ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการให้รางวัล Active Learning พ.ศ. ๒๕๖๒
—————————–
โดยที่มหาวิทยาลัยมีนโยบายและกำหนดเป้าหมายที่จะมุ่งผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยให้มีทักษะ ๖ ประการ หรือ GREATS ได้แก่ (๑) Global Mindset : ทันโลก ทันสังคม เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ (๒) Responsibility : มีสำนึกรับผิดชอบอย่างยั่งยืน ต่อตนเอง บุคคลรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อม
(๓) Eloquence : สามารถสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และทรงพลัง มีทักษะสุนทรียะสนทนา (๔) Aesthetic Appreciation : ซาบซึ้งในความงาม คุณค่าของศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรม (๕) Team Leader :
ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งในบทบาทผู้นำ และบทบาททีม (๖) Spirit of Thammasat : มีจิตวิญญาณ
ความเป็นธรรมศาสตร์ ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพ ยอมรับในความเห็นที่แตกต่างและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม จึงเป็นการสมควรให้มีรางวัล Active Learning เพื่อมอบให้แก่อาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่มีการจัดการสอนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรมการเรียนรู้ และการสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามแนว
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ อธิการบดีจึงออกระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการให้รางวัล Active Learning พ.ศ. ๒๕๖๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“รายวิชา” หมายความว่า รายวิชาในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
โดยอาจสอนเป็นกลุ่มอาจารย์ หรือสอนโดยอาจารย์ผู้สอนเพียงคนเดียวก็ได้
“อาจารย์ผู้สอน” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่สอนหรือเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการคัดเลือกรายวิชาดีเด่นด้านการสอน
ตามแนวการสอนแบบ Active Learning
ข้อ ๔ รางวัล Active Learning เป็นรางวัลที่มอบให้แก่อาจารย์ผู้สอน หรือกลุ่มอาจารย์ผู้สอนรายวิชาที่จัดการสอนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรมการเรียนรู้ หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อการเรียนรู้กระตุ้น
ให้ผู้เรียนใช้การคิดระดับสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การประเมินค่า การสังเคราะห์ และการสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตามแนวทางการจัดการสอน แบบ Active Learning ไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของชั่วโมงการสอนของรายวิชานั้น
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกรายวิชาดีเด่นด้านการสอนตามแนวทางการสอนแบบ Active Learning ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธานกรรมการ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
เป็นรองประธานกรรมการ
(๒) กรรมการจาก ๔ สาขาๆ ละ ๒ คน ที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาสังคมศาสตร์ สาขามนุษยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาจเป็นผู้ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยหรือบุคคลภายนอกก็ได้
(๓) ผู้อำนวยการกองบริการวิชาการเป็นเลขานุการ
คณะกรรมการตาม (๒) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี แต่อาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้และให้กองบริการวิชาการมอบหมายพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของกองบริการวิชาการเป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน ๒ คน
ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท จำนวน และวิธีการเสนอขอรับรางวัลในแต่ละปี เสนออธิการบดีเพื่อออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย และดำเนินการคัดเลือกรายวิชาที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ ๔ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เพื่อพิจารณาให้รางวัล Active Learning
ข้อ ๗ ให้อาจารย์ผู้สอนหรือกลุ่มอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่ได้รับรางวัล Active Learning ได้รับรางวัลตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ ให้อาจารย์ผู้สอนหรือกลุ่มอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่ได้รับรางวัล Active Learning นำเสนอวิธีการสอนตามแนว Active Learning เผยแพร่ต่อประชาคมหรือสาธารณะในรายการที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี