ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๖๖
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวินัย
และการดำเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๓) และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ เมื่อวันที่
๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ จึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวินัยและการดำเนินการ
ทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงาน คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก และให้หมายความรวมถึงส่วนงานระดับกอง หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือกอง
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน
ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน และให้หมายความรวมถึงรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายหน้าที่จากอธิการบดีให้ควบคุม ดูแล และสั่งการสำนักงาน
สภามหาวิทยาลัยหรือส่วนงานระดับกอง
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงพนักงานเงินรายได้ และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มิใช่ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ
“ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย
“เงินเดือนหรือค่าจ้าง” ให้หมายความรวมถึงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย
เพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ การดำเนินการตามข้อบังคับนี้ให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็ว
ให้มีการบันทึกการดำเนินการทางวินัยและผลการดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับนี้ ไว้ในระบบการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย โดยให้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูล
ส่วนบุคคล
ข้อ ๖ การนับระยะเวลาตามข้อบังคับนี้มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย กรณีขยายเวลาให้นับวันต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มระยะเวลาที่ขยายออกไป
กรณีวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้ถือว่าวันที่เริ่มทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา
ข้อ ๗ ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยผู้ใดถูกเรียกให้เป็นพยานบุคคลหรือให้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อประกอบการดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่
ผู้บังคับบัญชาทุกลำดับชั้นต้องอนุญาตและให้ความสะดวกตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัยในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๘ ในระหว่างการดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับนี้ จะนำเหตุแห่งการถูกดำเนินการทางวินัยมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่อธิการบดีจะสั่งพักงานหรือสั่งให้
ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อน
หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสั่งพักงานหรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน และผลแห่งการสั่งพักงานหรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนให้เป็นไปตามที่กำหนดในหมวด ๘
ข้อ ๙ การแจ้งหรือจัดส่งคำสั่ง หนังสือ และบรรดาเอกสารหลักฐาน ให้ผู้ถูกร้องเรียน
หรือผู้ถูกกล่าวหา ให้ดำเนินการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เชิญผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหามารับด้วยตนเอง ณ ที่ทำการของผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย หรือของผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยหรือคณะกรรมการสอบสวน
(๒) ส่งไปยังส่วนงานที่ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ทางระบบงานสารบรรณ
(๓) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหา โดยอาจจัดส่งไปยังสถานที่ ดังต่อไปนี้
(๓.๑) ส่วนงานที่ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาสังกัด
(๓.๒) ภูมิลำเนาของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาตามข้อมูลทะเบียนราษฎร
(๓.๓) ที่อยู่ของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏตามหลักฐานของมหาวิทยาลัย
หรือส่วนงานต้นสังกัดซึ่งผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาได้ให้ไว้
(๔) ส่งโดยวิธีการอื่นตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
กรณีการส่งทางไปรษณีย์ให้ถือว่าผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบหรือได้รับคำสั่ง หนังสือ และบรรดาเอกสารหลักฐาน เมื่อครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ส่งสำหรับกรณีส่งภายในประเทศ หรือเมื่อครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งสำหรับกรณีส่งไปต่างประเทศ
กรณีดำเนินการจัดส่งไม่สำเร็จตามวรรคสอง ให้จัดส่งโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
ดำเนินการไปส่งให้ยังภูมิลำเนาหรือที่อยู่ของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาตาม (๓) หากไม่พบหรือพบแต่
ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับให้ปิดหรือวางไว้ในสถานที่ที่อาจคาดได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาจะพบเห็นได้ ทั้งนี้ ให้บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะปิดหรือวางเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๐ ในกรณีปรากฏต่อผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยหรือคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกร้องเรียน ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้แจ้งคำสั่ง หนังสือ และบรรดาเอกสารหลักฐาน ในรูปแบบที่ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาสามารถเข้าใจได้หรือจะแจ้งให้ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วยการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นก็ได้
ในกระบวนการดำเนินการทางวินัย หากผู้ถูกร้องเรียน ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานไม่สามารถพูด
หรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยหรือคณะกรรมการสอบสวนจัดหาล่ามภาษามือให้หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
ในกระบวนการดำเนินการทางวินัย หากผู้ถูกร้องเรียน ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานเป็น
ชาวต่างประเทศและไม่สามารถพูดหรือไม่เข้าใจภาษาไทยและไม่มีล่าม ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยหรือคณะกรรมการสอบสวนจัดหาล่ามแปลภาษาเพื่อให้ถามตอบหรือสื่อความหมายได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๑๑ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ
สอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนวินัยมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์
และอัตราที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ให้พยานบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมีสิทธิได้รับค่าป่วยการและค่าเดินทาง
ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
เมื่ออธิการบดีออกประกาศมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้รายงาน
สภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
หมวด ๒
วินัยและการรักษาวินัย
ข้อ ๑๒ พนักงานมหาวิทยาลัยต้องรักษาวินัยตามข้อบังคับนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
ให้กองนิติการดำเนินการเผยแพร่และให้ความรู้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับวินัยและการดำเนินการ
ทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้โดยจัดทำบันทึกข้อความเวียนแจ้งให้ทุกส่วนงานทราบ
ข้อ ๑๓ พนักงานมหาวิทยาลัยมีวินัยที่ต้องปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(๒) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม และมีธรรมาภิบาล
(๓) ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และให้เป็นไป
ตามนโยบาย แผนงาน และแนวปฏิบัติที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัย
(๔) ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่มหาวิทยาลัยด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และระมัดระวังรักษาชื่อเสียงและประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
(๕) ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และไม่ขัดต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการ
(๖) อุทิศเวลาของตนให้แก่มหาวิทยาลัย จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้
(๗) รักษาความลับของมหาวิทยาลัย
(๘) สุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี และต้องช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง
ผู้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วยกัน
(๙) ต้อนรับ ให้ความสะดวก และให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่นักศึกษา นักเรียนของมหาวิทยาลัย หรือผู้ใช้บริการหรือมาติดต่องานที่เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของตน
(๑๐) วางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่
(๑๑) ปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย รักษาชื่อเสียงของตน และรักษา
เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่ว
ข้อ ๑๔ พนักงานมหาวิทยาลัยมีวินัยที่ต้องห้ามมิให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรต้องแจ้ง
(๒) ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จในฐานะเป็นพยานในการดำเนินการทางวินัยหรือการสอบหาข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว
(๔) อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
(๕) ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่
(๖) กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน
(๗) กระทำการอย่างใดที่เป็นการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือละเมิดสิทธิ
โดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร่วมปฏิบัติงาน นักศึกษาหรือนักเรียนของมหาวิทยาลัย หรือผู้ใช้บริการหรือผู้มาติดต่องาน
กับมหาวิทยาลัย
(๘) เป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนั้น
ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือองค์กรอื่นใด ซึ่งมีสถานะหรือกระทำการขัดต่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
หรือมีเวลาปฏิบัติงานทับซ้อนกับเวลาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย เว้นแต่เป็นการปฏิบัติงานในห้างหุ้นส่วน
หรือบริษัท หรือองค์กรนิติบุคคลที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของ เป็นหุ้นส่วน หรือมีหุ้น หรือได้รับอนุญาตให้ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ตามข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศของมหาวิทยาลัย
(๙) ปฏิบัติงานอื่นใดโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งขัดต่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
(๑๐) ใช้ชื่อ ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย หรือส่วนงานของมหาวิทยาลัย หรือกระทำเพื่อให้ปรากฏชื่อ ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ดังกล่าวในสื่อใด ๆ อันเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การประกวด หรือเพื่อการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตนหรือของบุคคลอื่นไม่ว่าตนเองจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ในลักษณะที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน โดยที่มหาวิทยาลัย
หรือส่วนงานมิได้อนุญาตแล้วแต่กรณี
(๑๑) ล่วงละเมิดทางเพศหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศในลักษณะที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
กับผู้ร่วมปฏิบัติงาน นักศึกษาหรือนักเรียนของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๕ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีพฤติการณ์การกระทำเป็นการไม่ปฏิบัติตามวินัยอันเป็น
ข้อต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๓ หรือมีพฤติการณ์การกระทำเป็นการฝ่าฝืนวินัยอันเป็นข้อต้องห้ามมิให้ปฏิบัติตามข้อ ๑๔ เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ข้อ ๑๖ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีพฤติการณ์การกระทำผิดดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(๑) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
(๒) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
แก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
(๓) เปิดเผยความลับของมหาวิทยาลัยหรือทางราชการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
แก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
(๔) ละทิ้งหรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการของมหาวิทยาลัย หรือวันทำงานตามคำสั่งของส่วนงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง แบบแผน และนโยบายของมหาวิทยาลัย
(๕) กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายผู้ร่วมปฏิบัติงาน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ใช้บริการหรือมาติดต่อกับมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
(๖) ล่อลวง ข่มขืนใจ ขู่เข็ญ ล่วงละเมิด หรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นการครอบงำเพื่อให้กระทำการทางเพศ หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศ โดยอาศัยโอกาสในอำนาจหน้าที่ของตนในลักษณะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงกับผู้ร่วมปฏิบัติงาน นักศึกษาหรือนักเรียนของมหาวิทยาลัย หรือผู้ใช้บริการหรือมาติดต่องานกับมหาวิทยาลัย
(๗) ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือประหารชีวิต เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด
ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(๙) กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามข้อ ๑๕ จนถูกลงโทษทางวินัย แต่กลับมากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงในฐานความผิดซ้ำกันเป็นครั้งที่สามในรอบห้าปีนับแต่วันที่ถูกลงโทษครั้งแรก อันมีลักษณะ
เป็นการไม่เข็ดหลาบหรือไม่ปรับปรุงตนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีแก่มหาวิทยาลัย
(๑๐) กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามข้อ ๑๕ แต่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
(๑๑) เปิดเผยข้อสอบ หรือแก้ไขผลการเรียนหรือผลการสอบโดยมิชอบ
(๑๒) จงใจนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยมาเป็นของตน
ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือคัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตนโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการอันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่ หรือนำผลงานทางวิชาการของตนเองใน
เรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำชื่อของตนไปอ้างอิงว่า
มีส่วนร่วมในการทำผลงานทางวิชาการโดยมิชอบ
(๑๓) จ้าง วาน หรือใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่ง
ทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
(๑๔) รับจ้างหรือรับดำเนินการทำผลงานทางวิชาการในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร
ข้อ ๑๗ พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ใดได้รับเรื่องร้องเรียนหรือทราบถึงพฤติการณ์การกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอันมีลักษณะอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับนี้ แล้วละเลยไม่ดำเนินการทางวินัย หรือไม่รายงานตามลำดับชั้นให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดตามข้อ ๑๓ (๓) ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามข้อ ๑๕ เว้นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัย
อย่างร้ายแรงตามข้อ ๑๖ (๒) แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๘ พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการ
กลั่นแกล้งหรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนถูกดำเนินการทางวินัยโดยยังไม่ปรากฏมูลกรณีว่า
มีพฤติการณ์การกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดวินัยหรือมูลกรณีของการดำเนินการทางวินัย ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชา
ผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ ๑๖ (๕) และ (๘)
หมวด ๓
การดำเนินการทางวินัย
ส่วนที่ ๑
ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย
ข้อ ๑๙ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมี ดังต่อไปนี้
(๑) สภามหาวิทยาลัยในกรณีอธิการบดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย หรือในกรณีที่อธิการบดี
และพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นร่วมกันกระทำผิดวินัย
(๒) อธิการบดี ในกรณีหัวหน้าส่วนงานหรือพนักงานมหาวิทยาลัยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย
(๓) หัวหน้าส่วนงาน ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดส่วนงานนั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำ
ผิดวินัย เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อความเป็นธรรมแก่พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งถูกกล่าวหา เพราะเหตุว่า
มีกรณีที่หัวหน้าส่วนงานมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยต่างส่วนงานถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำผิดวินัยในกรณีเดียวกัน ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ
ทางวินัย
ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง (๓) อาจมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือเลขานุการส่วนงาน มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแทนก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงระดับตำแหน่ง
ของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนที่ ๒
มูลกรณีและการพิจารณามูลกรณี
ข้อ ๒๐ มูลกรณีของการดำเนินการทางวินัยมี ดังต่อไปนี้
(๑) เกิดจากการร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้หนึ่งผู้ใดมีพฤติการณ์การกระทำผิดวินัย
(๒) ข้อเท็จจริงปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้หนึ่งผู้ใดมีพฤติการณ์
การกระทำผิดวินัย
(๓) ผลจากการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วพบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้หนึ่งผู้ใด
มีพฤติการณ์การกระทำผิดวินัย
(๔) หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายชี้มูลความผิดทางวินัยแก่พนักงานมหาวิทยาลัยผู้หนึ่งผู้ใด
ข้อ ๒๑ การร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีพฤติการณ์การกระทำผิดวินัยอาจดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ร้องเรียนหรือกล่าวหาเป็นหนังสือส่งถึงมหาวิทยาลัย ส่วนงาน หรือผู้บังคับบัญชา
ของพนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้น
(๒) ร้องเรียนหรือกล่าวหาโดยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาของพนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้น
ข้อ ๒๒ หนังสือร้องเรียนหรือกล่าวหาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหา และลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหา
(๒) ชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีที่ไม่ทราบชื่ออาจระบุถึงลักษณะเฉพาะตัวสำคัญของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหา วัน เวลา และสถานที่ที่เกิดเหตุแห่งการร้องเรียนหรือกล่าวหา และลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบการตรวจสอบถึงตัวผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาได้
(๓) ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์การกระทำซึ่งเป็นเหตุแห่งการร้องเรียนหรือกล่าวหา
(๔) พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนหรือกล่าวหาตามสมควร
ในกรณีที่หนังสือร้องเรียนหรือกล่าวหามีข้อมูลไม่ครบตามวรรคหนึ่งและไม่มีข้อมูลอื่น
ที่เพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนให้รู้ถึงตัวผู้กระทำความผิดตามข้อร้องเรียน
หรือกล่าวหาได้ ผู้บังคับบัญชาอาจไม่รับเรื่องร้องเรียนหรือกล่าวหานั้นไว้เป็นมูลกรณีดำเนินการทางวินัยต่อไปก็ได้
ข้อ ๒๓ กรณีที่มีการร้องเรียนหรือกล่าวหาโดยวาจาต่อผู้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการจัดทำบันทึกการร้องเรียนหรือกล่าวหาไว้เป็นหนังสือ พร้อมจัดให้ผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาประสงค์ปกปิดตัวตนหรือไม่ยอมลงลายมือชื่อไว้ในบันทึก
คำกล่าวหา ให้ผู้รับฟังการกล่าวหาบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในบันทึกคำกล่าวหาด้วย
การร้องเรียนหรือกล่าวหาโดยวาจาตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลเช่นเดียว
กับการร้องเรียนหรือกล่าวหาเป็นหนังสือตามข้อ ๒๒
ในกรณีที่การร้องเรียนหรือกล่าวหาโดยวาจา มีข้อมูลไม่ครบตามวรรคสอง และไม่มีข้อมูลอื่น
ที่เพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนให้รู้ถึงตัวผู้กระทำความผิดตามข้อร้องเรียน
หรือกล่าวหาได้ ผู้บังคับบัญชาอาจไม่รับเรื่องร้องเรียนหรือกล่าวหานั้นไว้เป็นมูลกรณีดำเนินการทางวินัยต่อไปก็ได้
ข้อ ๒๔ เมื่อมีการร้องเรียนหรือกล่าวหา ให้หัวหน้าส่วนงานหรือผู้บังคับบัญชาของพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งถูกร้องเรียนหรือถูกกล่าวหา ดำเนินการตรวจสอบหรือสืบสวน หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือสืบสวน หรือรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงของข้อร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาเสนอต่อผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรที่ควรกล่าวหาว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) กรณีเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ดำเนินการต่อไปตามหมวด ๓
ส่วนที่ ๓
(๑.๒) กรณีเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ดำเนินการต่อไปตามหมวด ๓
ส่วนที่ ๔
(๒) กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้สั่งยุติเรื่อง
(๒.๑) พฤติการณ์แห่งการกระทำตามข้อร้องเรียนหรือกล่าวหาไม่ถือเป็นความผิดทางวินัย
ตามข้อบังคับนี้
(๒.๒) ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แวดล้อมและพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะทำให้ทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดวินัย
(๒.๓) ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แวดล้อมและพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่ามีการกระทำผิดวินัย หรือไม่เพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่มูลกรณีของการดำเนินการทางวินัย เป็นการร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าอธิการบดีหรืออธิการบดีและพนักงานมหาวิทยาลัยร่วมกันกระทำผิดวินัย ให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงรายงานต่อนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอให้พิจารณาเสนอสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับอธิการบดี หรืออธิการบดีและพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร่วมกัน
ส่วนที่ ๓
การดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ข้อ ๒๖ เมื่อมีมูลกรณีของการดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ
ทางวินัยดำเนินการโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการทางวินัยโดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
(๒) ดำเนินการทางวินัยโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ข้อ ๒๗ การดำเนินการทางวินัยโดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ดำเนินการสอบสวน
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยอาจดำเนินการสอบสวนด้วยตนเองหรือมอบหมายให้พนักงานมหาวิทยาลัยคนใดคนหนึ่งดำเนินการสอบสวนก็ได้
(๒) ก่อนการดำเนินการสอบสวน ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแจ้งถึงข้อร้องเรียน
หรือข้อกล่าวหา ผู้ดำเนินการสอบสวน และสิทธิในการคัดค้านผู้ดำเนินการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
เป็นหนังสือ
(๓) ให้ผู้ดำเนินการสอบสวนดำเนินสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบพยานหลักฐาน
ที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหา
(๔) เมื่อได้ดำเนินการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว
ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๔.๑) หากปรากฏว่าพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นการกระทำผิดวินัย
ให้ยุติเรื่องและแจ้งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือ
(๔.๒) หากปรากฏว่าพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเป็นหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยกำหนด และเมื่อได้ได้พิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นการกระทำผิดวินัย ก็ให้ยุติเรื่องและแจ้งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือ แต่ถ้าพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ดำเนินการตามหมวด ๖ ต่อไป
(๔.๓) หากปรากฏว่าพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือ และดำเนินการตามหมวด ๓ ส่วนที่ ๔ ต่อไป
การดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องดำเนินการ
ไม่เกินหกสิบวันทำการของมหาวิทยาลัยนับแต่วันที่พิจารณาเห็นว่ากรณีมีมูลว่าพนักงานมหาวิทยาลัย
กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวันทำการของมหาวิทยาลัย ตามความจำเป็นโดยระบุเหตุผลและแจ้งให้
ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือด้วย
ข้อ ๒๘ การดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการสอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเป็นหนังสือให้
ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด วินิจฉัยหรือสั่งการใด ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนหรือความเป็นธรรม และทำรายงานการสอบสวน
พร้อมความเห็นเกี่ยวกับความผิดและระดับโทษเสนอต่อผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์ที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนจะเห็นควรดำเนินการเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
การดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันทำการของมหาวิทยาลัยนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณี
มีมูลว่าพนักงานมหาวิทยาลัยกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยขยายเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้งครั้งละไม่เกินสามสิบวันตามความจำเป็นโดยระบุเหตุผลและแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย
ข้อ ๒๙ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการคัดค้านกรรมการสอบสวน ให้นำข้อ ๓๓
ข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ ข้อ ๓๖ ข้อ ๓๗ ข้อ ๓๘ ข้อ ๓๙ และข้อ ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓๐ เมื่อผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยได้รับรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็น
ของคณะกรรมการสอบสวนอย่างไม่ร้ายแรงแล้ว ให้พิจารณาสั่งหรือดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยตามข้อกล่าวหา ให้สั่งยุติเรื่องภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และให้แจ้งผลการสอบสวน
ว่ายุติเรื่องเป็นหนังสือแก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย
(๒) ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ดำเนินการตามหมวด ๖
(๓) ในกรณีที่เห็นว่าข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานจากการสอบสวนยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย ให้กำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันทำการของมหาวิทยาลัยนับแต่ประธานคณะกรรมการสอบสวนได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย
ให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่ามีการขยายระยะเวลาด้วย เว้นแต่ยังอยู่ภายในระยะเวลาการสอบสวนตามข้อ ๒๘ วรรคสี่
(๔) ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการสอบสวนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญ ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องภายในสามสิบวันทำการของมหาวิทยาลัยนับแต่ประธานคณะกรรมการสอบสวนได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย ให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้
ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่ามีการขยายระยะเวลาด้วย เว้นแต่ยังอยู่ภายในระยะเวลาการสอบสวนตามข้อ ๒๘ วรรคสี่
(๕) ในกรณีที่ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าข่าย
เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้เสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหมวด ๓ ส่วนที่ ๔ ต่อไป
ข้อ ๓๑ เมื่อผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามข้อ ๑๙ (๓) ได้พิจารณาดำเนินการลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแล้ว ให้รายงานผลการลงโทษทางวินัยต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาถึงความถูกต้องของการดำเนินการทางวินัยและความเหมาะสมของการลงโทษ
ในกรณีที่อธิการบดีพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือการลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงของผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อาจพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) สั่งให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามข้อ ๑๙ (๓) ดำเนินการให้ถูกต้องหรือสั่งให้ลงโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ หรืองดโทษ ตามความเหมาะสมแก่กรณี
(๒) สั่งให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามข้อ ๑๙ (๓) เปลี่ยนแปลงข้อความในคำสั่งเดิม
หรือให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาให้ได้ความจริงและยุติธรรมก็ได้
ส่วนที่ ๔
การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๓๒ เมื่อมีมูลกรณีของการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้อธิการบดีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป
ข้อ ๓๓ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน โดยแต่งตั้งจากพนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการในสังกัดของมหาวิทยาลัย
เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนหรือเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา อาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมการก็ได้
ในคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้มีเลขานุการที่แต่งตั้งจากพนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยตำแหน่งนิติกรหรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือผู้ได้รับการฝึกอบรม
ตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัย และอาจมีผู้ช่วยเลขานุการที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันด้วยอีกจำนวนไม่เกิน
สองคนก็ได้
ข้อ ๓๔ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต้องระบุชื่อและตำแหน่ง
ของผู้ถูกกล่าวหา สาระสำคัญของเรื่องที่กล่าวหา ชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวน
เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ให้ทำตามแบบ สว.๑ ท้ายข้อบังคับนี้
การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้ง รวมถึงการสอบสวนที่ผ่านมา
ข้อ ๓๕ เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงพร้อมทั้งแจ้งสิทธิคัดค้าน
ประธานกรรมการ และกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว
(๒) ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อ
และวันเดือนปีที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๓๖ ให้ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้ถูกกล่าวหา
โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๙
ข้อ ๓๗ ประธานกรรมการและกรรมการสอบสวนอาจถูกคัดค้านได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาตามข้อ ๒๑
(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาตามข้อ ๒๑
(๓) เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้นของผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาตามข้อ ๒๑
(๔) เป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาหรือกับคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้ร้องเรียนหรือผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหา
(๕) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่สอบสวน
(๖) เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำผิดตามเรื่องที่กล่าวหา
(๗) เป็นผู้ที่มีเหตุอื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสีย
ความเป็นธรรม
(๘) เหตุอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนด
ข้อ ๓๘ การคัดค้านประธานกรรมการและกรรมการสอบสวน ให้ผู้ถูกกล่าวหาทำเป็นหนังสือ
ยื่นต่ออธิการบดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
หรือวันทราบเหตุแห่งการคัดค้านโดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การสอบสวนไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างไร ในการนี้ให้ส่งสำเนาหนังสือคัดค้านและแจ้งวันที่ได้รับหนังสือคัดค้านดังกล่าวให้ประธานกรรมการทราบและรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
ในการพิจารณาเรื่องคัดค้านผู้ซึ่งถูกคัดค้านอาจทำคำชี้แจงได้ หากอธิการบดีเห็นว่าหนังสือคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้สั่งให้ผู้ซึ่งถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวน หากเห็นว่าหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ ให้สั่งยกคำคัดค้านนั้น ทั้งนี้ให้แสดงเหตุผลในการพิจารณาสั่งการดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ แล้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนโดยเร็ว การสั่งยกคำคัดค้านให้เป็นที่สุด
การพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน ไม่กระทบถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
และให้ถือว่าคณะกรรมการคณะนั้นประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่ไม่ถูกคัดค้าน
ในกรณีอธิการบดีสั่งให้ประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง อธิการบดี
อาจมีคำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
ข้อ ๓๙ ในกรณีที่กรรมการสอบสวนผู้ใดเห็นว่าตนมีกรณีตามข้อ ๓๗ ให้ผู้นั้นแจ้งให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทราบ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงพิจารณาสั่งการตามข้อ ๓๘ โดยอนุโลมต่อไป
ข้อ ๔๐ ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
หรือจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวน เพิ่มหรือลดจำนวนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนให้ดำเนินการได้โดยให้แสดงเหตุแห่งการสั่งนั้นไว้ด้วย และให้นำข้อ ๓๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง
ไม่กระทบถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ข้อ ๔๑ ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน
หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ลงนามรับทราบตามข้อ ๓๕ (๒)
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีเหตุผลและความจำเป็นไม่อาจดำเนินการ
ให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการรายงานต่ออธิการบดีเพื่อขอขยายเวลาสอบสวนตามความจำเป็น และให้อธิการบดีพิจารณาขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน ไม่เกินสามครั้ง
ทั้งนี้ ให้ยื่นคำขอขยายเวลาภายในระยะเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการสอบสวน ในกรณี
ที่ไม่สามารถดำเนินการขอขยายระยะเวลาการสอบสวนก่อนสิ้นสุดได้ ให้บันทึกเหตุไว้ในคำขอขยายระยะเวลา
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่อธิการบดีขยายเวลาให้เป็นครั้งที่สาม ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงยื่นคำขอขยายเวลาสอบสวนต่ออธิการบดีเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพิจารณาก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสอบสวน เว้นแต่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่อาจพิจารณาได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา
ข้อ ๔๒ ให้ประธานกรรมการจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
ครั้งแรกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ลงนามรับทราบคำสั่งตามข้อ ๓๕ (๒) ในกรณีที่ไม่อาจจัดประชุมได้ภายในกำหนด ให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นให้อธิการบดีทราบ
ในการประชุมคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกำหนดประเด็นและวางแนวทางการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐาน
ข้อ ๔๓ เมื่อได้วางแนวทางการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อ ๔๒ แล้ว
ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการแสวงหาความจริงในเรื่องที่กล่าวหา และดูแลให้เกิด
ความยุติธรรมตลอดกระบวนการสอบสวน โดยให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ
หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนหรือความเป็นธรรม ในการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) รวบรวมประวัติการปฏิบัติงาน ความประพฤติหรือประวัติการดำเนินการทางวินัยจาก
ส่วนงานที่เกี่ยวข้องของผู้ถูกกล่าวหาเท่าที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(๓) แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
(๔) ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
(๕) พิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
(๖) ทำรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ในการประชุมให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำบันทึกการประชุมไว้ทุกครั้งที่มีการสอบสวน
ข้อ ๔๔ ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เห็นว่า
เป็นประโยชน์แก่การสอบสวนโดยไม่รับฟังแต่เพียงข้ออ้างหรือพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงในหมวด ๓
ส่วนที่ ๓ จะนำมาใช้ในการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามส่วนนี้ได้หรือไม่เพียงใด ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย
ข้อ ๔๕ ในการประชุมของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดเข้าร่วมการประชุม
เว้นแต่ในกรณีที่จำนวนกึ่งหนึ่งของกรรมการสอบสวนทั้งหมดมีมากกว่าสามคน จะให้กรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสามคนทำการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานก็ได้ และในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น ประธานกรรมการอาจกำหนดให้มีการประชุมหรือสอบปากคำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานให้จัดให้มีสอบปากคำคราวละหนึ่งคน
ข้อ ๔๖ การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานตามข้อ ๔๕ ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) บันทึกถ้อยคำตามแบบ สว.๒ หรือแบบ สว.๓ ท้ายข้อบังคับนี้ แล้วแต่กรณี
(๒) เมื่อบันทึกถ้อยคำเสร็จแล้วให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังหรือให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้
(๓) ให้ผู้ให้ถ้อยคำ ผู้บันทึกถ้อยคำ และคณะกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำ
ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำนั้นไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่บันทึกถ้อยคำใดมีหลายหน้า ให้ผู้ให้ถ้อยคำ
และคณะกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำหนึ่งคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ในบันทึกถ้อยคำทุกหน้า
ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามขูด ลบ หรือบันทึกข้อความทับข้อความที่ได้บันทึกไว้ในบันทึกถ้อยคำแล้ว ถ้าจะต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความที่บันทึกไว้ ให้ใช้วิธีขีดฆ่าข้อความเดิมและเพิ่มเติมข้อความใหม่ด้วย
วิธีตกเติม แล้วให้ผู้ให้ถ้อยคำและคณะกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำหนึ่งคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ตรงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทุกแห่ง
ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้บันทึกเหตุที่ไม่ลงลายมือชื่อนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำ และให้คณะกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำทุกคนลงลายมือชื่อ
ไว้ด้วย
ข้อ ๔๗ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยาน คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
อาจดำเนินการสอบปากคำโดยบันทึกเสียงหรือบันทึกภาพและเสียงของผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานไว้เป็นหลักฐานแทนบันทึกถ้อยคำตามแบบที่กำหนดไว้ในข้อ ๔๖ (๑) ก็ได้ โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานก่อน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจัดให้มีบันทึกแสดงหลักฐานความยินยอมของผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานด้วย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เลขานุการจัดเก็บสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกเสียง
หรือบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน
ข้อ ๔๘ ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการสอบปากคำได้
การใดที่ทนายความหรือที่ปรึกษาได้กระทำลงในการสอบปากคำให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา
เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้คัดค้านเสียแต่ในขณะนั้น
ในกรณีสอบปากคำบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ถูกกล่าวหา ห้ามบุคคลอื่นอยู่ในที่สอบปากคำด้วย
เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์
ในการสอบสวน
ข้อ ๔๙ ห้ามคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง บังคับ หรือกระทำโดยมิชอบไม่ว่าด้วยประการใด เพื่อจูงใจให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานให้ถ้อยคำอย่างใด
ข้อ ๕๐ การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจัดให้มีการบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด
เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่อาจนำต้นฉบับมาได้
จะใช้สำเนาที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้
ในกรณีที่ไม่สามารถหาต้นฉบับเอกสารได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายหรือโดยเหตุประการอื่นคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะสืบจากสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนก็ได้
ข้อ ๕๑ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่มาหรือมาแต่ไม่ชี้แจงหรือไม่ให้ถ้อยคำ
หรือในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไม่อาจเรียกบุคคลใดมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำได้ภายในเวลาอันควร คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะไม่สอบสวนบุคคลนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานประกอบการสอบสวนด้วย
ข้อ ๕๒ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่าการสอบสวนพยานบุคคลใดหรือการรวบรวมพยานเอกสารหรือวัตถุใดจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือพยานหลักฐานนั้น
มิใช่สาระสำคัญ จะงดสอบสวนหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานประกอบการสอบสวนด้วย
ข้อ ๕๓ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย
และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๔๓ วรรคหนึ่ง (๒) แล้ว ให้มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงเพื่อพิจารณาทำความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงพิจารณาเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ให้รายงานผลการสอบสวนพร้อมความเห็นเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อพิจารณายุติเรื่อง
หรือดำเนินการตามที่เห็นสมควร แต่ถ้าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่าจากข้อเท็จจริง
ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่รวบรวมได้เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบต่อไป
การประชุมตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและไม่น้อยกว่าสามคนของจำนวนคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทั้งหมด
ข้อ ๕๔ ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดีเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน ถ้าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
จะนำเอาคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นมาใช้เป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอื่นก็ได้ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้น เพื่อใช้เป็นสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย
ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดหรือไม่ต้องรับผิดในคดีเกี่ยวกับ
เรื่องที่สอบสวน ถ้าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดหรือไม่ต้องรับผิดตามข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะนำเอาคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นมาใช้เป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอื่นก็ได้
ข้อ ๕๕ การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ทำเป็นบันทึกระบุข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร เป็นความผิดวินัยในกรณีใด
และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา โดยจะระบุชื่อพยานด้วยหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งแจ้งให้ทราบสิทธิ
ของผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือ สิทธิที่จะแสดงพยานหลักฐาน
หรือจะอ้างพยานหลักฐานเพื่อขอให้เรียกพยานหลักฐานนั้นมาได้ แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึก
มีสาระสำคัญตามแบบ สว.๔ ท้ายข้อบังคับนี้ โดยให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความตรงกัน
ข้อ ๕๖ เมื่อได้จัดทำบันทึกตามข้อ ๕๕ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
มีหนังสือเชิญผู้ถูกกล่าวหามาพบตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกำหนด
เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้มาพบคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งอธิบายข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุน
ข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบข้อกล่าวหาโดยลงลายมือชื่อพร้อมทั้งวันเดือนปี
ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา แล้วมอบบันทึกนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหา
หนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงบันทึกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวไว้ในบันทึกนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่า
ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานตั้งแต่วันที่มาพบคณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงแล้ว และให้มอบบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
ให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับบันทึกดังกล่าว ให้ส่งบันทึกไปให้ผู้ถูกกล่าวหาตามวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๙
ข้อ ๕๗ เมื่อได้แจ้งข้อกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบตามข้อ ๕๖ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด ในกรณี
ที่ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาใด ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงบันทึก
การรับสารภาพตามข้อกล่าวหานั้นไว้ในแบบ สว.๒ ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะไม่ทำการสอบสวนในข้อกล่าวหานั้นก็ได้ แล้วดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่รับสารภาพตามข้อกล่าวหาใด ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือแสดงพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐานเพื่อนำสืบแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร และด้วยวิธีการใด
ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจา ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาส
ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจาในวันที่เชิญผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ ๕๖
ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวตามข้อ ๕๖ วรรคสอง
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ทันภายในระยะเวลาตามวรรคสี่และมี
ความประสงค์จะขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยอ้างเหตุผลหรือความจำเป็น ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงให้ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องขอได้ภายในระยะเวลาตามสมควรแก่กรณี โดยให้คำนึงถึงความเป็นธรรม
ข้อ ๕๘ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาพบคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามที่กำหนด
ในข้อ ๕๖ ให้ส่งบันทึกตามข้อ ๕๕ จำนวนหนึ่งฉบับไปให้ผู้ถูกกล่าวหาตามวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๙
ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตั้งแต่วันที่ครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งบันทึกดังกล่าว แล้วดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในการส่งบันทึกตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีหนังสือสอบถาม
ผู้ถูกกล่าวหาด้วยว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด พร้อมทั้งขอให้ผู้ถูกกล่าวหายื่น
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ ๕๗ วรรคสี่และวรรคห้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๕๙ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่แสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้
ข้อกล่าวหา หรือไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือภายในเวลาที่กำหนดตามข้อ ๕๗ และข้อ ๕๘ ให้ถือว่า
ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะเห็นควรดำเนินการเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม
ข้อ ๖๐ ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติมหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องที่สอบสวนแล้ว
ถ้าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่าพยานหลักฐานที่เพิ่มเติมนั้นมีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหา
ให้แจ้งสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้นมีผลทำให้
ข้อกล่าวหาในเรื่องที่สอบสวนนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือต้องเพิ่มข้อกล่าวหา ให้กำหนดข้อกล่าวหาใหม่หรือกำหนด
ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แล้วแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหานั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ ๕๕ ข้อ ๕๖ ข้อ ๕๗ ข้อ ๕๘ และข้อ ๕๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๖๑ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่ากรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงโดยเร็ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามรายงาน ให้มอบหมายคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงคณะเดิมหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่เป็นผู้ทำการสอบสวน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ในข้อบังคับนี้
ข้อ ๖๒ ในกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงผู้ปฏิบัติงานอื่น ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงพิจารณาในเบื้องต้นว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้น
มีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการสอบสวนรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว
ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่ากรณีมีมูลว่าพนักงานมหาวิทยาลัยกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามรายงานให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงคณะเดิมเป็นผู้สอบสวน หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับนี้ กรณีเช่นนี้
ให้ใช้พยานหลักฐานตามที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่
ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนการสอบสวนเดิมรวมในสำนวนการสอบสวนใหม่ หรือบันทึก
ให้ปรากฏว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบการพิจารณาในสำนวนการสอบสวน
ใหม่ด้วย
ข้อ ๖๓ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐาน
ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือแสดงพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐานนำสืบแก้ข้อกล่าวหา และได้รวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาได้แล้ว
ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงประชุมเพื่อพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
ในการพิจารณาทำความเห็นตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
ต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพิจารณามีมติในเรื่องที่สอบสวนให้ครบทุกข้อกล่าวหาและทุกประเด็น ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ต้องพิจารณาให้ได้ความด้วยว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามข้อใด ควรได้รับโทษสถานใด และมีเหตุอันควรลดหย่อนหรือไม่ เพียงใด
ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงพิจารณาลงมติว่ากรณีเห็นควรให้ออกจากงานด้วยเหตุถ้าให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเป็นการเสียหาย
แก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลหรือไม่ อย่างไร
แล้วทำความเห็นเสนอไว้ในรายงานการสอบสวนด้วย
การประชุมเพื่อพิจารณาทำความเห็นตามข้อนี้ ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่า
กึ่งหนึ่งและไม่น้อยกว่าสามคนของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด
ข้อ ๖๔ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้ดำเนินการตามข้อ ๖๓ แล้ว ให้จัดทำรายงานการสอบสวนซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบรายงานการสอบสวนตามแบบ สว.๕ ท้ายข้อบังคับนี้ เสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้เสนอไปพร้อมสำนวนการสอบสวน
รายงานการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วยเรื่องที่สอบสวน ข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานที่สนับสนุนหรือหักล้างข้อกล่าวหา ประเด็นที่ต้องพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ ๖๓ วรรคสองและวรรคสาม และลายมือชื่อกรรมการสอบสวนทุกคน รวมทั้งให้เลขานุการลงลายมือชื่อกำกับไว้ในรายงานการสอบสวนหน้าอื่นด้วยทุกหน้า
ในกรณีที่กรรมการสอบสวนคนใดมีเหตุจำเป็นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้ประธานกรรมการสอบสวนบันทึกเหตุจำเป็นดังกล่าวไว้ด้วย และในกรณีที่กรรมการสอบสวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้แสดงชื่อและสรุปความเห็นแย้ง
ของผู้นั้นไว้ในรายงานการสอบสวนด้วย ในการนี้ ผู้มีความเห็นแย้งนั้นจะทำบันทึกรายละเอียดความเห็นแย้ง
และลงลายมือชื่อของตนแนบไว้กับรายงานการสอบสวนด้วยก็ได้
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้เสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้ถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ
ข้อ ๖๕ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงอาจดำเนินการประชุมเพื่อสอบปากคำ
ผู้ถูกกล่าวหาหรือพยาน แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา
หรือดำเนินการอื่นใดตามข้อบังคับนี้ ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการเก็บรักษาความลับของการสอบสวนและการคุ้มครองพยานเป็นสำคัญ
ข้อ ๖๖ เมื่ออธิการบดีได้รับรายงานการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวน ถ้าเห็นว่าการสอบสวนถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ให้อธิการบดีดำเนินการ
ตามข้อ ๖๗ แต่ถ้าเห็นว่าการสอบสวนยังไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ก็ให้สั่งหรือดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เห็นว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่ครบถ้วน
ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนโดยเร็ว
(๒) ในกรณีที่เห็นว่าควรรวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติม ให้กำหนดประเด็น
หรือข้อสำคัญที่ต้องการให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทำการสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่ต้องทำความเห็น
(๓) ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการใดไม่ถูกต้อง ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนวินัย
อย่างร้ายแรงดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว
ข้อ ๖๗ เมื่ออธิการบดีเห็นว่าการสอบสวนถูกต้องครบถ้วนแล้วให้พิจารณามีความเห็นเพื่อ
สั่งหรือดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย หรือกระทำผิดวินัย
อย่างไม่ร้ายแรง ให้อธิการบดีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
(๒) ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้อธิการบดีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
(๓) ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย
อย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง หากแต่มีข้อเท็จจริง
และพยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นสอบสวนมีความสอดคล้องตรงกันทำให้เชื่อได้ว่า หากจะให้ปฏิบัติงานอยู่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง ให้อธิการบดีมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาออกจากการเป็น
พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นกรณีพิเศษตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล
ข้อ ๖๘ ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการใดไม่ถูกต้องตามข้อบังคับนี้ ให้เฉพาะการดำเนินการนั้นเสียไป และถ้าการดำเนินการนั้นเป็นสาระสำคัญที่ต้องดำเนินการหรือหากไม่ดำเนินการจะทำให้เสีย
ความเป็นธรรม ให้แก้ไขหรือดำเนินการนั้นเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว
ข้อ ๖๙ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดตายในระหว่างการสอบสวน ให้การดำเนินการทางวินัย
แก่ผู้นั้นเป็นอันยุติ
ข้อ ๗๐ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดซึ่งออกจากงานอันมิใช่เพราะเหตุตาย มีกรณีถูกกล่าวหา
เป็นหนังสือก่อนออกจากงานว่า ขณะปฏิบัติงานได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการหรือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนออกจากงานว่า ในขณะปฏิบัติงานได้กระทำความผิดอาญาอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
ที่ไม่เกี่ยวกับงานหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากงาน
แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากงาน
กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกล่าวหา หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังจาก
ที่พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดออกจากงานแล้ว ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้นออกจากงาน
ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษ
ได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากงาน และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากงาน สำหรับกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ ๗๓ จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากงาน
ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยหรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ แล้วแต่กรณี
การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ถ้าผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ
ในระหว่างที่ได้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาหากปรากฏว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายให้ยุติเรื่อง
ข้อ ๗๑ เมื่ออธิการบดีได้ดำเนินการสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ให้คำสั่งลงโทษวินัย
อย่างร้ายแรงมีผลตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง
เมื่ออธิการบดีได้ดำเนินการสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้อธิการบดีรายงานต่อนายกสภามหาวิทยาลัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษเพื่อพิจารณาบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยอาจให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรฐานการลงโทษ
และความถูกต้องของกระบวนการสอบสวนแก่อธิการบดีได้
หมวด ๔
ความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง
ข้อ ๗๒ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หรือได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ
ต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพ
เป็นหนังสือ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้
ข้อ ๗๓ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ ๑๖ ข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ ในกรณีดังต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยจะดำเนินการทางวินัย
โดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้
(๑) ขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการของมหาวิทยาลัยหรือวันทำงานตามสำสั่งของส่วนงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง แบบแผน และนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยไม่กลับมาปฏิบัติงานอีกเลย
(๒) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยคำพิพากษา
ถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ
(๓) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หรือได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน
หรือต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ
(๔) เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งกรณีอื่นตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๕
การดำเนินการทางวินัยต่ออธิการบดี
ข้อ ๗๔ ในกรณีที่อธิการบดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๖ หมวด ๗ และหมวด ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจลงนามในคำสั่งหรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
กับการดำเนินการทางวินัยที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย
หมวด ๖
โทษทางวินัย และผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัย
ข้อ ๗๕ ให้ผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยสั่งลงโทษพนักงานมหาวิทยาลัยผู้กระทำผิดวินัยตามควร
แก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
ข้อ ๗๖ โทษทางวินัย ประกอบด้วย
(๑) โทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มี ๓ สถาน ได้แก่
(๑.๑) ภาคทัณฑ์
(๑.๒) ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(๑.๓) ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(๒) โทษทางวินัยอย่างร้ายแรง มี ๒ สถาน ได้แก่
(๒.๑) ปลดออกจากงาน
(๒.๒) ไล่ออกจากงาน
การลงโทษตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างตาม (๑.๒) ให้ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน
ร้อยละห้าของเงินเดือนหรือค่าจ้างและเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือน
การลงโทษลดเงินเดือนหรือค่าจ้างตาม (๑.๓) ให้ลดเงินเดือนหรือค่าจ้างได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน
ร้อยละห้าของเงินเดือนหรือค่าจ้าง
ข้อ ๗๗ ผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่
(๑) อธิการบดีมีอำนาจสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงได้ทุกสถานและระดับ
(๒) ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามข้อ ๑๙ (๓) มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ดังต่อไปนี้
(๒.๑) ภาคทัณฑ์ หรือ
(๒.๒) ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละห้าและเป็นเวลาไม่เกินสองเดือน หรือ
(๒.๓) ลดเงินเดือนหรือค่าจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละสาม
ในการพิจารณาสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่ง หากมีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ ทั้งนี้ เหตุอันควรลดหย่อนนั้น ได้แก่ ไม่เคยกระทำผิดวินัยมาก่อน มีคุณความดีมาแต่ก่อน สำนึกผิด
และพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน ให้ถ้อยคำ
ที่เป็นประโยชน์แก่การสอบสวน ระยะเวลาและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
กรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยที่อาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หากผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้กระทำผิดวินัยดังกล่าวมีเหตุอันควรลดหย่อนตามวรรคสอง ก็อาจพิจารณาให้งดโทษภาคทัณฑ์นั้น
โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
ในการพิจารณาลงโทษตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้กระทำผิดวินัยเคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อนในเหตุลักษณะเดียวกัน อาจนำการถูกลงโทษทางวินัยนั้นมาประกอบการพิจารณาเพิ่มโทษก็ได้ ทั้งนี้ การใช้ดุลยพินิจ
เพิ่มโทษให้แสดงเหตุผลประกอบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
ข้อ ๗๘ ผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงได้แก่อธิการบดี ซึ่งมีอำนาจสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานแล้วแต่กรณี เว้นแต่กรณีทุจริตต่อหน้าที่ให้สั่งลงโทษไล่ออกจากงาน
ในการพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกจากงาน ยกเว้นกรณีทุจริตต่อหน้าที่ ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนตามข้อ ๗๗ วรรคสอง จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามลดโทษลงต่ำกว่าปลดออกจากงาน
หมวด ๗
วิธีการสั่งลงโทษ
ข้อ ๗๙ การสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง มิให้สั่งลงโทษย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง
การสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งให้มีผลย้อนหลังให้กระทำได้ในกรณีมีเหตุสมควร แต่ทั้งนี้
ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความเป็นธรรม รวมถึงต้องไม่เป็นการทำให้เสียประโยชน์ตามสิทธิโดยชอบธรรม
ของผู้ถูกสั่งลงโทษนั้น
ข้อ ๘๐ การสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน มิให้สั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่
(๑) ในกรณีที่ได้มีคำสั่งให้พักงานหรือให้ออกจากงานไว้ก่อน เมื่อจะสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ให้สั่งปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานตั้งแต่วันพักงานหรือวันให้ออกจากงานไว้ก่อนแล้วแต่กรณี
(๒) การสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ในกรณีกระทำผิดวินัยโดยขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการและไม่กลับมาปฏิบัติงานอีก ให้สั่งปลดออกจากงานหรือไล่ออก
จากงานตั้งแต่วันแรกที่ขาดงานนั้น
(๓) การลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ในกรณีกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก ให้สั่งปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานตั้งแต่วันต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับโทษที่หนักกว่าจำคุกหรือวันแรกที่ถูกคุมขังติดต่อกันจนถึงวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี
(๔) การสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งลงโทษนั้นได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงานไปก่อนแล้ว หรือถูกสั่งให้ออกจากงานในกรณีอื่นไปก่อนแล้ว ให้สั่งปลดออก
จากงานหรือไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันออกจากงานนั้น
(๕) การสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งนั้นได้พ้น
จากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยเหตุเกษียณอายุงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย
การบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยไปก่อนแล้ว ให้สั่งปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นเกษียณอายุงาน
(๖) กรณีใดมีเหตุสมควรสั่งปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานย้อนหลัง ก็ให้สั่งปลดออก
จากงานหรือไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันที่ควรจะออกจากงานตามกรณีนั้นได้ แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึง
ความถูกต้อง ความเป็นธรรม รวมถึงต้องไม่เป็นการทำให้เสียประโยชน์ตามสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ถูกสั่ง
ลงโทษนั้น
ในกรณีที่ได้มีการสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานไปแล้วถ้าจะต้องสั่งใหม่
หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งการลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน กรณีเช่นนี้ให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันออก
จากงานตามคำสั่งเดิม แต่ถ้าวันออกจากงานตามคำสั่งเดิมไม่ถูกต้อง ก็ให้สั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันที่ควรต้องออกจากงานตามกรณีนั้นในขณะที่ออกคำสั่งเดิม
ข้อ ๘๑ ภายใต้บังคับข้อ ๘๘ การสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษเป็นไล่ออกจากงานหรือปลดออก
จากงาน มิให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง
ข้อ ๘๒ การสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ถูกตัดหรือลด ให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งลงโทษเดิมใช้บังคับ เว้นแต่การสั่งย้อนหลังมีผลในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกสั่งลงโทษ ให้สั่งให้มีผลนับแต่วันที่มีคำสั่งใหม่
ข้อ ๘๓ การเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน เป็นลดเงินเดือน
หรือค่าจ้าง ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือภาคทัณฑ์ มิให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง
ข้อ ๘๔ การสั่งลงโทษ ลดโทษ เพิ่มโทษพนักงานมหาวิทยาลัยผู้กระทำผิดวินัยให้ทำเป็นคำสั่ง
ตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด และในคำสั่งลงโทษ ลดโทษ เพิ่มโทษให้แสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัย
ในกรณีใด ตามข้อใด พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง
หมวด ๘
การสั่งพักงาน และการสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน
ข้อ ๘๕ เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อธิการบดี
โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะสั่งให้ผู้นั้นพักงานได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่ง
อย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่อาจเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย
(๒) มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าถ้าคงอยู่ในหน้าที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
(๓) ถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำ
โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่อาจเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย
(๔) อยู่ระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญาหรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา
และได้ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุกเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าเจ็ดวันทำการแล้ว
(๕) ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น หรือมีคำพิพากษา
ถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวน และเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการกระทำความผิดอาญาของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๘๖ การสั่งพักงานให้สั่งพักได้ตลอดเวลาที่มีการสอบสวนแต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้
ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน เว้นแต่กรณีที่ผู้ถูกสั่งพักงานได้ร้องทุกข์เรื่องการถูกสั่งพักงาน
ต่อผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ และผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังขึ้นและไม่สมควร
ที่จะสั่งพักงาน ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ก่อนการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้นได้
ข้อ ๘๗ ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายสำนวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายคดี
เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ถ้าจะสั่งพักงานให้สั่งพักทุกสำนวนและทุกคดี
ในกรณีที่ได้สั่งพักงานในสำนวนหรือคดีใดไว้แล้ว ภายหลังปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักงานนั้น
มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนในสำนวนอื่น หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอื่นเพิ่มขึ้นอีก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษก็ให้สั่งพักงานในสำนวนหรือคดีอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย
ข้อ ๘๘ การสั่งพักงาน ให้สั่งพักงานตั้งแต่วันออกคำสั่งหรือวันใดวันหนึ่งในอนาคต แต่ห้ามสั่ง
พักงานย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่
(๑) ผู้ซึ่งจะถูกสั่งพักงานอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญา
หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา การสั่งพักงานในเรื่องนั้นให้สั่งพักย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุก
(๒) ในกรณีที่ได้มีการสั่งพักงานไว้แล้วถ้าจะต้องสั่งใหม่เพราะคำสั่งเดิมไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง
ให้สั่งพักตั้งแต่วันให้พักงานตามคำสั่งเดิม หรือตามวันที่ควรต้องพักงานในขณะที่ออกคำสั่งเดิม
ข้อ ๘๙ คำสั่งพักงานต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกสั่งพักงาน ตลอดจนกรณีและเหตุที่สั่ง
ให้พักงาน
เมื่อได้มีคำสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดพักงานแล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบพร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยเร็ว ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งให้ผู้นั้นทราบได้ หรือผู้นั้นไม่ยอมรับทราบคำสั่ง ให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการที่ผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่และมีหนังสือแจ้งพร้อมกับส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้นั้น
ณ ที่อยู่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานของส่วนงานต้นสังกัดหรือที่อยู่ตามที่ปรากฏในทะเบียนราษฎรของผู้นั้น ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบคำสั่ง
พักงานแล้ว
ข้อ ๙๐ เมื่อได้มีคำสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดพักงานแล้ว ให้ระงับการจ่ายเงินเดือน
เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนอื่นของผู้นั้นไว้จนกว่าจะได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้าปฏิบัติงานตามปกติ และหากภายหลังปรากฏผลการสอบสวนว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัยก็ให้จ่ายเงินเดือน
เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนอื่นแก่ผู้นั้นย้อนหลัง
ข้อ ๙๑ เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีเหตุที่อาจถูกสั่งพักงานตามข้อ ๘๕ และอธิการบดี
โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าการสอบสวนจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว อธิการบดีจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อนก็ได้
ให้นำข้อ ๘๖ ข้อ ๘๗ และข้อ ๘๘ มาใช้บังคับแก่การสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนโดยอนุโลม
ข้อ ๙๒ เมื่อได้สั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดพักงานไว้แล้ว อธิการบดีโดยข้อเสนอแนะ
ของคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาตามข้อ ๙๑ และสั่งให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อนอีกชั้นหนึ่งก็ได้
ข้อ ๙๓ การสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน จะสั่งให้ออกตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ ๘๘ มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม แต่สำหรับการสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนในกรณีตามข้อ ๙๒ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันพักงานเป็นต้นไป
ข้อ ๙๔ เมื่อได้สั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดพักงานหรือให้ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผล
การสอบสวนพิจารณา ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใดแล้วให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้อธิการบดีสั่งลงโทษปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานตามความร้ายแรงแห่งกรณี
(๒) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่น ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นแล้ว ให้อธิการบดีสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือลดเงินเดือนหรือค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
และให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักงานหรือคำสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน
ในกรณีที่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากครบเกษียณอายุงานแล้ว
และได้พ้นจากงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
การลงโทษให้เป็นพับไป และให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักงานหรือคำสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน
(๓) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่น ก็ให้สั่งยุติเรื่อง และให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่น
ในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง
ให้ออกจากงาน
ในกรณีที่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากครบเกษียณอายุงานแล้ว และได้พ้นจากงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย การลงโทษ
ให้เป็นพับไป และให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักงานหรือคำสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน
(๔) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือมิได้กระทำผิดวินัยแต่มีกรณีที่ผู้นั้นจะต้องถูกสั่งให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่น ให้อธิการบดีสั่งให้ผู้นั้นออกจากงานตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้าปฏิบัติงาน
ข้อ ๙๕ การออกคำสั่งพักงาน คำสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน หรือคำสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่
หรือกลับเข้าปฏิบัติงาน ให้มีสาระสำคัญตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๙๖ ในกรณีที่วินัยซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยได้กระทำผิดก่อนข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับแตกต่างกับวินัยตามข้อบังคับนี้ ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยวินัยในส่วนของข้อบังคับที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าทางใด
เว้นแต่กรณีที่ได้มีการสั่งลงโทษแล้ว
ข้อ ๙๗ ในกรณีที่มีการดำเนินการทางวินัยก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการ
ตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับต่อไป
จนกว่าจะแล้วเสร็จ
ข้อ ๙๘ พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีกรณีถูกสั่งพักงานหรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ แต่ผลของการสั่งพักงานหรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทนในส่วนที่ยังคงมีผลใช้บังคับ
ข้อ ๙๙ ให้อธิการบดีออกประกาศตามข้อ ๑๑ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้ออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้นำประกาศหรือระเบียบที่ออกตามกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ประกาศ ณ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย