ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๙
……..………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีระบบการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย
และลูกจ้าง โดยมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ และมีหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินงานของคณะกรรมการ ตามมาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๕๙ เมื่อวันที่
๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์
พ.ศ.๒๕๕๙”
ข้อ ๒ เวลามีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“จริยธรรม” หมายความรวมถึง จรรยาบรรณตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากรและอาจารย์
ลักษณะ ๑
คณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์
หมวด ๑
องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์
วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ข้อ ๕ องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง
ของกรรมการ
ให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกโดยย่อว่า “ก.อ.ม.” ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยเลือกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
(๒) กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยเลือกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ จำนวนหนึ่งคน
(๓) กรรมการจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ จำนวนหนึ่งคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการตาม (๒) และ (๓)
จำนวนสามคน
(๕) กรรมการซึ่งคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเลือกจากบุคคลที่มีประสบการณ์
ด้านบริหารการศึกษา ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เทียบเท่าคณะ และได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จำนวนหนึ่งคน
ให้อธิการบดีมอบหมายรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
และอาจมอบหมายให้มีผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๔) ต้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านกฎหมาย หรือด้านการบริหารจัดการภาครัฐด้านละหนึ่งคน
ให้อธิการบดีเป็นผู้ออกประกาศแต่งตั้ง ก.อ.ม. และให้นับวันที่ออกประกาศเป็นเวลาเริ่มต้นวาระของ ก.อ.ม.
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการตาม (๔) ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนด
โดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ก.อ.ม. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนดให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการใหม่แทน ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนก็ได้ กรณีที่มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากำหนดเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
กรรมการตามวรรคหนึ่งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที
ข้อ ๖ การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ลาออก ถูกสั่งลงโทษทางวินัย ยกเว้นโทษภาคทัณฑ์ หรือขาดคุณสมบัติความเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
อำนาจหน้าที่ การประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการอุทธรณ์
ข้อ ๗ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทธรณ์
ก.อ.ม. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาอุทธรณ์กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างถูกลงโทษทางวินัย
(๒) พิจารณาเรื่องร้องทุกข์กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม
หรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของอธิการบดี รวมถึงคำสั่งพักราชการหรือให้ออก
จากราชการไว้ก่อนและคำสั่งลงโทษทางจริยธรรมด้วย
(๓) พิจารณาอุทธรณ์ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
(๔) รายงานผลการดำเนินงานของ ก.อ.ม. ประจำปีต่อสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ องค์ประชุมและการลงมติ
การประชุมของ ก.อ.ม. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุม ถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุม
เลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธาน
ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับตัวกรรมการผู้ใดโดยเฉพาะ ห้ามกรรมการผู้นั้น
อยู่ในที่ประชุม
การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการหนึ่งคนให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
เรื่องใดถ้าไม่มีผู้คัดค้านให้ประธานกรรมการถามที่ประชุมว่าจะมีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่
เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบในเรื่องนั้น
ข้อ ๙ รายงานการประชุม
ในการประชุมต้องมีรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุมและถ้ากรรมการฝ่ายข้างน้อยเสนอความเห็นแย้งเป็นหนังสือก็ให้บันทึกความเห็นแย้งนั้นไว้ด้วย
ข้อ ๑๐ เหตุอันมีส่วนได้เสียของกรรมการ
ในการประชุม หากกรรมการผู้ใดมีเหตุดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาและอยู่ในที่ประชุมไม่ได้
(๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่พิจารณา
(๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา
(๓) เป็นคู่กรณีหรือเป็นคู่หมั้น คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาของคู่กรณี
ในกรณีที่มีกรรมการผู้ใดมีเหตุอันมีส่วนได้เสียตามวรรคหนึ่งทำให้ไม่สามารถพิจารณา
และอยู่ในที่ประชุมได้ให้ถือว่า ก.อ.ม. ประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่มีสิทธิร่วมประชุม
ข้อ ๑๑ การพิจารณาการคัดค้านกรรมการ
เมื่อมีเหตุหรือมีการคัดค้านกรรมการตามข้อ ๓๓ กรรมการผู้นั้นจะขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณา
เรื่องนั้นก็ได้ ถ้ากรรมการผู้นั้นมิได้ขอถอนตัว ให้ประธาน ก.อ.ม. พิจารณาข้อเท็จจริงที่คัดค้าน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นน่าเชื่อถือ ให้แจ้งกรรมการผู้นั้นทราบและมิให้ร่วมพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์นั้น
ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่า ก.อ.ม. ประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่มีสิทธิร่วมประชุม ทั้งนี้เว้นแต่ประธาน ก.อ.ม. พิจารณาเห็นว่า การให้กรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์
ยิ่งกว่า เพราะจะทำให้ได้ความจริงและเป็นธรรม จะอนุญาตให้กรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาก็ได้
ข้อ ๑๒ การรับอุทธรณ์
อุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ต้องเป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องตามข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ และยื่นหรือ
ส่งภายในกำหนดเวลา
ในกรณีที่มีปัญหาว่าอุทธรณ์รายใดเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ให้ ก.อ.ม.
เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ ก.อ.ม. มีมติไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ให้แจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดี
ต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษทราบด้วย
ข้อ ๑๓ การถอนอุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์จะขอถอนอุทธรณ์ก่อนที่ ก.อ.ม. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นโดยตรงต่อ ก.อ.ม.
เมื่อได้ถอนอุทธรณ์แล้วการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นอันระงับและจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้
ข้อ ๑๔ ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์
ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้ ก.อ.ม. พิจารณาจากสำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณาในเบื้องต้นรวมทั้งสำนวนการดำเนินการทางวินัย
ในกรณีจำเป็นและสมควร ก.อ.ม. อาจขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้ง
คำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใด ๆ หรือขอให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ
มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้
ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ ก.อ.ม. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประธาน ก.อ.ม. ได้รับหนังสืออุทธรณ์ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันทำให้คาดหมายได้ว่าไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ ก.อ.ม. พิจารณาขยายระยะเวลาได้อีกซึ่งไม่เกินสามครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินสามสิบวัน และรายงานให้นายกสภามหาวิทยาลัยทราบต่อไป ในกรณีที่ ก.อ.ม. มีเหตุผลและความจำเป็นมิอาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ ก.อ.ม. รายงานเหตุจำเป็นพร้อมด้วยเหตุผลต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอขยายระยะเวลา และให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดระยะเวลาที่ขอขยายตามสมควร[๑]
ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา เมื่อ ก.อ.ม. อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก.อ.ม. ผู้อุทธรณ์มีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณา
ของ ก.อ.ม. ได้ไม่เกินจำนวนที่ ก.อ.ม. กำหนด แต่ไม่มีสิทธิแถลงการณ์ด้วยวาจาแทนผู้อุทธรณ์ หาก ก.อ.ม. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ จะให้งดการแถลงการณ์
ด้วยวาจาก็ได้
ในกรณีที่นัดให้ผู้อุทธรณ์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษทราบด้วยว่าถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงแก้หรือมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาต่อที่ประชุมครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษ หรือผู้แทนเข้าฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา
ของผู้อุทธรณ์ได้
ในการพิจารณาอุทธรณ์ ถ้า ก.อ.ม. เห็นสมควรที่จะต้องสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติม
เพื่อประโยชน์แห่งความถูกต้องและเหมาะสมตามความเป็นธรรม ให้มีอำนาจสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมในเรื่องนั้นได้ตามความจำเป็น โดยจะสอบสวนเองหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้สอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ หรือกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการทราบส่งไปให้ผู้สอบสวนเดิม
ทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้
ข้อ ๑๕ การวินิจฉัยอุทธรณ์
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว
(๑) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษถูกต้องเหมาะสมกับความผิดแล้วให้มีมติยกอุทธรณ์
(๒) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่าผู้อุทธรณ์
ได้กระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแต่ควรได้รับโทษหนักขึ้น ให้มีมติเพิ่มโทษเป็นสถานโทษหรือ
อัตราโทษที่หนักขึ้น
(๓) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่าผู้อุทธรณ์
ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงควรได้รับโทษเบาลงให้มีมติลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง
(๔) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่าผู้อุทธรณ์
ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ ให้มีมติ
ให้งดโทษโดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
(๕) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม และเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์
ไม่เป็นความผิดวินัย หรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยให้มีมติให้ยกโทษ
(๖) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมให้มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้ถูกต้องเหมาะสม
(๗) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่ากรณีมีมูล
ที่ควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติเสนอผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
(๘) ถ้าเห็นว่าสมควรดำเนินการโดยประการอื่นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี
การออกจากราชการของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นเหตุที่จะยุติการพิจารณาอุทธรณ์ แต่จะมีมติตาม (๒) มิได้ และถ้าเป็นการออกจากราชการเพราะตายจะมีมติตาม (๗) มิได้ด้วย
ในกรณีที่มีผู้ถูกลงโทษทางวินัยในความผิดที่ได้กระทำร่วมกัน และเป็นความผิดในเรื่องเดียวกัน
โดยมีพฤติการณ์แห่งการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อผู้ถูกลงโทษคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว และผลการพิจารณาเป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์แม้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยคนอื่นจะไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หากพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวซึ่งไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นเหตุในลักษณะคดีอันเป็นเหตุเดียวกับกรณีของผู้อุทธรณ์แล้ว
ให้มีมติให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ได้รับการพิจารณาการลงโทษมีผลในทางที่เป็นคุณเช่นเดียวกับผู้อุทธรณ์ด้วย
ข้อ ๑๖ การรายงานสภามหาวิทยาลัย
เมื่อ ก.อ.ม. มีมติตามข้อ ๑๕ แล้ว ให้รายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
หรือทักท้วง
เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการเป็นประการใดแล้วให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น
และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
[๒] (ยกเลิก)
ข้อ ๑๗ การแก้ไขคำสั่งลงโทษตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์
การแก้ไขคำสังลงโทษกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดภายใต้สี่ข้อต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษนั้น เว้นแต่โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดวินัยตามคำวินิจฉัยของ ก.อ.ม. เกินกว่าอำนาจของผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษเดิมรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งลงโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ เพื่อดำเนินการ
(๒) การแก้ไขคำสั่งลงโทษให้ทำเป็นคำสั่งมีสาระสำคัญแสดงเลขที่ และวัน เดือน ปี ที่ออกคำสั่งเดิม ข้อความเดิมตอนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง และข้อความที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง
(๓) การดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ก.อ.ม.
(๔) เมื่อผู้มีอำนาจสั่งลงโทษดำเนินการแก้ไขคำสั่งแล้ว ให้รายงานการแก้ไขคำสั่งต่อ ก.อ.ม. โดยเร็ว และแจ้งให้ผู้ถูกลงโทษทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งลงโทษโดยให้ดำเนินการตามวิธีการ
ที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนด
ข้อ ๑๘ วิธีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
เมื่อ ก.อ.ม. ได้รับหนังสือร้องทุกข์ตามข้อ ๓๘ แล้วให้ประธาน ก.อ.ม. มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้ง
ส่งสำเนาหนังสือร้องทุกข์หรือสรุปรายละเอียดของเรื่องร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์
หรือเหตุแห่งความคับข้องใจทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจนั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) เพื่อประกอบการพิจารณาภายในเจ็ดวันทำการ
นับแต่วันได้รับหนังสือ
ข้อ ๑๙[๓] ระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
ในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ ก.อ.ม. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประธาน ก.อ.ม. ได้รับหนังสือร้องทุกข์ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันทำให้คาดหมายได้ว่าไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ ก.อ.ม. พิจารณาขยายระยะเวลาได้อีกซึ่งไม่เกินสามครั้ง
โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินสามสิบวัน และรายงานให้นายกสภามหาวิทยาลัยทราบต่อไป ทั้งนี้ ในกรณี
การขยายระยะเวลาครั้งที่สองและครั้งที่สาม ให้ ก.อ.ม. กำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว และบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีที่ ก.อ.ม. มีเหตุผลและความจำเป็นมิอาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา
ตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.อ.ม. รายงานเหตุจำเป็นพร้อมด้วยเหตุผลต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอขยายระยะเวลา
และให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดระยะเวลาที่ขอขยายตามสมควร
ในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ ก.อ.ม. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์
ข้อ ๒๐ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๑)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๑) แล้วถ้าเห็นว่า
(๑) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้อง
ตามกฎหมายแล้ว ให้มีมติยกคำร้องทุกข์
(๒) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติแก้ไขโดยเพิกถอนหรือยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น หรือให้ปฏิบัติ
ต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๓) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแต่บางส่วน และไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางส่วน ให้มีมติแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๔) สมควรดำเนินการโดยประการอื่นใดเพื่อให้มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม ให้มีมติให้ดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี
ข้อ ๒๑ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๒)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๒) แล้ว ถ้าเห็นว่า
(๑) การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มิได้มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ ๓๕ (๒)
ให้มีมติยกคำร้องทุกข์
(๒) การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มีลักษณะที่กำหนดในข้อ ๓๕ (๒) ให้มีมติแก้ไข
หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ ให้สั่งดำเนินการประการอื่นหรือให้ข้อแนะนำตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ผู้บังคับบัญชา
ผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ
และจรรยาบรรณ
ข้อ ๒๒ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๓)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๓) แล้ว ถ้าเห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชา
สั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติสั่งให้ผู้บังคับบัญชายกเลิกคำสั่ง
พักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๒๓ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๔)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๓๕ (๔) แล้ว ถ้าเห็นว่า กรณีผู้บังคับบัญชา
ได้ใช้อำนาจตักเตือนสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดหรือทำทัณฑ์บนในเรื่องประพฤติผิดจริยธรรมโดยไม่ถูกต้อง ให้มีมติให้ผู้บังคับบัญชาแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ ๒๔ การบันทึกคำวินิจฉัยในรายงานการประชุม
การพิจารณามีมติตามข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ ให้บันทึกเหตุผลข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายของการพิจารณาวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุมด้วย
ข้อ ๒๕ การรายงานสภามหาวิทยาลัย
เมื่อ ก.อ.ม. ได้มีมติตามข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ แล้วให้รายงานสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการเป็นประการใดแล้ว
ให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
[๔] (ยกเลิก)
ข้อ ๒๖ การนำหลักเกณฑ์การพิจารณาอุทธรณ์มาใช้บังคับ
การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เรื่องใดที่มิได้กำหนดไว้ ให้นำหลักเกณฑ์การพิจารณาอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ลักษณะ ๒
การอุทธรณ์และการร้องทุกข์
หมวด ๑
การอุทธรณ์
ข้อ ๒๗ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ
การอุทธรณ์ของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างกรณีถูกสั่งลงโทษทางวินัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในหมวดนี้
ข้อ ๒๘ ระยะเวลาอุทธรณ์
การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ให้อุทธรณ์ต่อ ก.อ.ม. ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษ
ข้อ ๒๙ วันที่เริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์
เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษเป็นวันรับแจ้งคำสั่ง
ถ้าผู้ถูกลงโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษ และมีการแจ้งคำสั่งลงโทษ
ให้ผู้ถูกลงโทษทราบกับมอบสำเนาคำสั่งลงโทษให้ผู้ถูกลงโทษแล้วทำบันทึกลงวันเดือนปี เวลา และสถานที่
ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษได้โดยตรงและได้แจ้งเป็นหนังสือ
ส่งสำเนาคำสั่งลงโทษทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกลงโทษ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกลงโทษซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งลงโทษไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกลงโทษเก็บไว้หนึ่งฉบับ
และให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
หนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ว่าผู้ถูกลงโทษได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งลงโทษฉบับที่ให้ผู้ถูกลงโทษ
ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกลงโทษได้รับแจ้งคำสั่งแล้ว
ข้อ ๓๐ วิธีการอุทธรณ์และขอแถลงการณ์ด้วยวาจา
การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามหมวดนี้ ให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนผู้อื่น
หรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้
การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือแสดงข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นว่า
ได้ถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร และลงลายมือชื่อ และที่อยู่ของผู้อุทธรณ์
ในการอุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของ ก.อ.ม.
ให้แสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้ แต่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือ
ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นต่อประธาน ก.อ.ม. โดยตรง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์
ข้อ ๓๑ การยื่นอุทธรณ์
การอุทธรณ์ต่อ ก.อ.ม. ให้ทำหนังสือถึงประธาน ก.อ.ม.
ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งอุทธรณ์ผ่านผู้บังคับบัญชาก็ได้ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งอุทธรณ์
ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษภายในสามวันทำการนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ และให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษจัดส่งอุทธรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนาหลักฐานการรับแจ้งคำสั่งลงโทษของผู้อุทธรณ์ สำนวนการสืบสวน
หรือการพิจารณาในเบื้องต้น และสำนวนการดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งคำชี้แจงของผู้บังคับบัญชา
ผู้สั่งลงโทษ (ถ้ามี) ไปยังประธาน ก.อ.ม. ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับอุทธรณ์
ในกรณีที่มีผู้นำอุทธรณ์มายื่นเอง ให้ผู้รับอุทธรณ์ออกใบรับ ประทับตรา และลงทะเบียนรับ
ไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับตามหลักฐานดังกล่าว
เป็นวันยื่นอุทธรณ์
ในกรณีที่ส่งอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝาก
เป็นหลักฐานฝากส่ง หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราที่ซองหนังสือเป็นวันส่งอุทธรณ์
เมื่อได้ยื่นหรือส่งอุทธรณ์ไว้แล้ว ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งคำแถลงการณ์หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่ ก.อ.ม. เริ่มพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ ก.อ.ม.
ข้อ ๓๒ สิทธิของผู้อุทธรณ์
เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ ผู้จะอุทธรณ์มีสิทธิขอตรวจหรือคัดรายงานการสอบสวน
ของคณะกรรมการสอบสวนหรือของผู้สอบสวนได้ รวมทั้งให้มีสิทธิขอตรวจหรือคัดบันทึกถ้อยคำบุคคลพยานหลักฐานอื่น หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้จะอุทธรณ์ถูกลงโทษด้วย
หากพยานหลักฐานดังกล่าวมีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร
ของทางราชการ ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น
ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
ข้อ ๓๓ เหตุคัดค้านกรรมการของผู้อุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์มีสิทธิคัดค้านกรรมการใน ก.อ.ม. ถ้ากรรมการผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) มีสาเหตุโกรธเคืองกับคู่กรณี
(๒) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของคู่กรณี
(๓) มีเหตุอื่นใดซึ่งอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม
(๔) เคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
การคัดค้านกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในอุทธรณ์ หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือก่อนที่ ก.อ.ม. เริ่มพิจารณาอุทธรณ์
หมวด ๒
การร้องทุกข์
ส่วนที่ ๑
หลักทั่วไป
ข้อ ๓๔ การร้องทุกข์
การร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง กรณีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ในหมวดนี้
ข้อ ๓๕ กรณีที่ร้องทุกข์ได้
พนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ในกรณีดังนี้
(๑) เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นต้นว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๒) เมื่อมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ดังนี้
(ก) การบริหารงานบุคคลเป็นไปโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อกฎหมาย
(ข) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ หรือ
(ค) ประวิงเวลาหรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือ
ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
(๓) กรณีถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
(๔) กรณีที่ถูกผู้บังคับบัญชาตักเตือน สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
หรือทำทัณฑ์บนในเรื่องประพฤติผิดจริยธรรม
ข้อ ๓๖ การปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาก่อนร้องทุกข์
เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างผู้ใดมีเหตุที่อาจร้องทุกข์ได้ตามข้อ ๓๕
และมีความประสงค์ที่จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา หากระยะเวลายังไม่ล่วงเลยสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ให้พนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างผู้นั้นปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา
ผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจ เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้นก่อน
โดยอาจให้มีบุคคลอื่นเข้าร่วมในการปรึกษาหารือด้วยก็ได้ เมื่อได้มีการปรึกษาหารือแล้วแต่ไม่ได้รับคำชี้แจง
ในเวลาอันสมควรหรือได้รับคำชี้แจงที่ยังไม่เป็นที่พอใจก็ให้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อไป
ถ้าพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างผู้นั้นไม่ประสงค์ที่จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจ ก็ให้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ได้
ทั้งนี้ในการปรึกษาหารือ ให้ผู้บังคับบัญชาทำหลักฐานการปรึกษาหารือไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมิให้เริ่มนับระยะเวลาร้องทุกข์จนกว่าจะปรากฏชัดเจนแล้วว่าการดำเนินการปรึกษาหารือตามวรรคหนึ่ง
ไม่บรรลุผล
ส่วนที่ ๒
การร้องทุกข์กรณีที่เหตุเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของอธิการบดี
ข้อ ๓๗ หลักเกณฑ์การร้องทุกข์
การร้องทุกข์ในกรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจเกิดจากการกระทำหรือ
คำสั่งของอธิการบดี รวมถึงคำสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนและคำสั่งลงโทษทางจริยธรรม
ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.อ.ม. ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการกระทำหรือได้รับทราบคำสั่ง
ข้อ ๓๘ การยื่นเรื่องร้องทุกข์
การร้องทุกข์ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก.อ.ม. โดยหนังสือร้องทุกข์ต้องประกอบด้วยสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำ
หรือคำสั่งของอธิการบดีอย่างไร และความประสงค์ของการร้องทุกข์ พร้อมลงลายมือชื่อและตำแหน่ง
ของผู้ร้องทุกข์
ข้อ ๓๙ วันที่เริ่มนับระยะเวลาร้องทุกข์
เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(๑) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากการที่อธิการบดีมีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์
ให้ถือวันที่ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ถ้าผู้ถูกสั่งไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง และมีการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกสั่งทราบพร้อมกับมอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกสั่ง แล้วทำบันทึกลงวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่ง ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่งซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ
โดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกสั่งเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปี
ที่รับทราบคำสั่งส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งได้รับทราบคำสั่งแล้ว
(๒) ในกรณีที่อธิการบดีไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์โดยตรง ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่า
ผู้ร้องทุกข์รับทราบหรือควรได้ทราบคำสั่งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
(๓) ในกรณีที่อธิการบดีปฏิบัติหรือใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ตามกฎหมายต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือ
การใช้อำนาจหน้าที่ของอธิการบดีดังกล่าวเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ส่วนที่ ๓
การร้องทุกข์กรณีที่เหตุเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงาน
ข้อ ๔๐ หลักเกณฑ์การร้องทุกข์
การร้องทุกข์ในกรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจเกิดจากการกระทำหรือ
คำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานและคำสั่งลงโทษทางจริยธรรม ให้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิจารณา
เรื่องร้องทุกข์ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการกระทำหรือได้รับทราบคำสั่ง
ข้อ ๔๑ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๔๐ ประกอบด้วยอธิการบดี
หรือรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยจำนวนไม่เกินสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการกองที่อธิการบดีมอบหมาย
เป็นเลขานุการ และจะให้มีพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ข้อ ๔๒ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และการแจ้งคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์
คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๔๐
แล้วเสนอรายงานความเห็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
เมื่ออธิการบดีได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานโดยเฉพาะ ให้คำวินิจฉัยและคำสั่งของอธิการบดีเป็นที่สุด และให้แจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
(๒) กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์ที่เกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานนั้นเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาซึ่งเป็นผลให้อธิการบดีมีคำสั่งหรือกระทำการใด
ที่มีผลกระทบสิทธิของผู้ร้องทุกข์ หากคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับคำร้องทุกข์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้อธิการบดีสั่งให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งการร้องทุกข์ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของอธิการบดี และแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
หากคำวินิจฉัยของอธิการบดีไม่เห็นด้วยกับคำร้องทุกข์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้อธิการบดีรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง
เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้มีมติหรือสั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
ข้อ ๔๓ การยื่นเรื่องร้องทุกข์
การร้องทุกข์ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์โดยหนังสือ
ร้องทุกข์ต้องประกอบด้วยสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างไร และความประสงค์ของการร้องทุกข์
พร้อมลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์
ให้นำเรื่องการนับระยะเวลาร้องทุกข์ตามข้อ ๓๙ มาใช้กับการยื่นเรื่องร้องทุกข์ตามข้อนี้ด้วย
ข้อ ๔๔ การประชุมและวิธีดำเนินงาน
ให้นำการประชุมและวิธีดำเนินงานของ ก.อ.ม. ในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
ตามที่กำหนดไว้ในลักษณะ ๑ หมวด ๒ มาใช้กับการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณา
เรื่องร้องทุกข์ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ ๔๕ การนำหลักเกณฑ์การอุทธรณ์มาใช้บังคับ
การร้องทุกข์เรื่องใดที่มิได้กำหนดไว้ในหมวดนี้ ให้นำหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ตามหมวด ๑
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ลักษณะ ๓
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๖ การใช้บังคับกับข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ
ในระหว่างที่ยังมีข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
เมื่อข้อบังคับนี้ได้ประกาศใช้แล้ว ให้ใช้ข้อบังคับนี้บังคับแก่กรณีการอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการด้วย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ
พ.ศ.๒๕๓๗ แล้วแต่กรณี
ข้อ ๔๗ การเลือกกรรมการอุทธรณ์ตามข้อ ๕ (๓)
ในระหว่างที่ยังมิได้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย
สายสนับสนุนวิชาการตามมาตรา ๒๐ (๗) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘
ให้สภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๑ ซึ่งทำหน้าที่อยู่
ตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘
เลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๑ จำนวนหนึ่งคน ปฏิบัติหน้าที่กรรมการอุทธรณ์ตามข้อ ๕ (๓) ของข้อบังคับนี้
ข้อ ๔๘ การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่ค้างพิจารณา
ในกรณีที่มีการอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเดิม
ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ ก.อ.ม. ตามข้อบังคับนี้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์นั้นต่อไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเดิม ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับจนแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] วรรคสามของข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๒] วรรคสามของข้อ ๑๖ ยกเลิกโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๓] ข้อ ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๔] วรรคสองของข้อ ๒๕ ยกเลิกโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕