ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ
ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑
……….………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย และกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และ (๘) และมาตรา ๗๐ วรรคสี่
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่
๑๐/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันที่มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือบัณฑิตศึกษาด้วย
“ตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำ ของมหาวิทยาลัย
“พนักงานมหาวิทยาลัย”[๑] ให้หมายความรวมถึงผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่ข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ ซึ่งมีหน้าที่ในการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการ และ
ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำด้วย
“คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ส่วนงาน ของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
“ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้และให้มีอำนาจออกประกาศ ของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕[๒] ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
คณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอาจเลือกใช้คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งสำหรับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามประกาศ ก.พ.อ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ โดยอนุโลมก็ได้
ข้อ ๖ เพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานและคุณภาพในการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย การดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อบังคับนี้ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเรียกโดยย่อว่า ก.พ.อ.
เว้นแต่เป็นเรื่องลักษณะเฉพาะของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ การดำเนินการทุกขั้นตอนในการแต่งตั้งหรือถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ตามข้อบังคับนี้ ให้กระทำโดยวิธีลับ
ข้อ ๘ ภาระงานสอน การประเมินผลการสอน และเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการสอนของคณาจารย์ประจำในแต่ละคณะได้ตามความเหมาะสม
ข้อ ๙ หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบตำแหน่งทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๐ หลักเกณฑ์และวิธีการนับเวลาการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเคยเป็นอาจารย์ประจำ ในสถาบันอุดมศึกษาอื่นหรือเคยเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัย ให้นำเวลาในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาอื่นหรืออาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ ตามข้อบังคับนี้ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๒ หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อนำมาใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ การกำหนดสาขาวิชาของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ประกอบ การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๑๔ ผลงานทางวิชาการที่จะใช้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ มีดังต่อไปนี้
(๑) ผลงานวิจัย
(๒) ผลงานวิชาการรับใช้สังคม
(๓) ตำราหรือหนังสือ
(๔) บทความทางวิชาการ
(๕) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นดังนี้
(๕.๑) ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
(๕.๒) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
(๕.๓) ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
(๕.๔) กรณีศึกษา (case study)
(๕.๕) งานแปล
(๕.๖) พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
(๕.๗) ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๕.๘) ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะหรือศิลปะ
(๕.๙) สิทธิบัตร
(๕.๑๐) ซอฟต์แวร์
คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลัษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการตาม
วรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๕ ผลงานทางวิชาการที่จะนำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องจัดทำขึ้น
โดยผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจัดทำร่วมกับผู้อื่น จะนำมาขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ถ้าผู้นั้นมีส่วนร่วมจัดทำในสัดส่วนและตามหลักเกณฑ์ที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๖ ผลงานทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใด ๆ ของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) เป็นผลงานทางวิชาการเดียวกันหรือซ้ำกับผลงานทางวิชาการซึ่งได้ใช้ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของผู้นั้นมาแล้ว เว้นแต่ในครั้งก่อน ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่ผ่านการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อาจนำผลงานทางวิชาการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพผลงาน ทางวิชาการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นมาใช้ประกอบ การพิจารณากำหนดตำแหน่งในระดับเดียวกันในคร้งต่อไปได้
(๓) เป็นผลงานทางวิชาการที่จัดทำขึ้นโดยผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
หมวด ๓
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
ข้อ ๑๗ ผู้ที่จะได้รับการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องไม่ประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการมีดังต่อไปนี้
(๑) มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ โดยต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(๑.๑) ไม่นำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน
(๑.๒) ไม่ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
(๑.๓) ต้องไม่นำผลงานทางวิชาการของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสาร ทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตนโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการอันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่
(๒) ต้องแสดงหลักฐานของการค้นคว้าโดยอ้างถึงหรืออ้างอิงถึงบุคคลและแหล่งที่มา ของข้อมูลที่นำมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตนเอง
(๓) ต้องไม่มุ่งถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น่
(๔) ต้องจัดทำผลงานทางวิชาการโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์และเสนอผลงาน
ตามความเป็นจริง ปราศจากอคติ ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ขยายข้อค้นพบโดยไม่ได้ตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
(๕) ต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ต้องแสดงการได้รับอนุญาตหรือต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยในคนหรือสัตว์ เฉพาะในกรณีการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นการทำวิจัยในคนหรือสัตว์
หมวด ๔
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีปกติ
ส่วนที่ ๑
การกำหนดตำแหน่งอาจารย์
ข้อ ๑๘[๓] ผู้ซึ่งจะได้รับการกำหนดตำแหน่งอาจารย์ต้องผ่านการดำเนินการคัดเลือกบุคคล
เข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ หรือผ่านการดำเนินการคัดเลือก และแต่งตั้งหรือจ้างให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการ และให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเช่นเดียวกับคณาจารย์ประจำด้วย
ส่วนที่ ๒
การขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ข้อ ๑๙ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์
(๑.๑) ไม่น้อยกว่า ๖ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๑.๒) ไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาโทหรือเทียบเท่า
(๑.๓) ไม่น้อยกว่า ๑ ปี สำหรับอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกำหนด
(๓) เสนอเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอนที่ผ่านการประเมินคุณภาพจากคณะ ในรายวิชาตาม (๒) ที่ตนได้สอนหรือสอนร่วมและเป็นผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นเอง อย่างน้อย ๑ รายวิชา หรือ
หลายวิชารวมกันเท่ากับจำนวนชั่วโมงสอนใน ๑ รายวิชาที่มี ๓ หน่วยกิต
(๔) เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดังต่อไปนี้
(๔.๑) กรณีทั่วไป
(๔.๑.๑) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๒ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๔.๑.๒) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป และผลงาน
ทางวิชาการในลักษณะอื่น อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๔.๑.๓) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป และผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือ
(๔.๑.๔) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป และตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง ที่มีคุณภาพดีขึ้นไป
(๔.๒) กรณีเฉพาะสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอาจใช้ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคมที่มีคุณภาพดีขึ้นไป หรือบทความทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมาขึ้นไป แทนผลงานวิจัยตาม (๔.๑.๒) ถึง (๔.๑.๔)
ส่วนที่ ๓
การกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์
ข้อ ๒๐ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกำหนด
(๓) เสนอเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอนที่ผ่านการประเมินคุณภาพจากคณะ ในรายวิชาตาม (๒) ที่ตนได้สอนหรือสอนร่วมและเป็นผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นเอง อย่างน้อย ๑ รายวิชา หรือ
หลายวิชารวมกันเท่ากับจำนวนชั่วโมงสอนใน ๑ รายวิชาที่มี ๓ หน่วยกิต
(๔) เสนอผลงานทางวิชาการด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๔.๑) กรณีทั่วไป
(๔.๑.๑) วิธีที่ ๑ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีขึ้นไป ประกอบด้วย ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการดังต่อไปนี้
(๔.๑.๑.๑) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๒ เรื่อง หรือ
(๔.๑.๑.๒) ผลงานวิจัย อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๑ เรื่อง
(๔.๑.๒) วิธีที่ ๒ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๔.๑.๒.๑) ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป อย่างน้อย ๒ เรื่อง และคุณภาพดีขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง หรือ
(๔.๑.๒.๒) ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป อย่างน้อย ๒ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นหรือผลงานวิชาการรรับใช้สังคมที่มีคุณภาพดีขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง
(๔.๒) กรณีเฉพาะสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอาจใช้ตำราหรือหนังสือที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป อย่างน้อย ๒ เรื่อง และคุณภาพดีขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง
ส่วนที่ ๔
การกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์
ข้อ ๒๑ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
(๓) เสนอผลงานทางวิชาการด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๓.๑) กรณีทั่วไป
(๓.๑.๑) วิธีที่ ๑ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป ดังต่อไปนี้
(๓.๑.๑.๑) ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และ
(๓.๑.๑.๒) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ
ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๕ เรื่อง หรือ
(๓.๑.๑.๓) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติหรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม รวมกันทั้งหมด อย่างน้อย ๕ เรื่อง แต่ทั้งนี้ ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔
อย่างน้อย ๑ เรื่อง
(๓.๑.๒) วิธีที่ ๒ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีเด่น ดังต่อไปนี้
(๓.๑.๒.๑) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้
ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๕ เรื่อง หรือ
(๓.๑.๒.๒) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ ตามข้อ ๑๔ และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติหรือผลงานวิชาการ
รับใช้สังคมรวมกันทั้งหมด อย่างน้อย ๕ เรื่อง แต่ทั้งนี้ ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร
ทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในวารสารทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๑ เรื่อง
(๓.๒) กรณีเฉพาะสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอาจเสนอผลงานทางวิชาการได้โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๓.๒.๑) วิธีที่ ๑ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป ดังต่อไปนี้
(๓.๒.๑.๑) ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๒ เรื่อง และ
(๓.๒.๑.๒) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือในวารสาร ทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๒ เรื่อง หรือ
(๓.๒.๑.๓) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือในวารสาร ทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นหรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม รวมกันทั้งหมดอย่างน้อย ๒ เรื่อง
(๓.๒.๒) วิธีที่ ๒ เสนอผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีเด่น ดังต่อไปนี้
(๓.๒.๒.๑) ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๓ เรื่อง หรือ
(๓.๒.๒.๒) ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการ ในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๒ เรื่อง หรือ
(๓.๒.๒.๓) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือในวารสาร ทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๓ เรื่อง หรือ
(๓.๒.๒.๔) ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม ๑ หรือในวารสาร ทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑๔ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นหรือผลงานวิชาการรับใช้สังคม อย่างน้อย ๒ เรื่อง
หมวด ๕
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีพิเศษ
ข้อ ๒๒ การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีพิเศษอาจทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่ครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้สำหรับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงขึ้น
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งเสนอขอกำหนดตำแหน่งข้ามระดับตำแหน่งทางวิชาการ
(๓) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งเสนอขอกำหนดตำแหน่งโดยใช้ผลงานทางวิชาการ
ที่ได้รับการยอมรับในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
ข้อ ๒๓ การขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษอาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่ครบระยะเวลาตามข้อ ๑๙ (๑) ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑.๑) เสนอผลงานทางวิชาการและดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์โดยวิธีปกติ
(๑.๒) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งเสนอขอกำหนดตำแหน่งโดยใช้ผลงานทางวิชาการ
ที่ได้รับการยอมรับในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ให้เสนอผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่
ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ในระดับควอไทล์ ๑ (Q1) หรือระดับควอไทล์ ๒ (Q2) ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง
ข้อ ๒๔ การขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษอาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่ครบระยะเวลาตามข้อ ๒๐ (๑) หรือกรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งข้ามระดับตำแหน่งไปเป็นรองศาสตราจารย์ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑.๑) เสนอผลงานทางวิชาการได้เฉพาะวิธีที่ ๑ ตามข้อ ๒๐ (๔) (๔.๑) (๔.๑.๑) เท่านั้น และให้ดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์โดยวิธีปกติ
(๑.๒) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งเสนอขอกำหนดตำแหน่งโดยใช้ผลงานทางวิชาการ
ที่ได้รับการยอมรับในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๒.๑) เสนอผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ในระดับควอไทล์ ๑ (Q1) หรือระดับควอไทล์ ๒ (Q2) ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง และตำราหรือหนังสือที่มีคุณภาพดีขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง หรือ
(๒.๒) เสนอผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ในระดับควอไทล์ ๑ (Q1) หรือระดับควอไทล์ ๒ (Q2) ที่มีคุณภาพดีเด่น
อย่างน้อย ๑ เรื่อง และผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีขึ้นไป อย่างน้อย ๑ เรื่อง
ข้อ ๒๕ การขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษอาจทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่ครบระยะเวลาตามข้อ ๒๑ (๑) หรือกรณีอาจารย์หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ขอกำหนดตำแหน่งข้ามระดับไปเป็นศาสตราจารย์ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑.๑) เสนอผลงานทางวิชาการได้เฉพาะวิธีที่ ๑ ตามข้อ ๒๑ (๓) (๓.๑) (๓.๑.๑) เท่านั้น และให้ดำเนินการตามวิธีการเช่นเดียวกับการขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีปกติ
(๑.๒) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีเด่น
(๒) กรณีมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในฐานข้อมูลระดับนานาชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนดมีได้เฉพาะกรณีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยผู้ขอกำหนดตำแหน่งต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ในระดับควอไทล์ ๑ (Q1) หรือระดับควอไทล์ ๒ (Q2) ที่มีคุณภาพดีเด่น อย่างน้อย ๑ เรื่อง และตำราหรือหนังสือที่มีคุณภาพดีเด่น อย่างน้อย ๒ เรื่อง
หมวด ๖
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิธีการประเมินผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๒๖ ในการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแต่งตั้งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการขอกำหนดตำแหน่งโดยวิธีปกติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน ๓ คน
(๒) กรณีการขอกำหนดตำแหน่งโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน ๕ คน
ประธานกรรมการให้แต่งตั้งจากกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แต่งตั้งจากบัญชีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย ที่ ก.พ.อ. หรือสภามหาวิทยาลัยประกาศกำหนด เว้นแต่กรณีที่ไม่สามารถหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่อยู่ในบัญชีได้ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการอาจเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณา
ให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกหรือในบัญชีที่ ก.พ.อ. เป็นกรรมการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยหรือ
(๒) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่อยู่นอกบัญชีที่ ก.พ.อ. หรือสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๗ ให้ประธานกรรมการมีอำนาจหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมและกำกับดูแล
ให้การประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่ง ทางวิชาการเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีอำนาจหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๒๘ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการแล้วแจ้งผลการประเมินให้มหาวิทยาลัยทราบภายในเวลาอันสมควร
การประเมินคุณภาพผลงานทางวิชาการให้มีระดับคุณภาพต่ำกว่าดี ดี ดีมาก หรือดีเด่น ทั้งนี้ในกรณีที่คุณภาพผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเรื่องใดไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับ
การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการต้องให้เหตุผลประกอบด้วย
ช้อ ๒๙ การประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ อาจจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
การลงมติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรณีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีปกติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
การลงมติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรณีการขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
การลงมติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรณีการขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๔ ใน ๕
ข้อ ๓๐ เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้แจ้งผลการประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมายังมหาวิทยาลัยแล้ว ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาผลการประเมิน เว้นแต่ในกรณีการขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือ
รองศาสตราจารย์ที่มีผลการประเมินของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดเห็นว่าให้อยู่ในเกณฑ์หรือ ไม่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการแต่งตั้ง
ในกรณีการขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หากปรากฏว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เสียงข้างมากเห็นว่าให้อยู่ในเกณฑ์หรือไม่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการแต่งตั้ง ประธานกรรมการอาจไม่เรียกประชุมก็ได้
หมวด ๗
การขอกำหนดตำแหน่งและการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ข้อ ๓๑ แบบคำขอกำหนดตำแหน่ง วิธีการและขั้นตอนในการยื่นคำขอกำหนดตำแหน่ง
ทางวิชาการให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๒ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และ
ไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่
ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๒) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง
ทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม
(๓) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็น ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๔) กรณีผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ต่อฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ลาติดตามคู่สมรสไปต่างประเทศ หรือลาคลอด ให้แต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๔.๑) กรณีที่ไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติม และไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๔.๒) กรณีมีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการกรรมการให้ผู้ทรงคุณวุฒิและก่อนวันที่ได้รับอนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมนั้น
(๔.๓) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วก่อนวันที่ได้รับการอนุมัติการลา ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๔.๔) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้วให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างการลา ให้แต่งตั้งได้ในวันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน
(๔.๕) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้วให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ในวันหรือหลังวันที่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงาน ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
(๕) ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไว้ ต่อฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต่อมาภายหลังต้องพ้นสภาพ การเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ด้วยสาเหตุตาย เกษียณอายุ หรือลาออก ให้แต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๕.๑) กรณีที่ไม่มีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมและไม่มีกรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
(๕.๒) กรณีมีการยื่นผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมก่อนการส่งผลงานทางวิชาการ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและก่อนวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่
ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับผลงานทางวิชาการเพิ่มเติมนั้น
(๕.๓) กรณีที่ต้องปรับปรุงตำราหรือหนังสือตามความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ส่งตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการแล้วก่อนวันที่พ้นสภาพ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้รับตำราหรือหนังสือฉบับปรับปรุงแล้ว
หมวด ๘
การขอทบทวนผลการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๓๓ ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
อาจมีหนังสือชี้แจงเหตุผลทางวิชาการเพื่อขอหี้การทบทวนผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผล
ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาเรื่องขอหี้การทบทวนตามวรรคหนึ่ง และให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) หากเห็นว่าการขอให้มีการทบทวนฟังไม่ขึ้น ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง ทางวิชาการมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการผู้นั้นทราบ
(๒) หากเห็นว่าการขอให้มีการทบทวนมีเหตุผลรับฟังได้ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมีมติรับเรื่องไว้ทบทวนและแจ้งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาทบทวนโดยให้นำเหตุผล
ที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการอ้างมาประกอบการพิจารณาด้วย
ข้อ ๓๔ เมื่อผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้รับแจ้งผลตามข้อ ๓๓ แล้วยังไม่เห็นด้วย
อาจมีหนังสือชี้แจงเหตุผลทางวิชาการเพื่อขอให้มีการทบทวนผลเป็นครั้งที่ ๒ ต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาเรื่องขอทบทวนผลเป็นครั้งที่ ๒
ตามวรรคหนึ่งแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) หากเห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลทางวิชาการหรือมิได้ชี้แจงข้อโต้แย้งโดยมีเหตุผลเพิ่มเติมจากการยื่นคำขอครั้งที่ ๑ ให้มีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา และแจ้งให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทราบ
(๒) กรณีเห็นว่าคำชี้แจงข้อโต้แย้งมีเหตุผลทางวิชาการและได้มีการชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมจากการยื่นคำขอทบทวนครั้งที่ ๑ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการเพิ่มเติมจากที่แต่งตั้งไว้เดิมจำนวน ๒-๓ คน เพื่อพิจารณาคำชี้แจงข้อโต้แย้งและผลงานทางวิชาการของผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการชุดเดิมทำหน้าที่เป็น ประธานกรรมการ
หมวด ๑๑
การลงโทษทางจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๓๕ ในระหว่างการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ หากปรากฏต่อมาว่าผลงาน
ทางวิชาการที่นำมาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นมีลักษณะขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อ ๑๗ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการระงับการพิจารณา และเสนอเรื่อง
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อมีมติห้ามมิให้ผู้นั้นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยมีมติ หรือตามระยะเวลาที่สภามหาวิทยาลัยเห็นสมควร
ข้อ ๓๖ หากปรากฏภายหลังจากการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการผู้นั้น ได้จัดทำผลงานวิชาการที่นำมาเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการโดยมีการประพฤติผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาการ ให้ถอดถอนผู้นั้นจากตำแหน่ง ทางวิชาการที่ได้แต่งตั้งโดยใช้ผลงานทางวิชาการที่มีการประพฤติผิดนั้น
ในกรณีที่มีการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการตามวรรคหนึ่ง หากผู้กระทำผิดดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงกว่าตำแหน่งทางวิชาการที่ถูกถอดถอน ให้ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงกว่านั้น
ทุกระดับด้วย
ในกรณีถอดถอนตำแหน่งศาสตราจารย์ ให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการนำความ กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอน
ให้ผู้ถูกถอดถอนคืนเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนทางวิชาการในส่วนที่ได้รับ
จากการดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่ถอดถอนนั้นทั้งหมดให้แก่มหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๗ การดำเนินการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการและพนักงานเงินรายได้ สายวิชาการ ที่อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้กับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้นต่อไปจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ข้อ ๓๘ การออกประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ข้อ ๓ นิยามคำว่า “พนักงานมหาวิทยาลัย” เพิ่มโดยข้อ ๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๒] ข้อ ๕ วรรคสอง เพิ่มโดยข้อ ๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๓] ความเดิมถูกยกเลิกและให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้แทน โดยข้อ ๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓