ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑
………..………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๗/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
หมวดที่ ๑
บททั่วไป
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับแก่นักศึกษาภาคปกติที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี
คณะนิติศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๑ และนักศึกษาภาคบัณฑิตที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี
คณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๒
ในกรณีที่มีความขัดหรือแย้งกันระหว่างข้อบังคับนี้ กับข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศอื่นใด ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่กรณี
ข้อ ๓ ลักษณะวิชาที่จัดสอนในคณะนิติศาสตร์ที่มีกำหนดปริมาณการศึกษาเป็นหน่วยกิตและทำการสอนลักษณะวิชาหนึ่ง ๆ ในเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
“หน่วยกิต” หมายถึง ปริมาณการศึกษาซึ่งคณะนิติศาสตร์จัด ให้แก่นักศึกษาตามปกติ
“หนึ่งหน่วยกิต” หมายความว่า นักศึกษาต้องเรียนในห้องเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่อหนึ่งภาคการศึกษา เว้นแต่ในลักษณะวิชาที่เป็นการฝึกทักษะเชิงปฏิบัติหรือการค้นคว้าด้วยตนเองให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ข้อ ๔ ค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาต้องเสียให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อ ๕ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ให้นำข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ มาใช้บังคับ
ข้อ ๖ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบเพื่อดำเนินการ ตามข้อบังคับนี้ได้
หมวดที่ ๒
วิชาศึกษาทั่วไปและวิชาเลือกนอกคณะ
ข้อ ๗ การวัดผลและการนับหน่วยกิตสะสมในกรณีของวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาเลือก
นอกคณะให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อ ๘ นักศึกษาต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมในวิชาที่ได้จดทะเบียนเมื่อสิ้นสองภาคแรก ที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า ๑.๕๐ มิฉะนั้นจะต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๙ ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาเฉพาะลักษณะวิชาศึกษาทั่วไปตามหลักสูตร ชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาต้องได้รับค่าระดับเฉลี่ยสะสมของวิชาศึกษาทั่วไปไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาเลือกนอกคณะด้วย นักศึกษาจะต้องได้รับค่าระดับเฉลี่ยสะสมของวิชาศึกษาทั่วไปรวมกับวิชาเลือกนอกคณะได้ไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
หมวดที่ ๓
วิชาบังคับและวิชาเลือกในคณะ
ข้อ ๑๐ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของหลักสูตรและจดทะเบียนลักษณะวิชาในปีต่ำ ซึ่งเปิดสอนในภาคนั้น ๆ ในแต่ละภาคการศึกษาจนครบก่อน
จึงจะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาในปีถัดขึ้นไปได้ ยกเว้นในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
๑๐.๑ วิชาในปีต่ำที่นักศึกษาเคยจดทะเบียนศึกษามาก่อน แต่ยังสอบไม่ผ่าน นักศึกษา อาจไม่จดทะเบียนซ้ำในภาคนั้นก็ได้
๑๐.๒ วิชาในปีต่ำที่มีเวลาเรียนตรงกันหรือซ้อนกัน นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษาได้เฉพาะวิชาบังคับหรือวิชาบังคับสาขาเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการศึกษาสาขาความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเฉพาะทางภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้เท่านั้น
๑๐.๒.๑ วิชาที่จดทะเบียนมีเวลาตรงหรือซ้อนกัน เป็นวิชาที่เคยสอบตกมาแล้วทั้งหมด หรือ
๑๐.๒.๒ วิชาที่จดทะเบียนมีเวลาตรงหรือซ้อนกัน เป็นวิชาที่เคยสอบตกมาแล้ว
ส่วนอีกวิชาหนึ่งเป็นวิชาที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน
ข้อ ๑๑ การจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาให้ถือตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อ ๑๒[๑] ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาภาคปกติต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชา
ไม่ต่ำกว่า ๙ หน่วยกิต โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๓ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต และไม่เกิน ๒๒ หน่วยกิต
โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๗ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต
การจดทะเบียนศึกษามากกว่าจำนวนหน่วยกิตและจำนวนวิชาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้จะต้องเป็นนักศึกษาภาคปกติฐานะตั้งแต่ปีที่ ๓ ขึ้นไป
การจดทะเบียนศึกษาน้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตและจำนวนวิชาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและได้รับอนุมัติจากคณบดี เว้นแต่ในกรณีที่มีหน่วยกิตที่จะจดทะเบียนได้ตามหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษานั้นเหลือต่ำกว่า ๙ หน่วยกิต หรือ ๓ วิชา
ข้อ ๑๓[๒] ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาภาคบัณฑิตต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต และไม่เกิน ๑๗ หน่วยกิตโดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๖ วิชาโดยไม่จำกัดหน่วยกิต
การจดทะเบียนศึกษามากกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้จะต้องเป็นนักศึกษาภาคบัณฑิตฐานะตั้งแต่ปีที่ ๓ ขึ้นไป ทั้งนี้ ให้ถือว่านักศึกษา
ภาคบัณฑิตที่เข้ามาศึกษาในปีแรกมีฐานะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒
ในกรณีที่มีหน่วยกิตที่จะจดทะเบียนได้ตามหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษานั้นเหลือต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต ให้จดทะเบียนได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณบดี
ข้อ ๑๔[๓] การวัดผลการศึกษาในวิชาบังคับหรือวิชาเลือกในคณะนิติศาสตร์ วิชาหนึ่ง ๆ
มีคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน โดยกำหนดสัดส่วนคะแนนข้อสอบอัตนัยไม่น้อยกว่า ๖๐ คะแนน และคะแนน ส่วนที่เหลืออาจจะให้มีการวัดผลในรูปแบบอื่นด้วยก็ได้
สำหรับลักษณะวิชาที่เป็นการฝึกทักษะเชิงปฏิบัติหรือการค้นคว้าด้วยตนเองอาจจะมีกำหนดสัดส่วนคะแนนในการวัดผลรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง โดยพิจารณาถึงลักษณะและวัตถุประสงค์ของลักษณะวิชานั้น ๆ เป็นสำคัญ
หากการกำหนดสัดส่วนคะแนนในการวัดผลหรือรูปแบบการวัดผลที่ไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่งให้สามารถกระทำได้โดยผ่านการอนุมัติของคณบดี โดยจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของการเรียนการสอนหรือการวัดผล หรือเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และพัฒนาของนักศึกษา ตามวัตถุประสงค์ของลักษณะวิชาและหลักสูตร
ลักษณะวิชาบังคับ หรือลักษณะวิชาเลือกในคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๖๐ ใน ๑๐๐ จึงจะถือว่าสอบได้ในลักษณะวิชานั้น
ข้อ ๑๕[๔] การขาดสอบกลางภาคหรือสอบไล่ในลักษณะวิชาใด ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ในกรณีขาดสอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าได้คะแนนลักษณะวิชานั้นเฉพาะ ส่วนที่ขาดสอบเป็นศูนย์
(๒) ในกรณีขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร นักศึกษาหรือตัวแทนอาจดำเนินการได้ดังนี้
(๒.๑) ในกรณีขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร ไม่ว่าเหตุนั้นจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือ เหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษาหรือไม่ นักศึกษาหรือตัวแทนอาจยื่นคำร้องขออนุมัติ ถอนรายวิชา (อักษร W) ต่อคณบดีผ่านอาจารย์ผู้สอนได้ภายในสิบวันนับแต่วันสอบ ในกรณีที่นักศึกษาหรือตัวแทนไม่อาจยื่นคำร้องได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวและคณบดีเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรทำให้นักศึกษาหรือตัวแทนไม่อาจยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าวได้ ให้รายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
(๒.๒) ในกรณีขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร โดยเหตุนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษา และนักศึกษามีความประสงค์ขอให้มีการจัดสอบเป็นการเฉพาะ นักศึกษาหรือตัวแทนอาจยื่นคำร้องต่อคณบดีผ่านอาจารย์ผู้สอนได้ภายในสิบวันนับแต่วันสอบ การพิจารณาอนุมัติคำร้องดังกล่าวอาจารย์ผู้สอนและคณบดีต้องคำนึงถึงมาตรฐานในการประเมินผลการศึกษาและ การจัดการเรียนการสอนประกอบด้วย
ในระหว่างการสอบ หากมีกรณีดังต่อไปนี้ที่ทำให้การสอบของนักศึกษาผู้นั้นไม่เสร็จสิ้น ให้ถือว่าเป็นการขาดสอบตามวรรคหนึ่ง
(๑) การเจ็บป่วย
(๒) มีเหตุขัดขวางการสอบ
ข้อ ๑๕/๑[๕] ในกรณีที่นักศึกษาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการวัดผลในรูปแบบอื่นที่มิใช่การสอบกลางภาคหรือสอบไล่ ให้เป็นไปตามดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอน โดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานในการประเมินผลการศึกษาและการจัดการเรียนการสอบประกอบด้วย
ข้อ ๑๖[๖] นักศึกษาซึ่งได้จดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาบังคับในปีการศึกษาใดและขาดสอบหรือสอบตกมีสิทธิสอบแก้ตัวก่อนสิ้นปีการศึกษานั้น
นักศึกษามีสิทธิสอบแก้ตัวไม่เกิน ๑๘ หน่วยกิต โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๖ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต เว้นแต่
(๑) นักศึกษาฐานะตั้งแต่ปี ๔ ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในการสอบแก้ตัว อาจขออนุมัติคณบดีเพื่อสอบแก้ตัวเกินข้อจำกัดในวรรคสอบ แต่ไม่เกิน ๒๑ หน่วยกิต โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๗ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต
(๒) นักศึกษาที่มีสิทธิสอบแก้ตัวเป็นภาคสุดท้าย ซึ่งจะถูกถอดถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ ๑๘ อาจขออนุมัติคณบดีเพื่อสอบแก้ตัวเกิน ๒๑ หน่วยกิต โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๗ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต
ค่าธรรมเนียมในการสอบแก้ตัวให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
ถ้านักศึกษาผู้ใดสอบตกในลักษณะวิชาบังคับใด และไม่ได้สอบแก้ตัวลักษณะวิชานั้นให้ผ่าน นักศึกษาผู้นั้นต้องจดทะเบียนศึกษาซ้ำในลักษณะวิชาบังคับดังกล่าว พร้อมทั้งเสียค่าธรรมเนียมตามข้อ ๔
ข้อ ๑๗ นักศึกษาจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ได้คะแนนเฉลี่ยในลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตรปีที่ ๑ และปีที่ ๒ รวมกับลักษณะ วิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ที่ได้ลงทะเบียนเรียนไม่ถึงร้อยละ ๖๐ ภายใน ๓ ปีการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ หรือในลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตรปีที่ ๒ รวมกับลักษณะวิชาเลือก ของคณะนิติศาสตร์ที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียน ภายใน ๒ ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) ได้คะแนนเฉลี่ยในลักษณะวิชาบังคับ ตามหลักสูตรปีที่ ๑ ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ รวมกับลักษณะวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ที่ได้ลงทะเบียนเรียนไม่ถึงร้อยละ ๖๐ ภายใน ๕ ปีการศึกษา ในคณะนิติศาสตร์ สำหรับนักศึกษาภาคปกติ หรือในลักษณะวิชาบังคับตามหลักสูตร ชั้นปีที่ ๒ และปีที่ ๓ รวมกับลักษณะวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ได้ลงทะเบียนเรียน ภายใน ๔ ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษา ภาคบัณฑิต
ในการคำนวณคะแนนเฉลี่ยตาม (๑) และ (๒) ให้คิดจากคะแนนในการวัดผลที่นักศึกษาได้รับในภาคการศึกษาหลังสุดที่นักศึกษาลงทะเบียนของแต่ละลักษณะวิชา
การนับระยะเวลาตาม (๑) และ (๒) ไม่ให้นับระยะเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษา หรือ
มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
การนับระยะเวลาตาม (๑) และ (๒) ไม่ให้นับระยะเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษา หรือ
มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
ข้อ ๑๘[๗] เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในภาคปกติมาครบ ๘ ปีการศึกษา หรือในภาคบัณฑิตมาครบ ๖ ปีการศึกษานับตั้งแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษาผู้ใดยังสอบได้ไม่ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๑๙ การสอบกลางภาคและการสอบไล่ให้มีตามกำหนดเวลาและรายการที่คณบดีกำหนด
หมวดที่ ๔
การให้และการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา
ข้อ ๒๐ นักศึกษาต้องสอบได้ครบทุกลักษณะวิชาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในหลักสูตรและกฎระเบียบของคณะนิติศาสตร์สำหรับชั้นอนุปริญญาครบถ้วนแล้วจึงจะได้รับการเสนอชื่อ เพื่อรับอนุปริญญา
ข้อ ๒๑ นักศึกษาต้องสอบได้ครบทุกลักษณะวิชาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในหลักสูตรและกฎระเบียบของคณะนิติศาสตร์สำหรับชั้นปริญญาตรีครบถ้วนแล้วจึงจะได้รับการเสนอชื่อ เพื่อรับปริญญา
การจัดอันดับสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาให้ถือคะแนนเฉลี่ยของการวัดผลในลักษณะวิชาบังคับและวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ตามหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โดยให้เรียงลำดับจากผู้สำเร็จการศึกษาที่ได้รับเกียรตินิยนอันดับหนึ่ง และเกียรตินิยมอันดับสองก่อน
ข้อ ๒๒ นักศึกษาที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีเกียรตินิยม ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
เกียรตินิยมอันดับหนึ่งให้แก่นักศึกษาที่
(๑) สอบได้ศึกษาลักษณะวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายใน ๔ ปีการศึกษา สำหรับการศึกษาภาคปกติหรือภายใน ๓ ปีการศึกษาสำหรับการศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) ได้คะแนนเฉลี่ยในลักษณะวิชาบังคับและวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ตามหลักสูตร ชั้นปริญญาตรี ของคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่ร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป
(๓)[๘] ไม่เคยสอบตกในลักษณะวิชาใดที่ลงทะเบียนและที่ได้รับอนุมัติให้โอนหรือเทียบโอนมา
(๔) ไม่เคยได้รับผลการศึกษาในระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือในระดับต่ำกว่าระดับพอใช้ (C) ในลักษณะวิชาใด
(๕)[๙] ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นทำทัณฑ์บนขึ้นไป
(๖) มีรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนมาหรือได้รับยกเว้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยกิตรวมที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
เกียรตินิยมอันดับสองให้แก่นักศึกษาที่
(๑) สอบได้ลักษณะวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายใน ๔ ปีการศึกษา สำหรับการศึกษา ภาคปกติหรือภายใน ๓ ปีการศึกษาสำหรับการศึกษาภาคบัณฑิต
(๒) ได้คะแนนเฉลี่ยในลักษณะวิชาบังคับและวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ตามหลักสูตร ชั้นปริญญาตรี ของคณะนิติศาสตร์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕
(๓)[๑๐] ไม่เคยสอบตกในลักษณะวิชาใดที่ลงทะเบียนและที่ได้รับอนุมัติให้โอนหรือเทียบโอนมา
(๔) ไม่เคยได้รับผลการศึกษาในระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือได้รับระดับตก (F) ในลักษณะวิชาใด
(๕)[๑๑] ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นทำทัณฑ์บนขึ้นไป
(๖) มีรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนมาหรือได้รับยกเว้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยกิตรวมที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
การนับระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่นับระยะเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษาหรือ มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
บทเฉพาะกาล[๑๒]
ข้อ ๒๓ นักศึกษาภาคปกติที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ หรือปีการศึกษา ๒๕๖๒ และ นักศึกษาภาคบัณฑิตที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ ให้มีสิทธิสอบแก้ตัว ไม่เกิน ๒๑ หน่วยกิต โดยไม่จำกัดวิชา หรือ ๗ วิชา โดยไม่จำกัดหน่วยกิต
ให้ใช้ความในข้อ ๑๖ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแก้ไขข้อบังคับการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๐ พ.ศ. ๒๕๖๔ กับนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นต้นไปโดยอนุโลม
ให้นักศึกษามีสิทธิสอบแก้ตัวในลักษณะวิชาที่นักศึกษาได้ถอนโดยได้รับอนุมัติ (W)
ในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ โดยให้ถือว่าผลการสอบแก้ตัวดังกล่าวเป็นผลการศึกษาของลักษณะวิชานั้นในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ เสมือนว่านักศึกษาไม่ได้ถอนลักษณะวิชาดังกล่าว
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๒] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๓] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๔] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๕] ข้อ ๑๕/๑ เพิ่มโดยข้อ ๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๖] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๖ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๗] ข้อ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์
(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๘] ข้อ ๒๒ (๓) วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของ
คณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๙] ข้อ ๒๒ (๕) วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของ
คณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๑๐] ข้อ ๒๒ (๓) วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของ
คณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๑๑] ข้อ ๒๒ (๕) วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของ
คณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๑๒] ความในบทเฉพาะกาล ถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๗ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔