ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. ๒๕๖๔
——————————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงกำหนดให้มีการให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับชาติและนานาชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. ๒๕๖๑” และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“รางวัล” หมายความว่า รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น
“บุคลากร” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น แบ่งออกเป็น ๔ สาขา สาขาละ ๑ รางวัล รางวัลละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ดังนี้
- สาขาสังคมศาสตร์
- สาขามนุษยศาสตร์
- สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
- สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ข้อ ๖ ผู้ที่จะได้รับรางวัลตาม ข้อ ๕ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่มีสัดส่วนการทำวิจัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ และสามารถเสนอผลงานวิจัยได้เพียง ๑ เรื่อง
- ต้องไม่มีผลงานวิจัยหรือการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ค้างส่ง หรือเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรณีผู้เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ให้เว้นระยะเวลา ๒ ปี จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาผลงานวิจัยเรื่องใหม่
ข้อ ๗ ผลงานที่จะเสนอขอรับรางวัลตามข้อ ๕ จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ดังนี้
(๑.๑) สาขาสังคมศาสตร์ และสาขามนุษยศาสตร์ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ หรือได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ (Journal) ที่ปรากฏในฐานข้อมูลระดับชาติ TCI หรือฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามประกาศ ก.พ.อ.
(๑.๒ ) สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ (Journal) ที่ปรากฏในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามประกาศ ก.พ.อ.
(๒) เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ใช้วิธีวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง มีความชัดเจน และต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๒.๑) เป็นผลงานวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และมีการค้นคว้ามาอย่างสมบูรณ์
(๒.๒) เป็นผลงานวิจัยที่แสดงถึงการริเริ่มทางวิชาการหรือการพัฒนาองค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีใหม่
(๒.๓) เป็นผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย หรือการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย
(๓) เป็นผลงานที่ทำในขณะที่ผู้เสนอขอรับรางวัลเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และต้องแสดงชื่อสังกัดเป็นมหาวิทยาลัยในผลงานวิชาการนั้น
(๔) ไม่เป็นผลงานวิจัย หรือส่วนหนึ่งของงานวิจัยในการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษาของผู้เสนอขอรับรางวัล
(๕) กรณีมีผู้ร่วมวิจัยหลายคน ผู้ร่วมวิจัยทุกคนต้องลงชื่อรับรองสัดส่วนและยินยอมในการเสนอขอรับรางวัล
ข้อ ๘ ระยะเวลาการให้รางวัลตามข้อ ๕ ให้เป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๙ ขั้นตอนการพิจารณารางวัล
(๑) คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัย
(๒) คณะอนุกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิปฏิบัติหน้าที่ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือก
(๓) การตัดสินของคณะอนุกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น ถือเป็นการสิ้นสุด
(๔) คณะอนุกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่นรายงานผลการคัดเลือกต่ออธิการบดี เพื่อเสนอการให้รางวัลต่อสภามหาวิทยาลัยทราบ
ข้อ ๑๐ การเสนอเพื่อขอรับรางวัลตามข้อ ๕ ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้ประสงค์ขอรับรางวัลส่งแบบเสนอขอรับรางวัลพร้อมเอกสารที่แสดงรายละเอียดประกอบการขอรับรางวัล และส่งไปยังส่วนงานที่ตนสังกัด
(๒) ให้ส่วนงานดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับรางวัลและลักษณะของผลงาน หากปรากฏ
ผู้ขอรับรางวัลมีคุณสมบัติ และผลงานที่ขอมีลักษณะตามข้อ ๗ ให้ส่งเรื่องให้กองบริหารการวิจัย รวบรวมนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี