ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๑
แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
—————————————
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัย
การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามกฎหมาย
ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๓
มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๗ (๙) มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติ
ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ประกอบมาตรา ๑๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย
การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๑”
ข้อ ๒ การมีผลบังคับใช้
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป [๑]
ข้อ ๓ ความสัมพันธ์กับข้อบังคับ กฎ และระเบียบอื่น ๆ
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้
หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก.บ.ม.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก.พ.อ.” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ข้อ ๕ ผู้รักษาการตามข้อบังคับ
ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศ คำสั่ง หรือการอื่น
ที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๖ หลักการพื้นฐาน
การดำเนินการตามข้อบังคับนี้ให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็ว
โดยคำนึงถึงสิทธิในการโต้แย้งคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหา
ข้อ ๗ การนับระยะเวลา
การนับระยะเวลาตามข้อบังคับนี้มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย
กรณีขยายเวลาให้นับวันต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มระยะเวลาที่ขยายออกไป
ส่วนเวลาสิ้นสุด ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อบังคับนี้ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
หมวด ๒
การดำเนินการทางวินัย
ข้อ ๘ การเริ่มต้นการดำเนินการทางวินัย
ข้าราชการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิดวินัย
หรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน เว้นแต่กรณีเป็นการกระทำผิดวินัยที่มิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเป็นกรณีความผิด
ที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่ ก.พ.อ. กำหนด จะไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้
ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ตามวรรคหนึ่งต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจง
แก้ข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานของตนได้
ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๙ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๑๐ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่
(๑) อธิการบดี
(๒) คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าหน่วยงาน
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สำหรับข้าราชการที่สังกัดในคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก
หรือหน่วยงานนั้น
(๓) ผู้อำนวยการกอง เลขานุการคณะ เลขานุการสถาบัน เลขานุการสำนัก
หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง สำหรับข้าราชการที่สังกัดในกอง
หรือหน่วยงานนั้น
ข้อ ๑๑ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอธิการบดี
ในกรณีที่อธิการบดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ข้อ ๑๒ คณะกรรมการสอบสวน
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนทั้งที่เป็นข้าราชการ
พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือข้าราชการพลเรือนซึ่งอยู่นอกสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน และกรรมการ
จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นข้าราชการ
คณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วย ประธานกรรมการสอบสวนซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา และกรรมการสอบสวนอย่างน้อยอีกสองคน โดยให้กรรมการสอบสวน
คนหนึ่งเป็นเลขานุการ ในกรณีจำเป็นจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัย
หรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยก็ได้
เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แม้ภายหลังประธานกรรมการจะดำรงตำแหน่งระดับต่ำกว่าหรือเทียบได้ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ
กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือผู้ได้รับ
การฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๓ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา
เรื่องที่กล่าวหา ชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวน และผู้ช่วยเลขานุการ (ถ้ามี) ทั้งนี้ ให้มีสาระสำคัญตามแบบ สว.๑ ท้ายข้อบังคับนี้
การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้ง
ข้อ ๑๔ เหตุตัดสิทธิเป็นกรรมการสอบสวน
ผู้ใดมีเหตุดังต่อไปนี้จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนไม่ได้ คือ
(๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำการตามเรื่องที่กล่าวหา
(๒) มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา
(๓) เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นคู่หมั้น คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาของผู้กล่าวหา
ข้อ ๑๕ การแจ้งคำสั่งและการแจ้งสิทธิคัดค้านคณะกรรมการสอบสวน
เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว
โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน ในการนี้ ให้มอบสำเนาคำสั่ง
ให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับด้วย ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับทราบคำสั่งหรือไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบได้ ให้ส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏ
ตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว
ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
(๒) ในการแจ้งคำสั่งตาม (๑) ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา
ทราบด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านประธานกรรมการสอบสวน และกรรมการสอบสวน
(๓) ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนและส่งหลักฐานการรับทราบหรือถือว่ารับทราบตาม (๑) พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา
ให้ประธานกรรมการสอบสวน และให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๖ เหตุคัดค้านกรรมการสอบสวน
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านกรรมการสอบสวนคนหนึ่งคนใดหรือทุกคนได้ ถ้าผู้นั้นมีเหตุ
อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีสาเหตุโกรธเคืองผู้ถูกกล่าวหา
(๒) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ผู้ถูกกล่าวหา
(๓) มีเหตุอื่นใดซึ่งอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม
(๔) เคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
ข้อ ๑๗ การคัดค้านกรรมการสอบสวนและการดำเนินการ
การคัดค้านกรรมการสอบสวน ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือวันทราบเหตุแห่งการคัดค้าน
โดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การสอบสวนไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างไร ในการนี้ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนส่งสำเนาหนังสือคัดค้าน
และแจ้งวันที่ได้รับหนังสือคัดค้านดังกล่าวให้ประธานกรรมการทราบและรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
ในการพิจารณาเรื่องคัดค้านผู้ซึ่งถูกคัดค้านอาจทำคำชี้แจงได้ หากผู้สั่งแต่งตั้ง
คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าหนังสือคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้สั่งให้ผู้ซึ่งถูกคัดค้านพ้นจากการเป็น
กรรมการสอบสวน หากเห็นว่าหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ ให้สั่งยกคำคัดค้านนั้น
โดยให้สั่งการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน ทั้งนี้ให้แสดงเหตุผลในการพิจารณา
สั่งการดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ แล้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนรวมไว้
ในสำนวนการสอบสวนโดยเร็ว การสั่งยกคำคัดค้านให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่สั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดภายใน
สิบห้าวันตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้ซึ่งถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน โดยให้เลขานุการรายงาน
ไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการตามข้อบังคับนี้ต่อไป
การพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน ไม่กระทบถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ข้อ ๑๘ การเเจ้งเหตุที่อาจถูกคัดค้านโดยกรรมการสอบสวน
ในกรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนผู้ใดเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตาม
ข้อ ๑๖ ให้กรรมการสอบสวนผู้นั้นรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและให้นำข้อ ๑๗ มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม
ข้อ ๑๙ การเปลี่ยน เพิ่มหรือลดจำนวนกรรมการสอบสวน
ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นที่จะต้อง
เปลี่ยน เพิ่มหรือลดจำนวนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนให้ดำเนินการได้โดยให้แสดงเหตุแห่งการสั่งนั้นไว้ด้วย และให้นำข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่งไม่กระทบถึง
การสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ข้อ ๒๐ การเริ่มกระบวนการสอบสวน
กรณีที่ไม่มีเหตุคัดค้านตามข้อ ๑๖ หรือมีเหตุคัดค้าน แต่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าเหตุคัดค้านไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ตามข้อ ๑๗ วรรคสอง หรือข้อ ๑๘ แล้วแต่กรณี
ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามข้อบังคับนี้ โดยผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแจ้ง
ให้คณะกรรมการสอบสวนทราบและส่งหลักฐานการรับทราบหรือถือว่ารับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้ถูกกล่าวหา พร้อมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาให้ประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๑ การประชุมวางแนวทางการสอบสวน
เมื่อได้รับเรื่องตามข้อ ๑๕ (๓) หรือข้อ ๒๐ แล้ว ให้ประธานกรรมการดำเนินการประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาวางแนวทางการสอบสวนต่อไป
ข้อ ๒๒ องค์ประชุม และการลงมติ
การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสาม
ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีประธานกรรมการอยู่ร่วมประชุมด้วย
ในกรณีจำเป็นที่ประธานกรรมการไม่สามารถเข้าประชุมได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง
ทำหน้าที่แทน
การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๒๓ การพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลและความจำเป็นที่ควรให้
ผู้ถูกกล่าวหาพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นไปยังอธิการบดี เพื่อพิจารณาสั่งการ
การสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ที่กำหนดในหมวด ๔ ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๒๔ การดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนด
ในข้อบังคับนี้ เพื่อแสวงหาความจริงในเรื่องที่กล่าวหา และดูแลให้เกิดความยุติธรรมตลอดกระบวนการสอบสวน ในการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนรวบรวมประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาและจัดทำบันทึกการประชุมไว้ทุกครั้งที่มีการสอบสวนด้วย
ภายใต้บังคับข้อ ๓๔ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ห้ามบุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการสอบสวน
ข้อ ๒๕ กรอบเวลา และลำดับขั้นตอนการดำเนินการสอบสวน
เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา
ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้เเล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประธานคณะกรรมการสอบสวนได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามลำดับขั้นตอนดังนี้
(๑) ดำเนินการประชุมตามข้อ ๒๑ แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๖
ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
(๒) รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่มีนับแต่วันที่ได้ดำเนินการ
ตาม (๑) แล้วเสร็จ
(๓) แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๗
ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๒) แล้วเสร็จ
(๔) รวบรวมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาให้แล้วเสร็จนับแต่วันที่ได้ดำเนินการ
ตาม (๓)
(๕) ประชุมพิจารณาลงมติและทำรายงานการสอบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๔) แล้วเสร็จ
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด
หนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขอขยายระยะเวลาการสอบสวน ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเสนอนายกสภามหาวิทยาลัยหรือผู้ที่นายกสภามหาวิทยาลัยมอบหมายเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินการได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ให้ยื่นคำขอขยายก่อนสิ้นสุดระยะเวลา
หนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ข้อ ๒๖ การเเจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
เมื่อได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาและวางแนวทางการสอบสวนตามข้อ ๒๑ แล้ว
ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไรที่เป็นความผิดวินัย ในการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนอ้างพยานหลักฐานหรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๗
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๒ ท้ายข้อบังคับนี้โดยทำเป็นสองฉบับ เพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ โดยให้ผู้ถูกกล่าวหา
ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนถาม
ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นความผิดวินัย
กรณีใด หากผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันตามที่รับสารภาพ ให้บันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผล
ในการรับสารภาพ (ถ้ามี) และสาเหตุแห่งการกระทำไว้ด้วย ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการสอบสวน
จะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาโดยละเอียดจะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วดำเนินการตามข้อ ๔๒
และข้อ ๔๓ ต่อไป
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาแล้วดำเนินการตามข้อ ๒๗ ต่อไป
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบ
ข้อกล่าวหา หรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๒ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐาน
ของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งมีหนังสือสอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ การแจ้งข้อกล่าวหาในกรณีเช่นนี้ ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๒
เป็นสามฉบับเพื่อเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปีที่รับทราบอีกหนึ่งฉบับและส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแม้จะไม่ได้รับแบบ สว.๒ คืน
ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาแล้ว และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามวรรคห้าต่อไป
ข้อ ๒๗ การแจ้งข้อกล่าวหา การสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและการยื่น
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ ๒๖ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการประชุม
เพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร
และเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบ
เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด
ตามมาตราใด และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบ โดยระบุวัน เวลา สถานที่
และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา สำหรับพยานบุคคลจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยาน
ก็ได้
การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง
ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบสว.๓ ท้ายข้อบังคับนี้ โดยทำเป็นสองฉบับเพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับและให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปีที่รับทราบไว้
เป็นหลักฐานด้วย
เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่น
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ
ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงภายในเวลาอันสมควร แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และต้องให้โอกาส
ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน หรือให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมทั้งนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเอง หรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้วให้ดำเนินการ
ตามข้อ ๔๒ และข้อ ๔๓ ต่อไป
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบหรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบสว. ๓ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่
ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ
พร้อมทั้งมีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง นัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การแจ้งในกรณีนี้
ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบสว. ๓ เป็นสามฉบับ เพื่อเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ
ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับ โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ
และวัน เดือน ปีที่รับทราบส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวัน
นับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับแบบ สว. ๓ คืน หรือไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา
หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำตามนัดให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐาน
ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้วและไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการสอบสวน
จะไม่สอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจะสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วดำเนินการตามข้อ ๔๒ และข้อ ๔๓ ต่อไป แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาขอให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอสำนวนการสอบสวน
ตามข้อ ๔๓ โดยมีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ถูกกล่าวหา
ร้องขอ
ข้อ ๒๘ พยานเอกสารเเละพยานวัตถุ
การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้กรรมการสอบสวนบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด
เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่อาจนำต้นฉบับมาได้ จะใช้สำเนาที่กรรมการสอบสวนหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้
ถ้าหาต้นฉบับเอกสารไม่ได้เพราะสูญหายหรือบุบสลาย ถูกทำลายหรือโดยเหตุประการอื่น
จะให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
ข้อ ๒๙ การรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเป็นจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม
ก็ให้ดำเนินการได้ และหากพยานหลักฐานที่ได้เพิ่มเติมมานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
ให้คณะกรรมการสอบสวนสรุปพยานหลักฐานดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา
ที่จะให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเฉพาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหานั้น
ทั้งนี้ให้นำข้อ ๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การดำเนินการดังกล่าวให้ทำก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๔๓
ข้อ ๓๐ การยื่นคำชี้แจงหรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้ยื่นคำชี้แจงหรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาไว้แล้วมีสิทธิยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือขอให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสอบสวนก่อนการสอบสวนแล้วเสร็จ
เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาคนใหม่ตามข้อ ๔๑ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ให้รับคำชี้แจงนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ข้อ ๓๑ องค์ประชุมสำหรับการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคล
ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคล ต้องมีกรรมการสอบสวนทุกคน
หรือต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้
ข้อ ๓๒ การแจ้งให้พยานบุคคลทราบถึงการให้ถ้อยคำเท็จ
ก่อนเริ่มสอบปากคำพยานบุคคล ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้พยานบุคคลทราบ
ว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ
ต่อคณะกรรมการสอบสวนเป็นความผิดตามกฎหมาย
ข้อ ๓๓ ข้อห้ามในการสอบปากคำ
ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคล มิให้กรรมการสอบสวนผู้ใดกระทำการล่อลวง ขู่เข็ญ ให้สัญญาหรือกระทำการใดเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำใด ๆ
ข้อ ๓๔ วิธีการสอบปากคำ และการบันทึกถ้อยคำ
ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคล ให้คณะกรรมการสอบสวน
เรียกผู้ซึ่งจะถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน และมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน
เว้นแต่บุคคลซึ่งคณะกรรมการสอบสวนอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวน เพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน
กรณีที่มีการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในที่สอบสวนได้ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด แต่ไม่มีสิทธิให้ถ้อยคำแทนผู้ถูกกล่าวหา
การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคล ให้บันทึกถ้อยคำมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๔ ท้ายข้อบังคับนี้หรือแบบ สว.๕ ท้ายข้อบังคับนี้ แล้วแต่กรณี เมื่อได้บันทึกถ้อยคำเสร็จแล้ว
ให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังหรือจะให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ เมื่อผู้ให้ถ้อยคำรับว่าถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้ถ้อยคำ
และผู้บันทึกถ้อยคำลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานและให้คณะกรรมการสอบสวนทุกคนที่ร่วมสอบสวนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายหน้า ให้กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคน
กับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า
ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามมิให้ขูดลบหรือบันทึกข้อความทับ ถ้าจะต้องแก้ไขข้อความ
ที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือเพิ่มเติม และให้กรรมการสอบสวนผู้ร่วมสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคน
กับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่งที่ขีดฆ่าหรือเพิ่มเติม
ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำ
ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓๕ การสอบสวนพยานบุคคล
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกบุคคลใดมาเป็นพยาน ให้บุคคลนั้นมาชี้แจง
หรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด
ในกรณีที่พยานบุคคลมาพบคณะกรรมการสอบสวนแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่มา
หรือคณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานบุคคลไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสอบสวน
จะไม่สอบสวนพยานบุคคลนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกการประชุมประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๒๔ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๔๓
ข้อ ๓๖ เหตุงดการสอบสวนพยานหลักฐาน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนพยานหลักฐานใดจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ จะงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้
แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่สอบสวนนั้นไว้ในบันทึกการประชุมประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๒๔ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๔๓
ข้อ ๓๗ การสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งอยู่ต่างท้องที่
ในกรณีที่จะต้องสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งอยู่ต่างท้องที่ ประธานกรรมการ
จะรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการดังนี้
(๑) กรณีเป็นส่วนราชการเดียวกันแต่อยู่ต่างท้องที่ให้มอบหมายหรือขอความร่วมมือ
ไปยังหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้น สอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทน โดยอาจกำหนดประเด็น
หรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นเลือกข้าราชการที่เห็นสมควร
อย่างน้อยอีกสองคนมาร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน
(๒) กรณีเป็นส่วนราชการซึ่งอยู่ต่างส่วนราชการกันให้ประสานงานหรือขอความร่วมมือ
ไปยังหัวหน้าส่วนราชการนั้น สอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทน โดยอาจกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นเลือกข้าราชการที่เห็นสมควรอย่างน้อยอีกสองคนมาร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะทำการสอบสวนมีฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับนี้ และให้นำข้อ ๒๒ วรรคหนึ่ง ข้อ ๒๔ วรรคสอง ข้อ ๓๑ ข้อ ๓๒ ข้อ ๓๓ ข้อ ๓๔ และข้อ ๓๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓๘ การสอบสวนวินัยเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการสอบสวนรายงาน
ไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีมีมูล
ที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามรายงานให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้ทำการสอบสวน หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๙ การสอบสวนวินัยผู้ปฏิบัติงานอื่นของมหาวิทยาลัยที่ถูกพาดพิง
ในกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานอื่น ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาในเบื้องต้นว่าข้าราชการผู้นั้นหรือผู้ปฏิบัติงานอื่น มีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการสอบสวนรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว
ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามรายงานให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้สอบสวน หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้
ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับนี้ กรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐาน
ตามที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนการสอบสวนเดิมรวมในสำนวนการสอบสวนใหม่ หรือบันทึก
ให้ปรากฏว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบการพิจารณาในสำนวนการสอบสวนใหม่ด้วย
ข้อ ๔๐ การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษา
ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวกับเรื่อง
ที่กล่าวหา ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาได้ความประจักษ์
ชัดอยู่แล้ว ให้ถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องสอบสวนพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและแจ้งข้อกล่าวหา
และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๗ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย
ข้อ ๔๑ การย้ายสังกัดของผู้ถูกกล่าวหาระหว่างการสอบสวน
ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาย้ายไปอยู่ส่วนราชการอื่น ให้คณะกรรมการสอบสวน
ทำการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๖ ข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ และข้อ ๔๙ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดำเนินการตามข้อ ๔๔
ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่มีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๖ ข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ และข้อ ๔๙ ด้วย
ข้อ ๔๒ การพิจารณาลงมติ
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้วให้ประชุมพิจารณา
ลงมติว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยแต่ได้กระทำผิดจรรยาบรรณที่ไม่เป็นความผิดวินัย ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนตามข้อ ๔๓
และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากร
ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณา
ลงมติว่าถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามมาตรา ๕๗ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่ อย่างไร
ข้อ ๔๓ สาระสำคัญในรายงานการสอบสวน
เมื่อได้ประชุมพิจารณาลงมติตามข้อ ๔๒ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบรายงานการสอบสวนตามเเบบ สว.๖ ท้ายข้อบังคับนี้ เสนอต่อ
ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรรมการสอบสวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวนโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสอบสวนด้วย
รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้
(๑) สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง ในกรณีที่ไม่ได้สอบสวนพยาน
ตามข้อ ๓๕ และข้อ ๓๖ ให้รายงานเหตุที่ไม่ได้สอบสวนนั้นให้ปรากฏไว้ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้บันทึกเหตุผลในการรับสารภาพ (ถ้ามี) ไว้ด้วย
(๒) วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหากับพยานหลักฐาน
ที่หักล้างข้อกล่าวหา
(๓) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยหรือไม่อย่างไร
ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้จัดทำและลงลายมือชื่อในรายงานการสอบสวนแล้ว
ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งพยานหลักฐานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
และให้ถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ
ข้อ ๔๔ เงื่อนไขในการพิจารณาสั่งการ
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอสำนวนการสอบสวนมาแล้วให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการสอบสวนและพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว
ทั้งนี้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้รับสำนวนการสอบสวน
ข้อ ๔๕ การสอบสวนเพิ่มเติม
ในกรณีผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติมประการใด
ให้กำหนดประเด็นพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมไม่อาจทำการสอบสวนได้ หรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นเป็นการสมควร จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติม
ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ส่งพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมไปให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่ต้องทำความเห็น
ข้อ ๔๖ กรณีการสอบสวนเสียไปทั้งหมด
ในกรณีที่ปรากฏว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๑๒ ให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง
ข้อ ๔๗ กรณีการสอบสวนเสียไปเฉพาะส่วนที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง
ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้อง ให้การสอบสวนตอนนั้นเสียไป
เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การประชุมของคณะกรรมการสอบสวนมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่ครบ
ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๒ วรรคหนึ่ง
(๒) การสอบปากคำบุคคลดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๔ วรรคสอง
ข้อ ๓๑ ข้อ ๓๓ ข้อ ๓๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือข้อ ๓๗
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว
ข้อ ๔๘ กรณีการสอบสวนที่ดำเนินการไม่ครบขั้นตอน
ในกรณีที่ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา
และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาหรือไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐาน
ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๗ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจง
ให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๗ ด้วย
ข้อ ๔๙ การแก้ไขการสอบสวนกรณีอื่น
ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องตามข้อบังคับนี้ นอกจากที่กำหนดไว้
ในข้อ ๔๖ ข้อ ๔๗ และข้อ ๔๘ ถ้าการสอบสวนตอนนั้นเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม
ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ถ้าการสอบสวนตอนนั้นมิใช่สาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๕๐ การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่รับโอน
กรณีข้าราชการผู้ใดเคยถูกกล่าวหา หรือกระทำผิดวินัยก่อนวันโอนมาบรรจุเข้ารับราชการ
ที่มหาวิทยาลัย หากการกระทำนั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่อาจถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๙ ดำเนินการสอบสวนและลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ แต่หากเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนของผู้บังคับบัญชาเดิมก่อนวันโอนก็ให้รอผลการสืบสวน
หรือสอบสวนจนเสร็จ เมื่อได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้ว หากจะต้องสั่งลงโทษทางวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นพิจารณาดำเนินการลงโทษต่อไป
ข้อ ๕๑ การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้พ้นจากหน้าที่ราชการ
ข้าราชการผู้ใดพ้นจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย และมีกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนพ้นจากราชการ ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนของข้าราชการผู้นั้นดำเนินการ
ทางวินัยภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นพ้นจากราชการ
การดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้พิจารณาสอบสวนเป็นประการใดแล้วให้เสนอสำนวน
การสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหากเห็นว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี แต่หากปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนก็ให้โทษเป็นพับไป
ในระหว่างที่ได้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาหากปรากฏว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายให้ยุติเรื่อง
ข้อ ๕๒ การรายงานการดำเนินการทางวินัย
เมื่อผู้บังคับบัญชาตาม ข้อ ๑๐ (๒) (๓) ได้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ใดตามข้อบังคับนี้เเล้ว ให้รายงานการดำเนินการทางวินัยตามลำดับจนถึงอธิการบดี
ในกรณีที่อธิการบดีได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งเเล้วเห็นว่าการดำเนินการเป็นการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็ให้มีอำนาจสั่งลงโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ หรืองดโทษ ตามวิธีการสั่งลงโทษที่กำหนดในข้อบังคับนี้ ตามความเหมาะสมแก่กรณี ตลอดจนเเก้ไขเปลี่ยนเเปลงข้อความในคำสั่งเดิมให้ถูกต้องเหมาะสมได้ด้วย
และในกรณีที่เห็นว่าควรดำเนินการอย่างใดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาให้ได้ความจริงและยุติธรรม
ก็ให้มีอำนาจดำเนินการ หรือสั่งดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี
เมื่ออธิการบดีได้ดำเนินการทางวินัยหรือสั่งให้ข้าราชการผู้ใดออกจากราชการตามข้อบังคับนี้แล้วหรือได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งหรือในกรณีที่มีการดำเนินการตามวรรคสองแล้วเสร็จ
ให้อธิการบดีรายงานสภามหาวิทยาลัยทราบ ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยหรือการสั่งให้ข้าราชการผู้ใดออกจากราชการนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรม
จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนการดำเนินการและสั่งการใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสม หรือจะพิจารณาเเก้ไขเปลี่ยนเเปลงโทษและสั่งการให้อธิการบดีดำเนินการต่อไปก็ได้ คำสั่งของสภามหาวิทยาลัยให้ถือเป็นที่สุด
หมวด ๓
ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ และวิธีการสั่งลงโทษ
ข้อ ๕๓ การลงโทษกรณีกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษดังต่อไปนี้
(๑) กรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยให้สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หากมีเหตุอันควรงดโทษ ผู้บังคับบัญชาจะงดโทษภาคทัณฑ์โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
(๒) กรณีลงโทษตัดเงินเดือน ให้สั่งลงโทษตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละห้า
และเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือน
(๓) กรณีลงโทษลดขั้นเงินเดือน ให้สั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งได้ไม่เกินหนึ่งขั้น
ในการพิจารณาสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้
ข้อ ๕๔ การลงโทษกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการแล้วแต่กรณี เว้นแต่กรณีทุจริตต่อหน้าที่ราชการให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
ในการพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณา
ลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก
ข้อ ๕๕ การกระทำที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยกรณีดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการแล้วแต่กรณี
(๑) แก้ไขผลการเรียนหรือผลการสอบของนักศึกษาโดยมิชอบ
(๒) เปิดเผยข้อสอบโดยมิชอบ
(๓) นำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นผลงานทางวิชาการของตนโดยมิชอบ
(๔) ล่วงละเมิดทางเพศกับนิสิต นักศึกษา หรือนักเรียน
(๕) ประพฤติชู้สาวหรือกระทำอนาจารกับนิสิต นักศึกษา หรือนักเรียน เว้นแต่เป็นพฤติการณ์ที่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงจะสั่งลงโทษต่ำกว่าปลดออกหรือไล่ออกก็ได้
(๖) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผล
อันสมควร หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ
ข้อ ๕๖ ผู้มีอำนาจลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่
(๑) อธิการบดีมีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละห้า
และเป็นเวลาไม่เกินสามเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินหนึ่งขั้น
(๒) คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษ ภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน
ร้อยละห้าและเป็นเวลาไม่เกินสองเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนได้ครั้งละไม่เกินครึ่งขั้น
(๓) ผู้อำนวยการกอง เลขานุการคณะ เลขานุการสถาบัน เลขานุการสำนัก หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์
หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละห้าและเป็นเวลาหนึ่งเดือน
ข้อ ๕๗ ผู้มีอำนาจลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง
อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๕๘ กรณีอธิการบดีกระทำผิดวินัย
ในกรณีที่อธิการบดีกระทำผิดวินัยให้สภามหาวิทยาลัยเสนอความเห็นให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ ดังนี้
(๑) กรณีความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน
ร้อยละห้าและเป็นเวลาไม่เกินสามเดือน ลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งได้ไม่เกินหนึ่งขั้น
(๒) กรณีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ
ข้อ ๕๙ ขอบเขตการลงโทษ
ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
ข้อ ๖๐ ผลบังคับของคำสั่งลงโทษ
การสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน มิให้สั่งลงโทษย้อนหลังไปก่อน
วันออกคำสั่ง เว้นแต่การสั่งลงโทษผู้ถูกสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๖๑ ข้อยกเว้นในการสั่งลงโทษย้อนหลัง
การสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ มิให้สั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่
(๑) ในกรณีที่ได้มีคำสั่งให้พักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อจะสั่งลงโทษ
ปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกตั้งแต่วันพักราชการ หรือวันให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วแต่กรณี
(๒) การสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ในกรณีกระทำผิดวินัยโดยละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน และไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีก ให้สั่งปลดออก
หรือไล่ออกตั้งแต่วันแรกที่ละทิ้งหน้าที่ราชการนั้น
(๓) การลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการในกรณีกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก ให้สั่งปลดออก
หรือไล่ออกตั้งแต่วันต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุด
สำหรับโทษที่หนักกว่าจำคุกหรือวันถูกคุมขังติดต่อกันจนถึงวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี
(๔) ในกรณีที่ได้มีการสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการไปแล้วถ้าจะต้องสั่งใหม่
หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง การลงโทษปลดออก หรือไล่ออก กรณีเช่นนี้ให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันออกจากราชการ
ตามคำสั่งเดิม แต่ถ้าวันออกจากราชการตามคำสั่งเดิมไม่ถูกต้อง ก็ให้สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลัง
ไปถึงวันที่ควรต้องออกจากราชการตามกรณีนั้นในขณะที่ออกคำสั่งเดิม
(๕) ในกรณีที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๙ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘
และมาตรา ๕๙ ไปแล้ว ถ้าจะต้องสั่งใหม่หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ควรต้องสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกตามกรณีนั้นในขณะที่ออกคำสั่งเดิม
(๖) การสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งลงโทษนั้นได้ออกจากราชการโดยถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่น หรือได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการไปก่อนแล้ว ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันออกจากราชการนั้น
(๗) การสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งนั้นได้พ้น
จากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญราชการไปก่อนแล้ว ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึง
วันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นเกษียณอายุราชการ
(๘) กรณีใดมีเหตุสมควรสั่งปลดออกหรือไล่ออกจากราชการย้อนหลัง ก็ให้สั่งปลดออก
หรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ควรจะออกจากราชการตามกรณีนั้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการทำให้
เสียประโยชน์ตามสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ถูกสั่งลงโทษนั้น
ข้อ ๖๒ ผลบังคับของคำสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษวินัยอย่างร้ายเเรง
การสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษ เป็นไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ มิให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง และให้นำข้อ ๖๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๖๓ ผลบังคับของคำสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษวินัยอย่างไม่ร้ายเเรง
ภายใต้บังคับข้อ ๖๔ การสั่งเพิ่มโทษ หรือลดโทษ เป็นลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน
หรือภาคทัณฑ์ ให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งลงโทษเดิมใช้บังคับ ทั้งนี้การสั่งย้อนหลังดังกล่าวไม่มีผลกระทบถึงสิทธิและประโยชน์ที่ผู้ถูกสั่งลงโทษได้รับไปแล้ว
ข้อ ๖๔ ผลบังคับของคำสั่งลดโทษ
การเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ เป็นลดขั้นเงินเดือน
ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ มิให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง
ข้อ ๖๕ แบบคำสั่งลงโทษ ลดโทษ เพิ่มโทษ
การสั่งลงโทษ ลดโทษ เพิ่มโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยให้ทำเป็นคำสั่งตามแบบ
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด และในคำสั่งลงโทษ ลดโทษ เพิ่มโทษให้เเสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัยในกรณีใด ตามข้อใด พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อ ๖๖ การให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินมัวหมอง
ข้าราชการผู้ใดถูกสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผลการสอบสวนไม่อาจลงโทษทางวินัย
อย่างร้ายแรงได้ตามข้อ ๔๒ วรรคสาม และผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้ว
เห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ให้เสนอเรื่องต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
ให้ออกจากราชการ ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ผู้นั้นออกจากราชการ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ในกรณีที่อธิการบดีถูกสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้พิจารณารายงานการสอบสวนและเป็นผู้สั่งให้อธิการบดีออกจากราชการ โดยให้นำความในวรรคหนึ่ง
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๔
การสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๖๗ การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกสอบสวน
ในระหว่างการสอบสวนทางวินัย จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้าง
ในการดำเนินการใดให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่อธิการบดีจะสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน
หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
และผลแห่งการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับนี้
ข้อ ๖๘ เหตุเเห่งการสั่งพักราชการ
เมื่อข้าราชการผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อธิการบดีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนจะสั่งให้ผู้นั้นพักราชการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่ง
อย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และอธิการบดีพิจารณาแล้วเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการ
(๒) ผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าถ้าคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณาหรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
(๓) ผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญาหรือต้องจำคุก
โดย คำพิพากษาและได้ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุกเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันแล้ว
(๔) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดอาญา
ในเรื่องที่สอบสวนนั้น หรือผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนภายหลังที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น และอธิการบดีพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการกระทำความผิดอาญาของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๖๙ ระยะเวลาสั่งพักราชการ
การสั่งพักราชการให้สั่งพักได้ตลอดเวลาที่มีการสอบสวนแต่ต้องไม่เกินระยะเวลา
ที่กำหนดไว้ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน เว้นแต่กรณีที่ผู้ถูกสั่งพักได้ร้องทุกข์
เรื่องการถูกสั่งพักราชการและผู้มีอำนาจพิจารณาเห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังขึ้นและไม่สมควรที่จะสั่งพักราชการ
ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการก่อนการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้นได้
ในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่งให้ผู้มีอำนาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว
ให้รายงานปัญหาต่ออธิการบดีเพื่อขออนุมัติขยายเวลาพิจารณาออกไปได้อีกสามสิบวัน ทั้งนี้ไม่เกินสองครั้ง
ข้อ ๗๐ กรณีสอบสวนหลายสำนวน
ในกรณีที่ข้าราชการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายสำนวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายคดี
เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ถ้าจะสั่งพักราชการให้สั่งพักทุกสำนวนและทุกคดี
ในกรณีที่ได้สั่งพักราชการในสำนวนหรือคดีใดไว้แล้ว ภายหลังปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนในสำนวนอื่น
หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอื่นเพิ่มขึ้นอีก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษก็ให้สั่งพักราชการในสำนวนหรือคดีอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย
ข้อ ๗๑ ผลบังคับของคำสั่งพักราชการ
การสั่งพักราชการ ห้ามมิให้สั่งพักย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่
(๑) ผู้ซึ่งจะถูกสั่งพักราชการอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญา หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา การสั่งพักราชการในเรื่องนั้น ให้สั่งพักย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกควบคุม ขัง หรือ
ต้องจำคุก
(๒) ในกรณีที่ได้มีการสั่งพักราชการไว้แล้วถ้าจะต้องสั่งใหม่เพราะคำสั่งเดิมไม่ชอบหรือ
ไม่ถูกต้อง ให้สั่งพักตั้งแต่วันให้พักราชการตามคำสั่งเดิม หรือตามวันที่ควรต้องพักราชการ
ในขณะที่ออกคำสั่งเดิม
ข้อ ๗๒ การแจ้งคำสั่งพักราชการ
คำสั่งพักราชการต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกสั่งพัก ตลอดจนกรณีและเหตุที่
สั่งให้พักราชการ
เมื่อได้มีคำสั่งให้ข้าราชการผู้ใดพักราชการแล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบพร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยพลัน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งให้ผู้นั้นทราบได้ หรือผู้นั้นไม่ยอมรับทราบคำสั่ง
ให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการที่ผู้นั้นรับราชการอยู่และมีหนังสือแจ้งพร้อมกับส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้นั้น ณ ที่อยู่ของผู้นั้นซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้
เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบคำสั่งพักราชการแล้ว
ข้อ ๗๓ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
เมื่อข้าราชการผู้ใดมีเหตุที่อาจถูกสั่งพักราชการตามข้อ ๖๘ และอธิการบดีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าการสอบสวนพิจารณา หรือการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุที่อาจถูกสั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว อธิการบดีจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้
ให้นำข้อ ๖๙ ข้อ ๗๐ และข้อ ๗๑ มาใช้บังคับแก่การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยอนุโลม
ข้อ ๗๔ กรณีมีคำสั่งพักราชการ
เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการผู้ใดพักราชการไว้แล้ว อธิการบดีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาตามข้อ ๗๓ และสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนอีกชั้นหนึ่งก็ได้
ข้อ ๗๕ ผลบังคับของคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จะสั่งให้ออกตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ ๗๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนในกรณีตามข้อ ๗๔ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันพักราชการ
เป็นต้นไป
ข้อ ๗๖ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกรณีศาสตราจารย์
การสั่งให้ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ ออกจากราชการไว้ก่อน
ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออก
จากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๗๗ การดำเนินการภายหลังผลการการสอบสวนเสร็จสิ้น
เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการผู้ใดพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผล
การสอบสวนพิจารณา ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใดแล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้อธิการบดีสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี
(๒) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งเดิม
หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ทั้งนี้สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งพักราชการกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูล
เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แล้วให้อธิการบดีสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
(๓) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ทั้งนี้ สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง แล้วให้อธิการบดีสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
(๔) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการแล้ว และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว การลงโทษให้เป็นพับไป
(๕) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่นแต่ไม่อาจสั่งให้กลับเข้ารับราชการได้เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการแล้ว และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วแต่กรณี การลงโทษให้เป็นพับไป
(๖) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้อธิการบดีสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ
(๗) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการ
ก็ให้สั่งยุติเรื่อง และให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี
(๘) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการแล้ว และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ก็ให้สั่งยุติเรื่อง
(๙) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการได้ เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการแล้ว และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วแต่กรณีนั้นแล้ว ก็ให้สั่งยุติเรื่อง และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(๑๐) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้สั่งให้ออกจากราชการตามเหตุนั้น โดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ
ข้อ ๗๘ แบบของคำสั่ง
การออกคำสั่งพักราชการ คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือคำสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการให้มีสาระสำคัญตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
หมวด ๕
การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
ข้อ ๗๙ การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ
การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษให้ออกจากราชการหรือกรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกให้เป็นไปตามข้อบังคับ ก.พ.อ. ว่าด้วยการอุทธรณ์และพิจารณาอุทธรณ์กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือกรณีถูกสั่งลงโทษ ปลดออกหรือไล่ออก
การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน
หรือลดขั้นเงินเดือน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในหมวดนี้
ข้อ ๘๐ องค์กรพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์
ให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกโดยย่อว่า
“ก.อ.ม.” ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยเลือกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการตาม (๓) จำนวนสามคน
(๓) กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการจำนวนสองคน
ให้รองอธิการบดีคนหนึ่งที่อธิการบดีมอบหมายเป็นเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิติการและหัวหน้างานวินัยและสอบสวนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ก.อ.ม.
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ต้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคล ด้านกฎหมาย หรือด้านการบริหารจัดการภาครัฐด้านละหนึ่งคน
กรรมการตาม (๓) ให้เลือกจากผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการโดยให้ผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการคัดเลือกกันเองให้ได้สายละหนึ่งคน
ให้อธิการบดีเป็นผู้ออกประกาศแต่งตั้ง ก.อ.ม. และให้นับวันที่ออกประกาศเป็นเวลาเริ่มต้นวาระของ ก.อ.ม.
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของคณะกรรมการตาม (๒) และ (๓)ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนดโดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ก.อ.ม. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนด
ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการใหม่แทน ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการว่างลง
เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนก็ได้ กรณีที่มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากำหนดเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
กรรมการตามวรรคหนึ่งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ได้มา
ซึ่งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ข้อ ๘๑ เหตุพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ ลาออก
ถูกสั่งลงโทษทางวินัยยกเว้นโทษภาคทัณฑ์ หรือขาดคุณสมบัติความเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ข้อ ๘๒ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย
ก.อ.ม. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาอุทธรณ์กรณีลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน
(๒) พิจารณาเรื่องร้องทุกข์กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
(๓) พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ที่ถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
(๔) พิจารณาอุทธรณ์และพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
ข้อ ๘๓ องค์ประชุมและการลงมติ
การประชุมของ ก.อ.ม. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุม ถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธาน
ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับตัวกรรมการผู้ใดโดยเฉพาะ ห้ามกรรมการผู้นั้นอยู่ในที่ประชุม
การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการหนึ่งคนให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
เรื่องใดถ้าไม่มีผู้คัดค้านให้ประธานกรรมการถามที่ประชุมว่าจะมีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบในเรื่องนั้น
ข้อ ๘๔ รายงานการประชุม
ในการประชุมต้องมีรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุม และถ้ากรรมการฝ่ายข้างน้อยเสนอความเห็นแย้งเป็นหนังสือก็ให้บันทึกความเห็นแย้งนั้นไว้ด้วย
ข้อ ๘๕ เหตุอันมีส่วนได้เสียของกรรมการ
ในการประชุม หากกรรมการผู้ใดมีเหตุดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาและอยู่ในที่ประชุมไม่ได้
(๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่พิจารณา
(๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา
(๓) คู่กรณีหรือเป็นคู่หมั้น คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาของคู่กรณี
ในกรณีที่มีกรรมการผู้ใดมีเหตุอันมีส่วนได้เสียตามวรรคหนึ่งทำให้ไม่สามารถพิจารณาและ
อยู่ในที่ประชุมได้ให้ถือว่า ก.อ.ม. ประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่มีสิทธิร่วมประชุม
ข้อ ๘๖ ระยะเวลาอุทธรณ์
การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ให้อุทธรณ์ต่อ
ก.อ.ม. ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษ
ข้อ ๘๗ การยื่นอุทธรณ์และการเเถลงการณ์ด้วยวาจา
การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามหมวดนี้ ให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนผู้อื่นหรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้
การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือแสดงข้อเท็จจริงข้อโต้เเย้งและเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นว่าได้ถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร และลงลายมือชื่อ และที่อยู่ของ
ผู้อุทธรณ์
ในการอุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของก.อ.ม.
ให้แสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้ แต่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือ
ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นต่อประธาน ก.อ.ม. โดยตรง ภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์
ข้อ ๘๘ สิทธิของผู้อุทธรณ์
เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ ผู้จะอุทธรณ์มีสิทธิขอตรวจหรือคัดรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหรือของผู้สอบสวนได้ รวมทั้งให้มีสิทธิขอตรวจหรือคัดบันทึกถ้อย คำบุคคลพยานหลักฐานอื่น หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้จะอุทธรณ์ถูกลงโทษด้วย
หากพยานหลักฐานดังกล่าวมีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
ข้อ ๘๙ เหตุคัดค้านกรรมการของผู้อุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์มีสิทธิคัดค้านกรรมการใน ก.อ.ม. ถ้ากรรมการผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด
ดัง ต่อไปนี้
(๑) มีสาเหตุโกรธเคืองกับคู่กรณี
(๒) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของคู่กรณี
(๓) มีเหตุอื่นใดซึ่งอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม
(๔) เคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
การคัดค้านกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในอุทธรณ์ หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือก่อนที่ ก.อ.ม. เริ่มพิจารณาอุทธรณ์
เมื่อมีเหตุหรือมีการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง กรรมการผู้นั้นจะขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาอุทธรณนั้นก็ได้ ถ้ากรรมการผู้นั้นมิได้ขอถอนตัว ให้ประธาน ก.อ.ม. พิจารณาข้อเท็จจริงที่คัดค้าน
หากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นน่าเชื่อถือ ให้แจ้งกรรมการผู้นั้นทราบและมิให้ร่วมพิจารณาอุทธรณ์นั้น ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่า ก.อ.ม. ประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่มีสิทธิร่วมประชุม ทั้งนี้เว้นแต่ประธาน ก.อ.ม. พิจารณาเห็นว่า การให้กรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะจะทำให้ได้ความจริงและเป็นธรรม จะอนุญาตให้กรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาอุทธรณ์นั้นก็ได้
ข้อ ๙๐ วันที่เริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์
เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษเป็นวันรับแจ้งคำสั่ง หรือวันที่ถือว่ารับแจ้งคำสั่ง
ถ้าผู้ถูกลงโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษ และมีการแจ้งคำสั่งลงโทษให้ผู้ถูกลงโทษทราบกับมอบสำเนาคำสั่งลงโทษให้ผู้ถูกลงโทษแล้วทำบันทึกลงวันเดือนปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง และ
ลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษได้โดยตรงและได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งลงโทษทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกลงโทษ ณ ที่อยู่ของผู้ถูก ลงโทษซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งลงโทษไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกลงโทษเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกลงโทษได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งลงโทษฉบับที่ให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกลงโทษได้รับแจ้งคำสั่งแล้ว
ข้อ ๙๑ วิธีการยื่นอุทธรณ์
การอุทธรณ์ต่อ ก.อ.ม. ให้ทำหนังสือถึงประธาน ก.อ.ม. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้อง
หนึ่งฉบับ
การยื่นหรือส่งอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งผ่านผู้บังคับบัญชาก็ได้ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งอุทธรณ์ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษภายในสามวันทำการนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ และให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษจัดส่งอุทธรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนาหลักฐานการรับแจ้งคำสั่งลงโทษของผู้อุทธรณ์ สำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณาในเบื้องต้น และสำนวนการดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งคำชี้แจงของผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ (ถ้ามี) ไปยังประธาน ก.อ.ม. ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับอุทธรณ์
ในกรณีที่มีผู้นำอุทธรณ์มายื่นเอง ให้ผู้รับอุทธรณ์ออกใบรับ ประทับตรา และลงทะเบียนรับไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นอุทธรณ์
ในกรณีที่ส่งอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝาก
เป็นหลักฐานฝากส่ง หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราที่ซองหนังสือเป็นวันส่งอุทธรณ์
เมื่อได้ยื่นหรือส่งอุทธรณ์ไว้แล้ว ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งคำแถลงการณ์หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่ ก.อ.ม. เริ่มพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ ก.อ.ม.
ข้อ ๙๒ การรับอุทธรณ์
อุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ต้องเป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องตามข้อ ๘๗ และข้อ ๙๑
และยื่นหรือส่งภายในกำหนดเวลา
ในกรณีที่มีปัญหาว่าอุทธรณ์รายใดเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่
ให้ ก.อ.ม. เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ ก.อ.ม. มีมติไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ให้แจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดี
ต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษทราบด้วย
ข้อ ๙๓ การถอนอุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์จะขอถอนอุทธรณ์ก่อนที่ ก.อ.ม. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นก็ได้
โดยทำเป็นหนังสือยื่นโดยตรงต่อ ก.อ.ม.
เมื่อได้ถอนอุทธรณ์แล้วการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นอันระงับและจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้
ข้อ ๙๔ ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์
ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้ ก.อ.ม. พิจารณาจากสำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณาใน
เบื้องต้นรวมทั้งสำนวนการดำเนินการทางวินัย
ในกรณีจำเป็นและสมควร ก.อ.ม. อาจขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้ง
คำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้น ส่วน บริษัท หรือบุคคลใด ๆ หรือขอให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้
การพิจารณาอุทธรณ์ต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา เมื่อ ก.อ.ม. อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก.อ.ม. ผู้อุทธรณ์มีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาของ
ก.อ.ม.ได้ โดยให้นำข้อ ๓๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม หาก ก.อ.ม. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ จะให้งดการแถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้
ในกรณีที่นัดให้ผู้อุทธรณ์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษทราบด้วยว่าถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงแก้หรือมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาต่อที่ประชุมครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และ
เพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษ หรือผู้แทนเข้าฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้อุทธรณ์ได้
ในการพิจารณาอุทธรณ์ ถ้า ก.อ.ม. เห็นสมควรที่จะต้องสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แห่งความถูกต้องและเหมาะสมตามความเป็นธรรม ให้มีอำนาจสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมในเรื่องนั้นได้ตามความจำเป็น โดยจะสอบสวนเองหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้สอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ หรือกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการทราบส่งไปให้ผู้สอบสวนเดิมทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้
ข้อ ๙๕ การวินิจฉัยอุทธรณ์
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว
(๑) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษถูกต้องเหมาะสมกับความผิดแล้วให้มีมติยกอุทธรณ์
(๒) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่า
ผู้อุทธรณ์ได้กระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแต่ควรได้รับโทษหนักขึ้น ให้มีมติเพิ่มโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่หนักขึ้น
(๓) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่า
ผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงควรได้รับโทษเบาลงให้มีมติลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง
(๔) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่า
ผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ
ให้มีมติให้งดโทษโดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
(๕) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม และเห็นว่าการกระทำของ
ผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดวินัย หรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยให้มีมติให้ยกโทษ
(๖) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมให้มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้ถูกต้องเหมาะสม
(๗) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิดและเห็นว่ากรณีมีมูล
ที่ควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติเสนอผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
(๘) ถ้าเห็นว่าสมควรดำเนินการโดยประการอื่นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี
การออกจากราชการของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นเหตุที่จะยุติการพิจารณาอุทธรณ์ แต่จะมีมติตาม (๒) มิได้ และถ้าเป็นการออกจากราชการเพราะตายจะมีมติตาม (๗) มิได้ด้วย
ในกรณีที่มีผู้ถูกลงโทษทางวินัยในความผิดที่ได้กระทำร่วมกัน และเป็นความผิดในเรื่องเดียวกัน โดยมีพฤติการณ์แห่งการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อผู้ถูกลงโทษคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว และผลการพิจารณาเป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์แม้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยคนอื่นจะไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หากพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวซึ่งไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นเหตุในลักษณะคดีอันเป็นเหตุเดียวกับกรณีของผู้อุทธรณ์แล้ว ให้มีมติให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ได้รับการพิจารณาการลงโทษมีผลในทางที่เป็นคุณเช่นเดียวกับผู้อุทธรณ์ด้วย
ข้อ ๙๖ การรายงานสภามหาวิทยาลัย
เมื่อ ก.อ.ม. มีมติตามข้อ ๙๕ แล้ว ให้รายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง
เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการเป็นประการใดแล้วให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
ในกรณีที่ ก.อ.ม. พิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จภายในเวลาเก้าสิบวันตาม ข้อ ๙๔
ให้รายงานพร้อมเหตุผลให้สภามหาวิทยาลัยทราบด้วย
ข้อ ๙๗ การเเก้ไขคำสั่งลงโทษตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์
การแก้ไขคำสั่งลงโทษกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดภายใต้ข้อบังคับสี่ข้อต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษนั้น เว้นแต่โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดวินัยตามคำวินิจฉัยของ ก.อ.ม. เกินกว่าอำนาจของผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษเดิมรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งลงโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ เพื่อดำเนินการ
(๒) การแก้ไขคำสั่งลงโทษให้ทำเป็นคำสั่งมีสาระสำคัญแสดงเลขที่ และวัน เดือนปี
ที่ออกคำสั่งเดิม ข้อความเดิมตอนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง และข้อความที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง
(๓) การดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ก.อ.ม.
(๔) เมื่อผู้มีอำนาจสั่งลงโทษดำเนินการแก้ไขคำสั่งแล้ว ให้รายงานการแก้ไขคำสั่งต่อ
สภามหาวิทยาลัยโดยเร็ว และแจ้งให้ข้าราชการผู้ถูกลงโทษทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งลงโทษโดยให้ดำเนินการตามวิธีการที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนด
หมวด ๖
การร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
ข้อ ๙๘ กรณีที่ร้องทุกข์ได้
ข้าราชการมีสิทธิร้องทุกข์ได้ในกรณีดังนี้
(๑) เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นต้นว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๒) เมื่อมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ดังนี้
(ก) การบริหารงานบุคคลเป็นไปโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่ง
ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล
ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อกฎหมาย
(ข) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ หรือ
(ค) ประวิงเวลาหรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
(๓) กรณีที่ถูกผู้บังคับบัญชาตักเตือน สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดหรือ
ทำทัณฑ์บนในเรื่องประพฤติผิดจรรยาบรรณตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
(๔) กรณีถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๙๙ การปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาก่อนร้องทุกข์
เมื่อข้าราชการผู้ใดมีเหตุที่อาจร้องทุกข์ได้ตามข้อ ๙๘ และระยะเวลายังไม่ล่วงเลย ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ให้ข้าราชการผู้นั้นปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาระดับคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้นก่อน โดยอาจให้มีบุคคลอื่นเข้าร่วมในการปรึกษาหารือด้วยก็ได้ เมื่อได้มีการปรึกษาหารือแล้วแต่ไม่ได้รับคำชี้แจงในเวลาอันสมควรหรือได้รับคำชี้แจงที่ยังไม่เป็นที่พอใจ
ก็ให้ยื่นเรื่องโดยเร็วต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา ก่อนที่จะยื่นเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๑๐๐
ในกรณีอธิการบดีเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจ ให้ยื่นเรื่องภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งต่ออธิการบดีเพื่อขอให้พิจารณาเรื่องนั้นอีกครั้งหนึ่งก่อน และถ้าไม่ได้รับคำชี้แจงในเวลาอันสมควรหรือได้รับคำชี้แจงที่ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงจะยื่นเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๑๐๐ ได้
ให้ทำหลักฐานการปรึกษาหารือและผลการพิจารณาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมิให้เริ่มนับระยะเวลาร้องทุกข์จนกว่าจะปรากฏชัดเจนแล้วว่าการปรึกษาหารือตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
ไม่บรรลุผล [๒]
ข้อ ๑๐๐ การยื่นเรื่องร้องทุกข์
ภายใต้บังคับข้อ ๙๙ การร้องทุกข์ให้ทำเป็นหนังสือถึงประธาน ก.อ.ม. โดยต้องลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์ และต้องประกอบด้วยสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นต้นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนทำให้เกิดความคับข้องใจอย่างไร และความประสงค์ของการร้องทุกข์ [๓]
ข้อ ๑๐๑ การนำหลักเกณฑ์การพิจารณาอุทธรณ์มาใช้บังคับ
การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เรื่องใดที่มิได้กำหนดไว้ในหมวดนี้ ให้นำหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ตามหมวด ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๐๒ วันที่เริ่มนับระยะเวลาร้องทุกข์
เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(๑) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ถ้าผู้ถูกสั่งไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง และมีการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกสั่งทราบพร้อมกับมอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกสั่ง แล้วทำบันทึกลงวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่ง ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่งซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกสั่งเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปี ที่รับทราบคำสั่งส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งได้รับทราบคำสั่งแล้ว
(๒) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์โดยตรง ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ร้องทุกข์รับทราบหรือควรได้ทราบคำสั่งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
(๓) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์
ข้อ ๑๐๓ วิธีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
เมื่อ ก.อ.ม. ได้รับหนังสือร้องทุกข์ตามข้อ ๑๐๐ แล้ว ให้ประธาน ก.อ.ม. มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาหนังสือร้องทุกข์หรือสรุปรายละเอียดของเรื่องร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือเหตุแห่งความคับข้องใจทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือเหตุแห่งความ คับข้องใจนั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) เพื่อประกอบการพิจารณาภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสือ
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับหนังสือร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามข้อ ๑๐๐ วรรคสอง
ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งสำเนาหนังสือร้องทุกข์หรือสรุปรายละเอียดของเรื่องร้องทุกข์ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือเหตุแห่งความคับข้องใจภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ร้องทุกข์
เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้รับเรื่องร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตาม
วรรคสอง หรือข้อ ๑๐๐ วรรคสอง ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นจัดส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงของตน(ถ้ามี)ไปยังประธาน ก.อ.ม. ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์
ข้อ ๑๐๔ ระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
ภายใต้บังคับข้อ ๖๙ ให้ ก.อ.ม. พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จโดยเร็วทั้งนี้ไม่เกิน
เก้าสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์
ข้อ ๑๐๕ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๑)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๑) แล้วถ้าเห็นว่า
(๑) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้มีมติยกคำร้องทุกข์
(๒) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้น
ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติแก้ไขโดยเพิกถอนหรือยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น หรือให้ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๓) การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแต่บางส่วน และไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางส่วน ให้มีมติแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(๔) สมควรดำเนินการโดยประการอื่นใดเพื่อให้มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม ให้มีมติให้ดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี
ข้อ ๑๐๖ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๒)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๒) แล้ว ถ้าเห็นว่า
(๑) การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มิได้มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ ๙๘ (๒) ให้มีมติยกคำร้องทุกข์
(๒) การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มีลักษณะที่กำหนดในข้อ ๙๘ (๒) ให้มีมติแก้ไข หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ ให้สั่งดำเนินการประการอื่นหรือให้ข้อแนะนำตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการและจรรยาบรรณของข้าราชการ
ข้อ ๑๐๗ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๓)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๓) แล้ว ถ้าเห็นว่า กรณีผู้บังคับ บัญชาได้ใช้อำนาจตักเตือน สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดหรือทำทัณฑ์บนในเรื่องประพฤติผิดจรรยาบรรณตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ถูกต้อง ให้มีมติให้ผู้บังคับบัญชาแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ ๑๐๘ การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๔)
เมื่อ ก.อ.ม. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๙๘ (๔) แล้ว ถ้าเห็นว่าการที่ ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีมติสั่งให้ผู้บังคับบัญชายกเลิกคำสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้อ ๑๐๙ รายงานการประชุม
การพิจารณามีมติตามข้อ ๑๐๕ ข้อ ๑๐๖ ข้อ ๑๐๗ และข้อ ๑๐๘ ให้บันทึกเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของการพิจารณาวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุมด้วย
ข้อ ๑๑๐ การรายงานสภามหาวิทยาลัย
เมื่อ ก.อ.ม. ได้มีมติตามข้อ ๑๐๕ ข้อ ๑๐๖ ข้อ ๑๐๗ และข้อ ๑๐๘ แล้วให้รายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้
ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
ในกรณีที่ ก.อ.ม. พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ไม่แล้วเสร็จภายในเวลาเก้าสิบวันตามข้อ ๑๐๔ ให้รายงานพร้อมเหตุผลให้สภามหาวิทยาลัยทราบด้วย
หมวด ๗
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๑๑ การดำเนินการทางวินัยที่ค้างพิจารณา
ข้าราชการผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัย หรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีอำนาจตามข้อบังคับนี้มีอำนาจสั่งลงโทษข้าราชการผู้นั้นหรือสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ส่วนการสอบสวน การพิจารณาและการดำเนินการเพื่อลงโทษหรือให้ออกจากราชการให้ดำเนินการตามข้อบังคับนี้ เว้นเเต่
(๑) ในกรณีที่มีการเเต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับและยังสอบสวนไม่เสร็จ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะเสร็จ
(๒) ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จไปแล้วก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นอันใช้ได้
ข้อ ๑๑๒ กรณีคำสั่งให้สั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการตามข้อบังคับเดิม
ข้าราชการผู้ใดมีกรณีถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ เเต่ผลของการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทนในส่วนที่ยังคงมีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๑๓ การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ตามข้อบังคับฉบับเดิม
ให้คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้ประกาศใช้บังคับ เป็น ก.อ.ม. และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระและให้นับเป็นวาระการดำรงตำแหน่งของ ก.อ.ม. ตามข้อบังคับนี้
ในกรณีที่มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และยังเหลือระยะเวลาในวาระอีก
ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงตามวิธีการได้มาที่กำหนดตามข้อบังคับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ประกาศใช้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระและมิได้ดำเนินการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างตามวรรคสอง ให้ ก.อ.ม. ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่า ก.อ.ม.ประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่
ข้อ ๑๑๔ การดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ที่ค้างพิจารณา
ในกรณีที่มีการพิจารณาอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ประกาศใช้
ให้ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ประกาศใช้
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
นายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ การร้องทุกข์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๔]
สำนักงานนิติการ / ผู้จัดทำ
สุริยา / พิมพ์
พรทิพย์ / ตรวจ
โทร. ๐๒ ๖๑๓ ๒๐๕๘
๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
[๒] ข้อ ๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ การร้องทุกข์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๓] ข้อ ๑๐๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ การร้องทุกข์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๔] ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕