ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๖
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์เพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาล
ที่มีมาตรฐานการบริบาลในระดับสูงและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ
มีระบบการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงครบวงจรและมีระบบบริหารจัดการที่สะดวก คล่องตัว มีประสิทธิภาพสูง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเพื่อการจัดหาทรัพยากร
มาสนับสนุนการบริการประชาชนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ จึงเห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๖๖”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โรงพยาบาล” หมายความว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
เฉลิมพระเกียรติ
“ผู้อำนวยการโรงพยาบาล” หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“ศูนย์การแพทย์” หมายความว่า ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
“ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์” หมายความว่า ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
“พนักงานศูนย์การแพทย์” หมายความว่า พนักงานโรงพยาบาลที่จ้างโดยเงินรายได้ของ
ศูนย์การแพทย์
“ลูกจ้างศูนย์การแพทย์” หมายความว่า ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ของ
ศูนย์การแพทย์
“ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการในสังกัดมหาวิทยาลัย และพนักงานโรงพยาบาล
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
กรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์เสนออธิการบดีเพื่อวินิจฉัย เมื่ออธิการบดีวินิจฉัยแล้ว ให้เป็นที่ยุติ
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ การบริหารศูนย์การแพทย์นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่หากข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมิได้กำหนดไว้
ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยการนั้น
หมวด ๒
วัตถุประสงค์และโครงสร้างการบริหารงานศูนย์การแพทย์
ข้อ ๖ ให้มีศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์เป็นสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่มีวัตถุประสงค์
เพื่อการให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งเน้นบริการที่เป็นเลิศด้านคุณภาพการให้บริการและนวัตกรรม
มีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดทั้งสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยด้านการแพทย์แก่ส่วนงานของมหาวิทยาลัย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
ข้อ ๗ ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมอบหมาย จำนวน ๒ คน เป็นกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาล เป็นกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการสถานพยาบาล
กฎหมาย สังคม การเงิน ซึ่งคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเสนอชื่อ จำนวน ๔ คน
(๕) ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ เป็นกรรมการ
(๖) รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมอบหมาย จำนวน ๒ คน เป็นกรรมการ
(๗) หัวหน้าพยาบาลของศูนย์การแพทย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์อาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์อีกไม่เกิน ๒ คน ให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้
ข้อ ๘ ให้กรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ ตามข้อ ๗ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) ถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน เพราะทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ ๙ คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย แผนงาน และบริหารงานของศูนย์การแพทย์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์การแพทย์ และสอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล
(๒) พิจารณาและจัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่ายประจำปีของศูนย์การแพทย์เพื่อเสนอ
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณานำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๓) พิจารณาการนำเงินรายได้ของศูนย์การแพทย์ไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของศูนย์การแพทย์ตามหลักเกณฑ์ที่โรงพยาบาลกำหนด
(๔) พิจารณาการจัดตั้ง รวม ยุบ เลิก และแบ่งหน่วยงานภายในศูนย์การแพทย์เพื่อเสนอ
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติ และเสนออธิการบดีออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของศูนย์การแพทย์ โดยให้จัดทำเป็นประกาศของศูนย์การแพทย์ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
(๖) พิจารณาการเสนอแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทำหน้าที่บริหารหน่วยงานของศูนย์การแพทย์
(๗) พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ
ของศูนย์การแพทย์ โดยให้จัดทำเป็นประกาศของศูนย์การแพทย์ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจาก
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
(๘) พิจารณาเสนอการกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หรือมีประสบการณ์ด้านวิชาชีพที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่ต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าบุคคลอื่นที่ปฏิบัติงาน
ที่ศูนย์การแพทย์ต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๙) พิจารณาเสนอการกำหนดอัตราค่าตอบแทน หรือค่าจ้างของพนักงานศูนย์การแพทย์และลูกจ้างศูนย์การแพทย์เสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๑๐) พิจารณาเสนอการกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าบริการอย่างอื่นที่ศูนย์การแพทย์ต้องจ่ายหรือใช้บริการจากโรงพยาบาลเสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
(๑๑) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและรายงานฐานะการเงินประจำปีของศูนย์การแพทย์เสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อทราบ
(๑๒) ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์
(๑๓) ควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารงานศูนย์การแพทย์ ตลอดจนดำเนินการ
อื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์การแพทย์
(๑๔) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายบุคคลเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์มอบหมาย
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด
และยังไม่มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เมื่อได้มีการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนแล้ว ให้กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งแทนมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
เงินค่าสมนาคุณ ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่คณะกรรมการบริหาร
ศูนย์การแพทย์ ให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์
ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติทั่วไป
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของศูนย์การแพทย์ หรือด้าน
การบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ได้เต็มเวลา
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
(๒) เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๓) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักราชการหรือพักงานหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่น
(๔) เป็นผู้เคยถูกสั่งลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หรือจากรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณ
(๕) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
(๖) เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๘) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๙) เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๑๐) เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือบกพร่องในทางศีลธรรม
ข้อ ๑๔ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของศูนย์การแพทย์ หน้าที่และอำนาจเช่นว่านั้น ให้รวมถึงมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของศูนย์การแพทย์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของผู้อำนวยการโรงพยาบาล
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของศูนย์การแพทย์
ที่โรงพยาบาลหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของศูนย์การแพทย์ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของผู้อำนวยการโรงพยาบาล
(๓) จัดทำแผนพัฒนาศูนย์การแพทย์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์เพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของศูนย์การแพทย์ที่ได้รับการพิจารณาให้
ความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล และคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของศูนย์การแพทย์ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของศูนย์การแพทย์เสนอต่อคณะกรรมการ
บริหารศูนย์การแพทย์เพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาต่อไป
(๘) ออกประกาศศูนย์การแพทย์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ หรือเพื่อการบริหารกิจการ
ศูนย์การแพทย์เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๕ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
(๗) คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย มีมลทินมัวหมอง หย่อนความสามารถ หรือทุจริตหรือประพฤติ
มิชอบต่อหน้าที่
ข้อ ๑๖ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
มีอำนาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ ตามจำนวนที่
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลกำหนดเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มอบหมาย
รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ ต้องมีคุณสมบัติและ
ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓
ข้อ ๑๗ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการติดต่อประสานงานกับ
หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลในนามของศูนย์การแพทย์ และเป็นผู้ลงนามในบันทึก จดหมาย หรือเอกสารต่าง ๆ ของศูนย์การแพทย์ รวมถึงการทำสัญญาหรือความตกลงใด ๆ ที่เป็น
การดำเนินงานภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ศูนย์การแพทย์
สัญญาหรือเอกสารอื่นใดที่จะมีผลเป็นการผูกพันมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม หรือที่จะมีผลเป็น
การใช้หน้าที่และอำนาจในนามของมหาวิทยาลัย ให้นำเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาลงนาม เพื่อการนี้ อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจารณาลงนามสัญญาแทนมหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ข้อ ๑๘ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์หรือรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มีอำนาจในการสั่งการ อนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติงานของศูนย์การแพทย์ ทั้งนี้ เว้นแต่ที่มีข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย หรือข้อบังคับนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
หมวด ๓
การบริหารงานบุคคล
ข้อ ๑๙ นอกจากพนักงานศูนย์การแพทย์แล้ว ศูนย์การแพทย์อาจมีพนักงานมหาวิทยาลัย
หรือข้าราชการในสังกัดของมหาวิทยาลัย หรือพนักงานโรงพยาบาล เป็นผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ด้วยก็ได้
พนักงานมหาวิทยาลัย หรือข้าราชการในสังกัดของมหาวิทยาลัย หรือพนักงานโรงพยาบาล
อาจได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์แบบเต็มเวลา บางส่วนของเวลา
และนอกเวลาปฏิบัติงาน หรือในวันหยุดราชการก็ได้
นอกจากผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ตามวรรคหนึ่ง ศูนย์การแพทย์อาจมีลูกจ้างศูนย์การแพทย์
ที่เป็นการจ้างแบบรายเดือน รายวัน หรือรายชั่วโมงก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์กำหนด และผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ออกเป็นประกาศศูนย์การแพทย์
ข้อ ๒๐ ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของศูนย์การแพทย์ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณของทุกปี
(๒) จัดทำแผนอัตรากำลังของพนักงานศูนย์การแพทย์ ลูกจ้างศูนย์การแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๓) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบุคคลพนักงานศูนย์การแพทย์ ทั้งที่เกี่ยวกับ
การกำหนดตำแหน่ง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติ อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม ค่าตอบแทนอื่น ๆ หลักเกณฑ์การสรรหา การบรรจุแต่งตั้ง การทำสัญญาปฏิบัติงาน การทดลองงาน
การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นแก่พนักงานศูนย์การแพทย์ เสนอต่อ
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) พิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทน และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นแก่ลูกจ้างศูนย์การแพทย์และผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การแพทย์ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๖) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ้างลูกจ้างศูนย์การแพทย์ เสนอต่อคณะกรรมการ
บริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ออกเป็นประกาศของศูนย์การแพทย์
ข้อ ๒๑ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มีอำนาจเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง และการทำสัญญา
การปฏิบัติงานของพนักงานศูนย์การแพทย์หรือลูกจ้างศูนย์การแพทย์ ตามข้อ ๑๙ วรรคสาม ตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์
ข้อ ๒๒ ให้ศูนย์การแพทย์จัดให้พนักงานศูนย์การแพทย์หรือลูกจ้างศูนย์การแพทย์เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
ข้อ ๒๓ วินัย การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของพนักงานศูนย์การแพทย์
และลูกจ้างศูนย์การแพทย์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลกำหนด ในกรณีที่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้นำข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง และข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๔
การบริหารเงินรายได้ของศูนย์การแพทย์
ข้อ ๒๔ ให้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอันเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์เป็น
เงินรายได้ของศูนย์การแพทย์
เงินรายได้ของศูนย์การแพทย์ตามวรรคหนึ่งให้รวมถึง
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งมีผู้มอบให้
(๔) รายได้หรือผลประโยชน์อันเกิดจากการลงทุน
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
ในวาระเริ่มแรก โรงพยาบาลอาจจัดสรรงบประมาณจากเงินรายได้ของโรงพยาบาลให้แก่
ศูนย์การแพทย์เพื่อใช้เป็นทุนประเดิมสำหรับการดำเนินการของศูนย์การแพทย์ตามจำนวนที่
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลให้ความเห็นชอบได้
ข้อ ๒๕ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลอาจกำหนดให้ศูนย์การแพทย์ส่งเงินรายได้ของ
ศูนย์การแพทย์ที่สูงกว่ารายจ่ายที่สะสมไว้ในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นเงินรายได้ของโรงพยาบาลตาม
ความเหมาะสมก็ได้
ข้อ ๒๖ ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ
การบัญชี และการพัสดุของศูนย์การแพทย์ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารการเงิน งบประมาณ การบัญชี
และการพัสดุของศูนย์การแพทย์ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๒) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบการจัดทำงบประมาณประจำปี กลั่นกรอง
และให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีของศูนย์การแพทย์
เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๓) จัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของโรงพยาบาล และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงิน เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ
การบัญชี และการพัสดุที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์
(๕) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในและการตรวจสอบบัญชีของศูนย์การแพทย์เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๒๗ ให้ศูนย์การแพทย์ดำเนินการรับจ่าย เก็บรักษา และบริหารเงินรายได้ของศูนย์การแพทย์
เพื่อการบริหารงานศูนย์การแพทย์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์การแพทย์
ข้อ ๒๘ การจ่ายเงินจากเงินรายได้ของศูนย์การแพทย์ จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตาม
ที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลแล้ว และมีประกาศของศูนย์การแพทย์กำหนดให้จ่ายได้
ข้อ ๒๙ ให้ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มีอำนาจอนุมัติก่อหนี้ผูกพันและการจ่ายเงินของ
ศูนย์การแพทย์ภายในวงเงินที่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลกำหนด ตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์
อาจมอบหมายให้รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติก่อหนี้ผูกพันและการจ่ายเงินของ
ศูนย์การแพทย์ภายใต้เงื่อนไขและวงเงินที่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลกำหนด
ประกาศ ณ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์)
นายกสภามหาวิทยาลัย