ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ พ.ศ. ๒๕๖๕
…………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๘) ประกอบมาตรา ๗๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่
๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสถาบันภาษา
“คณบดี” หมายความรวมถึงผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และผู้อำนวยการสถาบันภาษา
ข้อ ๔ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อขณะอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
(๒) เป็นผู้ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษในสาขาวิชาหรือรายวิชาที่ทำการสอนในมหาวิทยาลัย
(๓) เป็นผู้อุทิศตนทางวิชาการ อำนวยประโยชน์ด้านวิชาการให้แก่มหาวิทยาลัย และผลิตผลงาน
ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง
(๔) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณ ทรงคุณธรรม และประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันสมควรได้รับการยกย่อง
(๕) เป็นผู้พ้นจากการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยไปโดยมิใช่จากการถูกลงโทษทางวินัย
อย่างร้ายแรง หรือการถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ หรือถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ผลการสอบสวนไม่อาจลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงได้
แต่หากให้ปฏิบัติงานอยู่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๕ ก่อนเริ่มการดำเนินการเพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ต้องให้บุคคลดังกล่าวแสดงความยินยอมด้วย
ในระหว่างการดำเนินการ หากบุคคลตามวรรคหนึ่งขอยกเลิกความยินยอม ให้มหาวิทยาลัย
ยุติการดำเนินการเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
ข้อ ๖ ขั้นตอนการดำเนินการมีดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณบดีเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณซึ่งมีคุณสมบัติ
ตามข้อ ๔ พร้อมทั้งประมวลประวัติ ผลงานทางวิชาการ ผลงานอื่นที่สำคัญ และหลักฐานความยินยอมของบุคคลดังกล่าว ต่อคณะกรรมการประจำคณะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๒) เมื่อคณะกรรมการประจำคณะให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามข้อ ๔
(๓) เมื่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณให้ความเห็นชอบแล้ว
ให้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
ข้อ ๗ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองรายชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการในสี่สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาละหนึ่งคน
(๓) รองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเป็นเลขานุการ และให้มีผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๘ ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ
โดยการพิจารณาลับ
ข้อ ๙ การพิจารณาและการลงมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตำแหน่งศาสตราจารย์
เกียรติคุณ และสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นการพิจารณาลับ
การลงมติของคณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ และสภามหาวิทยาลัย ตามข้อบังคับนี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๐ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น
สภามหาวิทยาลัยอาจมีมติให้งดหรือยกเว้นการใช้ข้อบังคับนี้ได้ตามความจำเป็น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย