ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก พ.ศ. ๒๕๕๕
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยจึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อระเบียบ
ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก พ.ศ. ๒๕๕๕”
ข้อ ๒ เวลามีผลใช้บังคับ
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ การยกเลิกระเบียบเดิม
ในยกเลิก
(๑) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก
พ.ศ. ๒๕๔๑
(๒) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
(๓) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
(๔) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๒
(๕) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในระเบียบนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอน
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาให้ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
“อาจารย์” หมายความว่า คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
“ทุนการศึกษา” หมายความว่า ทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก
ข้อ ๕ ลักษณะการให้ทุนการศึกษา
การศึกษาที่จะขอรับทุนตามระเบียบนี้ ต้องมีลักษณะต่อไปนี้
(๑) เป็นการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกภายในประเทศ หรือต่างประเทศ เว้นแต่หลักสูตรการศึกษาระบุให้ต้องศึกษาในระดับปริญญาโทก่อน จึงจะสามารถเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกได้
(๒) เป็นการศึกษาสาขาวิชาตามความต้องการของมหาวิทยาลัย โดยจะศึกษาเน้นหนักทางใดของสาขาวิชา ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะ
(๓) เป็นหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรองและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ข้อ ๖ หลักเกณฑ์การกำหนดจำนวนทุนการศึกษา
ให้มหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนทุนการศึกษาในแต่ละปีสำหรับอาจารย์ โดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ความขาดแคลนอาจารย์ในแต่ละสาขาวิชา และเหตุผลความจำเป็นอื่น โดยอาจจัดสรรทุนการศึกษาด้วยการสอบคัดเลือกเป็นส่วนกลาง หรือจัดสรรให้แก่คณะใดคณะหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้
ข้อ ๗ องค์ประกอบของคณะกรรมการ
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก” ซึ่งอธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ประธานสภา อาจารย์หรือผู้แทนเป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๑๐ คนที่อธิการบดีแต่งตั้งซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสายสังคมศาสตร์ สายมนุษยศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีวาระคราวละ ๒ ปี
ข้อ ๘ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณาเสนอความคิดเห็น แนวทางการจัดสรรทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา
(๓) พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา
(๔) พิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรและสถาบันการศึกษาของผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา และหรือผู้รับทุนการศึกษา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรตามข้อ ๑๖
(๕) พิจารณากำหนดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการศึกษาของผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา และหรือผู้รับทุนการศึกษา
(๖) พิจารณาข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของสัญญาการรับทุนการศึกษาและสัญญาค้ำประกัน
ตามระเบียบนี้
(๗) พิจารณาคำร้องต่าง ๆ ของผู้รับทุนการศึกษา
(๘) พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติงานเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๙ กระบวนการคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา
การดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาและตัดสินคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา ให้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) ในการจัดสอบคัดเลือกเป็นส่วนกลาง ให้มหาวิทยาลัยประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไปโดยให้อาจารย์ผู้สนใจสมัครผ่านคณะและให้คณะรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร โดยจัดลำดับตามความต้องการของคณะ
เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกต่อไป
ผลการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด และให้มหาวิทยาลัยประกาศรายชื่อ
ผู้สมควรได้รับทุนการศึกษาและรายชื่อสำรอง (ถ้ามี)
(๒) ในกรณีที่มหาวิทยาลัยจัดสรรทุนการศึกษาแก่อาจารย์ประจำศูนย์การศึกษาใดเป็นการเฉพาะ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีรองอธิการบดีผู้ดูแลและบริหารศูนย์การศึกษาที่ได้รับการจัดสรรทุนนั้นเป็นประธาน เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามระเบียบนี้ และเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่อไป
ข้อ ๑๐ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับทุนการศึกษา
ผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษา ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่เกิน ๔๐ ปี สำหรับผู้ที่ขอรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ และอายุไม่เกิน ๔๕ ปี สำหรับผู้ที่ขอรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณ
(๒) มีความรู้ภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับผู้ที่มีคะแนนภาษาต่างประเทศไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแต่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศตอบรับเข้าศึกษาอย่างเป็นทางการแล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขให้เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาให้มีสิทธิสมัครขอรับทุนได้
(๓) มีความสามารถทางการศึกษา และมึความใฝ่ใจทางวิชาการ
(๔) มีความประพฤติดี มีความเอาใจใส่ในการศึกษา และการอุทิศเวลาให้แก่งานในหน้าที่
(๕) เป็นผู้มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์
(๖) ไม่มีข้อผูกพันการชดใช้ทุนกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น
(๗) ต้องเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย หรือถูกฟ้องร้องคดีอาญา
ในกรณีที่คณะที่ได้รับจัดสรรทุนการศึกษาเป็นการเฉพาะ ตามข้อ ๙ (๒) อาจกำหนดคุณสมบัติผู้สมควรได้รับทุนการศึกษาเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้
ข้อ ๑๑ การให้ทุนกับอาจารย์หรือบุคคลอื่นที่กำลังศึกษาอยู่แล้ว
ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็น คณะอาจพิจารณาคัดเลือกอาจารย์หรือบุคคลอื่นใดที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๑๐ ที่กำลังศึกษาอยู่เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้เป็นผู้รับทุนการศึกษาตามระเบียบนี้ได้
ข้อ ๑๒ การสมัครเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาภายหลังได้รับทุนการศึกษา
ผู้ที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับทุนการศึกษา จะต้องติดต่อสมัครเข้าสถาบันการศึกษาด้วยตนเอง โดยหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่สมัครจะต้องเป็นไปตามข้อ ๕ (๓)
ข้อ ๑๓ ผลของการไม่เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา
หากผู้รับทุนการศึกษาไม่สามารถจัดหาสถาบันการศึกษาที่จะไปศึกษาต่อภายในเวลา ๑ ปี
๖ เดือน นับถัดจากวันประกาศรายชื่อผู้รับทุนการศึกษาตามข้อ ๑๒ หรือไม่สามารถไปศึกษาต่อได้ภายในเวลา
๖ เดือน นับถัดจากวันที่ได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาต่อจากสถาบันการศึกษา ให้ถือว่าผู้รับทุนการศึกษาผู้นั้น
สละสิทธิรับทุนการศึกษา และให้มหาวิทยาลัยจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่ผู้รับทุนการศึกษาสำรองรายถัดไป
ข้อ ๑๔ การทำสัญญากับมหาวิทยาลัย
ผู้รับทุนการศึกษาจะต้องทำสัญญากับมหาวิทยาลัย โดยมีผู้ค้ำประกันตามแบบและวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๕ ระยะเวลาการให้ทุนการศึกษา
ระยะเวลาการให้ทุนการศึกษา มีดังนี้
(๑) การให้ทุนการศึกษา กำหนดให้คราวละไม่เกิน ๑ ปี
(๒) ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก มีกำหนดเวลารวมทั้งสิ้นไม่เกิน ๕ ปี
(๓) ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษซึ่งจะต้องใช้เวลาศึกษามากกว่าที่กำหนดในข้อ ๑๕ (๒)
อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะคณะกรรมการอาจพิจารณาอนุมัติให้ทุนการศึกษาต่อไป
อีกได้
(๔) มหาวิทยาลัยอาจยุติการให้ทุนการศึกษาเมื่อใดก็ได้ถ้าผลการศึกษาของผู้รับทุนการศึกษาไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือผู้รับทุนการศึกษาไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหลักปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือมิได้รับการต่อสัญญาจ้าง
ข้อ ๑๖ การเปลี่ยนแปลงโครงการหรือหลักสูตรการศึกษา
ผู้รับทุนการศึกษาจะต้องศึกษาตามโครงการและหลักสูตร และสถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ทุนการศึกษา การเปลี่ยนแปลงโครงการหรือหลักสูตรหรือสถาบันการศึกษา อาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยหรือคณะต้นสังกัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแล้วเท่านั้น
ข้อ ๑๗ การรายงานผลการศึกษา
ผู้รับทุนการศึกษาจะต้องรายงานผลการศึกษาทุกสิ้นภาคการศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องรายงานผลการศึกษา พร้อมส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ จำนวน ๑ ชุด ต่อมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๘ ข้อปฏิบัติระหว่างได้รับทุนการศึกษา
ในระหว่างการศึกษาผู้รับทุนการศึกษาจะต้องตั้งใจศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรโดยเร็ว
และจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือระเบียบข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง สัญญาการรับทุนการศึกษา รวมทั้ง
ข้อปฏิบัติอื่นใดอันเกี่ยวกับการศึกษาโดยการรับทุนการศึกษาตามระเบียบนี้ ทั้งที่ประกาศใช้แล้วในขณะรับทุนการศึกษาและที่จะประกาศใช้ในอนาคต
ข้อ ๑๙ ข้อปฏิบัติภายหลังการสิ้นสุดการศึกษา
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาศึกษาโดยการรับทุนการศึกษาไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาหรือไม่
หรือมหาวิทยาลัยได้สั่งให้ระงับทุนการศึกษาหรือถูกเรียกตัวกลับ ผู้รับทุนการศึกษาจะต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยทันที
(๒) ต้องปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยโดยมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา
ข้อ ๒๐ การชดใช้เงินกรณีผิดสัญญา
ในกรณีที่ผู้รับทุนการศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๙ หรือไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย
ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆ ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาและผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแก่มหาวิทยาลัยดังนี้
(๑) ผู้รับทุนการศึกษาและผู้ค้ำประกัน ต้องชดใช้เงินแก่มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนสองเท่าของเงินเดือน เงินเพิ่ม และเงินอื่นใดที่มหาวิทยาลัยหรือทางราชการได้จ่ายไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษา
(๒) ผู้รับทุนการศึกษาและผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแก่มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนสองเท่าของเงินทุนที่ใช้จ่ายไปตลอดระยะเวลาการศึกษา
ในกรณีที่ผู้รับทุนการศึกษากลับมารับราชการ แต่ไม่ครบกำหนดตามสัญญา ให้ลดเงินที่จะต้องชดใช้ลงตามส่วนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ผู้รับทุนการศึกษาและผู้ค้ำประกันจะต้องชำระเงินตามความในวรรคแรกเมื่อได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้ชำระเงินจากมหาวิทยาลัย มิเช่นนั้นผู้รับทุนการศึกษาจะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ของจำนวนเงินค้างชำระจนกว่าจะชำระจนครบถ้วน
ข้อ ๒๑ การคัดเลือกบุคคลอื่นเป็นผู้สมควรได้รับทุนการศึกษา
ในกรณีที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ถ้าไม่อาจจะคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับทุนการศึกษาจากอาจารย์หรือข้าราชการของมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาคัดเลือกบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๑๐ เป็นผู้สมควรได้รับทุนก็ได้ โดยคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
เป็นกรณีไป
ข้อ ๒๒ ผู้รักษาการตามระเบียบ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ ๒๓ บทเฉพาะกาล
ผู้ใดได้รับอนุมัติให้ได้รับทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ
และยังศึกษาอยู่ในระหว่างที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้การปฏิบัติเกี่ยวกับทุนการศึกษาและความผูกพันที่ผู้นั้นมีต่อมหาวิทยาลัยเป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท – เอก พ.ศ. ๒๕๔๑ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกประการ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
(ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย