ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ทุนสนับสนุนการวิจัยประเภททุนวิจัยเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย พ.ศ. ๒๕๖๔
———————————————
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษางานวิจัยและนวัตกรรม
ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์
เพื่อตอบปัญหาและพัฒนาชุมชนหรือสังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยการจัดสรรงบประมาณ
เพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและ
ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยจึงเห็นควรให้มีทุนสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรม ที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรทุนตามประกาศฉบับนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุม
ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ทุนสนับสนุนการวิจัยประเภท
ทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาทุนวิจัยและส่งเสริมการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“มาตรฐานการทำวิจัย” หมายความว่า การรับรองโครงการที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัยในคน จรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่อการวิจัย ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือมาตรฐานการวิจัยอื่นๆ
ข้อ ๔ ทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการศึกษางานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้แก่ผู้รับทุนเพื่อดำเนินโครงการวิจัย
ที่ผู้รับทุนเสนอขึ้นมาตามความสนใจในประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการวิจัยของมหาวิทยาลัย และที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ
ทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยตามวรรคหนึ่ง ทุนละไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำนวนทุนในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๕ ผู้เสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือพนักงานมหาวิทยาลัย และให้ความหมายรวมถึงผู้ปฏิบัติงานอื่นที่จ้างตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
(๒) ต้องไม่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยซึ่งได้รับทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน หรืองบประมาณจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ระหว่างการวิจัย หรือการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ หรือค้างส่งรายงานการวิจัย
และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ
(๓) ต้องไม่ได้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ผู้รับทุนลาศึกษาต่อ หรือ ลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ หรือเป็นผู้ถูกยืมตัวไปช่วยราชการ ณ หน่วยงานอื่น
ข้อ ๖ ให้ผู้รับทุนมีสิทธิเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนได้เพียงหนึ่งโครงการต่อหนึ่งปีงบประมาณ
และจะเสนอทำโครงการวิจัยครั้งใหม่ได้เมื่อได้จัดทำโครงการวิจัยเดิมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ผู้รับทุนต้องสามารถปฏิบัติงานวิจัยและควบคุมงานวิจัยให้แล้วเสร็จภายกำหนดเวลาการทำวิจัยที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ
ข้อ ๗ ผู้รับทุนต้องจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยโดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) มีหัวข้อและขอบเขตการวิจัยที่แน่นอนและชัดเจน โดยจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์ม
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๒) เป็นข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน ๒ ปี งบประมาณสนับสนุนโครงการวิจัยไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยข้อเสนอโครงการวิจัยนั้นต้องมิได้เป็นโครงการวิจัยหรือส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย
ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งทุนอื่นแล้วอย่างพอเพียง
(๓) มีการทบทวนเอกสารที่มีการตีพิมพ์ (Literature Review) แล้วอย่างครบถ้วน และครอบคลุมทำให้เชื่อได้ว่า โครงการวิจัยที่เสนอเป็นการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่อย่างแท้จริง ไม่เป็นการวิจัยที่ซ้ำกับองค์ความรู้
ที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นการวิจัยเพื่อยืนยันองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วก็ต้องเป็นการวิจัยที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
(๔) กรณีที่ผู้รับทุนแจ้งว่าโครงการวิจัยเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการทำวิจัยจะต้องแนบหลักฐานการผ่านการรับรองจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการพิจารณาทุน
(๕) โครงการวิจัยจะดำเนินการวิจัยได้ต่อเมื่อทำสัญญารับทุนกับมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว
ข้อ ๘ การขอรับทุนวิจัยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้รับทุนเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยต่อส่วนงานต้นสังกัด ตามระยะเวลาที่ส่วนงานกำหนด
(๒) ให้ส่วนงานโดยคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงาน
ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการ และกลั่นกรองข้อเสนอโครงการวิจัย
(๓) เมื่อได้ดำเนินการตาม (๒) แล้ว ให้ส่วนงานจัดส่งข้อเสนอโครงการวิจัยที่ผ่านความเห็นชอบจาก
ส่วนงาน ตามแบบเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย จำนวน ๒ ชุด CD บันทึกข้อมูลในรูปของ file Word จำนวน ๑ แผ่น มายังกองบริหารงานวิจัยเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรทุน
การขอรับทุนตามวรรคหนึ่งคณะกรรมการจะไม่รับพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยที่ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วนตามกำหนด
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรทุนแล้วให้ถือเป็นที่สุด
ข้อ ๙ กรณีที่ผู้รับทุนแจ้งว่าโครงการวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการทำวิจัย หากมีผลสืบเนื่องในเรื่อง
ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการทำวิจัยในภายหลัง จะไม่เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย และจะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของคณะผู้วิจัยเท่านั้น
ข้อ ๑๐ ผู้รับทุนต้องทำสัญญารับทุนตามแบบสัญญาที่คณะกรรมการกำหนดภายในระยะเวลาตามประกาศผลการพิจารณาจัดสรรทุน
ข้อ ๑๑ ภายหลังจากการทำสัญญารับทุน หากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการจัดทำโครงการวิจัย เช่น เปลี่ยนผู้ร่วมวิจัย การขอขยายระยะเวลาการทำวิจัย เป็นต้น ให้ผู้รับทุนชี้แจงเหตุผลความจำเป็นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานแล้วแต่กรณี เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสัญญาต่อคณะกรรมการ
ข้อ ๑๒ คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ต้องติดตาม กำกับ และดูแลผู้ได้รับทุนให้ดำเนินการส่งผลงานวิจัยหรือคืนเงินงบประมาณ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะต้องคืนเงินทุนวิจัยที่ได้รับไปก่อนพ้นสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ ทุนสนับสนุนการวิจัยให้แบ่งจ่ายเป็นรายงวด ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) งวดที่หนึ่ง เป็นจำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนได้รับอนุมัติข้อเสนอโครงการวิจัย และจัดทำสัญญารับทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยแล้ว
(๒) งวดที่สอง เป็นจำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนส่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ บทความวิจัยและเอกสารการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ ๑ หรือวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (Scimago Journal Rank:www.scimagoir.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expanded, Social Science Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus
ข้อ ๑๔ ผู้ขอรับทุนต้องเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ที่กองคลังกำหนดในชื่อหัวหน้าโครงการวิจัย
ตามด้วยเลขที่สัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัย โดยหัวหน้าโครงการเป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่าย เพื่อรับโอนเงินทุนสนับสนุนการวิจัย
ผู้รับทุนต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารหลักฐานการใช้จ่ายเงินทุนวิจัยทุกรายการไว้เพื่อการตรวจสอบ
ข้อ ๑๕ ผู้รับทุนต้องเสนอรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยภายในระยะเวลาและตามแบบรายงานความก้าวหน้าที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๖ ผู้รับทุนต้องจัดส่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์และเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการภายในเวลา
ที่กำหนดไว้ในสัญญา ดังต่อไปนี้
(๑) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์จำนวน ๑ เล่ม โดยต้องระบุท้ายหน้าปกรายงานการวิจัยว่า งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีงบประมาณ……..)
(๒) CD ที่บันทึกข้อมูลผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ได้จัดทำเป็นไฟล์ PDF จำนวน ๒ ชุด
(๓) บทความวิจัยและเอกสารการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ ๑ หรือวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (Scimago Journal Rank:www.scimagoir.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expanded, Social Science Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus จำนวน ๑ ชุด
ในกรณีที่ผู้รับทุนไม่สามารถส่งเอกสารตาม ข้อ (๑) (๒) และ (๓) ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
ได้ ให้ผู้รับทุนชี้แจงเหตุผลความจำเป็นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานแล้วแต่กรณี ก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน เพื่อขออนุมัติขยายระยะเวลา
ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์และเอกสารหลักฐานได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๙๐ วัน
ข้อ ๑๗ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์และบทความวิจัยต้องระบุในกิตติกรรมประกาศหรือ Acknowledgement ว่า “เป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยทั่วไปด้านศิลปวัฒนธรรม ตามสัญญาเลขที่ ……………….” หรือในภาษาอังกฤษว่า “This study was supported by Thammasat University Research Fund, Contract No. ……………….”
ข้อ ๑๘ ทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนตามประกาศนี้ให้เป็นของมหาวิทยาลัย และให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๑๙ คณะกรรมการอาจพิจารณาให้ยุติการให้ทุนหรือยกเลิกโครงการวิจัยในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับทุนพ้นสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
(๒) ผู้รับทุนไม่รายงานความก้าวหน้าตามกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๓) ผู้รับทุนไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
(๔) ผู้รับทุนรับเงินทุนวิจัยหรือทุนสนับสนุนการวิจัยในเรื่องเดียวกันกับที่ได้รับทุนจากหน่วยงานอื่น
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
ข้อ ๒๐ โครงการที่ถูกยุติการให้ทุนหรือยกเลิกโครงการวิจัย ให้ผู้รับทุนคืนเงืนทุนวิจัยที่ได้รับไปแก่มหาวิทยาลัย เว้นแต่คณะกรรมการสั่งยุติการให้ทุนหรือยกเลิกโครงการวิจัยด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑) หัวหน้าโครงการตายและไม่มีหัวหน้าโครงการแทน
(๒) มีเหตุสุดวิสัยจนไม่สามารถดำเนินงานวิจัยต่อไปได้
(๓) ผู้รับทุนไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยและคณะกรรมการเห็นสมควรให้ผู้รับทุนไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือคืนเงินทุนวิจัยทั้งหมดหรือบางส่วน
ข้อ ๒๑ ผู้รับทุนที่ถูกยุติการให้ทุนหรือยกเลิกโครงการวิจัยจะไม่สามารถยื่นเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นระยะเวลาหนึ่งปี นับจากวันที่ถูกยุติการให้ทุนหรือยกเลิกโครงการวิจัย
ข้อ ๒๒ เมื่อสิ้นสุดการรับทุนผู้รับทุนต้องสรุปรายงานการใช้จ่ายเงินให้กองบริหารการวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อทราบ
ในกรณีที่มีเงินทุนเหลือจ่ายให้ผู้รับทุนคืนเงินให้แก่กองทุนวิจัย และส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินให้
กองบริหารงานวิจัย
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่เป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่คณะกรรมการอนุมัติให้มีการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อ
การวิจัย ให้ผู้รับทุนจัดทำบัญชีครุภัณฑ์และส่งมอบครุภัณฑ์นั้นให้เป็นครุภัณฑ์ของส่วนงาน
ข้อ ๒๔ การตีความวินิจฉัยตามประกาศฉบับนี้ให้เป็นอำนาจของรองอธิการบดีที่รับผิดชอบด้าน
การวิจัย
ประกาศ ณ วันที่ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี