ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence – CoE) พ.ศ. ๒๕๖๔
…………………………………………..
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายในการส่งเสริมงานวิจัยและวิชาการเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างและหรือผลิตองค์ความรู้ใหม่ โดยศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence – CoE) ถือเป็นกลไกลหนึ่งในการสร้างความก้าวหน้า และความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ จึงควรให้มีการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence – CoE)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่
๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ อธิการบดีจึงออกประกาศไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ
ทางวิชาการ (Center of Excellence – CoE) พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
- ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ
(Center of Excellence – CoE) พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“ศูนย์” หมายความว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence – CoE)
“หน่วยวิจัย” หมายความว่า หน่วยวิจัยตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้ง
หน่วยวิจัย (Research Unit – RU)
ข้อ ๕ ศูนย์ประกอบด้วยอาจารย์หรือนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาหรือวิชาการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อจัดทำหรือผลิตผลงานวิจัย นวัตกรรมหรือผลงานทางวิชาการอื่น
ข้อ ๖ ศูนย์มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำหรือผลิตผลงานวิจัย นวัตกรรม หรือผลงานทางวิชาการอื่น ตามพันธกิจของศูนย์ที่กำหนดไว้ในประกาศจัดตั้งศูนย์
ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ศูนย์ต้องจัดทำแผนดังต่อไปนี้เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบทุกปี
- แผนงานวิจัยและนวัตกรรมประจำปี
- แผนงานความร่วมมือการทำวิจัยและนวัตกรรมกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน หรือสังคม
- แผนงานความร่วมมือการทำวิจัยและนวัตกรรมกับสถาบันวิจัยต่างประเทศ
- แผนงานด้านการพัฒนาและความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือ หลังปริญญาเอก ทั้งในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่น
ข้อ ๗ การนำผลงานไปเสนอหรือตีพิมพ์เผยแพร่ ของหัวหน้าศูนย์ และหรือสมาชิกของศูนย์ ผลงานจะต้องระบุชื่อศูนย์พร้อมกับชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ตำแหน่งที่อยู่ของนักวิจัย หรือระบุใน Acknowledgement ว่า “This work was supported by Thammasat University Center of Excellence in ……..”
ข้อ ๘ ศูนย์ ประกอบด้วย
- หัวหน้าศูนย์ ที่มีคุณสมบัติดังนี้
(๑.๑) เป็นคณาจารย์ประจำหรือนักวิจัยของมหาวิทยาลัย
(๑.๒) มีประสบการณ์ทำวิจัยในสาขาวิชาตามวัตถุประสงค์ของศูนย์มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๑.๓) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยขนาดใหญ่หรือชุดโครงการวิจัยในสาขาวิชาตามวัตถุประสงค์
ที่แล้วเสร็จ ในรอบห้าปีก่อนการจัดตั้งศูนย์ โดยผลงานวิจัยต้องมีความโดดเด่น เช่น ได้รับการตีพิมพ์
ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ มีการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นต้น
(๑.๔) ในรอบสิบปี ก่อนการจัดตั้งศูนย์ ต้องเป็นที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษาร่วมของนักศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่น้อยกว่าห้าคน หรือระดับปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่น้อยกว่าสามคน
(๒) สมาชิกศูนย์ต้องเป็นคณาจารย์ประจำหรือนักวิจัยของมหาวิทยาลัยตั้งแต่สี่คนขึ้นไป โดยอย่างน้อยสองคน ต้องมีประสบการณ์ทำวิจัยในสาขาวิชาตามวัตถุประสงค์ของศูนย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยในสาขาวิชาตามวัตถุประสงค์ที่แล้วเสร็จ โดยผลงานวิจัยต้องมีความโดดเด่น เช่น ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ มีการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นต้น
นอกจากสมาชิกศูนย์ตาม (๒) อาจมีสมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยในจำนวนที่เหมาะสมก็ได้
ข้อ ๙ หัวหน้าศูนย์มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้แทนของศูนย์ในการติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัย
(๒) รับผิดชอบบริหารงานของศูนย์ให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์
(๓) จัดทำแผนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีของศูนย์เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๔) ควบคุมดูแลการทำวิจัย นวัตกรรม หรือผลงานวิชาการอื่นตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๕) รายงานผลการดำเนินการตามแผนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(๖) รับผิดชอบบริหารงบประมาณ การเงิน และการบัญชีของศูนย์
(๗) รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๐ หัวหน้าศูนย์สามารถเป็นหัวหน้าศูนย์ได้เพียงหนึ่งศูนย์ และต้องไม่เป็นสมาชิกของศูนย์อื่นหรือหน่วยวิจัยอื่น
สมาชิกของศูนย์จะเป็นสมาชิกของศูนย์อื่นได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินสองศูนย์
ข้อ ๑๑ ศูนย์ต้องใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้าน …” แล้วตามด้วยชื่อสาขาวิชาการที่ศูนย์นั้นมีความเชี่ยวชาญ และต้องใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Center of Excellence in …” แล้วตามด้วยชื่อสาขาวิชาการที่ศูนย์นั้นมีความเชี่ยวชาญเป็นภาษาอังกฤษ แต่ทั้งนี้ ศูนย์ต้องไม่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์ซ้ำกับศูนย์ที่ได้รับการจัดตั้งไว้ก่อนแล้ว
ข้อ ๑๒ ให้หัวหน้าศูนย์จัดทำแบบเสนอขอรับการสนับสนุนและรับรองการจัดตั้งศูนย์เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) เพื่อกลั่นกรององค์ประกอบ วัตถุประสงค์ พันธกิจ และแผนงานของศูนย์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
แบบเสนอขอรับการสนับสนุนและรับรองการจัดตั้งศูนย์ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๓ ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ศูนย์ต้องมีแผนงานตามข้อ ๖ วรรคสอง อย่างน้อย ๓ ปี โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับชื่อและวัตถุประสงค์ของศูนย์และสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการวิจัยของมหาวิทยาลัย และเป็นประโยชน์ต่อความเข้มแข็งด้านวิชาการของประเทศไทย
(๒) หัวหน้าศูนย์และสมาชิกต้องมีผลงานรวมกันอย่างน้อยห้าเรื่อง ในระยะสามปีที่ผ่านมานับจากวันที่ยื่นคำขอจัดตั้ง ดังต่อไปนี้
(๒.๑) มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลสากล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank: www.scimagojr.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expand, Social Sciences Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus
(๒.๒) เฉพาะกรณีการตั้งศูนย์ด้านสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลสากล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank: www.scimagojr.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expand, Social Sciences Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus หรือที่อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ จากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre: TCI) กลุ่มที่ ๑
(๒.๓) มีผลงานสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
(๒.๔) ต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาและความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือ หลังปริญญาเอก
ข้อ ๑๔ การจัดตั้งศูนย์ให้ทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วย
- ชื่อศูนย์
- วัตถุประสงค์และพันธกิจของศูนย์
- หัวหน้าศูนย์และสมาชิกศูนย์
ข้อ ๑๕ ศูนย์ที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งแล้วให้ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังต่อไปนี้
(๑) ปีที่หนึ่ง จัดสรรให้เมื่อได้รับการจัดตั้งศูนย์และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแผนงานประจำปี จำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้แบ่งจ่ายเป็น ๒ งวด และมีกำหนดการจ่าย ดังนี้
(๑.๑) งวดที่ ๑ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์ได้รับการจัดตั้ง
(๑.๒) งวดที่ ๒ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์รายงานผลการดำเนินงานรอบหกเดือน และคณะกรรมการเห็นชอบในความก้าวหน้านั้น
(๒) ปีที่สองถึงปีที่ห้า จัดสรรให้ร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกที่ศูนย์ได้รับในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เกินปีละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายเมื่อผลงานเป็นไปตามแผนงานประจำปีที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ โดยให้แบ่งจ่ายเป็น ๒ งวด และมีกำหนดการจ่าย ดังนี้
(๒.๑) งวดที่ ๑ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์รายงานผลการดำเนินงานของรอบปีที่ผ่านมา และคณะกรรมการเห็นชอบในผลงานและแผนงานของปีถัดไป
(๒.๒) งวดที่ ๒ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์รายงานผลการดำเนินงานรอบ ๖ เดือน ของรอบปี และคณะกรรมการเห็นชอบในความก้าวหน้านั้น
(๓) ปีที่หกเป็นต้นไป จัดสรรให้ร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกที่ศูนย์ได้รับในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เกินปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายเมื่อผลงานเป็นไปตามแผนงานประจำปีที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ โดยให้แบ่งจ่ายเป็น ๒ งวด และมีกำหนดการจ่าย ดังนี้
(๓.๑) งวดที่ ๑ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์รายงานผลการดำเนินงานของรอบปีที่ผ่านมา และคณะกรรมการเห็นชอบในผลงานและแผนงานของปีถัดไป
(๓.๒) งวดที่ ๒ จำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินสนับสนุนการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติ กำหนดจ่ายเมื่อศูนย์รายงานผลการดำเนินงานรอบ ๖ เดือน ของรอบปี และคณะกรรมการเห็นชอบในความก้าวหน้านั้น
การรายงานผลการดำเนินงานตามข้อ ๑๕ (๒) และ (๓) หัวหน้าศูนย์จะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบในทุก ๆปี นับจากวันที่ได้รับจัดตั้งเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในกรณีที่หัวหน้าศูนย์ ไม่สามารถส่งรายงานผลการดำเนินงานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ให้หัวหน้าศูนย์ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานแล้วแต่กรณี เพื่อเสนอขอขยายเวลาการดำเนินงานต่อคณะกรรมการพิจารณา ก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบ
ข้อ ๑๖ ในการรับเงินสนับสนุน ศูนย์ต้องเปิดบัญชีเพื่อรับเงินโอนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์กับธนาคารพาณิชย์ตามที่กองคลังกำหนดในชื่อศูนย์
เงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง มีผู้ลงนามในการเบิกจ่ายอย่างน้อยสองคน โดยมีหัวหน้าศูนย์
ลงนามร่วมกับหัวหน้าส่วนงานหรือรองหัวหน้าส่วนงานที่หัวหน้าส่วนงานมอบหมาย
ข้อ ๑๗ เงินสนับสนุนตามข้อ ๑๕ ให้ศูนย์ใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ ทั้งนี้ให้มีรายการค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าจ้างนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก
(๒) ค่าจ้างผู้ช่วยวิจัย ค่าจ้างนักศึกษาเพื่อช่วยวิจัย
(๓) ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ
(๔) ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีการทำวิทยานิพนธ์
(๕) วัสดุสำนักงาน และวัสดุวิทยาศาสตร์
(๖) ค่าครุภัณฑ์ และ ค่าบำรุงรักษาครุภัณฑ์
(๗) ค่าปรับปรุงสถานที่
(๘) ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ
(๙) ค่าใช้สอยอื่น ๆ
ข้อ ๑๘ การใช้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ ตามข้อ ๑๗ วงเงินค่าใช้จ่ายแต่ละรายการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด และหัวหน้าศูนย์จะต้องดำเนินการตามระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๙ การตรวจสอบการใช้เงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ มีดังต่อไปนี้
- หัวหน้าศูนย์จะต้องจัดทำบัญชีการรับจ่ายเงินของศูนย์ และต้องเก็บหลักฐานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ทุกรายการเพื่อการตรวจสอบ
- หัวหน้าศูนย์จะต้องจัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ ภายในสามสิบวันนับจากวันที่สิ้นสุดแผนงานประจำปี ให้กองบริหารการวิจัยเพื่อนำเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบด้วย
ข้อ ๒๐ กรณีที่ศูนย์มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของศูนย์ และหรือกรณีที่ศูนย์มีการเพิ่มหรือถอนสมาชิกในศูนย์ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน โดยให้หัวหน้าศูนย์จัดทำคำขอเปลี่ยนแปลงเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) หรือคณะกรรมการประจำส่วนงานในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (ชื่อส่วนงาน) ให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา
ข้อ ๒๑ การประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ศูนย์ต้องมีผลงาน ดังต่อไปนี้
(๑.๑) ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลสากล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank: www.scimagojr.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expand, Social Sciences Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus อย่างน้อยสามเรื่อง โดยต้องอยู่ใน Q1 หรือ Q2 อย่างน้อย ๑ เรื่อง หรือ
(๑.๒) ศูนย์ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลสากล ได้แก่ ฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank: www.scimagojr.com) หรือฐานข้อมูล ISI Web of Science (Science Citation Index Expand, Social Sciences Citation Index, Art and Humanities Citation Index) หรือฐานข้อมูล Scopus อยู่ใน Q1 หรือ Q2 อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง และมีผลงานดังต่อไปนี้ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ชิ้น ได้แก่
(๑.๒.๑) ผลงานที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในภาครัฐ เอกชน ชุมชน หรือสังคม มีหนังสือรับรองการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งระดับชาติหรือนานาชาติ
(๑.๒.๒) รางวัลผลงานวิจัยหรือรางวัลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิจัยในระดับนานาชาติหรือระดับชาติ ได้แก่ รางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น
(๑.๒.๓) ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ ที่มีสูจิบัตร หรือเอกสารประกอบการแสดงผลงานสร้างสรรค์
(๑.๒.๔) ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ที่มีหนังสือรับรองจากชุมชนในการลงไปทำงานกับชุมชน การทำโครงการวิจัยกับชุมชน การจัดนิทรรศการชุมชน การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน
- ศูนย์ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงความร่วมมือการทำวิจัยและนวัตกรรมกับสถาบันวิจัยต่างประเทศ หรือการสนับสนุนด้านเครื่องมือ หรือการตีพิมพ์ผลงานร่วมกัน หรือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาปริญญาเอก หรือความร่วมมือการทำวิจัยและนวัตกรรมกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน หรือสังคม อย่างน้อยปีละหนึ่งเรื่อง
- หัวหน้าศูนย์และสมาชิกต้องเป็นที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษาร่วมของนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาโทขึ้นไป รวมกันแล้วไม่น้อยกว่าสามคน ในแต่ละปี
ข้อ ๒๒ คณะกรรมการจะงดให้เงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ เมื่อศูนย์ไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ไม่จัดส่งผลการดำเนินงานประจำปี
- ไม่จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินตามข้อ ๑๙ (๒)
- ไม่จัดทำแผนตามข้อ ๖ วรรคสอง เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบในการดำเนินงานของศูนย์ปีต่อไป
ข้อ ๒๓ ให้ยุบเลิกศูนย์ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
- หัวหน้าศูนย์พ้นสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และสมาชิกของศูนย์ไม่สามารถหาผู้มีคุณสมบัติมาเป็นหัวหน้าศูนย์ได้ ภายในระยะเวลาเก้าสิบวัน
- ศูนย์มีผลงานไม่เป็นไปตาม ข้อ ๒๑
- คณะกรรมการพิจารณาสั่งยุบเลิกศูนย์
ข้อ ๒๔ เมื่อศูนย์ถูกยุบเลิกให้หัวหน้าศูนย์ดำเนินการดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ถูกยุบเลิกศูนย์
- นำส่งคืนเงินเหลือจ่ายที่ได้รับไปคืนให้แก่กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัย พร้อมส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินให้กองบริหารการวิจัย
- จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ พร้อมสมุดบัญชีที่ปิดให้
กองบริหารการวิจัย - สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เสนอให้มหาวิทยาลัยทราบ
- ในกรณีที่ศูนย์มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ ให้หัวหน้าศูนย์จัดทำบัญชีครุภัณฑ์และส่งมอบครุภัณฑ์นั้นให้เป็นครุภัณฑ์ของส่วนงานต่อไป
ข้อ ๒๕ หัวหน้าศูนย์ที่ถูกยุบเลิกในข้อ ๒๓ จะไม่สามารถขอจัดตั้งศูนย์อื่นใดขึ้นอีกได้ในระยะเวลา
สามปี นับจากวันที่ศูนย์ถูกยุบเลิก แต่อาจเข้าเป็นสมาชิกศูนย์ตามประกาศนี้อีกได้
ข้อ ๒๖ การตีความวินิจฉัยตามประกาศฉบับนี้ให้เป็นอำนาจของรองอธิการบดีที่รับผิดชอบด้าน
การวิจัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๗ ให้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี