ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) พ.ศ. ๒๕๕๘
…………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรตราข้อบังคับ ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
(บัณฑิตอาสาสมัคร) พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ การใช้ข้อบังคับ
ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่นักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นบัณฑิตอาสาสมัครตามหลักสูตรประกาศนียบัตร (บัณฑิตอาสาสมัคร) ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ความสัมพันธ์กับข้อบังคับ กฎ และระเบียบอื่น
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศอื่นใดที่มีความกล่าวไว้ว่าในข้อบังคับนี้หรือที่ข้อบังคับนี้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่น หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับความในข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายถึง สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“วิทยาลัย” หมายถึง วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
“คณบดี” หมายถึง คณบดีวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
“นักศึกษา” หมายถึง บัณฑิตอาสาสมัคร
ข้อ ๕ ระบบการศึกษา
๕.๑ หลักสูตรประกาศนียบัตร (บัณฑิตอาสาสมัคร) เป็นการศึกษาแบบเต็มเวลา
จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย
๕.๒ เป็นการจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาค โดยแบ่งเวลาศึกษาในปีหนึ่ง ๆ
เป็น ๒ ภาคการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาที่บังคับ คือ ภาคหนึ่งและภาคสอง ภาคหนึ่ง ๆ มีระยะเวลา ๑๕ สัปดาห์ และอาจเปิดภาคฤดูร้อนได้โดยใช้เวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษา
ในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคปกติ
๕.๓ รายวิชาที่จัดสอนในหลักสูตร กำหนดปริมาณการศึกษาเป็นจำนวน “หน่วยกิต” หมายถึงหน่วยที่แสดงปริมาณการศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยอำนวยการให้แก่นักศึกษาตามปกติ หนึ่งหน่วยกิตหมายถึงการบรรยาย ๑ ชั่วโมง หรือปฏิบัติทดลองไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง หรือฝึกงานไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง
ต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ ส่วนการสอนอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่วิทยาลัยกำหนด
๕.๔ หลักสูตรการศึกษาแบ่งเป็น ๓ ส่วน ดังนี้
๕.๔.๑ การศึกษางานรายวิชา มีระยะเวลา ๑๗ สัปดาห์
๕.๔.๒ การปฏิบัติงานสนาม มีระยะเวลา ๒๗ สัปดาห์
๕.๔.๓ การวิจัยเฉพาะเรื่อง มีระยะเวลา ๘ สัปดาห์
๕.๕ จำนวนหน่วยกิตรวมเป็นไปตามที่กำหนดในหลักสูตร แต่ต้องไม่น้อยกว่า
๒๔ หน่วยกิต และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการ
การอุดมศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับประกาศนียบัตร
๕.๖ ในการศึกษางานรายวิชา นักศึกษาทุกคนต้องอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตามที่วิทยาลัยกำหนด และนักศึกษาต้องปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยศูนย์ฝึกอบรมบัณฑิตอาสาสมัครของวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต และอยู่ภายใต้ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาวิทยาลัย
นักศึกษาต้องมีเวลาศึกษาในงานรายวิชาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของการศึกษา
ในแต่ละรายวิชา จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
๕.๗ การปฏิบัติงานสนาม นักศึกษาที่มีสิทธิ์ปฏิบัติงานสนามจะต้องสอบผ่านงานรายวิชาและเข้าร่วมการอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมความรู้ตามที่วิทยาลัยกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
ระยะเวลาการปฏิบัติงานสนาม นักศึกษาจะต้องมีเวลาอยู่ในสนามปฏิบัติงาน
ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของเวลาปฏิบัติงานสนาม เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
๕.๘ การวิจัยเฉพาะเรื่อง นักศึกษาจะลงทะเบียนการวิจัยเฉพาะเรื่องได้ ต้องผ่าน
การวัดผลการปฏิบัติงานสนาม ได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B
๕.๙ ให้นักศึกษาคนหนึ่ง มีอาจารย์ที่ปรึกษา ๑ คน เป็นอย่างน้อย
ข้อ ๖ ระยะเวลา
ระยะเวลาศึกษาตลอดหลักสูตร ต้องไม่น้อยกว่าสองภาคการศึกษาปกติ แต่ไม่เกิน
๓ ภาคการศึกษาปกติต่อเนื่องกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณบดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๔ ภาคการศึกษาปกติ
ข้อ ๗ การรับเข้าศึกษา
๗.๑ จำนวนบัณฑิตอาสาสมัครที่จะรับให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๗.๒ การรับบุคคลเข้าศึกษา การสมัคร ลักษณะ และคุณสมบัติ และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
๗.๓ ผู้เข้าศึกษาต้องสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
๗.๔ ผู้เข้าศึกษาต้องไม่เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง หรือโรคที่สังคมรังเกียจ และ
โรคที่จะเบียดเบียนหรือขัดขวางต่อการศึกษา
๗.๕ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
ข้อ ๘ การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๘.๑ ผู้ที่มหาวิทยาลัยประกาศว่ามีสิทธิ์เข้าศึกษาจะมีสถานภาพเป็นนักศึกษาเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๘.๒ ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วยตนเองตามวัน เวลา และสถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๘.๓ ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาที่ไม่อาจขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ในวันที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะต้องแจ้งเหตุขัดข้องให้สำนักทะเบียนและประมวลผลทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๔ วัน นับจากวันที่กำหนดไว้ มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์
ข้อ ๙ การวัดผลการศึกษา
๙.๑ การวัดผลการศึกษางานรายวิชา อาจจะกระทำได้โดยการสอบไล่ เมื่อสิ้น
ภาคการศึกษา หรือทดสอบระหว่างภาคการศึกษา หรือทำรายงานจากการอ่านและการค้นคว้าเอง หรือเขียน
ภาคนิพนธ์หรือเข้าร่วมอภิปรายในชั้นหรือมากกว่าหนึ่งอย่างตามความเหมาะสม และแบ่งการวัดผลเป็น ๙ ระดับคือ
A = ๔.๐๐
A- = ๓.๖๗
B+ = ๓.๓๓
B = ๓.๐๐
B- = ๒.๖๗
C+ = ๒.๓๓
C = ๒.๐๐
D = ๑.๐๐
F = ๐
๙.๒ การวัดผลการปฏิบัติงานสนาม แบ่งเป็น ๙ ระดับ
A = ๔.๐๐
A- = ๓.๖๗
B+ = ๓.๓๓
B = ๓.๐๐
B- = ๒.๖๗
C+ = ๒.๓๓
C = ๒.๐๐
D = ๑.๐๐
F = ๐
๙.๓ การวัดผลการวิจัยเฉพาะเรื่อง ๒ ระดับคือ
S = ใช้ได้ (ผ่าน)
U = ยังใช้ไม่ได้ (ไม่ผ่าน)
ข้อ ๑๐ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษา
๑๐.๑ นักศึกษาจะต้องได้ค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ ในการศึกษางานรายวิชาทุกวิชา
ถ้าได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า ๓.๐๐ ให้สอบแก้ตัวรายวิชาที่ได้ค่าระดับต่ำกว่า ๓.๐๐ ได้เพียงครั้งเดียว ตามวันและเวลาที่วิทยาลัยกำหนด หากยังได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า ๓.๐๐ หลังจากสอบแก้ตัวแล้วจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียน นักศึกษา
๑๐.๒ นักศึกษาที่มีผลการปฏิบัติงานสนาม ได้ค่าระดับต่ำกว่า B จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๑๑ การสอบวิชาการวิจัยเฉพาะเรื่อง
๑๑.๑ คณบดีเป็นผู้แต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยเฉพาะเรื่อง
๑๑.๒ วิทยาลัยจะกำหนดเวลาสอบการวิจัยเฉพาะเรื่อง อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๑๑.๓ วิทยาลัยจะแต่งตั้งกรรมการสอบการวิจัยเฉพาะเรื่อง นักศึกษาอย่างน้อย ๒ คนต่อนักศึกษา ๑ คน ซึ่งจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยเฉพาะเรื่องรวมอยู่ด้วย และจะต้องมีอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเป็นกรรมการอย่างน้อย ๑ คน
ข้อ ๑๒ เงื่อนไขในการรับประกาศนียบัตรบัณฑิต
มหาวิทยาลัยจะเสนอชื่อนักศึกษา เพื่อขออนุมัติประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิต อาสาสมัคร) จากสภามหาวิทยาลัย หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบเงื่อนไข ดังต่อไปนี้โดยครบถ้วนคือ
๑๒.๑ ได้ศึกษางานรายวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ
ที่วิทยาลัยกำหนด
๑๒.๒ ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
๑๒.๓ ได้ค่าระดับ B ขึ้นไปในการปฏิบัติงานสนาม
๑๒.๔ ได้ S ในการสอบวิชาการวิจัยเฉพาะเรื่อง
ข้อ ๑๓ ผู้รักษาการตามข้อบังคับ
ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง
หรือการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย