได้รับรางวัลตาม ข้อ ๕ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มีสถานะดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งในบทความวิจัยที่เสนอขอรับรางวัล
(๒.๑) ผู้วิจัยชื่อแรก (First Author)
(๒.๒) ผู้วิจัยหลัก (Corresponding Author)
(๒.๓) ผู้วิจัยที่มีสัดส่วนการทำวิจัยอย่างน้อยร้อยละ ๕๐
(๒.๔) ผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยร่วมกับบุคลากร โดยมีสัดส่วนการทำวิจัยน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ต้องมีสัดส่วนการทำวิจัยสูงสุด
(๒.๕) ผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยร่วมกับบุคคลภายนอก โดยมีสัดส่วนการทำวิจัยน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ต้องมีสัดส่วนการทำวิจัยสูงสุดและมีสัดส่วนของผู้วิจัยที่เป็นบุคลากรรวมกันเกินกว่าร้อยละ ๕๐
ข้อ ๗ ผลงานที่จะเสนอขอรับรางวัลตามข้อ ๕ จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยจะต้องมีรายละเอียด ปีที่ ฉบับที่ เดือน ปี และเลขหน้า ของวารสารที่ตีพิมพ์บทความวิจัยนั้น
(๒) มีรูปแบบของบทความวิจัย (Research Article) ประกอบด้วย Abstract, Introduction, Materials, Methods, Results, Discussion, References ครบถ้วน หรือตามรูปแบบบทความวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของสาขานั้นๆ
(๓) เป็นบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในขณะที่ผู้เสนอขอรับรางวัลเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และต้องแสดงชื่อสังกัดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ด้วย
(๔) กรณีเป็นผลงานวิจัยในการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผู้เสนอขอรับรางวัลต้องมีส่วนร่วมในผลงานวิจัยนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ โดยมีหนังสือรับรองการมีส่วนร่วมในการ
ทำวิจัยที่นักศึกษาร่วมลงชื่อด้วย
ข้อ ๘ ผลงานที่จะเสนอรับรางวัลตามข้อ ๕ ต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผลงานวิจัยที่เคยได้รับเงินรางวัลหรือเงินสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยมาก่อน
(๒) เป็นผลงานวิจัยในการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษาของผู้เสนอขอรับรางวัล
(๓) เป็นบทความที่ตีพิมพ์ในที่ประชุมวิชาการ (Proceedings) หรือเทียบเท่า รวมถึงวารสารจากที่ประชุมวิชาการ เช่น Procedia, Symposia, Advanced Materials Research เป็นต้น
(๔) เป็นบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนกันในแต่ละผลงานของตนเอง
ข้อ ๙ ระยะเวลาการให้รางวัลตามข้อ ๕ ให้เป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๐ การเสนอเพื่อขอรับรางวัลตามข้อ ๕ ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้ประสงค์ขอรับรางวัลส่งแบบเสนอขอรับรางวัลพร้อมเอกสารที่แสดงรายละเอียดประกอบ การขอรับรางวัล จัดส่งไปยังส่วนงานที่ตนสังกัด
(๒) ให้ส่วนงานดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับรางวัลและลักษณะของผลงาน
หากปรากฏผู้ขอรับรางวัลมีคุณสมบัติ และผลงานที่ขอมีลักษณะตามข้อ ๗ และไม่มีลักษณะตามข้อ ๘
ให้ส่งเรื่องให้กองบริหารการวิจัย รวบรวมนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ประกาศ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี