ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษาบทความ
พ.ศ. ๒๕๖๔
————————————————————————————————-
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงกำหนดให้มีการให้ทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษาบทความ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษาบทความ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ทุนสนับสนุนการแปลบทความวิจัยและบทความทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๑” และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
“ทุน” หมายความว่า ทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษาบทความ
“บทความ” หมายความว่า บทความวิจัยหรือบทความวิชาการ
“บุคลากร” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ ทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษาบทความ มีอัตราค่าใช้จ่ายในการแปลหรือตรวจแก้บทความภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ จ่ายตามจริง บทความละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และไม่เกินคนละ ๑ เรื่อง ต่อปี
ข้อ ๖ ผู้ที่จะได้รับทุนตาม ข้อ ๕ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ต้องมีชื่อในบทความเป็นชื่อแรก (First Author) หรือ ผู้วิจัยหลัก (Corresponding Author) และต้องระบุชื่อสังกัดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ไม่อยู่ระหว่างการลาศึกษาต่อ ขณะที่เสนอขอรับทุน
ข้อ ๗ ผลงานที่จะเสนอขอรับทุนตามข้อ ๕ จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- บทความวิจัยหรือบทความวิชาการที่ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ (Accepted) หรือตีพิมพ์แล้ว (Published) ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ไม่เกิน ๑ ปีนับจากวันที่ยื่นขอรับทุน (วันที่ผู้ขอรับทุนระบุในแบบเสนอขอรับทุน) โดยวารสารนั้นถูกจัดอยู่ใน ควอไทล์ที่ ๑-๔
- ภาษาที่แปลหรือตรวจแก้ เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ตามวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus
- เป็นบทความซึ่งผ่านการคัดเลือก หรือได้รับความเห็นชอบจากส่วนงานต้นสังกัดแล้ว
- บทความที่เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว หากมีการแปลและตีพิมพ์ใหม่ ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมการตีพิมพ์ และต้องได้รับอนุญาตจากวารสารฉบับเดิมก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ทั้งนี้เจ้าของบทความจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วยตนเอง
- ในกรณีที่เป็นบทความวิจัยจากโครงการวิจัย จะต้องไม่ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการแปลหรือตรวจแก้บทความ
- กรณีบทความที่มีผู้เขียนบทความมากกว่า ๑ คนขึ้นไป ต้องลงนามยินยอมให้แปลหรือตรวจแก้บทความดังกล่าว และต้องได้รับการอนุมัติยินยอมจากผู้เขียนบทความทุกท่านให้แปลบทความดังกล่าวและ
ลงตีพิมพ์ในวารสาร ได้
ข้อ ๘ ผลงานที่จะเสนอรับทุนตามข้อ ๕ ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- เป็นบทความที่เคยได้รับทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษามาก่อน
- เป็นผลงานวิจัยในการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษาของผู้เสนอขอรับทุน
ข้อ ๙ ระยะเวลาการให้ทุนตามข้อ ๕ ให้เป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๐ หลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณา
กรณีที่มีผู้ส่งบทความเข้ามาขอรับการพิจารณาเป็นจำนวนมาก จะพิจารณาเป็นลำดับแรก ดังนี้
- ผู้ที่ไม่เคยได้รับทุนสนับสนุนการแปลหรือตรวจแก้ภาษามาก่อน
- พิจารณาจากการจัดอันดับของวารสาร SJR (SCImago Journal Rank) ที่บทความจะไปลงตีพิมพ์ในวารสารนั้นๆ
ข้อ ๑๑ การเสนอเพื่อขอรับทุนตามข้อ ๕ ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ประสงค์ขอรับทุนส่งแบบเสนอขอรับทุนพร้อมพร้อมเอกสารที่แสดงรายละเอียดประกอบ การขอรับทุน ต่อส่วนงานต้นสังกัด
- ให้ส่วนงานดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับทุนและลักษณะของผลงาน พร้อมจัดลำดับความสำคัญ หากปรากฏผู้ขอรับทุนมีคุณสมบัติ ตามข้อ ๖ ผลงานที่ขอมีลักษณะ ตาม ๗ และ
ไม่มีลักษณะตามข้อ ๘ ให้ส่งเรื่องให้กองบริหารการวิจัย รวบรวมนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี