ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ พ.ศ. ๒๕๖๕
…………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ประกอบข้อ ๓๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อ ๔๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัย
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา
“นักศึกษา” หมายความว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต” หมายความว่า การเทียบโอนความรู้ที่ได้จากการศึกษารายวิชาในการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยหรือจากการปฏิบัติงานในสถานประกอบการโดยดำเนินการตามคำขอเทียบโอนของนักศึกษาและตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้
“การศึกษานอกระบบ” หมายความว่า กิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการ
และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียน หรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้น และมีวิธีการวัดผล
และประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน เพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้
“การศึกษาตามอัธยาศัย” หมายความว่า การศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม
สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น
“การปฏิบัติงานในสถานประกอบการ” หมายความว่า การศึกษาในลักษณะการเรียนรู้
จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่น ที่มีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย
หมวด ๑
หลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต
ข้อ ๔ นักศึกษาที่ได้ศึกษาหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมทั้งจากการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และมีความประสงค์จะนำเอาความรู้
และประสบการณ์มาเสนอให้มหาวิทยาลัยประเมินเพื่อขอเทียบโอนความรู้และกำหนดเป็นจำนวนหน่วยกิตตามระบบการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรีและข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้
ข้อ ๕ การขอเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต แบ่งเป็นสองประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) รายวิชาหรือกลุ่มที่จัดการศึกษาโดยคณะ
(๒) รายวิชาหรือกลุ่มวิชาในหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปและกลุ่มวิชาที่อยู่ในความรับผิดชอบ
ของกองบริหารงานวิชาการ
ข้อ ๖ นักศึกษาจะได้รับการเทียบโอนความรู้และหน่วยกิตรายวิชาใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะที่เป็นเจ้าของรายวิชาหรือกองบริหารงานวิชาการกำหนด
ข้อ ๗ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนความรู้และหน่วยกิตเป็นอักษร ACC โดยอาจนับเป็นหน่วยกิตเพื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้ แต่ไม่ให้นำมาคำนวณคะแนนเฉลี่ยสะสม
หมวด ๒
ขั้นตอนและวิธีการขอเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต
ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต ประกอบด้วย อาจารย์ประจำวิชาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นเป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เทียบโอนอีกอย่างน้อยสองคน
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความรู้ ทักษะ ทัศนคติ หรือสมรรถนะ โดยอาจใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑.๑) การทดสอบ การสอบปากเปล่า การสอบปฏิบัติ หรือการแสดงให้ดู
(๑.๒) การประเมินจากผลงาน แฟ้มสะสมผลงาน รางวัล ประกาศนียบัตร วุฒิบัตรหรือรายงานความสอดคล้องกับเนื้อหารายวิชา
(๒) ดำเนินการประเมิน และเสนอผลการประเมินไปยังคณะกรรมการประจำคณะเพื่ออนุมัติ
ข้อ ๑๐ การขอเทียบโอนความรู้และหน่วยกิต ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) รายวิชาหรือกลุ่มวิชาที่จัดการศึกษาโดยคณะ
(๑.๑) ให้นักศึกษาซึ่งขอเทียบโอนความรู้และหน่วยกิตในรายวิชาใดยื่นคำร้องแสดงความจำนงและระบุรายวิชาหรือกลุ่มวิชาในหลักสูตรที่จะเทียบโอนความรู้และหน่วยกิต พร้อมแนบหลักฐานที่สะท้อนผลลัพธ์จากการเรียนรู้ประกอบการพิจารณาด้วย อาทิ ใบประกาศนียบัตร ใบรับรองผล หนังสือรับรองหรือรางวัลที่ได้จากการประกวดหรือแข่งขัน โดยต้องแนบหลักเกณฑ์การแข่งขันหรือเกณฑ์การพิจารณาจากชื่อและข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้น เป็นต้น ต่อคณะที่นักศึกษาสังกัด และนักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียม
การประเมินความรู้ตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการเทียบโอนความรู้และการให้
หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
(๑.๒) ให้คณะเสนอคำร้องของนักศึกษา ตาม (๑) (๑.๑) ต่อคณบดีเพื่อมอบหมายให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาพิจารณาเสนอความเห็น และหากอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาพิจารณาประเมินแล้วเห็นควรให้เทียบโอนความรู้และหน่วยกิตให้เสนอต่อคณบดีเพื่ออนุมัติ
(๑.๓) หากอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาพิจารณาประเมินแล้วเห็นว่าไม่สามารถประเมินเพื่อเทียบเท่าเนื้อหาวิชาได้ หรือเห็นควรประเมินเพิ่มเติม หรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชานำผลการพิจารณาประเมินดังกล่าวเสนอต่อคณบดีเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณบดีเพื่ออนุมัติ
(๒) รายวิชาหรือกลุ่มวิชาในหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปและกลุ่มวิชาที่อยู่ในความรับผิดชอบของ
กองบริหารงานวิชาการ
(๒.๑) ให้นักศึกษาซึ่งขอเทียบโอนความรู้และหน่วยกิตในรายวิชาใดยื่นคำร้องแสดง
ความจำนงและระบุรายวิชาหรือกลุ่มวิชาในหลักสูตรที่จะเทียบโอนความรู้และหน่วยกิต พร้อมแนบหลักฐานที่สะท้อนผลลัพธ์จากการเรียนรู้ประกอบการพิจารณาด้วย อาทิ ใบประกาศนียบัตร ใบรับรองผล หนังสือรับรองหรือรางวัลที่ได้จากการประกวดหรือแข่งขัน โดยต้องแนบหลักเกณฑ์การแข่งขันหรือเกณฑ์การพิจารณาจากชื่อและข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้น เป็นต้น ต่อกองบริหารงานวิชาการ และนักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินความรู้ตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการเทียบโอนความรู้
และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
(๒.๒) หากกองบริหารงานวิชาการพิจารณาประเมินแล้วเห็นควรให้เทียบโอนความรู้
และหน่วยกิตให้เสนอต่อรองอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิชาการเพื่ออนุมัติ
(๒.๓) หากกองบริหารงานวิชาการพิจารณาประเมินแล้วเห็นว่าไม่สามารถประเมินเพื่อเทียบเท่าเนื้อหาวิชาได้ หรือเห็นควรประเมินเพิ่มเติม หรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้นำผลการพิจารณาประเมินดังกล่าวเสนอต่อรองอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิชาการเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นต่อรองอธิการบดี ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิชาการเพื่ออนุมัติ
ข้อ ๑๑ ให้คณะหรือกองบริหารงานวิชาการ แล้วแต่กรณี แจ้งผลการพิจารณาเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตเป็นหนังสือให้แก่นักศึกษาและคณะที่นักศึกษาสังกัดทราบ
หมวด ๓
การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
ข้อ ๑๒ การอุทธรณ์ผลการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะ หรือกองบริหารงานวิชาการ แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบผลการเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิต และให้คณะที่นักศึกษาสังกัดหรือกองบริหารงานวิชาการเสนอผลการพิจารณาอุทธรณ์ต่ออธิการบดีเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ทั้งนี้ ให้อธิการบดีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ และผลการพิจารณาวินิจฉัยหรือคำสั่งของอธิการบดีให้ถือเป็นที่สุด
ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี