ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์
พ.ศ. ๒๕๖๑
——————————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการจึงได้กำหนดให้มีการให้รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพในระดับชาติและนานาชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“รางวัล” หมายความว่า รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์
“บุคลากร” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงอาจารย์หรือนักวิจัยอาคันตุกะชาวต่างประเทศ
“งานสร้างสรรค์” หมายความว่า ผลงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ทางศิลปะประเภทต่างๆ ที่มีความเป็นนวัตกรรม โดยมีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมตามประเภทของงานศิลปะซึ่งมีแนวทางการทดลองหรือการพัฒนาจาก แนวคิดสร้างสรรค์เดิมเพื่อเป็นต้นแบบหรือความสามารถในการบุกเบิกศาสตร์อันก่อให้เกิดคุณค่าทางสุนทรีย์และคุณประโยชน์ที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพตามการจัดกลุ่มศิลปะของอาเซียน งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ได้แก่ (1) ทัศนศิลป์ (Visual Art) ประกอบด้วย ผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ สื่อประสม สถาปัตยกรรมและงานออกแบบประเภทอื่นๆ (2) ศิลปะการแสดง (Performance Arts) ประกอบด้วย ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์ รวมทั้งการแสดงรูปแบบต่างๆ และ (3) วรรณศิลป์ (Literature)
ซึ่งประกอบด้วยบทประพันธ์ และกวีนิพนธ์รูปแบบต่างๆ
“การเผยแพร่งานสร้างสรรค์” หมายความว่า การเผยแพร่งานสร้างสรรค์ในลักษณะสิ่งตีพิมพ์
การจัดนิทรรศการ (Exhibition) การจัดการแสดง (Performance) หรือการจัดประกวด ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ งานศิลปะ ดนตรี การแสดง การละคร และงานออกแบบที่เป็นผลงานวิชาการสู่สาธารณะ โดยมีการจัดการนำเสนอในระดับชาติหรือนานาชาติอย่างเป็นระบบ และเป็นวิธีการที่ยอมรับใน
วงวิชาชีพ โดยมีกระบวนการพิจารณาคัดเลือกคุณภาพผลงาน ก่อนการเผยแพร่ อาทิ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และมีการประเมินคุณค่าของผลงานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่
“การประเมินคุณค่าของผลงานที่เผยแพร่” หมายความว่า การประเมินในมิติการเผยแพร่ มิใช่ประเมินคุณภาพตัวผลงาน การเผยแพร่งานสร้างสรรค์ต้องผ่านการรับรองหรือกลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หรือนักวิชาชีพในสาขาวิชาซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการหรือวิชาชีพ
“แหล่งเผยแพร่” หมายความว่า สถานที่สำหรับการเผยแพร่ที่ยอมรับในวงการวิชาชีพ/วงวิชาการ
โดยการจัดแสดงนิทรรศการ หรือ การจัดการแสดง หรือการจัดประกวด ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์
สู่สาธารณะ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกคุณภาพงานสร้างสรรค์ ดังนี้
- ต้องเป็นแหล่งเผยแพร่ระดับสถานศึกษา อาทิ หอศิลป์ หอประชุม และลานศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดงานแสดงเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น
- หอศิลป์ขององค์กรหรือสมาคม จะต้องเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ งานสร้างสรรค์โดยเฉพาะ และคณะกรรมการบริหารจัดการหอศิลป์ หรือมีคณะกรรมการรับผิดชอบดูแลการจัดนิทรรศการทางวิชาการหรือการจัดการแสดงหรือการจัดประกวด
- คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองงานสร้างสรรค์ ไม่ต่ำกว่า 3 คน โดยมีศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือ นักวิชาการที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
- ศิลปะ งานสร้างสรรค์ งานออกแบบ ที่ไม่ได้แสดงในหอศิลป์ จะต้องมีหลักฐานที่แสดงกิจกรรมการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีคุณภาพของงานที่แสดง พร้อมเอกสารโครงการ แผนงาน และการประเมินผล โดยผลงานที่จัดแสดงต้องได้รับการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการในสาขาวิชาไม่ต่ำกว่า 3 คน ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการจากภายนอกสถาบันร่วมพิจารณาด้วย
ข้อ ๔ รางวัลสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ประเภทรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ มีดังนี้
- งานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่ในระดับนานาชาติ ที่เปิดกว้างสำหรับทุกประเทศและแหล่งที่เผยแพร่ต้องได้รับการยอมรับในวงการศิลปะในระดับนานาชาติอย่างน้อย 5 ประเทศ รางวัลละ 30,000 บาท
- งานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่ในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น รางวัลละ 15,000 บาท
- งานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่ในระดับชาติ ที่เป็นแหล่งเผยแพร่ระดับสถานศึกษาระดับประเทศ อาทิ หอศิลป์ หอประชุม และลานศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดงานแสดงเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ รางวัลละ 5,000 บาท
กรณีที่ผู้เสนอขอรับรางวัล 1 ผลงาน มากกว่า 1 ประเภท ผลงานนั้นจะได้รับเงินรางวัลสูงสุดประเภทเดียว
ข้อ ๕ ผู้ที่จะได้รับรางวัลตาม ข้อ ๔ จะต้องเป็นบุคลากรโดยถือวันที่กำหนดส่งผลงานสร้างสรรค์
ตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด เป็นวันสุดท้ายของการสังกัดเป็นบุคลากร
ในกรณีขณะที่พิจารณาเงินรางวัลผู้ขอรับรางวัลพ้นสภาพจากการเป็นบุคลากร ผลงานสร้างสรรค์นั้น ต้องเผยแพร่ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๖ ผลงานที่จะเสนอขอรับรางวัลตามข้อ ๔ จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- เป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการเผยแพร่แล้ว ในระยะเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด
- กรณีเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีผู้ร่วมทำผลงานหลายคน ต้องมีหนังสือรับรองการมีส่วนร่วมในการทำผลงานสร้างสรรค์ที่มีชื่อบุคลากรคนอื่น หรือบุคคลภายนอกร่วมลงชื่อด้วย
ข้อ ๗ ผลงานที่จะเสนอรับรางวัลตามข้อ ๔ ต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- เป็นผลงานที่เคยได้รับเงินรางวัลการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ในลักษณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยมาก่อน
- เป็นผลงานในการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษาของผู้เสนอขอรับรางวัล
ข้อ ๘ ระยะเวลาการให้รางวัลตามข้อ ๔ ให้เป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๙ การเสนอเพื่อขอรับรางวัลตามข้อ ๔ ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้ประสงค์ขอรับรางวัลส่งแบบเสนอขอรับรางวัลพร้อมเอกสารที่แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ต่อส่วนงานที่ตนสังกัด
(1.๑) สูจิบัตร หรือสำเนาการจัดนิทรรศการ หรือการจัดการแสดง หรือการจัดประกวด
(1.๒) เอกสารที่แสดงถึงการมีคณะกรรมการรับผิดชอบดูแลการจัดนิทรรศการทางวิชาการ และมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองงานสร้างสรรค์ โดยระบุชื่อคณะกรรมการดังกล่าวอย่างชัดเจน
(1.๓) หลักฐานของงานสร้างสรรค์ที่นำไปเผยแพร่ อาทิ รูปถ่าย วีดิทัศน์ รูปเล่มผลงาน
(๒) ให้ส่วนงานดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับรางวัลและลักษณะของผลงาน หากปรากฏ
ผู้ขอรับรางวัลมีคุณสมบัติ และผลงานที่ขอมีลักษณะตามข้อ ๖ และไม่มีลักษณะตามข้อ ๗ ให้ส่งเรื่องให้
กองบริหารการวิจัย รวบรวมนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ประกาศ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. 2561
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี